เต้านม คือ
เต้านม ( Breast ) คือ อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิงอยู่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง เต้านมของเด็กหญิงจะแบนราบ และจะพัฒนาขยายขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงเริ่มเป็นวัยรุ่น เมื่อผู้หญิงมีบุตรเต้านมจะผลิตน้ำนม ประกอบไปด้วยท่อน้ำนมต่อมน้ำนมประมาณ 15–20 ต่อม ตรงปลายของต่อมน้ำนมเล็ก ๆ จะมีถุงกระเปาะขนาดเล็กเป็นแหล่งผลิตน้ำนม ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อถึงกันโดยท่อน้ำนมและจะไปสิ้นสุดที่หัวนม ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะเป็นไขมันแทรกตัวอยู่โดยมีกล้ามเนื้อรองรับเต้านมอยู่เหนือกระดูกซี่โครงอีกชั้นหนึ่งเส้นเลือดจากบริเวณกล้ามเนื้อทรวงอกมาหล่อเลี้ยง มีไขมันล้อมรอบกลายเป็นเต้านมแต่ละข้าง มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือเอ็นที่ชื่อคูเปอร์แผ่ยึดระหว่างฐานนมและผิวหนัง ทำหน้าที่ในการพยุงส่วนประกอบของเต้านมให้คงรูป นอกจากนี้เต้านมไม่ใช่เนื้อก้อนใหญ่ ๆ ก้อนหนึ่งแต่แบ่งออกเป็นกลีบ ๆ ไม่ต่างอะไรจากกลีบส้ม มีหัวนมเป็นศูนย์กลางของเต้านม ซึ่งต่อมน้ำนมทุกต่อมมีท่อน้ำนมต่อเชื่อมไปออกที่ปลายหัวนม เป็นทางระบายออกนอกร่างกายให้ทารกดื่มกิน ทั้งหมดถูกหล่อเลี้ยงด้วยเลือดแดงจากผนังอก และท่อน้ำเหลืองที่เชื่อมไปถึงต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ และเหตุผลที่เต้านมสามารถสั่นคลอนและห้อยย้อยได้ก็เพราะว่าเอ็นคูเปอร์ไม่ได้ยึดเอาไว้แน่นนั่นเอง
โครงสร้างของเต้านม
เต้านมมีหน้าที่ เป็นอวัยวะสร้างน้ำนม เพื่อเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติสำหรับทารก
1. เส้นเลือดแดงเป็น internal mammary arteries ซึ่งประสานกับ lateral thoracic arteries
2. ท่อน้ำเหลืองติดต่อกับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้และใต้กระดูกไหปลาร้า
3. เส้นประสาทมาจากเส้นที่ 4-6 ของ intercostal nerves ไปเลี้ยง ส่วนใหญ่ที่หัวนมและลานม
ส่วนประกอบของเต้านม
เต้านมประกอบด้วยต่อมและเนื้อเยื่อไขมันมากมายระหว่างชั้นของผิวหนัง และผนังช่องอก ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่เป็นตัวกำหนดขนาด และรูปร่างของทรวงอก ขณะที่มีบุตรต่อมดังกล่าวจะผลิตน้ำนมส่งผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม ดังนั้นช่วงที่ให้นมลูก ต่อมน้ำนม และท่อต่างๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เต้านมยังประกอบด้วยเส้นเลือด และน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะนำของเสียที่เต้านมขับออกไปยังเนื้อเยื่อขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่เรียกว่า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะทำหน้าที่กรอง และทำความสะอาดน้ำเหลือง
การเปลี่ยนขนาดของเต้านมจากฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน
- ช่วงก่อนมีประจำเดือน จะรู้สึกคัดเค้าเต้านมหรือเต้านมขยายใหญ่ขึ้น
- ช่วงหลังเป็นประจำเดือน ขนาดของเต้านมจะเล็กลง
- ช่วงตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขนาดขึ้น
- การคุมกำเนิดโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรับฮอร์โมนเพศหญิงจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจทำเต้านมขยายใหญ่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนชนิดฉีด กิน หรือทา
ความผิดปกติที่เกิดกับเต้านม
การมีน้ำคัดหลั่งออกมาทางหัวนม ( Nipple Discharge ) ภาวะเช่นนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของท่อน้ำนม มะเร็งเต้านม ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด และระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์หากพบว่ามีน้ำคัดหลั่งจากหัวนมไหลออกมาเองโดยไม่ได้อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
เต้านมอักเสบ ( Mastitis ) เป็นการอักเสบบริเวณเต้านมที่พบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมจนทำให้น้ำนมสะสมตัวอยู่ภายในจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย อาการที่พบคือมีก้อนที่เต้านม ปวด บวมแดง และรู้สึกเจ็บเมื่อโดนกดเต้านมบริเวณที่อักเสบ ในเบื้องต้นแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา แต่ถ้าพบว่ามีฝีหรือหนองอักเสบอยู่ภายในก็อาจต้องเจาะหนองหรือผ่าตัดออก
ท่อน้ำนมโป่งพอง ( Mammary duct ectasia ) เกิดกับผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการอักเสบและอุดตันของท่อน้ำนมบริเวณใต้หัวนม ทำให้เกิดการเจ็บปวดและมีน้ำคัดหลั่งที่ข้นเหนียวสีเทาถึงสีเขียวออกมาทางหัวนม วิธีการรักษาคือให้ใช้น้ำร้อนประคบและบีบเค้นเบาๆ ให้น้ำคัดหลั่งไหลออกมาจนหาย ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ และหากจำเป็นก็อาจต้องทำการผ่าตัดเอาท่อน้ำนมที่อักเสบออก
ภาวะผู้ชายมีนม ( Gynecomastia ) เป็นอาการที่เนื้อเยื่อเต้านมของผู้ชายเกิดการขยายตัว ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเกิดจากการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมลักษณะความเป็นหญิงที่มากเกินไป
ก้อนที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรง ( Benign Breast Lump ) โดยทั่วไปก้อนที่เต้านม มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้
• ไฟโบรซิสติค ( Fibrocystic Disease ) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ จนมีก้อนโตขึ้นและเจ็บเต้านมก่อนจะมีรอบเดือน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสองข้างหรือข้างเดียวแต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อรอบเดือนหมด และจะหายไปเองเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา
• ไฟโปรอดีโนมา ( Fibroadenoma ) เป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรงที่เป็นก้อนแข็งขนาดราวๆ 1 – 5 เซนติเมตร ประกอบด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม มักไม่มีอาการเจ็บแต่อาจรู้สึกคัดเต้านมบ้าง ก่อนมีรอบดือนเวลาคลำดูจะรู้สึกว่ามันกลิ้งไปมาได้ มักเกิดในผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาก้อนออก
• เซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย ( Fat Necrosis ) เกิดจากการที่เต้านมได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงและมีเลือดออกในเต้านม มักเกิดในคนที่มีเต้านมใหญ่หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่แม้แต่ผู้ป่วยเองก็อาจไม่รู้ตัว ทำให้ไขมันเกิดการอักเสบรวมกันเป็นก้อนและมีอาการช้ำซึ่งอาจจะปวดหรือไม่ก็ได้ สังเกตดูจะพบว่าผิวหนังด้านบนช้ำเลือดช้ำหนอง อาการนี้อาจหายไปได้เองหรือจะทำการผ่าตัดเอาออกก็ได้
• ซีสต์ ( Cysts ) คือเนื้องอกที่เป็นถุงน้ำ บางครั้งอาจเป็นก้อนที่อ่อนนุ่มและเกิดขึ้นก่อนมีรอบเดือน แพทย์อาจทำการรักษาโดยเจาะของเหลวออก ซึ่งหากก้อนยุบลงทันทีหลังจากเจาะและของเหลวนั้นไม่มีสีหรือออกเป็นสีเขียว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเพิ่ม แต่ถ้าหากของเหลวมีเลือดเจือปนก็ต้องส่งไปตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
มะเร็งเต้านม ( Breast Cancer ) จัดเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงของเต้านม มักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มต้น แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เต้านมหรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม ( Mammogram ) ร่วมกับการอัลตร้าซาวด์ของเต้านม ในระยะถัดมาผู้ป่วยจะสามารถคลำพบก้อนภายในเต้านมได้ด้วยตนเองโดยไม่รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งก้อนที่พบจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดไปตามระยะของการมีรอบเดือน และอาจมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หรือผิวหนังเหนือเต้านมขรุขระเหมือนผิวส้ม
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
เต้านม (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://th.wikipedia.org
สุขภาพของเต้านม ไม่ใช่แค่มะเร็งที่คุณต้องระวัง (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.bumrungrad.com
“Breast cancer. Clinical practice guidelines in oncology”. Journal of the National Comprehensive Cancer Network : JNCCN (2): 122–92.