มะเร็งตับ
มะเร็งตับ ( Liver Cancer ) คือ มะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติแล้วพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากบริเวณอื่นมายังตับ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นเวลาหลายปี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ภาวะอ้วน การรับประทานอาหารไม่เป็นประโยชน์ และการเป็นตับแข็งและชนิดของมะเร็งตับที่พบได้มากที่สุด ก็คือ ชนิดโฮปาโตมาและชนิดโคแลงจิโอคาร์ซิโนมา
ตับ เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย โดยจะอยู่ในช่องท้องส่วนบนด้านขวา บริเวณติดกับใต้กระบังลม มีลักษณะแบ่งออกเป็น 2 กลีบซ้ายขวา ซึ่งกลีบด้านขวาจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบด้านซ้าย ส่วนหน้าที่ของตับ จะทำหน้าที่ในการ สร้างน้ำย่อยเพื่อการสังเคราะห์โปรตีน คาร์โบไฮเดรต คอเลสเตอรอลและสร้างสาระสำคัญที่จะช่วยในการแข็งตัวของเลือด พร้อมกำจัดของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย
- มะเร็งตับชนิดโฮปาโตมา เรียกย่อๆ ว่า เอชซีซี ( Hepatoma/Hepatocellular Carcinoma : HCC ) เกิดจากเซลล์ของตัวตับเอง
- มะเร็งตับชนิดโคแลงจิโอคาร์ซิโนมา เรียกย่อๆ ว่า ซีซีเอ ( Cholangio Carcinoma : CCA ) เกิดจากท่อน้ำดีในตับ
ซึ่งมะเร็งตับ ทั้งสองชนิดนี้มักจะพบได้มากที่สุดในตับกลีบขวา แต่โดยปกติแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสองกลีบและอาจเกิดได้หลายจุดในเวลาเดียวกันอีกด้วย จึงมีความรุนแรงไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อก้อนมะเร็งได้มีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดพร้อมกับสูบเนื้อตับด้วยกันเอง จึงทำให้โอกาสในการรักษาหายมีน้อยมาก
สาเหตุของมะเร็งตับ
แพทย์ระบุว่ามะเร็งตับอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน แต่ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด และมะเร็งตับทั้งสองชนิดก็เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่ต่างกันอีกด้วย โดยสมารถสรุปได้ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งตับชนิด HCC
- การดื่มเหล้าเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคตับแข็ง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับชนิดนี้ได้มากที่สุด- คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป
- การอักเสบเรื้อรังของตับ ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม
- การได้รับสารอะฟลาทอกซิน ( Aflatoxin ) อย่างต่อเนื่อง โดยสารตัวนี้มักจะมาจากเชื้อราในถั่วที่เก็บรักษาไว้ไม่ดี
- เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ โดยอาจเป็นชนิดถ่ายทอดหรือไม่ถ่ายทอดก็ได้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งตับชนิด CCA
- การทานอาหารหมักดองอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก เพราะอาหารหมักดองส่วนใหญ่จะมีสารก่อมะเร็ง
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นพยาธิที่จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนอาจกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้
- เป็นนิ่วในท่อน้ำดี เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังและเสี่ยงมะเร็งได้มากที่สุด
ส่วนอัตราการเกิดมะเร็งตับที่พบในไทย พบว่ามะเร็งตับเป็นโรคที่พบเป็นอันดับ 1 ของผู้ชาย และพบเป็นอันดับ 3 ของผู้หญิง จึงสรุปได้ว่ผู้ชายมักจะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้มากกว่าผู้หญิงนั่นเอง นอกจากนี้ก็จะมีอัตราการเกิดที่สัมพันธ์กับช่วงอายุต่างกัน คือ โรคมะเร็งตับชนิด HCC จะพบได้ในทุกเพศทุกวัยแม้แต่วัยเด็ก ส่วนโรคมะเร็งตับชนิด CCA จะพบได้บ่อยในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
อาการของมะเร็งตับ
ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งตับทั้ง 2 ชนิดจะมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน แต่ก็มีอาการที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก โดยสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยๆ พร้อมกับมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
- มีอาการเจ็บบริเวณตับ ซึ่งอยู่บริเวณชายโครงด้านขวา
- หายใจลำบากและเหนื่อยง่าย รวมถึงมีอาการอึดอัดแน่นท้องร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากตับโตจนคลำเจอได้นั่นเอง
- มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง โดยในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการคันตามตัวและมีปัสสาวะสีเหลืองเข้มร่วมด้วย
- ในระยะที่โรคมะเร็งได้ลุกลามไปมาก จะมีอาการท้องบวม เนื่องจากเกิดน้ำมะเร็งในช่องท้องโดยสำหรับการวินิจฉัยโรค แพทย์จะใช้วิธีการตรวจร่างกาย พร้อมกับสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย และ ตรวจเลือดเพื่อหาค่าสารทูเมอร์มาร์กเกอร์ ( Tumor Marker ) นอกจากนี้ก็อาจมีการเอกซเรย์ดูภาพตับและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อผลการตรวจที่แน่ชัดมากขึ้น โดยวิธีการตรวจแบบนี้ก็สามารถบอกถึงระยะของโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ระยะของมะเร็งตับ
ระยะของโรคมะเร็งตับแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลาม
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด แต่ยังคงมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น โดยลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงและเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งระยะนี้จะมีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีความรุนแรงที่สุด โดยมะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่ช่องท้องและไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะ ตับ กระดูกและปอด
การรักษามะเร็งตับ
การรักษาโรคมะเร็งตับทั้ง 2 ชนิด จะใช้วิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์มักจะรักษาด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษา แต่เนื่องจากโรคมะเร็งตับมีความดื้อต่อการรักษาพอสมควร ในปัจจุบันจึงมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงขึ้น โดยเฉพาะการปลูกถ่ายตับที่ยังไม่เคยนำมาใช้กับการรักษาผู้ป่วยจริง เพราะมีข้อจำกัดสูงและทำได้ยากพอสมควร ซึ่งก็ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งตับทุกชนิด เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมาก โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดจึงมีน้อยกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ มากทีเดียว แต่ก็ยังไม่หมดหวัง เพราะโรคมะเร็งตับหากพบในระยะแรกๆ ก็ยังมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้พอสมควร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพของผู้ป่วยและความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกมาได้หมดหรือไม่
มะเร็งตับ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเซลล์ของตับ ได้แก่ เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการกำจัดของเสีย และเซลล์ของตับเองที่ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำดี แต่ที่มักจะพบได้บ่อยที่สุด ก็คือมะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์ของตับเองและเยื่อเมือกบุภายในท่อน้ำดี
ส่วนการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มแรกยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพ โดยแพทย์แนะนำให้สังเกตอาการผิดปกติของตนเองและรีบไปพบแพทย์ทันที และสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบีและซี สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยการตรวจภาพตับ และเจาะเลือดหาค่าสารทูเมอร์มาร์กเกอร์บ่อยๆ เพื่อที่หากพบความผิดปกติจะได้ทำการรักษาได้ทัน
นอกจากนี้การป้องกันโรคมะเร็งตับทั้ง 2 ชนิดก็สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ โดยโรคมะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์ตับ ป้องกันได้ด้วยการระมัดระวังตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการรับเลือด การสัมผัสสรคัดหลั่งหรือการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อ รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะลดความเสี่ยงการป่วยมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง
และสำหรับการป้องกันมะเร็งตับชนิดที่เกิดจากท่อน้ำดี สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน ได้แก่ เลี่ยงการทานอาหารหมักดอง และการทานปลาน้ำจืดที่ยังไม่สุก เพราะอาจมีสารก่อมะเร็งและพยาธิใบไม้ที่จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งตับ ได้
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
Adult Primary Liver Cancer Treatment Patient Version. NCI. 6 July 2016. Archived from the original on 2 October 2016. Retrieved 29 September 2016.
World Cancer Report 2014. World Health Organization. 2014. pp. Chapter 5.6. ISBN 9283204298.