กระตุ้นความจำบำรุงสมองทำได้อย่างไร

0
92763
ความสำคัญของสมองกับความจำ
สมองเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ ยิ่งใช้สมองเพื่อคิดวิเคราะห์ หรือจินตนาการอยู่บ่อยๆสมองจะยิ่งพัฒนาก้าวหน้ามาก
ความสำคัญของสมองกับความจำ
สมองเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ ยิ่งใช้สมองเพื่อคิดวิเคราะห์ หรือจินตนาการอยู่บ่อยๆสมองจะยิ่งพัฒนาก้าวหน้ามาก

สมอง คือ

สมอง ( Brain ) คือ อวัยวะส่วนสำคัญของมนุษย์และในสัตว์ต่างๆ เป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่นซึ่งมีความมหัศจรรย์ที่ถูกวิวัฒนาการมาเพื่อความอยู่รอด การมีสมองดี ความจำที่ดี สมองปลอดโปร่ง มีความกระฉับกระเฉง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ซึ่งสมองมีความสามารถในการจำต่างๆ โดยการสร้างทางเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์เข้าด้วยกัน เมื่อได้ระบบการเชื่อมต่อของความทรงจำ แต่ละความทรงจำแล้วเก็บไว้เป็นหมวดหมู่เรียกว่า เอ็นแกรม ซึ่งจะเก็บไว้ตามกลีบสมองเมื่อมีการกระตุ้นความทรงจำนั้นๆก็จะระลึกได้ว่าเคยผ่านประสบการณ์นั้นมา

การทำงานของสมองนั้นสลับซับซ้อนมาก ถึงแม้ว่าเราจะมีการศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และส่วนประกอบของสมองจนทำให้เราได้รู้จักกับสมองมากยิ่งขึ้นแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความลับที่ซ่อนอยู่ของสมอง โดยเฉพาะเรื่องของความจำ เรายังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานได้เลยว่า จะต้องกระตุ้นอย่างไร คนๆ หนึ่งถึงจะมีความจำที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ หรือเมื่อความทรงจำสูญหายไปเราจะต้องทำอย่างไรถึงจะเรียกความจำทั้งหมดให้กลับคืนมาได้ ข้อมูลที่มีจึงออกมาในรูปแบบของการให้แนวทางโดยรวมเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อต้องการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจำกับสมองก็ต้องศึกษาว่าสมองแต่ละส่วนทำหน้าที่อะไรบ้าง เพื่อใช้ต่อยอดในการศึกษาเชิงลึกต่อไป

สมอง มีหน้าที่อะไรบ้าง

สมองทุกส่วนจะทำงานสัมพันธ์กันในลักษณะเครือข่าย ต่อให้แต่ละส่วนมีหน้าที่หลักต่างกัน แต่การทำงานก็ไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง สมองของมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

1. สมองส่วนหน้า ( Forebrain )

สมองส่วนหน้าเป็นส่วนของก้อนสมองที่ใหญ่ที่สุด และมีรอยหยักมากที่สุดด้วย มีหน่วยย่อยที่ทำหน้าที่หลายอย่างรวมกันอยู่ในส่วนนี้ หน่วยย่อยเหล่านั้น ได้แก่

ออลเฟกทอรีบัลบ์ ( Olfactory Bulb ) : เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของก้อนสมอง มีหน้าที่หลักในการดมกลิ่นต่างๆ สมองส่วนนี้ไม่มีการพัฒนามากนักในมนุษย์ แต่เราใช้เยื่อบุในโพรงจมูกช่วยในการดมกลิ่นแทน

ซีรีบรัม ( Cerebrum ) : นี่คือส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และการเพิ่มพูนความสามารถต่างๆ เป็นศูนย์กลางการทำงานด้านประสาทสัมผัสของร่างกาย ส่วนนี้ยังแยกย่อยได้อีก 4 ส่วนคือ

  • สมองกลีบหน้า ( Frontal Lobe ) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การตัดสินใจ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก ความประทับใจ การมีเหตุผลคิดอย่างเป็นนามธรรม ( Abstract Thinking ) การพูด การใช้ภาษาและการออกเสียง
  • สมองกลีบขมับ ( Temporal Lobe ) ซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับรู้และเข้าใจภาษา ส่วนซีกขวาจะเกี่ยวข้องกับการเข้าใจเสียงสูงต่ำในประโยค หรือในบทเพลง
  • สมองกลีบข้างขม่อม/กระหม่อม ( Parietal Lobe ) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ การสัมผัส การรับรส ความเข้าใจในมิติสัมพันธ์ของร่างกายและสิ่งแวดล้อม
  • สมองกลีบท้ายทอย ( Occipital Lobe ) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเห็นภาพ ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสมองกลีบข้างขม่อม ( parietal lobe ) คือเมื่อมองเห็นแล้วก็รับรู้ได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร หรือสิ่งที่ได้สัมผัสนั้นเป็นอย่างไร เป็นต้น

ทาลามัส ( Thalamus ) : เป็นศูนย์รวมของกระแสประสาทที่ผ่านเข้า-ออกทั้งหมด พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นสถานีถ่ายทอดที่ทำหน้าที่กระจายคำสั่งไปยังส่วนต่างๆ ทาลามัสเป็นอีกส่วนหนึ่งของสมองที่มีรายละเอียดเยอะมาก และร่างกายจะเจ็บปวดอย่างรุนแรงหากส่วนนี้ถูกทำลายไป

ไฮโปทาลามัส ( Hypothalamus ) : ศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ และสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองอีกที เกี่ยวเนื่องกับการปรับอุณหภูมิของร่ายกาย อารมณ์ ความรู้สึก และวงจรชีวิตเกือบทั้งหมด เช่น การนอนหลับและตื่น อาการหิวและอิ่ม เป็นต้น

2. สมองส่วนกลาง ( Midbrain )

ส่วนนี้ต่อเนื่องมาจากสมองส่วนหน้า และมี ออพติกโลบ ( Optic Lobe ) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของนัยย์ตาและการเปิดปิดของรูม่านตาด้วย

3. สมองส่วนท้าย ( Hindbrain )

ส่วนท้ายสุดของสมองมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วนดังนี้

  • พอนส์ ( Pons ) ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การเคี้ยว การหลั่งน้ำลาย เป็นต้น
  • เมดัลลา ( Medulla ) ทางผ่านของกระแสประสาทจากสมองสู่ไขสันหลัง
  • ซีรีเบลลัม ( Cerebellum ) ตรงนี้คือส่วนที่เราเรียกกันว่า “ สมองน้อย ” เป็นส่วนหลักในการประมวลการรับรู้และควบคุมการสั่งงานของสมอง

นอกจากนี้ก็ยังมีองค์ประกอบที่เราต้องรู้จักเพิ่มเติมอีก 2 อย่าง คือ ปมประสาทเบซัล และ สมองส่วนอมิกดาลา

3.1 ปมประสาทเบซัล ( Basal Ganglia ) : เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทสั่งการ ทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับคำสั่งจากสมองเนื้อเทา ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทั้งการวิ่ง เดินและการขยับแขนขา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยควบคุมพฤติกรรมที่สืบเนื่องมาจากแรงกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ที่เรียกว่า impulse control อีกด้วย

3.2 สมองส่วนอมิกดาลา ( Amygdala ) : อมิกดาลาเป็นส่วนของสมองที่ถูกค้นพบจากการวิจัยเกี่ยวกับความกลัวของมนุษย์ เป็นสมองส่วนเล็กๆ ที่มีขนาดเท่ากับเมล็ดอัลมอนด์เท่านั้น ฝังอยู่ที่ซีรีเบลลัมและเชื่อมต่อกับไฮโปทาลามัส อมิกดาลาจะไวต่อความหวาดกลัวค่อนข้างมาก รวมไปถึงความปวดร้าว และความเจ็บช้ำใจด้วย เมื่ออมิกดาลาถูกกระตุ้นก็จะเกิดกระบวนการเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นๆ เพื่อบันทึกเป็นความทรงจำด้วย

นี่เป็นภาพรวมคร่าวๆ ของสมองทั้งหมด เราจะเห็นว่าประเด็นของความจำจะจับกลุ่มอยู่ที่สมองส่วนหน้ามากที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้แยกขาดออกจากส่วนอื่นๆ อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าทุกส่วนของสมองนั้นเชื่อมโยงถึงกัน นั่นหมายความว่าถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหายไป ก็จะต้องมีผลกระทบต่อสมองเกือบทั้งหมด และเราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะพัฒนาแค่เฉพาะบางส่วนของสมองที่ต้องการได้เลย

การกระตุ้นสมองเพื่อพัฒนาความจำ

ความเชื่อเก่าเกี่ยวกับสมองมีอยู่ว่า เมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น สมองของเราจะเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ทำให้คนสูงอายุเจ็บป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองกันเยอะมาก เช่น อัลไซเมอร์ สมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น แต่เมื่อมีการศึกษาแบบเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ บวกกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ส่งเสริมให้เข้าถึงความลับของสมองได้มากขึ้น จึงรู้ว่าอายุไม่ใช่ปัจจัยหลักหนึ่งเดียวในความเสื่อมของสมอง หมายความว่า ต่อให้อายุมากขึ้นเท่าไร เราก็สามารถมีมันสมองที่ดีเยี่ยมและทำงานเต็มประสิทธิภาพได้อยู่ดี หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ

สมองเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ที่ต้องการ  “ การใช้งาน ” คล้ายๆ กับร่างกายที่ยิ่งออกกำลังกายก็ยิ่งแข็งแรง คนที่ใช้สมองเพื่อคิดวิเคราะห์ หรือจินตนาการอยู่บ่อยๆ จึงมีแนวโน้มว่าสมองจะพัฒนาก้าวหน้ามากกว่าคนอื่นๆ โดยที่ไม่เกี่ยวกับเพศหรือวัย

และไม่ใช่แค่การนึกคิดเท่านั้น เพราะการทำงานของสมองเชื่อมโยงมาถึงการแสดงออกและการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย ดังที่เราจะเคยได้ยินเทคนิคของคนเก่งหลายๆ คนว่า ต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วยถึงจะฉลาด เมื่อไรที่เราออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา สมองเราจะทำหน้าที่หลายอย่างพร้อมกัน เช่น ตัดสินใจ วางแผน ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เป็นต้น มันจึงเป็นการใช้งานสมองอย่างเต็มที่ ต่อมาเป็นเรื่องของอารมณ์ มีหลายงานวิจัยที่ระบุแน่ชัดแล้วว่าคนที่มีสภาวะอารมณ์ซึ่งเป็นบวก นั่นคือ อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะ สนุกสนาน จะเสริมศักยภาพของสมองได้ดีกว่าคนที่มีความตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา

ความจำดีทำได้อย่างไร

นอกจากนี้ก็ยังมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดความจำที่ดีขึ้นได้ เทคนิคที่นิยมใช้กันมากมีดังนี้

  • ใช้ภาษาภาพ : การผูกเรื่องราวหรือข้อมูลเข้ากับภาพจำ โดยเน้นภาพที่โดดเด่นหรือจำได้ง่าย จะทำให้จดจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ไม่เกิดความสับสนและไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก เพราะสมองไวต่อภาพมากกว่าข้อความ
  • ใส่อารมณ์ความรู้สึก : กรณีตัวอย่างง่ายๆ ก็คือภาพยนตร์ระทึกขวัญหรือภาพยนตร์สยองขวัญ เราจะจดจำได้ดีแทบทุกฉากทุกตอน เพราะมันน่ากลัว แต่ที่ต้องขยายความเพิ่มก็คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นความกลัวเท่านั้น เราสามารถใส่อารมณ์แบบไหนก็ได้ให้กับข้อมูลที่ต้องการจดจำ ยิ่งใส่อารมณ์เข้มข้นมากเท่าไรก็ยิ่งช่วยให้จดจำได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
  • เพิ่มจุดเด่น : คนหลายคนเป็นที่จดจำของผู้อื่นก็เพราะมีจุดเด่นบางอย่าง การสร้างความแปลกหรือแตกต่างให้กับสิ่งที่เราต้องการจดจำก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้ได้
  • ทวนซ้ำ : วิธีนี้บ้านเราใช้กันเยอะมากทีเดียว เช่น การให้เด็กท่องสูตรคูณ การท่องตารางธาตุในวิชาเคมี เป็นต้น พวกนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการทวนซ้ำ ถ้าเรามีเรื่องที่ต้องการจำ ก็ให้ยกเรื่องนั้นมาทวนซ้ำเมื่อเวลาผ่านไป เช่น วันนี้อ่านข้อมูลหนึ่งที่สำคัญไปแล้วรอบหนึ่ง อีกสองวันก็เอามาอ่านทวนใหม่ เป็นต้น

สาเหตุของความจำเสื่อม

สาเหตุของความจำเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุมีทั้งรักษาได้และรักษาไม่ได้ ในประเทศไทยมักพบปัญหาเกี่ยวกับระบประสาทและสมองในผู้สูงอายุมาก ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ซึ่งสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้
1. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ความจำเริ่มถดถอย สับสนทิศทาง ลืมชื่อหรือสถานที่
2. อาจมีความจำแย่ลง เดินออกไปนอกบ้านโดยไม่มีจุดหมาย มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์เกิดขึ้น มีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย เกิดภาพหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น มีอาการหวาดระแวง และกระวนกระวายร่วมด้วย
3. อาการจะรุนแรงมากขึ้น อาจกระทบกับคนในครอบครัวหรือบุคคลรอบตัวผู้ป่วยได้ จึงต้องมีคนดูแลผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา

จากนั้นพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่ร้ายแรงหรือไม่ จะได้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที แล้วครอบครัวที่ต้องให้ความเข้าใจและคอยกระตุ้นให้ผู้ที่เริ่มมีปัญหาด้านความจำ เพื่อให้เขาได้ใช้สมองส่วนของความจำมากขึ้น

การดูแลร่างกายเสริมประสิทธิภาพของสมองและความจำได้จริงหรือ

1. ฝึกการหายใจ : สมองจะทำงานได้ดีมากในสภาวะที่มีออกซิเจนมากพอ การหายใจที่ถูกต้องจึงช่วยได้มาก วิธีการหายใจที่เป็นธรรมชาติของร่างกายก็คือ เมื่อหายใจเข้าท้องต้องป่องออกมา ไม่ใช่ส่วนหน้าอกหรือการยกไหล่ และเมื่อหายใจออกท้องต้องยุบเข้าไป

2. ออกกำลังกาย : การหมุนเวียนเลือดที่ดีช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำงานของสมองมาก และการออกกำลังกายก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เลือดไหลเวียนทั่วร่างกาย รวมถึงส่วนของสมองด้วย

3. ควบคุมปริมาณไขมัน : ระดับไขมันที่สูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นตัวการหนึ่งซึ่งทำให้หลอดเลือดในสมองมีปัญหา แน่นอนว่าส่งผลต่อการทำงานของสมองและความจำโดยตรง

4. ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ : น้ำเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เพราะเป็นองค์ประกอบหลักของร่างกาย การดื่มน้ำสะอาดมากพอกับความต้องการ จะช่วยให้ร่างกายและสมองสดชื่น ระบบโดยรวมทำงานได้ตามปกติ

อาหารแบบไหนที่ช่วยบำรุงสมอง

สารอาหารแต่ละชนิดมีส่วนช่วยบำรุง และชะลอความเสื่อมของสมอง ได้แก่ โสม วิตามินชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายประเภท เช่น

  • วิตามินบี 1 พบในอาหารจำพวก ข้าวแข็ง ๆ ไข่แดง ปลา ถั่วเหลือง
  • วิตามินบี 6 พบใน ไข่ เนื้อสัตว์ จมูกข้าว ข้าวโพด กล้วย
  • วิตามินบี 12 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุราว 4 เท่า อาหารที่เหมาะสมประกอบด้วยไข่ เครื่องในสัตว์ นม เนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่มีไขมันต่ำ
  • วิตามินซี มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ พบในผลไม้จำพวกกีวี่ ฝรั่ง มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง
  • วิตามินอี มีมากในผักคะน้า ผักโขม ถั่ว อัลมอนด์ น้ำมันรำข้าว ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยส่งออกซิเจนเลี้ยงสมอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.