ยารักษาโรคสมองเสื่อม
เคยมีประเด็นที่ถกเถียงกันว่า ยารักษาโรคสมองเสื่อม ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโรคหรือแค่บรรเทาและควบคุมอาการที่เกิดขึ้นกันแน่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจให้คำตอบอย่างจริงจังมากนัก เพราะสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ต้องการมีเพียงแค่ให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีอาการดีขึ้นมากเท่าที่จะมากได้ ยาหลายตัวยังต้องวิจัยและพัฒนาต่อไปอีก ยาหลายตัวยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทวัคซีน และยาบางตัวก็มีผลข้างเคียงรุนแรงเกินกว่าจะเหมาะแก่การใช้งานหากไม่สุดวิสัยจริงๆ อย่างไรก็ตามเราก็มีกลุ่มยาที่ได้การรับรองเป็นยามาตรฐานที่ใช้กันแล้วในปัจจุบัน คือ ยากลุ่มต้านแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส ( Acetylcholinesterase Inhibitor )
สมองเป็นอวัยวะส่วนที่มีรายละเอียดและมีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกาย เรายังต้องใช้เวลาและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากกว่านี้อีกหลายเท่าถึงจะเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองได้ในทุกมิติ ดังนั้นโรคทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสมองจึงยังเป็นเรื่องที่เราต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าโรคสมองเสื่อมจะเป็นโรคที่เกือบจะพูดได้ว่า นี่เป็นอีกโรคหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันแล้ว เพราะได้ยินและได้เห็นกรณีศึกษากันบ่อยมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่ได้ไปถึงจุดที่สามารถตอบคำถามได้ในทุกประเด็นที่เกิดขึ้นจริงๆ รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาด้วย
โดยปกติเมื่อมีสัญญาณของอาการสมองเสื่อมเกิดขึ้น ก็ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจริงหรือไม่ หากเป็นจริงก็ต้องลงลึกไปอีกว่าเกิดจากสาเหตุไหน เพราะสาเหตุของโรคสมองเสื่อมนั้นมีมากมายเหลือเกิน หลังจากนั้นจึงเริ่มการรักษาตามอาการที่แสดงออกมาหรือตรวจพบได้ ซึ่งมีหลายระดับไล่ตั้งแต่การให้ยา การใช้วัคซีน การผ่าตัด การบำบัด เป็นต้น แต่ที่ดูมีน้ำหนักและถูกนำมาใช้มากที่สุดก็คือ การให้ยาสำหรับรักษาโรคสมองเสื่อม
กลุ่มยาที่ได้การรับรองเป็นยามาตรฐานที่ใช้รักษาโรคสมองเสื่อมแล้วในปัจจุบัน คือ ยากลุ่มต้านแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส ( Acetylcholinesterase Inhibitor )
ยากลุ่มต้านแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส ( acetylcholinesterase inhibitor ) เป็นสารเคมีที่มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมองที่ชื่อว่า อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสเอนไซม์ ( Acetylcholinesterase Enzyme ) เอนไซม์ตัวสำคัญที่ควบคุมให้สารสื่อประสาทในสมองออกฤทธิ์ ยากลุ่มนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า เอซีเอชอีไอ ( AChEI ) หรือ Anticholinesterase Drug ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
1. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบผันกลับได้ ( Reversible Inhibitor ) : กลุ่มนี้มีประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคได้หลายชนิด ไม่ใช่แค่รักษาโรคสมองเสื่อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบางประเภท เป็นต้น
2. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบบไม่สามารถผักกลับได้ ( Irreversible Inhibitor ) : กลุ่มนี้ใช้สำหรับผลิตยาฆ่าแมลงหรือผลิตอาวุธเคมีให้กับกองทัพ
นั่นหมายความว่า เมื่อเรากล่าวถึงตัวยากลุ่มเอซีเอชอีไอ ( AChEI ) กับโรคสมองเสื่อม จึงเป็นเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มยาซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งแบบผันกลับได้ ( Reversible Inhibitor ) เท่านั้น
ก่อนจะลงรายละเอียดในประเด็นของยากลุ่ม Reversible Inhibitor นี้ เรามาดูกันก่อนว่ากลุ่มอาการของโรคสมองเสื่อมแบบไหนบ้างที่รักษาด้วยยา
- อาการเกี่ยวกับความคิดและการจดจำทั้งหมด อาจเรียกรวมได้ว่า การรู้คิด ( Cognition )
- อาการเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น อารมณ์สวิงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลย หงุดหงิดตลอดเวลา เป็นต้น
- อาการฟุ้งซ่านทางจิตประสาทและพฤติกรรมที่เกิดจากปัญหาของสมองกลีบหน้า
- อาการเกี่ยวกับการนอนที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยากมากหรือนอนหลับไม่สนิทจนกลายเป็นพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับมากเกินไปในช่วงกลางวัน เป็นต้น
กลุ่มยา เอซีเอชอีไอ ( AChEI ) ที่เป็นแบบ Reversible Inhibitor ที่ใช้รักษาโรคสมองเสื่อม
ความจริงแล้วกลุ่มยา เอซีเอชอีไอ ( AChEI ) ที่เป็นแบบ Reversible Inhibitor จะมีตัวยาที่บำบัดรักษาโรคได้หลากหลาย แต่เมื่อตีกรอบไว้แค่โรคเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมจึงคงเหลือตัวเด่นๆ ที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆ อยู่แค่ 3 ตัวเท่านั้น ได้แก่
1. ยาโดนีพีซิล ( Donepezil ) : เป็นยาชนิดรับประทานที่เปิดตัวครั้งแรกในชื่อ Aricept ใช้กับโรคสมองเสื่อมที่มีอาการอัลไซเมอร์ร่วมด้วย และโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ปกติ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้แบบไม่ติดขัด เป็นเพียงการควบคุมอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาให้หายขาดจากโรคแต่อย่างใด การใช้ยาต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และมีผลข้างเคียงเช่น หัวใจเต้นผิดปกติ เวียนหัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนแรง เป็นต้น
2. ยาไรวาสติกมีน ( Rivastigmine ) : ใช้ได้กับโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน มีทั้งแบบรับประทานและแบบแผ่นแปะตามผิวหนัง ช่วยบำบัดรักษาความจำเสื่อมที่มีความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทได้ แต่เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องระวังเรื่องการใช้ค่อนข้างมาก เพราะยาตัวนี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยหลายประเภทอยู่ด้วย
3. ยากาแลนตามีน ( Galantamine ) : ใช้สำหรับรักษาโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ โดยช่วยให้สารสื่อประสาททำงานได้ดีขึ้น เป็นยาชนิดรับประทานที่มีผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะในร่างกายด้วย ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็อาจจะมียาตัวอื่นๆ ให้พอได้ยินชื่อกันอยู่บ้าง ได้แก่ Huperzine A และ Tacrine ทั้งคู่เป็นยาที่ถูกใช้เพื่อรักษาโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์เช่นเดียวกัน แต่จะค่อยๆ ถูกลดการใช้งานลงเรื่อยๆ เพราะพบว่ามีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นบ่อย และหลายกรณีส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่ออวัยวะภายในร่างกายด้วย เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็ไม่คุ้มค่าแก่การนำมาใช้ในการรักษา แพทย์ส่วนมากจึงเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแทน
การพักผ่อนและออกกำลังกายคือสิ่งสำคัญในการรักษาโรคสมอง
การใช้ยาในการรักษาโรคสมองเสื่อมนั้น ไม่ได้จำกัดเอาไว้เพียงแค่ต้องเป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาทหรือใช้เพื่อจัดการเรื่องความคิด สติและอารมณ์เท่านั้น เพราะเมื่อสมองมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ ในร่างกายก็มักจะได้รับผลกระทบไปด้วย หากมีอาการแขนขาไร้เรี่ยวแรงหรือเจ็บปวดตามร่างกาย แพทย์ก็ต้องให้ยาเพิ่มเติมเพื่อรักษาอาการที่เกิดควบคู่กันไป โดยต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้ตัวยาที่ไม่ขัดแย้งกับยารักษาโรคสมองเสื่อมที่ใช้อยู่ด้วย และต้องมีการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะแต่ละคนจะมีผลตอบสนองต่อยาที่ใช้แตกต่างกันไปมาก เมื่อตัวยาไหนไม่ได้ผลหรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเกินไป ก็จะต้องเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นหรือใช้วิธีการบำบัดอย่างอื่นแทน
ความเชื่อที่อันตรายอย่างหนึ่งของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลก็คือ “ ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษา ” เนื่องจากการใช้ยาเป็นการรักษาที่ให้ผลลัพธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกๆ จึงอาจจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมากหรือไม่พบการเปลี่ยนแปลงเลยในผู้ป่วยบางราย ผู้ป่วยและญาติจำนวนไม่น้อยจึงเกิดคำถามว่าประสิทธิภาพของยาไม่ดีพอหรือไม่ ซ้ำร้ายหากมีอาการข้างเคียงแสดงให้เห็นชัดเจนกว่าผลของการรักษา ก็จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ป่วยและญาติให้ลดน้อยลงอีก จนหลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนยา ไปจนถึงหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงในกรณีที่เป็นยาชนิดควบคุมพิเศษ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งญาติผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเองต้องทำความเข้าใจเอาไว้ก่อน
กลุ่มที่เป็นยาต้านตัวรับสารสื่อประสาท NMDA
นอกจากยากลุ่มเอซีเอชอีไอ ( AChEI ) ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีตัวยาอีกกลุ่มที่เป็นยาต้านตัวรับสารสื่อประสาท NMDA อยู่ด้วย นั่นคือ
ยาเมแมนทีน ( Memantine ) : ยาตัวนี้เน้นใช้กับภาวะสมองเสื่อมที่มีอาการของอัลไซเมอร์ในระดับปานกลางถึงรุนแรง เป็นหนึ่งตัวยาในกลุ่มเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ( NMDA Receptor Antagonist ) ทำหน้าที่สร้างกลไลเพื่อขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทบางตัว ช่วยชะลอและบรรเทาอาการไม่ให้ทรุดหนักลงกว่าเดิม ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรคให้หายขาด แต่ก็เป็นตัวยาที่มีประโยชน์และยังมีความจำเป็นต่อการใช้งานในระดับสูงอยู่ เป็นยาชนิดรับประทานที่เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายและดูดซึมแล้ว ยาเมแมนทีน ( Memantine ) จะเข้าไปจับ NMDA Receptor ทำให้ Glutamate ทำงานได้น้อยลง เหตุผลที่ต้องยับยั้งสารสื่อประสาทตัวนี้ก็เพราะว่า หากมี Glutamate สูงมากจะเกิดการกระตุ้นเซลล์สมองมากเกินไปจนเซลล์สมองตายได้ อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสาทหลอน เป็นต้น
ยารักษาโรคสมองเสื่อมเกือบทั้งหมดจะต้องได้รับการดูแลและจ่ายยาโดยแพทย์เฉพาะทาง แต่ก็มีบ้างที่มีวางขายตามร้ายขายยาบางแห่ง ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปซื้อยาแบบที่ตัวเองเคยใช้ เพราะเบื่อที่จะไปพบหมอที่โรงพยาบาล แต่นั่นเป็นการเลือกที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายมากๆ เพราะยาทุกตัวมีผลข้างเคียง และอาการของโรคสมองเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ไม่อาจใช้ยาตัวเดิมไปตลอดได้ จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผลตามนัดหมายจะดีที่สุด
โรคสมองเสื่อมสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการใช้ยาได้หรือไม่
นี่เป็นคำถามยอดนิยมที่มักเกิดขึ้นทันทีที่ได้รู้ว่ามีการใช้ยาแบบไหนและอย่างไรในผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม คำตอบก็คือ การใช้ยาส่วนใหญ่เป็นเพียงการประคองอาการให้ค่อยๆ ดีขึ้น หรืออย่างน้อยให้คงที่อยู่เท่าเดิมไม่ทรุดหนักลงเท่านั้น อาจมีผู้ป่วยบางคนที่ดีขึ้นจนเหมือนว่าหายเป็นปกติ อย่างหนึ่งเป็นเพราะระดับอาการเมื่อเริ่มรักษายังไม่ได้สาหัสมากนัก และการดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบร่วมก็ดีขึ้นด้วย แต่พอตัดสินใจหยุดการรักษาอาการทั้งหมดก็ค่อยๆ กลับมาอีก จึงต้องใช้ยาต่อเนื่องเรื่อยไป อย่างไรก็ดีการใช้ยาก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้อย่างดี และก็เป็นการปรับตัวในเบื้องต้นที่เหมาะสมสำหรับการรักษาในขั้นตอนอื่นๆ ต่อไปด้วย
มีการทดลองกับหนูที่อยู่ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อดูพัฒนาการของสมอง โดยให้หนูตัวหนึ่งอยู่ในกรงธรรมดาที่ทำได้แค่กินกับนอน และหนูอีกตัวอยู่ในกรงที่สามารถวิ่งถีบจักรได้ด้วย พบว่าหนูที่ได้ออกแรงวิ่งมีการทำงานของสมองที่ดีกว่ามาก เป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่าการพักผ่อนและการออกกำลังกายนั้นส่งผลดีต่อสมองและร่างกาย นี่เป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่หลายคนมองข้าม ยิ่งพออายุมากขึ้นก็ยิ่งพยายามจะตัดเรื่องของการออกกำลังกายออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่าร่างกายไม่เอื้ออำนวยบ้าง สถานที่ไม่พร้อมบ้าง ความเจ็บป่วยของร่างกายบ้าง ทำให้ทั้งสมองและร่างกายยิ่งถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ คงต้องถามตัวเองแล้วว่าอยากให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและทำงานได้เต็มศักยภาพ หรืออยากจะรอแก้ไขความเสื่อมสภาพด้วยการพึ่งยาไม่จบไม่สิ้น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.
Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.