โรคสมองเสื่อมคนเป็นไม่รู้ คนรู้ไม่เป็น
ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคความผิดปกติเกี่ยวกับสมองจะไม่มีทางทราบหรือยอมรับว่าตนเองป่วย

โรคสมองเสื่อม

สมองเสื่อม ( Dementia ) คือ การเปลี่ยนแปลงของสมองผิดปกติและค่อยๆเสื่อมลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสมองก่อให้เกิดการลดลงของทักษะด้านความคิด สติปัญญา การเรียนรู้ อารมณ์ หรือการตัดสินใจ หากมีอาการของโรคสมองเสื่อมที่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิมได้อีกเลย

กลไกการเกิดโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บป่วยประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและสร้างความลำบากใจให้กับผู้เกี่ยวข้องไปพร้อมกันก็คือกลุ่มโรคที่ “ คนเป็นไม่รู้ คนรู้ไม่เป็น ” โดยมากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสมองและจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคความผิดปกติเกี่ยวกับสมองจะไม่มีทางทราบหรือยอมรับว่าตนเองป่วย ต้องอาศัยญาติพี่น้องหรือคนรอบข้างที่อยู่ใกล้ชิดช่วยสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่ใช่แค่การสังเกตดูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังต้องทำความเข้าใจกับพยาธิสภาพและผลกระทบจากการป่วยดังกล่าว เพื่อให้สามารถปรับตัวและพร้อมที่จะเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการรักษาและฟื้นฟู กลไกการเกิด dementia หรือ สมองเสื่อมค่อนข้างซับซ้อน ถึงแม้โรคเหล่านี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ทุกโรคแต่การบรรเทาไม่ให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็เป็นการรักษาทางหนึ่งเช่นกัน โรคหรืออาการแสดงที่จัดอยู่ในประเภท “ คนเป็นไม่รู้ คนรู้ไม่เป็น ” ได้แก่ โรคสมองเสื่อม อาการบกพร่องในการจดจำ ( MCI ) โรคซึมเศร้า เป็นต้น

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคทางระบบประสาทเสื่อมรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ความผิดปกติของหลอดเลือดส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดในสมอง การได้รับบาดเจ็บทางสมองเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม การถูกกระทบกระแทกต่าง ๆ การติดเชื้อของกลางระบบประสาท รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคเอชไอวี (HIV) การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้สมองเสื่อม

  • อายุที่มากขึ้นมีผลต่อการพบภาวะสมองเสื่อม โดยมีรายงานว่าพบอัตราการป่วย 6-8% ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบอัตราการป่วยที่ 30% ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป
  • กรรมพันธุ์ ในกรณีที่ครอบครัวเคยมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม หรือเคยมีประวัติเป็นโรคอื่นๆ เกี่ยวกับสมองมาก่อนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติทั่วไป
  • ติดสุราและยาเสพติดเรื้อรัง ทั้งแอลกอฮอล์และสารเสพติดมีผลต่อการกดการทำงานของระบบประสาทโดยตรงจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมในระยะยาวได้
  • สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก เช่น เกิดอุบัติเหตุ ถูกตี ถูกกระแทกอย่างแรง
  • หลอดเลือดในสมองเกิดความเสียหายหรืออุดตัน เช่น มีเลือดออกในสมอง ภาวะหลอดเลือดเสื่อมสภาพ มีไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น ซึ่งความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดในสมอง อาจเกี่ยวข้องกับความดันที่มาจากหัวใจด้วยก็ได้
  • ภาวะเนื้องอกในสมอง ถ้าเนื้องอกที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกดการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง หรืออาจขัดขวางการทำงานก็จะกลายเป็นต้นตอของภาวะสมองเสื่อม
  • การได้รับสารพิษเป็นจำนวนมากหรือเป็นระยะเวลานาน เช่น ปรอท สารหนู สารคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น

ประเภทของภาวะสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมเป็นการเรียกโดยรวมทางพยาธิสภาพ ซึ่งสามารถแยกออกได้หลายประเภทตามความรุนแรง อาการที่แสดง หรือบริเวณของสมองที่เสียหาย เช่น ภาวะสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมจากหลอดเลือด โรคเลวี บอดี้ สมองเสื่อมบริเวณสมองส่วนหน้า และอื่นๆ เช่น

โรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease ) เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่พบได้มากที่สุด เราอาจพูดรวมๆ ได้ว่าเป็นโรคสมองเสื่อมประเภทหนึ่ง แต่หากเจาะลึกในความเชื่อมโยงที่แท้จริง อัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคสมองเสื่อมแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคสมองเสื่อมในเวลาต่อมา โดยลักษณะของอัลไซเมอร์จะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ การนึกคิด โดยผู้ป่วยอาจจะเกิดการสูญเสียความสามารถในการจำ ( Mild cognitive impairment )  ในระยะแรกก่อนหรือไม่ก็ได้ ความผิดปกติของโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์คือการพบ plaque และ tangle ( การจับตัวเป็นก้อนมากผิดปกติในสมอง และกลุ่มเส้นใยที่พันกันยุ่งเหยิง ตามลำดับ )   

โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด ( Vascular dementia ) เป็นภาวะที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองเกิดความเสียหายและมีการอุดตันในหลอดเลือด ความรุนแรงและรูปแบบของอาการสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่พบการเสียหายของหลอดเลือด โดยมีผลต่อความจำ การคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วย โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงก็เป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดสมองเสื่อมแบบนี้ได้เช่นกัน

โรคเลวี บอดี้ ( Lewy bodies dementia ) เป็นอาการสมองเสื่อมที่พบเลวี บอดี้ในสมอง เลวี เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ alpha-synuclein ที่จับกันเป็นก้อนมากผิดปกติในสมอง มีผลต่อการคิด การเคลื่อนไหว พฤติกรรม และอารมณ์ อาจมีการเห็นภาพหลอน ( visual hallucination ) ร่วมด้วย โดยอาการสมองเสื่อมแบบเลวี บอดี้ สามารถพบร่วมกับการป่วยเป็นโรคพาร์กินสันได้

สมองเสื่อมจากความเสียหายบริเวณสมองส่วนหน้า ( frontotemporal disorders ) เป็นการสูญเสียเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมองส่วนหน้า ( frontal lobe ) และสมองส่วนขมับ ( temporal lobe ) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด พฤติกรรม และความสามารถทางการใช้ภาษา ดังนั้นเราจะเห็นผู้ป่วยมีอาการแสดงความไม่เหมาะสมในสังคม อารมณ์ไม่มั่นคงฉุนเฉียว ความสามารถในการทำงานหรือควบคุมร่างกายลดน้อยลง รวมไปถึงการสูญเสียทักษะในการจำชื่อคน และความหมายของสิ่งของที่เคยรู้จักด้วย

การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม

ผู้ป่วยสมองเสื่อมควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพียงความผิดปกติเบื้องต้นหรือรุนแรงแล้วก็ตาม แต่ในหลายๆ กรณีผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถรับรู้ได้หรือไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย จึงเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างที่ต้องคอยสังเกตความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย พร้อมกับรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้ได้ก่อน เน้นย้ำว่าหากสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้แบบสมัครใจ ก็จะเป็นผลดีต่อการรักษาอย่างมากเลยทีเดียว สำหรับการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับแนวทางของแพทย์และอาการของผู้ป่วยที่แสดงออก ดังนี้

การซักประวัติ ( History Taking ) ถือเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อเก็บข้อมูลและเลือกแนวทางในการวินิจฉัยที่ต่อเนื่องต่อไป รวมถึงการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และอาจมีการประเมินผู้ป่วยด้วยแบบทดสอบ   

การตรวจเอกซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์ ( CT scan brain ) สามารถตรวจหาความผิดปกติในสมอง เช่น เลือดคั่ง เนื้อสมองที่ขาดเลือดมาเลี้ยง หรือเนื้องอก สำหรับข้อปฏิบัติในการเข้าตรวจ CT scan ทางเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจะแจ้งกับทางผู้เข้ารับการตรวจก่อน เช่น การงดน้ำงดอาหาร ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเล สารทึบแสง ( เนื่องจากผู้เข้าตรวจจะได้รับสารที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ในกระบวนการตรวจ )

การตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง Magnetic resonance imaging ( MRI ) เป็นการตรวจโดยการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปที่สมองและนำมาแปลเป็นภาพให้เห็นอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในการตรวจด้วยวิธี MRI จะได้ภาพที่มีความชัดเจนและละเอียดมากกว่าการตรวจด้วยวิธี CT scan อาการผิดปกติในสมองที่สามารถตรวจด้วยเครื่อง MRI ได้แก่ ความผิดปกติของหลอดเลือด สมองส่วนที่ฝ่อลีบ เนื้อสมองที่ตาย เป็นต้น

การรักษาโรคสมองเสื่อม

เมื่อผ่านขั้นตอนการวินิจฉัยอย่างละเอียดจนสามารถหาสาเหตุและประเภทของโรคสมองเสื่อมได้แล้ว แพทย์จะเป็นผู้กำหนดวิธีการรักษาโดยการรักษาแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การรักษาแบบใช้ยา และไม่ใช้ยา ซึ่งทั้งสองวิธีไม่ได้บ่งบอกว่าวิธีการไหนดีกว่ากัน สำหรับการรักษาโดยการใช้ยา แพทย์จะจ่ายยาที่ช่วยลดการเสียหายของเซลล์ประสาท เช่น ยาที่ช่วยระงับการทำงานของเอนไซม์ acetylcholine-esterase inhibitor ( acetylcholine เป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ในการช่วยส่งกระแสประสาท เมื่อทำงานเสร็จแล้วร่างกายจะมีการกำจัดออกโดยเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งการจ่ายยาช่วยระงับจะทำให้สารสื่อประสาท acetylcholine ทำงานได้นานมากขึ้น ) หรือยาที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของตัวรับ NMDA ที่เยื่อหุ้มเซลล์ การรักษาด้วยยาไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้ผลมากน้อยเท่าใด อาจส่งผลให้อาการป่วยดีขึ้น แย่ลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ได้

การรักษาแบบไม่ใช้ยา สามารถทำได้ 2 แนวทางคือ การบริหารสมองซึ่งเป็นเสมือนการออกกำลังกายสมองได้แก่ การเล่นเกมปริศนาต่างๆ ฟังเพลงคลาสสิค อ่านหนังสือ ในอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การดูแลสภาพแวดล้อมโดยรอบซึ่งมีผลต่อจิตใจและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น การทำห้องน้ำให้เป็นพื้นฝืดลดการลื่นล้มเวลาเข้าห้องน้ำ การพูดคุยที่สั้นและง่ายต่อความเข้าใจ หลีกเลี่ยงการซักถามอย่างละเอียดมากเกินไป การช่วยดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ป่วย (การซักผ้า อาบน้ำ แต่งตัว) และที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยสมองเสื่อม เพราะคนรอบข้างจำเป็นอย่างมากกับการรักษาและช่วยเยียวยาผู้ป่วย บางครั้งผู้ป่วยอาจแสดงอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวหรือทำอะไรที่ดูไม่เหมาะสม ส่วนนึงเป็นเพราะความผิดปกติที่เกิดกับสมองและอีกส่วนหนึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

แนวทางการป้องกันโรคสมองเสื่อม

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยความเสี่ยง อย่างเช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันและไขมันในเลือดสูง การลดหรืองดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิด การได้รับสารอาหารและวิตามินบำรุงสมองที่เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ช่วยลดความตึงเครียด การเข้าสังคม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม สิ่งเหล่านี้สามารถลดอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น การเสื่อมของเซลล์สมองตามอายุที่มากขึ้น แนวทางการป้องกันคือการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ พึงระลึกไว้เสมอว่ายิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไรก็สามารถหาแนวทางช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้มากเท่านั้น

อาหารบำรุงสมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม

1. กินธัญพืชไม่ขัดสีอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ
2. กินผักใบเขียว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 6 ครั้ง เช่น ผักเคล ผักโขม ผักเชียงดา ผักแพว บร็อคโคลี
3. กินผลไม้ตระกูลเบอรี่ เช่น มัลเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี ราสเบอร์รี่ แบล็คเคอร์แรนท์ บลูเบอร์รี่ มาเรียนเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ องุ่นม่วง
4. กินเนื้อแดงน้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์
5. กินผักตระกูลกะหล่ำ อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ
6. กินปลา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.