เบาหวานและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
โสม มีสรรพคุณในการช่วยลดระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

จากข้อมูลพบว่ามี ผู้เป็นป่วยโรคเบาหวานใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ สมุนไพร มากเป็นสองเท่าของผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญกับอาหารเสริมชนิดต่างๆ ที่มีการโฆษณาและขายอยู่ในปัจจุบันนี้ มากว่าการปรับพฤติกรรมการกินและใช้ชีวิตตามที่แพทย์สั่งมา  ผู้ป่วยหลายคนมักหา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการอวดอ้างสรรคุณว่าดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ ทั้งที่ในปัจจุบัน ความเป็นจริงยังไม่มีอาหารเสริมตัวไหนที่ได้รับรองทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ ล่าสุดในปี ค.ศ.2014 สมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำผู้ป่วยเบาหวานว่า หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรต้องเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรใดๆทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในอาหารเสริมลดลงแต่อย่างใด 

ปัจจัยการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน บางคน ที่อาจจำเป็นจะต้องใช้อาหารเสริมชนิดต่างๆ โดยมักมีสาเหตุและจุดประสงค์ ที่จะต้องนำมาใช้เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เสมอและควบคุมได้ยาก
  • มีความจำเป็นต้องงดอาหารบางชนิดที่มีสารอาหารที่ดีและจำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากมีการแพ้อาหาร
  • ได้รับปริมาณอาหารต่ำกว่า 1,600 แคลอรีต่อวัน จากการที่ต้องลดน้ำหนัก ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ
  • ได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยายาตีกันกับวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น ยาเมทฟอร์มิน อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในการดูดซึมวิตามินบี 12 ซึ่งส่งผลให้ผลให้เกิดโลหิตจางในเวลาต่อมา ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาเมทฟอร์มิน จึงควรได้รับการเสริมวิตามินบี 12 ควบคู่กันไป

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับการวิจัยในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

สำหรับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับการวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในปัจจุบันมีดังนี้

1. โครเมียม

การเสริมโครเมียมในผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการทดลองใช้กันมานาน โดยผลที่ได้มีทั้งผลในทางบวก และผลในทางที่เป็นลบ ซึ่งผลในทางบวกพบว่าผู้ป่วยที่ทำการเสริมโครเมียมให้กับร่างกายโดยใช้โครเมียมในรูปโครเมียมพิโคลิเนตวันละ 1,000 ไมโครกรัม ร่วมกับยาโรคเบาหวานจะช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน ช่วยให้คุมน้ำตาลได้ดีกว่าการใช้ยาเบาหวานอย่างเดียว และยังช่วยลดน้ำหนักที่มีผลมาจากยาเบาหวานได้อีกด้วย  

ส่วนผลในเชิงลบที่พบคือ การเสริมด้วยโครเมียม ไม่ได้ช่วยในการควบคุมโรคเบาหวานหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแต่อย่างใด แต่กลับให้ผลร้ายตามมาคือ เกิดการปวดท้อง มีอาการผิดปกติเกิดข้นกับกล้ามเนื้อและผิวหนัง นอกจากนี้การเสริมโครเมียมในปริมาณที่สูงมากๆ ยังอาจทำให้ตับและไตวาย เม็ดเลือดแตก ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อีกด้วย 

2. กิงโกะบิโลบา ( สารสกัดจากใบแปะก๊วย )

กิงโกะบิโลบา เป็นสารที่สามารถสกัดได้จากในใบแปะก๊วย ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มความจำ ช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือกทำงานได้ดีขึ้น โดยมีงานวิจัยที่ได้นำสารชนิดนี้ไปใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และพบว่าสามารถช่วยลดอาการดื้อต่ออินซูลินได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์มารองรับที่ชัดเจน ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาต่อไป หากผู้ป่วยเบาหวานคนไหนจะใช้สารชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด เพราะอาจมีผลขัดกับยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานอยู่แล้ว

3. โสม

โสมถือว่าเป็นสมุนไพรโบราณอีกหนึ่งชนิด ที่มีสรรพคุณมากมาย ช่วยในการรักษาโรคได้หลายชนิด ส่วนที่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน มีงานวิจัยพบว่า โสมชนิดเกาหลีมีสรรคุณที่จะช่วยให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินดีขึ้นได้ และโสมอเมริกัน ( American Ginseng ) มีผลช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ข้อมูลโสมทั้งสองชนิดนี้ก็ยังคงอยู่ในการวิจัยต่อไป

นอกจากนี้ยัง มีข้อควรระวังหากผู้ป่วยโรคเบาหวานจะใช้โสมทั้ง 2 ชนิดนี้คือ เลี่ยงการใช้โสมถ้าต้องใช้ยาแสไพรินและวาร์ฟาริน เพราะโสมจะลดฤทธิ์การทำงานของยาเหล่านั้น หรือควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้จะดีที่สุด

4. แมกนีเซียม

แมกนีเซียม สามารถพบได้มากในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อปลา ผักใบเขียว ไข่ นม ถั่วชนิดต่างๆ ธัญพืชชนิดไม่ขัดสี เป็นต้น โดยแมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด ที่ช่วยในการทำงานของคาร์โบไฮเดรตและควบคุมฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย

นักวิจัยเชื่อว่า หากร่างกายขาดแมกนีเซียมจะจะส่งผลกระทบต่อการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน และทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีระดับแมกนีเซียมสะสมในเลือดต่ำ จาการที่ต้องสูญเสียแมกนีเซียมไปกับปัสสาวะมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน จึงอาจส่งผลต่อโรคแทรกซ้อนในเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนั้นความต้องการแมกนีเซียมในร่างกายจะสูงขึ้นในผู้ที่คุมเบาหวานไม่ดีและในผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตจะทำให้แมกนีเซียมถูกขับออกจากปัสสาวะมากขึ้น
มีผลสรุปจากงานวิจัยจำนวน 9 งานที่เกี่ยวกับแมกนีเซียม ว่า การเสริมแมกนีเซียมประมาณ 4-16 สัปดาห์ อาจส่งผลช่วยให้ลดระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้า และยังจะไปช่วยเพิ่มค่า เอชดีแอลคอเลสเตอรอลในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย แต่ผลระยะยาว ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม
โดยปริมาณแมกนีเซียมที่ควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป และ 310-320 มิลลิกรัมสำหรับผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ซึ่งหากได้รับปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจผิดปกติ และอัตราการเต้นหัวใจลดลง เป็นต้น และหากได้รับในปริมาณมากกว่า 5,000 มิลลิกรัม/วัน ก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 

5. โอเมก้า-3

โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันชนิดที่พบได้มากในเนื้อปลา โดยเฉพาะในปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ซึ่งจากข้อมูลในการวิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า โอเมก้า-3 มีผลต่อการควบคุมระดับเบาหวานได้ แต่กลับพบข้อมูลว่า อาหารที่มีโอเมก้า-3 เป็นส่วนประกอบมีผลต่อความเสี่ยงการเกิดเบาหวานได้ แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยปกติแล้ว กรดไขมันโอเมก้า-3 ไม่ให้ผลเสียกับร่างกาย แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อยต่อระบบการย่อยอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า-3 ยังทำให้เลือดหยุดช้าเวลาที่เกิดบาดแผลหากต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดควรปรึกษาแพทย์

6. วิตามินดีและแคลเซียม

วิตามินดี และ แคลเซียม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และความจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ ซึ่งการวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน หลายๆที่ ยังไม่พบว่า วิตามินดีและแคลเซียม สามารถช่วยลดระดับของน้ำตาลในเลือดได้จริง ยังเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการศึกษาต่อไป ทั้งนี้หากต้องการเสริมวิตามินดีและแคลเซียมให้กับร่างกาย หากได้รับปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลทำให้ การดูดซึมธาตุเหล็กและสังกะสีในร่างกายทำได้แย่ลง นอกจากนี้แคลเซียมอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดได้

7. วาเนเดียม

วาเนเดียม ( Vanadium ) เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั้งในสัตว์และในพืช แต่การพบมีเพียงปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น มีงานวิจัยพบว่า วาเนเดียม นี้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในสัตว์ ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ส่วนงานวิจัยในคนพบว่า การเสริมวาเนเดียม ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีความไวต่ออินซูลินดีขึ้นเล็กน้อย และสามารถลดการใช้ยาฉีดอินซูลินลงได้ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ยังคงต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนต่อไป

การแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

การแพทย์ทางเลือก หมายถึง การรวมหลักการทางการแพทย์แผนปัจจุบันและทางเลือกบางอย่างที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยและได้ผล โดยจะนำมาใช้ร่วมกัน โดยมีสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์แผนปัจจุบันได้ทราบว่าตนเองได้ รับการรักษา หรือ ใช้อาหารเสริม หรือยา ชนิดใดมาแล้วบ้าง เพราะสิ่งที่มีการเสริมเข้าไปอาจจะไปทำปฏิกิริยากับยาโรคเบาหวานได้เช่นกัน ยาแผนปัจจุบัน ได้รับการรับรองว่ามีความบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งปนเปื้อนและกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน ต่างกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร หรือวิตามินที่วางขายทั่วๆไป ที่แม้จะมีสรรคุณดีๆมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับรองหรือการยืนยันทางกานแพทย์ว่าได้ผลและมีความปลอดภัยต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน 

ข้อมูลการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า สารอาหารที่คนส่วนใหญ่ได้รับไม่เพียงพอคือแคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินเอ ซี อี และใยอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กและผู้ใหญ่ได้รับวิตามินดี ไม่เพียงพออีกด้วย

การแพทย์แบบผสมผสานได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยสำหรับการรักษาโรคเบาหวานนั้นซึ่งนอกจากได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังอาจใช้วิธีการเสริมด้วยสมุนไพรหรืออาหารเสริมชนิดต่างๆ เข้าไปด้วย แม้ว่าหลายๆงานวิจัยจะให้ผลออกมาเป็นบวกในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ออกมารองรับ เพราะต้องรอให้มีข้อมูลการวิจัยให้ชัดเจนมากกว่านี้เสียก่อน

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเบาหวานต่างๆ

1. วิตามินและแร่ธาตุรวม เป็นสารอาหารที่อาจช่วยละระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลใดๆยืนยันที่ชัดเจน

2. อินทนิลน้ำ ( Lagerstroemia Speciosa ) เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลด ช่วยลดไขมันและความดันโลหิตสูงได้

3. น้ำมันปลา ( 1,000-4,000 มิลลิกรัม/วัน ) ใช้เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ลดคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์

4. แมกนีเซียม ( 200-600 มิลลิกรัม/วัน ) ข้อมูลการวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีระดับแมกนีเซียมลดลง การเสริมอาจช่วยให้ร่างกายใช้น้ำตาลได้ดีขึ้นในผู้ป่วยบางคน

5. วิตามินซีและวิตามินอี ข้อมูลการวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดต่ำเชื่อว่าการเสริม วิตามินอี และ วิตามินซี จะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งส่งผลให้ดระดับต่ำตาลในเลือดลดลงได้

6. โครเมียม (500-1,000 ไมโครกรัม/วัน) เชื่อว่าจะช่วยให้การเผาผลาญน้ำตาลทำดีขึ้น

7. รอยัลเยลลี่ ( Royal Jelly ) รอยัลเยลลี่ หรือเรียกอีกอย่างว่า นมน้ำผึ้ง คือ อาหารเสริม เบาหวานชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหลายๆประเทศ เช่น ฝรั่งเศส , อังกฤษ , อิตาลี , ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยรอยัลเยลลี่นั้น ได้มากจากอาหารของผึ้งนางพญาและตัวอ่อนของผึ้งมีส่วนประกอบของสารอาหารมากมาย ทั้ง โปรตีน ,คาร์โบไฮเดรต,กรดไขมัน ,เกลือแร่ ,วิตามิน และยังรวมไปถึงฮอร์โมนบางชนิด อย่าง เทสทอสเทอโรน เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน และคอร์ติซอลมีรายงายการวิจัยว่ารอยัลเยลลี่นั้น มีสรรพคุณที่หลากหลาย เช่น มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ,ต้านแบคทีเรีย, ต้านการอักเสบ และอื่นๆ โดยมักจะใช้ได้ดีสำหรับผู้สูงอายุ    

8. วิตามินบีคอมเพล็กซ์อยู่ในส่วนของวิตามินรวม อาจเสริมวิตามินบี6 ( 50-150 มิลลิกรัม/วัน ) และวิตามินบี 12 (1,000-3,000 ไมโครกรัม/วัน) ข้อมูลการวิจัยพบว่าการเสริมจะให้ประโยชน์ในการป้องกันระบบปลายประสาทเสื่อม

9. ไบโอติน ( 2,000-4,000 ไมโครกรัม/วัน ) มีข้อมูลการวิจัยพบว่าการเสริมไบโอตินช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน

10. กรดอัลฟาไลโปอิก ( 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์มาก นักวิจัยเชื่อว่าช่วยลดระดับน้ำตาลและให้ผลในการป้องกันระบบปลายประสาทเสื่อมในเบาหวาน แต่ผลการวิจัยที่ผ่านมายังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ากรดอัลฟาไลโปอิกช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนในเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ และในปริมาณสูงๆ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหาร

11. อีพีโอหรืออีฟนิ่งพริมโรสออยล์ ( 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ) ข้อมูลการวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีระดับอีพีโอต่ำ การเสริมจึงอาจช่วยป้องกันการขาดอีพีโอได้

12. ใยอาหารจากบุก ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอล ในเลือดให้ต่ำลงได้

13. เห็ดหลินจือ ( Lingzhi Mushroom ) เห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรจีนโบราณชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในแถบประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีสรรพคุณในการรักษาโรคมากมาย เช่น โรคตับ โรคไต ความดันโลหิต โรคหืด ใช้ลดไขมันในเลือด รักษาโรคมะเร็ง เป็นยาบำรุง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย และสามารถต้านอาการอ่อนเพลียและช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
แต่ในทางการผลวิจัย ยังไม่สามารถที่จะหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า เห็ดหลินจือ นั้นสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายมนุษย์ได้จริง ยังคงต้องรอการศึกษาและวิจัยพัฒนาต่อไป

14. อบเชย ( 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ) เชื่อว่าช่วยควบคุมระดับน้ำตาล

15. สมุนไพรอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ ได้แก่ ชาเขียว ขิง มะระ หอม กระเทียม สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่จะต้องใช้ในปริมาณที่มาก

ถึงแม้ว่าอาหารเสริมชนิดต่างๆ จะมีการอวดอ้างสรรคุณที่มากมายเพียงใด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องไม่ละทิ้งการมาพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยวิธีการปกติ เพราะในปัจจุบันยังคงไม่มีผลการรับรองใดๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาหารเสริมต่างๆ สามารถรักษาและช่วยลดอาการป่วยของผู้เป็นโรคเบาหวานได้จริง อีกทั้งหากใช้แบบไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ก็อาจมีความอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน จงจำไว้เสมอว่าโรคเบาหวานมีวิธีในการรักษาที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองให้มากมายก็คือ การรู้จักดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รู้จักควบคุมอาหารที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ: บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด,2557.

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9.

Parker, Katrina (2008). Living with diabetes. New York: Facts On File. p. 143. ISBN 9781438121086. Archived from the original on 2017-09-06.