กินน้ำตาลมากๆ จะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่?

0
4845
รับประทานน้ำตาลมากๆ จะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่?
น้ำตาล คือ สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ซึ่งมีรสหวาน ซึ่งได้มากจากอ้อย มะพร้าว
รับประทานน้ำตาลมากๆ จะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่?
น้ำตาล คือ สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ซึ่งมีรสหวาน

น้ำตาล

น้ำตาล จัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเส้นใยอาหาร น้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ข้อแนะนำในการรับประทานน้ำตาล คือ จำกัดไว้ที่ 5-10% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในหนึ่งวัน ซึ่งตามหลักโภชนาการแนะนำ ให้กินน้ำตาลในปริมาณน้อยเช่นเดียวกับไขมันและเกลือ สำหรับคนไทยกองโภชนาการแนะนำว่า ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน คนส่วนใหญ่เมื่อกินน้ำตาล ในรูปเครื่องปรุง หรือขนมหวานมักลืมว่าน้ำตาลให้พลังงานเช่นเดียวกับข้าวและแป้ง จึงถือเป็นพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายจะได้รับ น้ำตาลเพียง 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานถึง 48 กิโลแคลอรีซึ่งเท่ากับข้าวประมาณ ½ ทัพพี อีกทั้งยังไม่มีวิตามิน เกลือแร่ กากใยอาหารที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นการกินหวานมากเกินไป จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น ฟันผุ ไขมันในเลือดสูง อ้วนง่าย

โรคเบาหวาน เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นแล้วจะเรื้อรังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ต้องคอยควบคุมดูแลระดับปริมาณน้ำตาลในเลือดของตนเองเสมอ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยมีการเก็บสถิติข้อมูลพบว่าคนในสหรัฐอเมริกา ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 26 ล้านคน โดยในปี 2550

ขึ้นชื่อว่าโรคเบาหวาน หลายคนคงมีความเชื่อและเข้าใจว่า เป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารทีมีส่วนประกอบของน้ำตาลมากเกินความจำเป็นของร่างกาย  จนไปทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คนที่เป็นโรคนี้ต้องจำกัดการกินอาหารที่มีรสหวานและต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยเสมอ หากจะวิเคราะห์ความเชื่อในส่วนนั้น ต้องมาทำความเข้าใจของโรคเบาหวานกันก่อน โดย โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกตามประเภทและอาการได้ 3 ประเภทซึ่งแต่ละแบบมีสาเหตุและความเสี่ยงที่ต่างกันไป ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานในสหรัฐอเมริกามากถึง 71,000 คน และมีการพยากรณ์ว่าหากไม่มีมาตรการจัดการเมื่อ ถึงปี พ.ศ.2593 จะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้มากถึง 1 ใน 3 ของประเทศเลยทีเดียว

การกินน้ำตาลมากๆมีผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำตาลในเลือด แต่การที่จะเป็นเบาหวานหรือไม่ ขึ้นกับการทำงานของอินซูลิน และตับอ่อนเป็นสำคัญ

https://www.youtube.com/watch?v=uwqFaXzlO3I

เบาหวานประเภทที่ 1

เบาหวานประเภทนี้มักจะเกิดกับเด็กหรือเกิดในวัยรุ่นที่อายุยังไม่เยอะ อาจจะมีการติดเชื้อบางอย่างเป็นจุดตั้งต้นหรืออาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม บางครั้งเรียกโรคนี้ว่า เบาหวานในวัยเด็กโดยมีสาเหตุจากเซลล์ตับอ่อน ที่ปกติมีหน้าที่สร้างอินซูลีน ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะส่งผลให้ร่างกายขาดอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการนำน้ำตาลไปใช้ในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติ

แนวทางการรักษา : ทางแพทย์จะใช้การรักษาโดยฉีดอินซูลินเข้าไป เพื่อให้ระบบกลไกการนำน้ำตาลไปใช้งานในร่างกาย สามารถทำได้ปกติ นั้นเอง

เบาหวานประเภทที่ 2

โรคเบาหวานประเภทที่ 2 นี้ จะต่างจากประเภทแรก คือ ตับอ่อนยังคงสามารถทำการผลิตอินซูลินได้เป็นปกติ แต่กลับเป็นเซลล์ในร่างกายเองที่ไม่ค่อยตอบสนองกับอินซูลิน หรืออินซูลินทำงานได้ไม่ดีเพียงพอ ผลกระทบที่ตามมาก็คือจะไปทำให้ให้เกิดภาวะปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งในปัจจุบันโรคเบาหวานประเภทนี้มีผู้เป็นกันเยอะที่สุด  เฉลี่ยร้อยละ 95 ของโรคเบาหวานทั้งหมด โดยจะพบมากในวัยกลางคน และนอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือขาดการออกกำลังกาย ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของคนเป็นโรคนี้ด้วย การตรวจพบในโรคนี้ทำได้ยาก บางครั้งต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะตรวจสอบเจอ

แนวทางการรักษา :  ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง  หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมปริมาณและประเภทอาหารที่ทาน

เบาหวานประเภทที่ 3 หรือ เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์

สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์  ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้  เบาหวานประเภทนี้มักจะมีสาเหตุมาจาก ความอ้วน มีความดันในโลหิตสูงหรือมาจากกรรมพันธุ์ถ่ายทอดต่อกันมา แต่หลังจากที่คลอดลูกแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับสู่ภาวะปกติเอง แต่ก็อาจจะมีโอกาสกลับไปเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้อีกในอนาคต

แนวทางการรักษา : ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง  หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมปริมาณและประเภทอาหารที่ทาน

เมื่อดูจากสาเหตุของโรคเบาหวานแต่ละประเภทแล้ว จะพบว่าสาเหตุหลักๆของโรคคือพฤติกรรมการกินอาหารและน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานปกติหรืออ้วนนั้นเอง ยกเว้นเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มาก เป็นสาเหตุในการทำให้เป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ซึ่งทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า แคลอรีส่วนเกินที่ร่างกายรับเข้าไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะมาจากน้ำตาล ไขมัน หรือการกินที่เกินพอดีล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวานได้เท่าๆกันนั้นเอง ซึ่งนักวิจัยหลายท่านก็ยังไม่ค่อยเชื่อกับความเห็นนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าลองวิเคราะห์ให้ดี ผู้ที่บริโภคน้ำตาลมากๆก็มักจะเป็นผู้ที่ทานอาหารมากด้วยเช่นกัน

แม้ความรู้สึกของคนส่วนมากก็อาจจะมองว่าโรคเบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่ดูน่ากลัวมากนัก เมื่อเทียบกับโรคร้ายอื่นๆ  เช่น โรคมะเร็ง โรคไตวาย เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้หากไม่รีบรักษาตัวก็อาจจะมีโอกาสเสียชีวิตได้เหมือนกันและหากเป็นไปได้ก็คงไม่อยากมีใครป่วยเป็นเบาหวานเหมือนกัน ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพตนเองให้ดีให้แข็งแรงอยู่เสมอ เลือกทานอาหารอย่างเหมาะสมและหมั่นออกกำลังกายจะดีที่สุด

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

มณี แก้วเกศ. รู้ไว้เข้าใจเบาหวาน. กรุงเทพฯ: แสงแดด, 2556.

IDF DIABETES ATLAS. International Diabetes Federation. 2013.

Economic costs of diabetes in the U.S. in 2012. Diabetes Care : 1033 – 46.