บวบเหลี่ยม เป็นยาเย็น ช่วยบำรุงร่างกาย ลดไข้ แก้คางทูม รักษาบิด

0
1542
บวบเหลี่ยม เป็นยาเย็น ช่วยบำรุงร่างกาย ลดไข้ แก้คางทูม รักษาบิด ใช้ประกอบในอาหารหลากหลายเมนู เนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวาน

บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม พืชวงศ์แตงที่มาจากประเทศอินเดีย ทั้งต้นค่อนข้างมีรสเย็นจึงช่วยดับร้อนได้ ส่วนของผลอ่อนมีเนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวาน จึงนำมาใช้ประกอบในอาหารหลากหลายเมนู เป็นพืชอีกชนิดที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย และเป็นที่รู้กันว่าบวบก็คือผักอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่ามีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่ดีต่อตัวเราด้วยเช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบวบเหลี่ยม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Luffa acutangula (L.) Roxb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Angled loofah”
ชื่อท้องถิ่น : คนไทยเรียกว่า “บวบเหลี่ยม” ภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “มะนอยงู มะนอยข้อง มะนอยเหลี่ยม” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะนอย หมักนอย” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “บวบหวาน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เดเรเนอมู เดเรส่า” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “กะตอรอ” คนจีนเรียกว่า “อ๊อซีกวย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

ลักษณะบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียวที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มักจะเลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่นหรือตามพื้นดิน มักจะตามที่รกร้าง ริมห้วย หนอง คลอง และตามบึงทั่วไป
เถา : เถาหรือลำต้นเป็นเหลี่ยม ข้อเถามีมือใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีรอยเว้าเข้าตื้นเป็นรูป 5 – 7 เหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้าตื้น ก้านใบเป็นเหลี่ยม
ดอก : เป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกจะบานในช่วงเย็น ดอกจะเพศผู้จะออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลีบ บางและย่น กลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกเป็นสีเขียว 5 กลีบ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ด้านนอกมีขนสั้น
ผล : เป็นรูปทรงกระบอก มีเหลี่ยมเป็นสันขอบคม 10 สัน ตามความยาวของผล ปลายผลจะโต โคนเรียวเล็ก เปลือกของผลจะหนา เมื่อแก่จะเป็นเส้นใบเหนียว เนื้อในผลมีรสขม ภายในผลมีเมล็ดสีดำแบนจำนวนมาก

สรรพคุณของบวบเหลี่ยม

  • สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ปวด เป็นยาลดไข้ ช่วยแก้ร้อนใน ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ รักษาโรคบิดถ่ายเป็นเลือด แก้อาการปวดท้องเนื่องจากดื่มเหล้ามาก เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ แก้แผลมีหนองและมีเนื้อนูน ช่วยขับน้ำนมของสตรีที่มีน้ำนมน้อยหลังการคลอดบุตร ทำให้เหงื่อออก
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยดับร้อน รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ รักษาจมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง รักษาอาการไอ แก้อาการเจ็บคอและหอบ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร แก้ฝีบวมแดงและมีหนอง รักษาฝีไม่มีหัว
  • สรรพคุณจากเถา ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดี รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ รักษาจมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง รักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็น แก้อาการปวดเสียวฟัน เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นยาขับพยาธิ แก้ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ ช่วยบำรุงม้าม ช่วยรักษาแขนขาเป็นเหน็บชา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เข้าในตำรับยาแก้ลม บำรุงหัวใจ
  • สรรพคุณจากใบ แก้เหงื่อออกมาก รักษาเยื่อตาอักเสบในเด็ก เป็นยาขับเสมหะ แก้บิด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร แก้ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ เป็นยารักษาสตรีที่ตกเลือด เป็นยาพอกทาถอนพิษในคนไข้ม้ามโต แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน ช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้ผดผื่นคัน รักษากลากเกลื้อน
  • สรรพคุณน้ำจากเถา ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้ร้อนใน เป็นยาแก้หวัด เป็นยาแก้ไอ แก้อาการเจ็บคอ เป็นยาขับเสมหะ แก้อาการปวดท้อง ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ รักษาจมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง แก้อาการเจ็บคอ เป็นยาระบาย เป็นยาถ่าย ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
  • สรรพคุณจากรังบวบ แก้คางทูม ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ช่วยขับน้ำนมของสตรีที่มีน้ำนมน้อยหลังการคลอดบุตร
  • สรรพคุณจากเมล็ด รักษาอาการปวดเสียวฟัน ช่วยแก้ร้อนใน เป็นยาขับเสมหะ ทำให้คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยรักษาโรคบิด เป็นยาถ่าย เป็นยาขับพยาธิตัวกลม เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาขับนิ่ว แก้อาการปวดเอวเรื้อรัง
  • สรรพคุณจากขั้วผล เป็นยารักษาอาการเจ็บคอ ช่วยทำให้ออกหัดได้เร็วขึ้น
  • สรรพคุณจากน้ำมันจากเมล็ด ทารักษาโรคผิวหนัง

ประโยชน์ของบวบเหลี่ยม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อนมีรสหวาน ใช้ประกอบอาหารพวก ต้ม แกง ผัด หรือจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้เป็นยาอื่น ๆ ใช้เป็นยาสระผมช่วยรักษารังแค เป็นยาฆ่าแมลง
3. ใช้ในอุตสาหกรรม นำใยผลมาใช้ในการทำความสะอาดรถยนต์ เครื่องแก้ว เครื่องครัว ใช้ใส่ในหีบห่อ เป็นที่บุรองภายในหมวกเหล็ก ใช้ทำเบาะรองไหล่ ใช้ผสมทำแผ่นเก็บเสียง ใช้สานเป็นเสื่อ หมวก และผ้าปูโต๊ะ ใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ

คุณค่าทางโภชนาการของผลบวบ

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 18 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
โปรตีน 0.7 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม
เส้นใยอาหาร 0.3 กรัม
เถ้า 0.4 กรัม
น้ำ 95.4 กรัม
เบตาแคโรทีน 30 ไมโครกรัม
วิตามินเอรวม 5 RE
วิตามินบี1 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม

บวบเหลี่ยม เป็นยาเย็นที่ผลมีรสหวาน และนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารได้มากมาย นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่ดีต่อระบบร่างกายอีกด้วย แถมยังช่วยกำจัดรังแคได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเถาและผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ลดไข้ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้คางทูม รักษาโรคบิดถ่ายเป็ด เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะและขับน้ำนมของสตรีได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บวบเหลี่ยม”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 410-412.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขยัน (Khayan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 58.
หนังสือผักกินใบ, 2541. (สุนทร เรืองเกษม).
หนังสือผักพื้นบ้าน 2, 2547. (อุไร จิรมงคลการ).
หนังสือสวนผัก, 2525. (เมืองทอง ทวนทวี และสุรีรัตน์ ปัญญาโตนะ).
หนังสือ Tropical Crops : Dicotyledons., 1974. (Purseglove, J. W.).
หนังสือ Vegetable Crops of India., 2003. (Wang, H. Y., C. L. Chen and J. M. Sung).
สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ผักและผลิตภัณฑ์ (Vegetables and products)”. เข้าถึงได้จาก: nutrition.anamai.moph.go.th/FoodTable/Html/gr_04_2.html. [28 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “บวบหอมและบวบเหลี่ยม”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [29 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Angled loofah”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 มี.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com