สะตอ
สะตอ ( Bitter bean ) เป็นผักสมุนไพรที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่สะตอจะมีกลิ่นเหม็นเขียวอย่างรุนแรง คนไทยบางคนชอบทานสะตอกันเป็นอย่างมาก และเป็นที่รู้กันว่าผักชนิดนี้จะช่วยให้การขับถ่ายคล่องมากขึ้นในวันถัดมา แต่ก็จะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมาด้วย แต่สรรพคุณของสะตอนั้นมีมากกว่าเรื่องของการขับถ่าย ใครที่ชอบรับประทานเป็นทุนเดิมก็อาจจะรักสะตอมากขึ้นเมื่อได้รู้ถึงประโยชน์ที่ลึกลงไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของสะตอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia speciosa Hassk.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Bitter bean” “Twisted cluster bean” และ “Stink bean”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กะตอ สะตอ ตอดาน ตอข้าว” ภาคใต้และจังหวัดระนองเรียกว่า “ตอหรือลูกตอ” จังหวัดปัตตานี ยะลาและมลายูเรียกว่า “ปะตา ปัตเต๊าะ” จังหวัดสตูลและมลายูเรียกว่า “ปาไต”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (Fabaceae)
ชื่อพ้อง : Parkia macropoda Miq.
ลักษณะของสะตอ
ต้นสะตอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบทั่วไปในภาคใต้และภาคตะวันออก มักจะขึ้นตามเชิงเขาที่มีสภาพป่าสมบูรณ์
ใบ : ใบประกอบเป็นรูปคล้ายขนนก
ดอก : ดอกมักจะออกเป็นช่อรวมกัน เป็นกระจุกคล้ายดอกกระถินขนาดเล็กจำนวนมากติดเป็นช่อกลม ช่อดอกห้อย แต่ละดอกมีก้านดอกและมีใบประดับรองดอก
ผล : เป็นฝักที่บิดเป็นเกลียวห่าง ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่สีดำ
เมล็ด : เป็นรูปรีเกือบกลมเรียงตามขวางกับฝัก
สรรพคุณของสะตอ
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ป้องกันหลอดเลือดอุดตันและลดความดันโลหิต เพิ่มประสิทธิภาพการเกาะตัวของเม็ดเลือดแดง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจาง
- สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยบำรุงสายตา
- สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยทำให้เจริญอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และขับลมในลำไส้ ช่วยในการขับปัสสาวะและการขับถ่าย แก้ปัสสาวะผิดปกติ
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ ช่วยแก้ไตพิการหรือแก้ไตผิดปกติ
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
- สรรพคุณต่อเซลล์ในร่างกาย มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์
- สรรพคุณด้านการคลายเครียด บรรเทาอาการซึมเศร้า
สะตอคุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของสะตอ 100 กรัม ให้พลังงาน 124 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 16.9 กรัม |
โปรตีน | 10 กรัม |
ไขมัน | 1.8 กรัม |
ไฟเบอร์ | 1 กรัม |
ธาตุเหล็ก | 3.4 มิลลิกรัม |
โพแทสเซียม | 376 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 126 มิลลิกรัม |
โซเดียม | 11 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 3 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 32.7 มิลลิกรัม |
วิตามินบี1 | 0.15 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.2 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.5 มิลลิกรัม |
ประโยชน์ของสะตอ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ประกอบอาหารในแถบภาคใต้และในประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า และสิงคโปร์ เป็นต้น ใช้ประกอบอาหารจำพวกสะตอผัดกุ้ง ผัดสะตอ หรือนำมาแปรรูปเป็นสะตอดอง
2. เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ใบของสะตอสามารถบำรุงดินได้
3. เป็นส่วนประกอบในการทำเฟอร์นิเจอร์ ลำต้นของสะตอใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้
ข้อควรระวังในการกินสะตอ
1. ผู้ที่เป็นโรคเกาต์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะตอ
2. ไม่ควรรับประทานสะตอในปริมาณมากเพราะอาจทำให้กรดยูริกในร่างกายสูง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ รวมถึงมีอาการหูอื้ออีกด้วย
3. ผู้ที่มีความดันเลือดค่อนข้างต่ำไม่ควรรับประทานสะตอ อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะได้ เนื่องจากสะตอมีฤทธิ์ช่วยลดความดันเลือด
สะตอ เป็นอาหารของชาวปักษ์ใต้ที่มีกลิ่นแรง มักจะรับประทานในเมนูอาหารเผ็ดทั้งหลาย คนไทยส่วนมากรู้จักสะตอไม่ว่าจะในรูปแบบผักหรือในการเล่นคำที่มักจะใช้เป็นคำคำสแลงในการแซะคน ทั้งนี้สะตอมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือเป็นยาระบายชั้นดี รับประทานแล้วคลายเครียดเหมือนได้ปลดปล่อย ป้องกันเลือดอุดตันและลดความดันโลหิต แถมยังป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย เป็นผักที่นำมาประกอบอาหารแล้วอร่อยเลิศแถมยังเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพราะสะตอมีฤทธิ์แรงต่อเลือดในร่างกาย บางคนมักจะมีอาการเวียนหัวเมื่อรับประทานเข้าไป แต่สิ่งที่สำคัญคือรสชาติของสะตอนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วรู้สึกสะใจจริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม