ผักชีหรือผักชีไทย บำรุงระบบอาหาร ช่วยต้านมะเร็ง แก้พิษไข้

0
1661
ผักชีหรือผักชีไทย บำรุงระบบอาหาร ช่วยต้านมะเร็ง แก้พิษไข้
ผักชีหรือผักชีไทย บำรุงระบบอาหาร ช่วยต้านมะเร็ง แก้พิษไข้
ผักชีหรือผักชีไทย บำรุงระบบอาหาร ช่วยต้านมะเร็ง แก้พิษไข้
ผักชี ผักที่คนไทยที่ใช้ในเมนูอาหารมากมาย สามารถใช้ได้ทุกส่วน มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว ใบหยักลึก

ผักชี

ผักชี (Coriander) เป็น ผักที่คนไทยทั่วไปรู้จักและเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเมนูอาหารมากมาย รวมไปถึงการใช้ผักชีตกแต่งจานด้วยการโรยหน้าอย่างสวยงาม หรือนำมาใช้แต่งกลิ่นให้ความหอมแก่อาหารมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันการกินผักชีสดกำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะคนญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะผักชีค่อนข้างที่จะมีกลิ่นแรงและเมื่อกินสดมักจะไม่ค่อยถูกปากสักเท่าไหร่ แต่สรรพคุณของผักชีนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย ถือเป็นผักที่อยู่คู่กับคนไทยมานานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักชี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coriandrum sativum L.
ชื่อสามัญ : Coriander
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหอมป้อมหรือผักหอมผอม” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักหอมน้อย” จังหวัดกระบี่เรียกว่า “ยำแย้” จังหวัดนครพนมเรียกว่า “ผักหอม” ส่วนที่เรียกกันทั่วประเทศคือ “ผักชีไทย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักชี (APIACEAE)

ลักษณะของผักชี

ผักชี เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ใบ : มีใบย่อยเป็นจำนวนมาก ใบหยักลึกเข้าหากลางใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยสีขาวอมชมพู
ผล : มีลักษณะค่อนข้างกลม ผลแก่จัดจะเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล
เมล็ด : มี 2 เมล็ด

สรรพคุณของผักชี

  • สรรพคุณจากใบ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของเลือดพลาสมาและกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แก้อาการหวัดและแก้ไอ แก้อาการสะอึก คลื่นไส้และอาเจียน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการอาหารเป็นพิษ ช่วยย่อยอาหารและขับลมในกระเพาะ แก้พิษตานซาง แก้ตับอักเสบ ขับลมพิษ แก้โรคหัด ต่อต้านเชื้อราแบคทีเรียและไข่ของแมลง ลดอาการปวดบวมตามข้อ
  • สรรพคุณจากผล ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดท้อง
    – ช่วยให้เจริญอาหารและบำรุงกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ผลแห้งมาบดเป็นผงแล้วรับประทานหรือใช้ต้มกับน้ำดื่ม – แก้อาการปวดฟันและเจ็บปาก ด้วยการใช้ผลนำมาต้มน้ำแล้วนำมาอมบ้วนปากบ่อย ๆ
    – แก้อาการบิดและถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ผลประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแล้วนำมาผสมน้ำดื่ม
    – แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลประมาณ 2 ช้อนชานำมาต้มกับน้ำดื่ม
    – รักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก ด้วยการใช้ผลสดนำมาบดให้แตกผสมกับเหล้า ดื่มวันละ 5 ครั้ง
  • สรรพคุณจากผลแก่ ใช้เป็นเครื่องเทศ เมื่อใช้ผสมกับตัวยาอื่นจะช่วยกระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยเพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น
  • สรรพคุณจากราก เป็นน้ำกระสายยาช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวและไข้อีดำอีแดง รักษาเหือด หิดและอีสุกอีใส
  • สรรพคุณจากต้นสด
    – รักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาใส่นม 2 แก้วผสมน้ำตาลดื่ม
    – แก้อาการผื่นแดง ไฟลามทุ่งของเด็กด้วยการใช้ต้นสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้าแล้วต้มให้เดือด นำมาใช้ทา
    – ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้นโดยใช้ต้นสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้า จากนั้นต้มให้เดือดแล้วนำมาใช้ทา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น บำรุงและรักษาสายตา
    – ขับเหงื่อและละลายเสมหะ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำไปต้มกับน้ำดื่มหรือจะคั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่มแก้อาการ

ประโยชน์ของผักชี

ผักชีเป็นส่วนประกอบของอาหาร นำใบมารับประทานเป็นผักและรับประทานกับอาหารอื่น หรือนำมาใช้ตกแต่งหน้าอาหาร ใบช่วยถนอมอาหารและผลช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อ

คุณค่าทางโภชนาการของผักชีสด

คุณค่าทางโภชนาการของผักชีสดต่อ 100 กรัม โดยคิด % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 23 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 3.67 กรัม
น้ำตาล 0.87 กรัม
เส้นใย 2.8 กรัม
ไขมัน 0.52 กรัม
โปรตีน 2.13 กรัม
น้ำ 92.21 กรัม 
วิตามินเอ 337 ไมโครกรัม (42%)
เบตาแคโรทีน 3,930 ไมโครกรัม (36%)
ลูทีนและซีแซนทีน 865 ไมโครกรัม 
วิตามินบี1 0.067 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี2 0.162 มิลลิกรัม (14%)
วิตามินบี3 1.114 มิลลิกรัม (7%)
วิตามินบี5 0.57 มิลลิกรัม (11%)
วิตามินบี6 0.149 มิลลิกรัม (11%)
วิตามินบี9 62 ไมโครกรัม (16%)
วิตามินบี12 0 ไมโครกรัม (0%)
วิตามินซี 27 มิลลิกรัม (33%)
วิตามินอี 2.5 มิลลิกรัม (17%) 
วิตามินเค 310 ไมโครกรัม (295%)
แคลเซียม 67 มิลลิกรัม (7%)
เหล็ก 1.77 มิลลิกรัม (14%)
แมกนีเซียม 26 มิลลิกรัม (7%)
แมงกานีส 0.426 มิลลิกรัม (20%)
ฟอสฟอรัส 48 มิลลิกรัม (7%)
โพแทสเซียม 521 มิลลิกรัม (11%)
โซเดียม 46 มิลลิกรัม (3%) 
สังกะสี 0.5 มิลลิกรัม (5%)

ข้อควรระวัง

1. คนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชีควรหลีกเลี่ยง
2. ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป อาจจะทำให้มีกลิ่นตัวแรง มีอาการตาลายและลืมง่าย
3. ไม่ควรรับประทานน้ำผักชีมากจนเกินไป เพราะทำให้ไตพัง

ผักชี เป็นพืชผักที่จำเป็นต่อเมนูอาหารในหลาย ๆ เมนู เชื่อว่าทุกคนต้องเคยรับประทานผักชีแม้ว่าจะไม่ได้รับประทานสดเหมือนคนญี่ปุ่น มีการนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มบ้างแต่ไม่ค่อยนิยมสักเท่าไหร่ สรรพคุณที่โดดเด่นของผักชีเลยก็คือ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ต่อต้านมะเร็งและป้องกันไข้หวัด เป็นผักที่พบเจอได้บ่อยแต่มีประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นเวลาไปรับประทานอาหารเมนูที่มีผักชีก็อย่าเขี่ยออกจะเป็นการดีกว่า หรือไม่ก็รับประทานควบคู่ไปกับรสอาหารอื่นที่เราชอบก็ได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง

www.rspg.or.th, www.samunpri.com, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี