ทองหลางใบมน ไม้ต้นของทางเหนือ สรรพคุณแก้ปวด แก้ลมพิษ ดับพิษ

ทองหลางใบมน ไม้ต้นของทางเหนือ สรรพคุณแก้ปวด แก้ลมพิษ ดับพิษ
ทองหลางใบมน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนาเป็นร่องลึก ดอกเป็นสีแดงเลือดนกดอกแค ผลเป็นฝักแคบ
ทองหลางใบมน ไม้ต้นของทางเหนือ สรรพคุณแก้ปวด แก้ลมพิษ ดับพิษ
ทองหลางใบมน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนาเป็นร่องลึก ดอกเป็นสีแดงเลือดนกดอกแค ผลเป็นฝักแคบ

ทองหลางใบมน

ทองหลางใบมน (Erythrina suberosa Roxb) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่พบได้ในทางภาคเหนือเท่านั้น มักจะปลูกไว้ตามบ้านและหัวไร่ปลายนา มีดอกเป็นสีแดงเลือดนกทำให้ต้นดูสวยงาม สามารถนำยอดอ่อนและใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดได้ และที่สำคัญเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นและยังมีงานวิจัยที่ทดสอบฤทธิ์หรือความเป็นพิษของทองหลางใบมนอีกด้วย เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีประโยชน์มากกว่าที่เห็นได้จากภายนอก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของทองหลางใบมน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina suberosa Roxb.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ทองกี ทองแค ทองบก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของทองหลางใบมน

ทองหลางใบมน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปทางภาคเหนือ มักจะพบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบและมีปลูกไว้ตามบ้านและหัวไร่ปลายนา
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปลือกต้นหนาเป็นร่องลึก ตามกิ่งและก้านมีหนามแหลมคมขนาดเล็กขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป
ใบ : เป็นใบประกอบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแต่มุมโค้งมน ขอบใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแน่นที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแดงเลือดนกลักษณะคล้ายดอกแค
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแคบ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2 – 4 เมล็ด

สรรพคุณของทองหลางใบมน

  • สรรพคุณจากทองหลางใบมน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ยับยั้งเนื้องอก ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้นและราก ช่วยทำให้นอนหลับ เป็นยาแก้เสมหะ เป็นยาแก้ดีพิการ
  • สรรพคุณจากแก่น เปลือกต้นและใบ เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ลมทั้งปวง ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ตาบวม เป็นยาแก้ปวดฟัน เป็นยาแก้นิ่วหรือขับนิ่ว เป็นยาแก้ลมพิษ ช่วยแก้อาการปวดข้อ
    – แก้ลมกองละเอียดหรือเวียนหัวตามัว ด้วยการนำเปลือกต้นมาผสมกับยาอื่นกินเป็นยา
    – พอกฝีแก้ปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำเปลือกต้นมาตำผสมกับข้าวเป็นยาพอก
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาแก้โรคตา เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาแก้ลมพิษ เป็นยาแก้พิษหรือดับพิษทั้งปวง
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาทาแก้ปวดตามข้อ
    – แก้ไข้ ดับพิษไข้ ขับพยาธิไส้เดือน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับยาอื่นสุมกระหม่อมเด็ก
    – แก้ตาแดงและตาแฉะ ด้วยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา
    – ดับพิษ ด้วยการนำใบมาคั่วให้เกรียมใช้เป็นยาเย็น
    – ดับพิษอักเสบ ด้วยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา
    – แก้อาการปวด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากแก่น เป็นยาแก้ฝีในท้อง
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี
  • สรรพคุณจากฝัก เป็นยาบำรุงน้ำดี
  • สรรพคุณจากใบแก่
    – ช่วยปิดแผลเนื้อร้ายที่กัดกินลามบวมดังจะแตกและช่วยดูดหนองให้ยุบแห้ง ด้วยการนำใบแก่มารมควันชุบกับน้ำเหล้าใช้ปิดแผล
  • สรรพคุณจากแก่นและกระพี้ เป็นยาแก้พิษฝี

ประโยชน์ของทองหลางใบมน

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาทานเป็นผักสดโดยใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นผักแกล้มกับยำ ลาบหมูหรือแกล้มกับตำมะม่วง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทองหลางใบมน

สารที่พบในทองหลางใบมน พบสาร arachidic acid, behenic acid, campesterol, cyanidin – 3 – 5 – Ii – O – β – D – dlucoside, delphinidin – 3 – 5 – di – O – β – D – glucoside, erythrina suberosa lectin, flavonone, linoleic acid, myristic acid, oleic acid, palmitic acid, pelargonidin – 3 – 5 – di – O – β – D – glucoside, β – sitosterol, stearic acid, stigmasterol
การทดสอบความเป็นพิษของทองหลางใบมน เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและเปลือกต้นทองหลางใบมนด้วยเอทานอล 50% เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่า ขนาดที่ทนได้สูงสุดคือ 1 กรัมต่อกิโลกรัมและ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ ส่วนสาร alkaloid จากใบในขนาด 306.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้หนูถีบจักรตายถึง 50%
การทดลองของทองหลางใบมน ปี ค.ศ. 1973 ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองโดยสารสกัดจากเปลือกต้นและใบทองหลางใบมนในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้

ทองหลางใบมน เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีสรรพคุณได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากนั้นยังสามารถนำใบอ่อนมาใช้เป็นอาหารได้ด้วย ทว่าในประเทศไทยเรานั้นไม่ได้พบได้ง่ายเท่าไหร่เพราะจะขึ้นในทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ทองหลางใบมนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น รากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงน้ำดี แก้อาการปวด ดับพิษอักเสบ เป็นยาแก้โรคตา แก้ลมพิษ ช่วยทำให้นอนหลับและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ทองหลางใบมน”. หน้า 91-92.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [11 ธ.ค. 2014].
สงขลาพอร์ทัล. (เวสท์สงขลา). “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com. [11 ธ.ค. 2014].
สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “ทองหลาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [11 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/