ตำลึง ผักมากประโยชน์ ป้องกันมะเร็ง บำรุงผิว บำรุงสายตา บำรุงเลือด รักษาเบาหวาน

0
1799
ตำลึง ผักมากประโยชน์ ป้องกันมะเร็ง บำรุงผิว บำรุงสายตา บำรุงเลือด รักษาเบาหวาน
ตำลึง เป็นไม้เลื้อย ลำต้นกลม เป็นใบเดี่ยว 3-5 แฉก ใบเป็นรูปหัวใจ ผิวใบมันเรียบ
ตำลึง ผักมากประโยชน์ ป้องกันมะเร็ง บำรุงผิว บำรุงสายตา บำรุงเลือด รักษาเบาหวาน
ตำลึง เป็นไม้เลื้อย ลำต้นกลม เป็นใบเดี่ยว 3-5 แฉก ใบเป็นรูปหัวใจ ผิวใบมันเรียบ

ตำลึง

ตำลึง (Ivy gourd) เป็น ผักอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมารับประทานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเมนู “แกงจืดตำลึง” ที่มักจะพบได้ง่ายตามร้านทั่วไป นอกจากนั้นยังสามารถซื้อตำลึงมาทำเองได้ด้วย ตำลึงมีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ใบเป็นรูปหัวใจและที่สำคัญโด่งดังในเรื่องของสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงทำให้รักษาเบาหวานได้ นอกจากนั้นยังนิยมนำมาใช้ทำทรีตเมนต์ให้ผิวหน้าผ่องใสได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตำลึง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis (L.) Voigt
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Ivy gourd”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ตำลึง สี่บาท” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักแคบ” ภาคอีสานเรียกว่า “ผักตำนิน” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “แคเด๊าะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ชื่อพ้อง : Cephalandra indica (Wight & Arn.) Naudin

ลักษณะของตำลึง

ตำลึง เป็นไม้เลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะกลม ต้นอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทาอมเขียว บริเวณข้อของต้นจะมีมือยึดเกาะ
มือเกาะ : มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายหนวดขนาดเล็ก แตกออกบริเวณข้อของลำต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยว 3 แฉก หรือ 5 แฉก มีรูปร่าง 5 เหลี่ยม โคนใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ผิวใบมันเรียบ แผ่นใบหยักเป็นแฉก ปลายใบเป็นติ่งแหลม ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ไม่มีขน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวหรือคู่ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกจะมีสีขาวถึงขาวนวล ก้านช่อดอกสั้น แตกกิ่งช่อดอกตรงปลาย ดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง
ผล : ลักษณะของผลเป็นทรงยาววงรีคล้ายแตงกวาแต่มีขนาดเล็กกว่า ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน ผลแก่จัดจะมีสีแดง
เมล็ด : เมล็ดอยู่ภายในผลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะยาววงรี แบนและผิวเรียบ เมล็ดดิบจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล

สรรพคุณของตำลึง

  • สรรพคุณจากตำลึง ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย บำรุงผิวพรรณ ช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันการเกิดอัมพาต บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง บำรุงและรักษาสายตา ป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดแข็งหรือตีบตันและแตก ป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตา
    – ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลินจึงช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบมาดื่มวันละ 2 รอบ เวลาเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นตำลึง ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
  • สรรพคุณจากใบ ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง บำรุงเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงน้ำนมแม่ ช่วยดับพิษร้อนและแก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการตาแดงและเจ็บตา ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับสารพิษในลำไส้ ป้องกันอาการท้องผูก แก้ฝีแดง ดับพิษฝี บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ป้องกันการเป็นตะคริว
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำแล้วทาบริเวณที่คัน
    – รักษาแผลอักเสบ ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
    – ลดอาการคันและการอักเสบเนื่องจากพืชมีพิษหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อยอย่างหมามุ่ย ถูกตัวบุ้ง ยุงกัด ใบตำแย แพ้ละอองข้าว พิษคูน พิษกาฬ ด้วยการนำใบสด 1 กำ มาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วคั้นเอาน้ำมาทา
    – แก้งูสวัด เริม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ มาล้างให้สะอาดแล้วนำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน จากนั้นทำการพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากราก ช่วยลดไข้ แก้อาเจียน แก้อาการตาฝ้า ช่วยดับพิษต่าง ๆ
    – รักษาแผลอักเสบ ด้วยการนำรากสดมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
  • สรรพคุณจากเถา ช่วยดับพิษต่าง ๆ
    – แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการนำเถามาชงกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะและพิษอักเสบในตา ด้วยการนำเถามาต้มแล้วเอาน้ำจากเถามาหยอดตา
    – แก้อาการตาช้ำแดง ด้วยการตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว แล้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่าจนเกิดฟองเพื่อใช้หยอดตา
    – แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อนยาว 1 คืบ จำนวน 3 – 4 ท่อน ใส่ในหม้อดินสุมไฟด้วยฟางจนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวเพื่อดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา
    – แก้อักเสบ ด้วยการใช้น้ำจากเถาทาบริเวณที่มีอาการ
    – เป็นยารักษาตาไก่ ให้พลิกเอาหนองขาวแข็งออกจากตาไก่ก่อน แล้วใช้เถาตำลึงแก่ขนาดเท่านิ้วก้อยมาตัดเป็นท่อนแล้วตัดข้อทิ้ง จากนั้นใช้ปากเป่าด้านหนึ่งจนเกิดฟอง เอามือเปิดเปลือกตาไก่ออกแล้วเอาฟองที่ได้หยอดตาไก่วันละครั้งจนกว่าจะหายดี
  • สรรพคุณจากเปลือกราก เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย ช่วยระบายท้อง
  • สรรพคุณจากหัว เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย ช่วยระบายท้อง
  • สรรพคุณจากดอก
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำดอกมาตำแล้วทาบริเวณที่คัน
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการ

ประโยชน์ของตำลึง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำยอดและใบมารับประทานเป็นผักสดด้วยการลวกหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาใช้ในการประกอบอาหารอย่างแกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไฟแดง ไข่เจียว ผลอ่อนนำมารับประทานกับน้ำพริกหรือจะนำมาดองก็ได้ ผลสุกนำมารับประทานได้เช่นกัน
2. ใช้ในด้านความงาม ช่วยกำจัดกลิ่นตัวและกลิ่นเต่าด้วยการใช้เถาและใบมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้ ช่วยทรีตเมนต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงด้วยการใช้ยอดตำลึงครึ่งถ้วยและน้ำผึ้งแท้ครึ่งถ้วยมาผสมกันแล้วปั่นในโถให้ละเอียดแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก

คุณค่าทางโภชนาการใบและยอดอ่อนของตำลึง

ใบและยอดอ่อนของตำลึง 100 กรัม ให้พลังงาน 35 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
ใยอาหาร 1 กรัม
วิตามินเอ 18,608 IU
วิตามินบี1 0.17 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.13 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.2 มิลลิกรัม
วิตามินซี 34 มิลลิกรัม
แคลเซียม 126 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 30 กรัม
เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังของตำลึง

1. ตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น เมื่อทาน้ำตำลึงที่ผิวหนังแล้วไม่รู้สึกเย็นแปลว่าไม่ถูกโรค ดังนั้นให้หยุดใช้ทันที
2. การทาน้ำตำลึงไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น

ตำลึง เป็นผักที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็นซึ่งมีลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารโดยเฉพาะ “แกงจืดตำลึง” สามารถนำทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้มากมายโดยเฉพาะด้านยาและช่วยบำรุงผิว เป็นผักที่มีวิตามินเอและแคลเซียมสูง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันมะเร็ง บำรุงและรักษาสายตา บำรุงเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาเบาหวาน เป็นผักที่หาได้ง่ายและมีประโยชน์ต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม