งิ้ว บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาต

0
2149
งิ้ว บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาต
งิ้ว เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และสีทอง มีกลิ่นหอม
งิ้ว บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาต
งิ้ว เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และสีทอง มีกลิ่นหอม

งิ้ว

งิ้ว (Red cotton tree) เป็นไม้ต้นที่มีหลายสายพันธุ์ ทั้งงิ้วป่า ง้าว และงิ้วป่าดอกแดง ในที่นี้จะพูดถึงงิ้วโดยเฉพาะ ทว่าต้นงิ้วเป็นต้นที่หาได้ยากมากในปัจจุบัน จะมีการปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น มีลักษณะของต้นสูงชะลูดและมีหนามอยู่ทั่วลำต้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปีนต้นงิ้ว” สำหรับคนที่คบชู้จะต้องตกนรกไปปีนต้นงิ้วที่มีหนามแหลม นอกจากจะเป็นประโยคเด็ดในวรรณคดีแล้ว งิ้วยังเป็นต้นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นวัตถุดิบทางอาหาร หรือปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของงิ้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax ceiba L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cotton tree” “Kapok tree” “Red cotton tree” “Silk cotton” “Shving brush”
ชื่อท้องถิ่น : คนทั่วไปเรียกว่า “งิ้วบ้าน” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “งิ้วแดง” ชาวชองจันทบุรีเรียกว่า “งิ้วปง งิ้วปกแดง สะเน้มระกา” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “งิ้วป่า งิ้วปงแดง งิ้วหนาม นุ่นนาง ตอเหมาะ” ชาวม้งเรียกว่า “ปั้งพัวะ” คนจีนเรียกว่า “บักมี้”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชื่อพ้อง : Bombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.

ลักษณะของต้นงิ้ว

ต้นงิ้ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ มักจะพบตามที่ราบและป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขา
ต้น : ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มรูปไข่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ มีสีเขียว ไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3 – 5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก เป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก ดอกหลุดร่วงได้ง่าย มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบสีขาวปนสีชมพู เกสรตัวเมียมี 1 ก้าน เป็นสีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มและเหนียว มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ จะทิ้งใบก่อนมีดอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : ผลมีลักษณะยาววงรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม เปลือกของผลแข็ง เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ซึ่งสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล

สรรพคุณของต้นงิ้ว

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยห้ามเลือด สมานแผล ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
    – ทำให้อาเจียนถอนพิษ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก ด้วยการนำรากสดมาแช่เหล้า ใช้ถูทาหรือตำพอก
  • สรรพคุณจากยาง เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ระดูตกหนักหรือออกมากเกินไป ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยห้ามเลือด ช่วยฝากสมาน
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้โรคมะเร็ง รักษาโรคหนองในเรื้อรัง ช่วยห้ามเลือดภายใน ช่วยรักษาโรคผิวหนัง เป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง บรรเทาอาการท้องเดิน ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยแก้อาการตกโลหิต สมานแผล ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้อัมพาต แก้เอ็นอักเสบ แก้คนที่เป็นอัมพาตครึ่งตัว
    – ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการนำเปลือกต้น 1 กิโลกรัม มาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก นำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด เอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น
    – ช่วยแก้ไตพิการ แก้ไตชำรุด แก้ไตอักเสบ ด้วยการนำเปลือกต้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง แล้วต้มกินต่างน้ำทุกวัน
    – รักษาแผลมีหนอง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วใช้ทำความสะอาดแผล
  • สรรพคุณจากดอก ดอกแห้งเป็นยาแก้พิษไข้ ช่วยระงับประสาท ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง บรรเทาอาการท้องเดิน ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยห้ามเลือด ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยรักษาแผล แก้ฝีหนอง ช่วยแก้อาการคัน ดอกแห้งเป็นยาระงับอาการปวด แก้น้ำร้อนลวก
    – แก้บิดเลือด ด้วยการนำดอกแดงมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง
    – แก้บิดมูกเลือด ด้วยการนำดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง มาต้มเป็นน้ำชาดื่ม
    – ช่วยแก้อาการท้องร่วง ด้วยการนำดอกตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากหนาม แก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน ช่วยแก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ ช่วยแก้ฝีประคำร้อย ช่วยดับพิษฝี
  • สรรพคุณจากใบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ รักษาต่อมในคออักเสบ ช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ รักษาฝี ช่วยแก้หัวลำมะลอก แก้หัวดาวหัวเดือน ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
    – แก้อาการฟกช้ำ แก้บวม แก้อาการอักเสบ ด้วยการนำใบแห้งหรือใบสดมาตำใช้ทา
    – รักษาอาการปวดเมื่อย โดยชาวโอรังอัสลีในรัฐเประของประเทศมาเลเซียนำใบสดมาแช่กับน้ำแล้วต้มใช้อาบ
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
  • สรรพคุณจากผลอ่อน รักษาแผลเรื้อรังในไต

ประโยชน์ของงิ้ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เกสรตัวผู้จากดอกเมื่อนำไปตากแห้งนำมาใช้โรยในขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือใช้ปรุงเป็นแกงแค เกสรตัวผู้แห้งนำมาใช้แต่งสีของแกงส้มหรือแกงกะหรี่ ดอกสดใช้ลวกจิ้มรับประทานกับน้ำพริกและแกงส้ม ดอกใช้ผสมกับข้าวโพดทำเป็นขนมแผ่นรับประทานได้ รากอ่อนใช้ทานเมื่อยามขาดแคลน น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร
2. ใช้ในการเกษตร ใบและยอดอ่อนเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง
3. ปลูกเป็นไม้ประดับในสนามทั่วไป ให้ความร่มเงา
4. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เป็นไม้เนื้ออ่อนสีขาวหรือเหลืองอ่อน นิยมนำมาใช้ทำหีบและลังสำหรับใส่ของ ใช้ทำไม้อัด ไม้จิ้มฟัน ก้านไม้ขีด ทำของเล่นเด็ก ใช้ทำเยื่อกระดาษ ชาวกะเหรี่ยงแดงนำไม้มาสร้างบ้าน หรือนำมาแปรรูปทำไม้แบบหรือไม้ต่อโลงศพ เส้นใยจากเปลือกต้นใช้ทำเชือกได้ ปุยนุ่นของฝักหรือผลแก่นำมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่มด้วยการนำมาใช้ยัดเบาะ และใช้ทำชนวนตู้เย็น น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสบู่ได้ ชาวเหนือนำเปลือกมาทำสี โดยจะให้สีน้ำเงินสำหรับย้อมสีจำพวกผ้าฝ้ายได้

งิ้ว เป็นต้นที่หาได้ยากและพบทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ มีดอกสดใสสวยงามและต้นให้ความร่มเงาจึงนำมาปลูกประดับ ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม และเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร มีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมต่อการนำมารับประทาน งิ้วมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคความดันเลือดสูง บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาตได้ ถือเป็นต้นที่มีสรรพคุณมากมายจนน่าทึ่ง สามารถแก้โรคและป้องกันโรคอันตรายได้หลายอย่าง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. “งิ้ว“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 ม.ค. 2014].
การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนดาราพิทยาคม. “งิ้ว, งิ้วบ้าน, งิ้วหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th. [7 ม.ค. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. “งิ้ว เป็นอาหารมีสรรพคุณและประโยชน์“. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [7 ม.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “ต้นงิ้ว วัดห้วยหลาด อำเภอรัตภูมิ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [7 ม.ค. 2014].
Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
ลานธรรมจักร. “ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลีของนางกากี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dhammajak.net. [7 ม.ค. 2014].
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้. “ดอกงิ้ว สมุนไพรไทย แคลเซียมสูง รักษาสารพัดโรค“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.fio.co.th/p/magazine_fio/files/5503.pdf‎. [7 ม.ค. 2014].
ภูมิปัญญาอภิวัฒน์. “สมุนไพรเปลือกงิ้วต้มกินแก้ไตพิการ“. (สมหวัง วิทยาปัญญานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com. [7 ม.ค. 2014].
รักบ้านเกิด. “การใช้งิ้วแดงรักษาโรคความดันโลหิตสูง“. (บรรทม จิตรชม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com. [7 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Kapok tree“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:eherb.hrdi.or.th. [7 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “งิ้วแดง“. (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ). อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/1694. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [7 ม.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
สมุนไพรดอตคอม. “งิ้วแดง“. (manji). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [7 ม.ค. 2014].
คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ. “มารู้จัก… ต้นงิ้ว กันเถอะ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: forensic.rpca.ac.th/pdf/bombax.pdf. [7 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/