ผักแว่น
ผักแว่น (Water clover) เป็นเฟิร์นที่ขึ้นตามริมน้ำหรือพื้นที่แฉะ มีลักษณะของดอกที่สวยงามเป็นสี่แฉก มีความโดดเด่นและพบเห็นได้ทั่วไป บางคนอาจจะเคยพบแต่ไม่รู้จักชื่อของดอกผักแว่น เป็นผักที่มีสรรพคุณทางยาและมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมารับประทานได้ ในประเทศไทยทางภาคอีสานนิยมนำผักแว่นมารับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาแกงร่วมกับหอมแดง กะปิและกระเทียม แต่ทางภาคกลางยังไม่มีการนำมาทานกันอย่างแพร่หลายนัก
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแว่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Marsilea crenata C. Presl
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water clover” “Water fern” “Pepperwort”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ผักแว่น” ชาวกะเหรี่ยงและภาคเหนือเรียกว่า “หนูเต๊าะ” ภาคใต้เรียกว่า “ผักลิ้นปี่” และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ผักก๋ำแหวน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักแว่น (MARSILEACEAE)
ลักษณะของผักแว่น
ผักแว่น เป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน
ลำต้น : มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อยและแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อนขึ้นปกคลุม ลำต้นอ่อนมีสีเขียว ลำต้นแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ราก : รากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบพัด โดยมีใบย่อย 4 ใบคล้ายกังหัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปกรวยปลายมนหรือเป็นรูปลิ่มคล้ายพัด โคนใบสอบ ขอบใบและแผ่นใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ใบไม่มีขน แผ่นใบจะงอกออกจากตรงกลางตำแหน่งเดียวกัน 3 – 5 ใบ ทำให้ใบทั้งหมดรวมกันเป็นลักษณะกลม
ก้านใบ : ใบย่อยไม่มีก้านใบ ใบมีสปอร์โรคาร์ป (Sporocarp) ลักษณะวงรีคล้ายเมล็ดถั่วเขียวเป็นก้อนแข็งออกที่โคนก้านใบ ขณะอ่อนมีสีขาวแต่เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำและร่วงได้ง่าย ภายในมีสปอร์จำนวนมาก
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองขนาดเล็กออกตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วง
ผล : มีลักษณะเป็นวงรียาว ขั้วผลและปลายผลแหลม เปลือกผลสาก ผลแบ่งออกเป็น 2 พู มีผลแห้งและแตกได้
เมล็ด : ภายในผลประกอบไปด้วยเมล็ดจำนวนมาก
สรรพคุณของผักแว่น
- สรรพคุณจากต้น เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยดับพิษร้อนและถอนพิษไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ บำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน แก้อาการท้องผูก แก้ดีพิการ รักษาโรคเกาต์
– บรรเทาความร้อนในร่างกาย ระงับอาการร้อนใน แก้ร้อนใน แก้อาการกระหายน้ำ ช่วยสมานแผลในปากและลำคอ ด้วยการนำต้นมาต้มแล้วดื่ม - สรรพคุณจากใบ บำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน ฆ่าเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคกลาก รักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด
– ช่วยลดไข้ ช่วยสมานแผลในปากและลำคอ รักษาโรคปากเปื่อยและปากเหม็น แก้เจ็บคอและอาการเสียงแหบ แก้อาการท้องเสีย ขับปัสสาวะ ด้วยการนำใบสดมาต้มแล้วดื่ม
– ใช้เป็นยาภายนอก เช่น รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยในการสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนองและช่วยลดการอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ มาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณแผล - สรรพคุณจากทั้งต้น
– เป็นยาแก้ไข้และอาการผิดสำแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นมาผสมกับใบธูปฤๅษีแล้วทุบให้แตก นำไปแช่น้ำที่มีหอยขมเป็น ๆ อยู่ประมาณ 2 – 3 นาที แล้วดื่ม
– แก้เจ็บคอและอาการเสียงแหบ ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มแล้วดื่ม
ประโยชน์ของผักแว่น
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อนและก้านใบใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก นำมาเป็นเครื่องเคียงและเป็นส่วนประกอบในเมนูจำพวกแกงต่าง ๆ ในภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาแกงร่วมกับหอมแดง กะปิและกระเทียม สามารถนำมาต้มให้นิ่มเป็นอาหารสำหรับเด็กและผู้สูงอายุได้ เมืองสุราบายาของประเทศอินโดนีเซียนำมาเสิร์ฟร่วมกับมันเทศและเพเซล (Pacel) หรือซอสเผ็ดที่ผลิตจากถั่วลิสง
2. เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาเป็นยาชนิดครีมที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด
คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น ต่อ 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 18 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 0.7 กรัม |
โปรตีน | 1.0 กรัม |
ไขมัน | 1.2 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 3.3 กรัม |
น้ำ | 94 กรัม |
วิตามินเอ | 12,166 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.10 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.27 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 3.4 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 3 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 48 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 25.2 มิลลิกรัม |
สารออกฤทธิ์ในผักแว่น
ผักแว่น มีสารอาหารพวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สารเอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผักแว่น และประกอบไปด้วยสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่มีประโยชน์มากมายโดยเฉพาะการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
คำแนะนำในการรับประทานผักแว่น
ตำนานหรือพิธีกรรมทางศาสนาของชาวเหนือมีความเชื่อว่า “หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานผักแว่น เนื่องจากผักแว่นมีลักษณะของลำต้นเป็นเถาเครือ โดยเชื่อว่าเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ไปพันคอของเด็กทารกในท้องได้ ทำให้คลอดยากหรือมีอาการปวดท้องก่อนคลอดนาน” ทั้งนี้ก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น แต่อาจจะมีสาเหตุมาจากสารไฟโตเอสโตรเจนในผักแว่นอาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อในการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ภาวะมีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอวัยวะที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ดังนั้นไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายได้
ผักแว่น เป็นผักที่อาจจะจำสับสนกับผักชนิดอื่นเพราะบางทีชื่อที่ว่า “ผักแว่น” สามารถใช้เรียก “ผักส้มกบ” ได้เช่นกัน ผักแว่นเป็นผักที่มีแฉกโดดเด่นขึ้นอยู่ริมน้ำ ส่วนมากมักจะนำมาประกอบอาหาร มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงสายตา ดับพิษร้อนในร่างกาย เป็นยาทาภายนอก รักษาแผลในปากและลำคอ เป็นผักที่มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายและมีดอกที่สวยงาม
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [29 พ.ย. 2013].
สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [29 พ.ย. 2013].
การสำรวจเฟิร์นตามเส้นทางธรรมชาติน้ำตกแม่เย็น โรงเรียนปายวิทยาคาร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fern.pwtk.ac.th. [29 พ.ย. 2013].
เดลินิวส์. “ผักแว่น…ผักพื้นบ้านแต่มีคุณค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [29 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9 (arit.kpru.ac.th). [29 พ.ย. 2013].
กรีนคลินิก. “ผักแว่น”. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านไทยสมุนไพรต้านโรค (ชิดชนก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [29 พ.ย. 2013].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ผักแว่น. [29 พ.ย. 2013].
สำนักงานเกษตรอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. “ผักลิ้นปี๋ ผักหนูเต๊าะWater Clover”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pasang.lamphun.doae.go.th. [29 พ.ย. 2013].
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: learn.wattano.ac.th. [29 พ.ย. 2013].