หัสคุณ
หัสคุณ (Lime Berry) เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบตามป่าทั่วไป มีจุดเด่นอยู่ที่ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูรและมีรสหอมร้อน นอกจากนั้นส่วนของราก เปลือกต้นและกระพี้ก็มีรสร้อนเช่นกัน ดังนั้นทุกส่วนของต้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ แต่ว่าส่วนของดอกอ่อนมีรสหวานมันจึงนำมาใช้รับประทานหรือเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหาร หัสคุณถือเป็นต้นที่มากประโยชน์และยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหัสคุณ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micromelum minutum Wight & Arn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lime Berry”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กาจับลัก จี้ปุกตัวผู้ จี้ย้อย มองคอง หญ้าสาบฮิ้น” ภาคใต้เรียกว่า “หมุย สมุย หัสคุณ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “คอมขน สามโซก” จังหวัดลำปางเรียกว่า “หวด” จังหวัดเลยเรียกว่า “เพี้ยฟานดง สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “หัสคุณ” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “ฉี้ ลิ้นชี่ สาบแร้งสาบกา” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “หมอน้อย” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ดอกสะมัด สะแบก” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ชะมุย” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “มุยขาว” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “หมุยขน” จังหวัดยะลาเรียกว่า “กะม่วง สมุยช้าง หมุยช้าง” จังหวัดตรังเรียกว่า “มรุยช้าง” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “สมุย” จังหวัดกระบี่เรียกว่า “หมรุย หมุยใหญ่” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “สมัด สมัดน้อย สหัสคุณ หัสคุณไทย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ชื่อพ้อง : Glycosmis subvelutina F.Muell.
ลักษณะของหัสคุณ
หัสคุณ เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มักจะพบตามป่าดงดิบเขา ตามลำธาร ตามป่าโปร่งทุ่งร้างทั่วไป
ต้น : ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทา ต้นเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 7 – 15 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันขนาดเล็กจับดูแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบมีขนสั้น ท้องใบมีขนบาง ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูรและมีรสหอมร้อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลังเล็กน้อย
ผล : เป็นผลสดออกเป็นพวงโต ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลเรียบใสและฉ่ำน้ำ มีสีเขียวอ่อนและมีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง
สรรพคุณของหัสคุณ
- สรรพคุณจากหัสคุณ เป็นยาแก้เสมหะและลมทั้งปวง เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาขับลมในท้อง แก้ผอมแห้ง แก้หืดไอ แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือด ขับหนองให้ตก
- สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ (น้ำหนองหรือน้ำเหลือง) เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้โรคหอบหืด เป็นยาแก้ลม เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาขับเลือดและหนอง เป็นยาพอกแผลริดสีดวงจมูกและแผลคุดทะราด
– รักษานิ่วในไต โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากผสมกับรากปลาไหลเผือกแล้วฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยา - สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้อันผอมเหลือง เป็นยาแก้ไอ เป็นยาแก้หืดไอ ช่วยแก้ลมอันเสียดแทง ช่วยขับลมและยอกในข้อ
– เป็นยาทาแก้คัน แก้ผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์และอัมพาต ด้วยการนำใบมาตำหรือนำมาพอกประคบหรืออบไอน้ำ - สรรพคุณจากต้น เป็นยาแก้ไอ ช่วยแก้ลมภายในให้กระจาย เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน
- สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลเรื้อรัง
- สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยแก้โลหิตในลำคอและลำไส้ให้กระจาย
- สรรพคุณจากใบและเปลือก เป็นยารมรักษาริดสีดวงจมูก
- สรรพคุณจากกระพี้ เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้
- สรรพคุณจากผล เป็นยาถ่าย
- สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงน้ำดี
ประโยชน์ของหัสคุณ
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดและดอกนำมาทานเป็นผักสดและนำมากินกับแกงไตปลาน้ำพริกและขนมจีนได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหัสคุณ
จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารสกัดจากต้นหัสคุณมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบได้
หัสคุณ เป็นต้นที่มีฤทธิ์รสเผ็ดร้อนทำให้มีสรรพคุณทางยาได้มากมายจากทั้งต้น และยังมีใบกลิ่นหอมอีกด้วย เป็นต้นที่ทางตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยนำมาใช้ในการรักษา นอกจากนั้นยังนำมากินได้เช่นกัน ถือเป็นต้นที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายมาก หัสคุณมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ลม รักษานิ่วในไต บำรุงน้ำดีและเป็นต้นที่ดีต่อระบบเลือดในร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นใครที่มีปัญหาในเรื่องของการไหลเวียนเลือดนั้น หัสคุณก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและอาจช่วยส่งเสริมควบคู่ไปกับยาแพทย์สมัยใหม่ก็เป็นได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หัสคุณ”. หน้า 153.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สมัดน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [26 ก.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หัสคุณไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [26 ก.ย. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “หมรุยมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [26 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/