ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ เป็นพืชที่พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามชื่อ ทว่าเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก จึงไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งที่มีหนามแหลมโดยรอบ มีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากแตกอยู่ใต้ดินมาก นิยมนำส่วนหัวมาใช้เป็นยา ทั้งต้นมีรสหวานจืด เป็นยาสุขุมที่มีฤทธิ์ต่อตับและกระเพาะ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้หลากหลายมาก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวเย็นเหนือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax corbularia Kunth
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หัวยาข้าวเย็น หัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นวอก” ภาคใต้เรียกว่า “หัวยาจีนปักษ์เหนือ” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ข้าวเย็นโคกแดง ค้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นวอก ยาหัวข้อ” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เสี้ยมโค่ฮก เสี้ยมโถ่ฮก” จีนกลางเรียกว่า “ควงเถียวป๋าเชี๋ย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)

ลักษณะของข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งที่เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนามแหลมโดยรอบกระจายอยู่ ที่โคนใบยอดอ่อนมีมือเป็น 2 เส้นไว้สำหรับจับยึด มีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากแตกอยู่ใต้ดินมาก หัวมีลักษณะกลมยาวเป็นท่อน เนื้อไม้แข็ง ผิวแดงและขรุขระ เนื้อในเหง้าเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดงน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียด มีรสมัน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรียาว รูปวงรีแกมรูปใบหอกหรือรูปกลมวงรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หน้าใบเป็นสีเขียว หลังใบมีขนสีขาวปกคลุม มีเส้นใบหลักประมาณ 5 – 7 เส้น มีเส้นกลาง 3 เส้นที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง
ดอก : ออกดอกตามซอกใบที่โคนหรือกลางต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นช่อซี่ร่ม มีประมาณ 1 – 3 ช่อดอก ดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกสั้น เป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ดอกมีใบประดับย่อยลักษณะรูปไข่กว้าง เป็นสีเขียวปนขาว มีกลีบรวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปวงรีหรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ออกผลเป็นกระจุกชิดกันแน่นคล้ายทรงกลม ผลมีลักษณะกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ เมื่อสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผิวผลมีผงแป้งสีขาวปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1 – 2 เมล็ด มักจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณของข้าวเย็นเหนือ

  • สรรพคุณจากหัว ต้านมะเร็งเต้านม ออกฤทธิ์ต่อตับและกระเพาะ เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาแก้ประดง ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยแก้ตาแดง เป็นยาแก้นิ่ว ช่วยแก้กามโรค แก้ระยะของกามโรคที่เกิดมีเม็ดผื่นเป็นดอกขึ้นตามตัว ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร แก้ระดูขาวของสตรีและโรคบุรุษ ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย เป็นยาแก้พิษ แก้พิษจากสารปรอท ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด ช่วยรักษาฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้เม็ดผื่นคัน แก้ฝีทุกชนิด ช่วยแก้โรคแผลกลาย รักษาแผลในหลอดลมและในลำไส้ เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้กลากเกลื้อน แก้ผิวหนังอักเสบ แก้น้ำกัดเท้า ช่วยฆ่าเชื้อหนอง เป็นยาแก้อักเสบในร่างกาย ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว แก้ปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ ช่วยแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นหรือฝีหนองทั้งภายนอกและภายใน แก้เส้นเอ็นพิการ ช่วยดับพิษในกระดูก
    – เป็นยาบำรุง โดยตำรายาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียนำหัวเป็นยา
    – บำรุงเลือด ลดอาการปวดสำหรับหญิงอยู่ไฟหลังการคลอดบุตร ด้วยการนำหัวมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – บำรุงกำลัง ด้วยการนำหัวมาตากแห้งแล้วหั่นทาน
    – แก้มะเร็ง ด้วยการนำหัวมาบดให้ละเอียดผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้งทานวันละ 1 เม็ด
    – แก้เบาหวาน ด้วยการนำหัวข้าวเย็นทั้งสอง ใบโพธิ์ และไม้สัก มาต้มในหม้อดินเป็นยาดื่ม หรือใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับต้นลูกใต้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม
    – แก้ไข้ทับระดู แก้ระดูทับไข้ ด้วยการนำหัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับตัวยาอื่นในตำรับยา แล้วนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม
    – แก้ไอ ด้วยการนำหัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาทและหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท มาต้มในหม้อดินและเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
    – ช่วยขับลมชื้น ด้วยการนำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา โกฐหัวบัว เจตมูลเพลิง เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม มาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำดื่ม หรือนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมาทาน
    – เป็นยาแก้โรคหนองในทั้งหญิงและชาย แก้โรคโกโนเรีย ด้วยการนำหัวข้าวเย็นทั้งสองร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก ทั้งหมด 14 อย่าง มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาโรคเนื้องอกบริเวณปากมดลูก ด้วยการนำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 25 กรัม มาต้มด้วยไฟอ่อนประมาณ 3 ชั่วโมง หรือต้มให้เหลือน้ำประมาณ 100 ซีซี แล้วแบ่งทาน 4 ครั้ง ครั้งละ 25 ซีซี
    – เป็นยาทารักษาแผลไฟไหม้ แก้แผลน้ำร้อนลวก ด้วยการนำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้มาบดเป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณแผล
    – ช่วยแก้อาการตุ่มแดง แก้ผื่นคัน แก้ถ่ายเหลว ด้วยการนำหัวใต้ดินมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบ
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ตัวร้อน เป็นยาแก้ลมริดสีดวง
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้พยาธิในท้อง ช่วยแก้พุพอง
  • สรรพคุณจากหัวและราก เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้พิษงูเห่า

ประโยชน์ของข้าวเย็นเหนือ

ยอดอ่อนอาจใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกได้ แต่ไม่มีข้อมูลยืนยัน

ข้าวเย็นเหนือ ส่วนของเมล็ดมีน้ำมันหอมระเหย 11.2% มีส่วนของเหง้าและหัวใต้ดินเป็นยาสมุนไพรชั้นดี ทั้งต้นมีรสหวานจืด เป็นยาสุขุมที่พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัว มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านมะเร็งเต้านม แก้ไข้หลายชนิด แก้เบาหวาน บำรุงกำลัง บำรุงเลือด แก้โรคผิวหนังและแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ข้าวเย็นเหนือ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 78.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ข้าวเย็นเหนือ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 132.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ข้าวเย็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [06 เม.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้อมูลของข้าวเย็นเหนือ”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [06 เม.ย. 2014].
มติชนออนไลน์. “ข้าวเย็นเหนือ และ ข้าวเย็นใต้ ในตำรับยาแผนไทย” อ้างอิงใน: หนังสือตำรายาหลวงพ่อศุข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [06 เม.ย. 2014].
มูลนิธิสุขภาพไทย. “หมอพื้นบ้าน 3 จ.ใต้ ใช้สมุนไพรรักษามะเร็ง 26 ตำรับ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [06 เม.ย. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ข้าวเย็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [07 เม.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.ydhvn.com/news/cay-duoc-lieu-cay-kim-cang-la-thuon-kim-cang-la-mac-smilax-lanceifolia-roxb