ตำแยแมว ช่วยถอนพิษแก้ไข้ให้แมว มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้

0
2180
ตำแยแมว ช่วยถอนพิษแก้ไข้ให้แมว มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้
ตำแยแมว เป็นไม้ล้มลุก ต้นเป็นยาถอนพิษของโรคแมว ใบประดับหยักเป็นซี่ฟัน
ตำแยแมว ช่วยถอนพิษแก้ไข้ให้แมว มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนได้
ตำแยแมว เป็นไม้ล้มลุก ต้นเป็นยาถอนพิษของโรคแมว ใบประดับหยักเป็นซี่ฟัน

ตำแยแมว

ตำแยแมว (Acalypha indica) เป็นพืชในวงศ์ยางพาราที่มีชื่อมาจากการที่ต้นเป็นยาถอนพิษของโรคแมวและยังมีรากที่มีกลิ่นดึงดูดแมวได้ ทำให้คนเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ตำแยแมว” นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อแมวแล้วนั้นยังสามารถนำใบสดมาปรุงเป็นอาหารมนุษย์ได้ และยังเป็นยาสมุนไพรในตำราแพทย์แผนไทยบางพื้นที่ ทว่าก็เป็นต้นที่ไม่ควรทานในปริมาณมากเพราะจะทำให้อาเจียนได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตำแยแมว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acalypha indica L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian acalypha” “Indian nettle” “Indian copperleaf” “Tree – seeded mercury”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หานแมว” คนไทยเรียกว่า “ตำแยตัวผู้ ตำแยป่า หญ้าแมว หญ้ายาแมว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

ลักษณะของตำแยแมว

ตำแยแมว เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มักจะพบตามดินที่มีความเย็น พบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไปและตามที่มีอิฐปูนเก่า
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านจากโคนต้น เนื้อภายในอ่อนและไม่แข็งแรง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็กออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนวงรี รูปไข่หรือรูปกลมโต ปลายใบมนหรือแหลมเล็กน้อย โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบเป็นสีเขียว ด้านบนมีขนขึ้นปกคลุม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบรอบลำต้น ยอดของช่อดอกเป็นดอกเพศเมีย ลักษณะของดอกจะคล้ายกับใบอ่อนที่มีขนาดเล็ก แต่เมื่อบานเต็มที่แล้วใบอ่อนนี้ก็ยังคงติดอยู่และไม่ร่วง มีใบประดับหยักเป็นซี่ฟัน มีขนปกคลุม แต่ละใบประดับจะหุ้มห่อดอก 2 – 6 ดอก

สรรพคุณของตำแยแมว

  • สรรพคุณจากตำแยแมว ช่วยแก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากต้น ทำให้อาเจียน
    – ทำความสะอาดทางเดินอาหาร ด้วยการนำลำต้นอ่อนใช้เป็นยาล้างเมือกในท้อง
    – เป็นยาระบาย ด้วยการนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำ
  • สรรพคุณจากต้น ราก ใบและทั้งต้น
    – ช่วยขับเสมหะ ขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ ขับเสมหะในโรคหอบหืด ด้วยการนำใบสดมาสับเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว จนเหลือ 2 ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย ในเวลาเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ ด้วยการถอนทั้งต้นและรากมาต้มกับน้ำดื่ม 1 แก้ว ใช้ดื่มเมื่อมีอาการหรือนำมาโขลกผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วกรองใส่ผ้าขาวบางให้ได้น้ำข้น 1 แก้ว แล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากต้น รากและใบ เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย
  • สรรพคุณจากต้นและใบ
    – เป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำใบสดมาทำเป็นอาหาร สำหรับเด็กนำมาต้มกินหรือจะนำใบสดมาคั้นเอาน้ำผสมกับกระเทียม
    – ถอนพิษเมาเบื่อในทางเดินอาหาร ด้วยการนำต้นหรือใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาทาแก้โรคปวดตามข้อ
    – รักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำใบสดมาตำผสมกับเกลือแกงใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
    – รักษาแผลเนื่องจากนอนมาก ด้วยการนำใบแห้งมาป่นให้ละเอียดใช้โรย
    – ช่วยทำให้หายจากอาการคัน ด้วยการนำใบสดมาตีหรือฟาดเบา ๆ ตามตัวหรือบริเวณที่ถูกพิษคันจากต้นตำแยตัวเมีย
  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยกระจายเลือดลม แก้อาการปวดเมื่อย ช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น โดยแพทย์แผนไทยบางพื้นที่นำรากเพียงเล็กน้อยมาต้มกับน้ำ 3 – 4 แก้วจนเดือด ดื่มก่อนอาหารมื้อไหนก็ได้วันละ 1 แก้ว

ประโยชน์ของตำแยแมว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบสดใช้ปรุงเป็นอาหารอย่างแกงเลียงได้
2. เป็นยาถอนพิษแมวและดึงดูดแมว ทั้งต้นเป็นยาถอนพิษแมว ด้วยการเคี้ยวลำต้นของตำแยแมว ช่วยแก้ไข้โดยการให้กินต้นตำแยแมวเข้าไปแล้วมันก็จะอาเจียนออกมา รากของตำแยแมวน่าจะมีกลิ่นที่ดึงดูดแมว เมื่อแมวเห็นเข้าก็จะรีบตรงเข้ามากลิ้งเกลือกบนต้นตำแยแมวอย่างเคลิบเคลิ้มและมีความสุข จากนั้นก็จะกินรากจนหมด แต่บางตัวก็อาจจะไม่ชอบก็ได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตำแยแมว

สารที่พบในต้นสดและต้นแห้งของตำแยแมว พบสาร alkaloid, acalyphine, tannin, vestin, volatile oil วัตถุดิบที่ส่งมาจากทางแอฟริกาใต้ พบสาร Cyanoginitie glucoside, Quibrachitol และ Triacetonamine

ข้อควรระวังของตำแยแมว

หากรับประทานในปริมาณมากจะทำให้คลื่นเหียนอาเจียนและทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร

ตำแยแมว เป็นต้นที่ดีต่อแมวเพราะนอกจากจะช่วยถอนพิษหรือแก้ไข้ให้แมวแล้วนั้นยังทำให้แมวมีความสุขได้อีกด้วย สามารถนำสรรพคุณนี้มาใช้กับคนได้เช่นเดียวกัน ตำแยแมวมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยขับเสมหะ เป็นยาระบาย รักษาโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้และเป็นยาบำรุงกำลัง ทว่าพืชชนิดนี้ก็ไม่ควรใช้มากจนเกินไปเพราะมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและระคายระเคืองทางเดินอาหารได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตำแยตัวผู้”. หน้า 313-314.
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ตำแยตัวผู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [16 ธ.ค. 2014].
YAHOO!. “ตำแยแมว มันคืออะไร ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.answers.yahoo.com. [16 ธ.ค. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ตำแยแมว คนกินได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [16 ธ.ค. 2014].
จำรัส เซ็นนิล. “โรคหอบหืด-ภูมิแพ้ บำบัดด้วยตำแยแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.jamrat.net. [16 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/