ปอกระเจา ส่วนของใบมากสรรพคุณ ช่วยลดความดันเลือด แก้บิด กระตุ้นหัวใจ
ปอกระเจา เป็นพรรณไม้ล้มลุก ดอกเป็นสีเหลืองขนาดเล็ก ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อนหรือแดงเข้ม

ปอกระเจา

ปอกระเจา (White Jute) เป็นพืชในวงศ์ชบาที่มักจะขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ในประเทศไทยจึงมักจะพบตามจังหวัดเฉพาะที่มากกว่าที่จะพบได้ทั่วไป มีดอกเป็นสีเหลืองขนาดเล็กดูน่ารักและสวยงาม ทั้งนี้ปอกระเจาที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ประกระเจาฝักกลม (Corchorus capsularis L.) ที่มีถิ่นกำเนิดในอินโดหรือพม่าและปอกระเจาฝักยาว (Corchorus olitorius L.) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นต้นที่นิยมนำใบมารับประทานเพราะมีวิตามินแร่ธาตุสูง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของปอกระเจา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corchorus capsularis L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Jute” “Nalta Jute” “Tossa Jute” “White Jute” “Jew’s Mallow”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กาเจา กระเจา ปอกระเจา ประกระเจาฝักกลม” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “ปอเส้ง เส้ง” ภาคตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “ปอ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)

ลักษณะของปอกระเจา

ปอกระเจา เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุ 1 ปี ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม มลายูภาคใต้ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มักจะพบตามบริเวณที่ชื้นแฉะและทนทานน้ำท่วมได้ดี
ลำต้น : ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อนหรือแดงเข้ม แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม เป็นไม้เนื้ออ่อน
ราก : มีระบบรากเป็นแบบรากแก้วที่ประกอบไปด้วยรากแก้วและรากแขนง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบอ่อนบาง ที่โคนใบมีเส้นเล็กสีแดงอยู่ 2 เส้น
ดอก : ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 2 – 3 ดอก โดยจะออกบริเวณระหว่างซอกใบกับกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองมีขนาดเล็ก ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
ผล : เป็นผลแบบแคปซูล ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลมเป็นพู 5 พู ผิวผลขรุขระ เมื่อผลแก่เต็มที่ผลจะอ้าหรือแตกออกเป็นซีก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปไข่มี 4 – 5 เหลี่ยม ด้านหนึ่งค่อนข้างเว้า มีสีน้ำตาล

สรรพคุณของปอกระเจา

  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด ช่วยแก้โรคหนองใน
    – เป็นยาบำรุง ช่วยบำรุงธาตุและช่วยเจริญอาหาร เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาระบาย เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ ด้วยการนำใบแห้งมาบดให้เป็นผงละเอียดแล้วนำมาชงหรือละลายในน้ำกิน
    – เป็นยาธาตุและยาบำรุง ด้วยการนำใบผสมกับลูกผักชีและเทียนเยาวพาณีดื่มเป็นยาชง
    – ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ด้วยการนำใบมาลวกกับน้ำร้อนแล้วนำมาผัดกับกระเทียม พริกไทย รับประทานกับข้าวต้มหรือข้าวสวยหรือใช้ใบที่ตากจนแห้งแล้วประมาณ 1 กำมือ ชงกับน้ำร้อนมาดื่มแทนน้ำทั้งวัน
    – แก้ร้อนใน ทำให้เลือดเย็น แก้อาการเจ็บคอ ด้วยการนำใบต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ไอ โดยชาวมาเลเซียนำใบมาต้มชงกับน้ำกินเป็นยา
    – ช่วยรักษาโรคบิดหรืออาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อบิดที่ไม่รุนแรง ด้วยการนำใบมาบดผสมกับขมิ้นทานเป็นยา
    – แก้ตับพิการ โดยในเบงกอลนำใบแห้งชงกับน้ำกินเป็นยา
    – รักษาแผล เป็นยาระงับพิษ พอกแก้พิษ แก้บวม ทาแก้ผิวหน้าแดงบวม แก้พิษปลาปักเป้า ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากเปลือกและผล เป็นยาแก้ไข้
  • สรรพคุณจากราก กระตุ้นหัวใจ
  • สรรพคุณจากรากและผล
    – แก้โรคท้องเดิน ด้วยการนำรากและผลมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาระบาย
    – แก้ท้องร่วง ด้วยการนำเมล็ดมาบดผสมกับขิงและน้ำผึ้งให้ละเอียดทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาแก้บิด
  • สรรพคุณจากผลสุก ลดอาการอักเสบ ใช้ในโรคหายใจไม่สะดวก

ประโยชน์ของปอกระเจา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบทำให้สุกใช้รับประทานได้
2. เป็นยาเบื่อสุนัข เมล็ดมีสารพิษและมีความเป็นพิษต่อสุนัขจึงมีการนำเมล็ดไปใช้เป็นยาเบื่อสุนัข
3. ใช้ในการเกษตร เส้นใยจากเปลือกต้นทำทอกระสอบเพื่อใส่ผลิตผลทางการเกษตรได้ เช่น ข้าวสาร ข้าวโพด น้ำตาลหรือนำมาใช้ทอเป็นผ้า พรม ทำเยื่อกระดาษ ทำเชือก เป็นต้น ลำต้นและแกนปอก็สามารถนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้

คุณค่าทางโภชนาการของใบปอกระเจา 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของใบปอกระเจา 100 กรัม ให้วิตามินบี3 1.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 164 มิลลิกรัม และแคลเซียม ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีนและวิตามินสูง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอกระเจา

สารที่พบในปอกระเจา พบสาร agglutinin, lympho, campesterol, capsin, capsugenin, capsugenin – 30 – O – β – glucopyranoside, cardenolides, corchoroside A, Corchorus capsularis triterpene glucoside, corchoside B, corchoside C, corosin, corosolic acid, daucostent, erysimoside, helveticoside, hexadecanoic acid ethyl ester, linoleic acid, oleic acid, olitoriside, olitoriside, palmitic acid, polysaccharide, β – sitosterol, stigmasterol, strophanthidin, ursolic acid
การทดลอง เมื่อปี พ.ศ. 2530 ณ ประเทศไทยในการประชุมสัมมนาได้มีรายงานผลการทดลองพบว่าสมุนไพรปอกระเจามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด

ข้อควรระวังของปอกระเจา

เมล็ดมีสารออกฤทธิ์คล้ายยาดิจิตาลิสซึ่งกระตุ้นหัวใจจึงไม่แนะนำให้รับประทานเมล็ดเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานเป็นอันขาด

ปอกระเจา เป็นต้นที่มีประโยชน์อยู่ที่ส่วนของใบซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนั้นยังนำเส้นใยจากเปลือกต้น ลำต้นมาใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษได้ ทว่าส่วนเมล็ดของปอกระเจานั้นเป็นพิษ จึงไม่แนะนำสักเท่าไหร่ในการนำมารับประทานแม้ว่าจะมีฤทธิ์เป็นยาระบายก็ตาม ปอกระเจามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต แก้อุจจาระเป็นเลือด เป็นยาธาตุและยาบำรุง กระตุ้นหัวใจ แก้ตับพิการและแก้บิด เป็นต้นที่มีสรรพคุณที่น่าสนใจมากเพราะช่วยในเรื่องของอาการพื้นฐานอย่างความดันเลือด น้ำตาลในเลือดและอื่น ๆ อีกมากมาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ปอกระเจา”. หน้า 452-453.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ปอกระเจา”. หน้า 102.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปอกระเจาฝักกลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [27 พ.ย. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “ปอกระเจา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/index.php. [27 พ.ย. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “ใบปอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com. [27 พ.ย. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ปอกระเจามีสรรพคุณดังนี้”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [27 พ.ย. 2014].
สงขลาพอร์ทัล. (เวสท์สงขลา). “ปอกระเจา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com. [27 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/