พวงไข่มุก แก้มือเท้าเคล็ด แก้ท้องร่วง แก้ตัวบวมและช่วยขับเหงื่อ

0
1565
พวงไข่มุก แก้มือเท้าเคล็ด แก้ท้องร่วง แก้ตัวบวมและช่วยขับเหงื่อ
พวงไข่มุก เป็นไม้พุ่มเตี้ย ผลเป็นรูปกลม มีผิวมัน ผลสุกเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำ มีกลิ่นหอม
พวงไข่มุก แก้มือเท้าเคล็ด แก้ท้องร่วง แก้ตัวบวมและช่วยขับเหงื่อ
พวงไข่มุก เป็นไม้พุ่มเตี้ย ผลเป็นรูปกลม มีผิวมัน ผลสุกเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำ

พวงไข่มุก

พวงไข่มุก (American elder) เป็นต้นที่มีผลแก่รูปทรงกลมสีม่วงเข้มจึงคาดว่าเป็นที่มาของชื่อ “พวงไข่มุก” เป็นต้นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ นิยมนำยอดอ่อนและผลสุกมารับประทาน ดอกของต้นพวงไข่มุกจะมีกลิ่นหอมมากในช่วงเช้าและมีความสวยงามเหมาะสำหรับปลูกประดับตามริมน้ำเนื่องจากเป็นต้นที่มักจะขึ้นในที่ชุ่มชื้น ในด้านสรรพคุณทางยานั้นอยู่ในตำรายาพื้นบ้านล้านนา เป็นยาของชาวไทใหญ่และชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ นอกจากนั้นช่อดอกยังนำมาใช้ในการบูชาพระได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพวงไข่มุก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sambucus canadensis L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “American elder”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดแพร่เรียกว่า “อุน อุนฝรั่ง” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “ระป่า” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ซิตาโหระ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “พอตะบุ” คนเมืองเรียกว่า “อูนบ้าน” ไทใหญ่เรียกว่า “หมากอูนบ้าน ไม้ขี้ป้าน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “อูนน้ำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ ADOXACEAE
ชื่อพ้อง : Sambucus simpsonii Rehder

ลักษณะของพวงไข่มุก

พวงไข่มุก เป็นไม้พุ่มเตี้ยที่มีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาเหนือ มักจะพบตามชายป่าทั่วไปที่มีความชุ่มชื้น
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีพุ่มโปร่งและกิ่งแก่กลวง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยมีประมาณ 2 – 6 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมากแต่มีขนาดเล็ก กลีบรองดอกเป็นหลอด กลีบดอกเป็นสีขาว ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 5 แฉก ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
ผล : เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกลม มีผิวมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 – 5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน

สรรพคุณของพวงไข่มุก

  • สรรพคุณจากดอกแห้ง ช่วยขับเหงื่อ
  • สรรพคุณจากดอก
    – แก้มือเท้าเคล็ด ด้วยการนำดอกที่มีน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขมผสมกับสมุนไพรอื่นเพื่อหมกประคบ
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาการท้องร่วง ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้อาการตัวบวม ชาวไทใหญ่นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วอาบ
  • สรรพคุณจากใบ
    – บรรเทาอาการมือเท้าเคล็ด ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำใบมาต้มใส่ไข่กินหรือใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นเพื่อหมกประคบ

ประโยชน์ของพวงไข่มุก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหาร ผลสุกนำมาทานหรือใช้ทำแยมและขนมพาย บางประเทศนำดอกมาใช้ปรุงอาหารหรือชงน้ำดื่มเพื่อทำไวน์
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ มักจะปลูกตามริมน้ำ ริมบ่อน้ำหรือปลูกตกแต่งสวนใกล้น้ำตกได้
3. ใช้ในด้านจารีตประเพณี ช่อดอกใช้ไปวัดเพื่อบูชาพระหรือใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ

พวงไข่มุก เป็นต้นที่นิยมนำมาทำเป็นยาสมุนไพรของชาวล้านนา ชาวไทใหญ่และชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่มีส่วนต่าง ๆ เป็นประโยชน์ในด้านอื่นด้วย พวงไข่มุกมักจะขึ้นในที่ชุ่มชื้นและมีความสวยงามจึงมักจะปลูกประดับไว้ริมน้ำ เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้มือเท้าเคล็ด แก้ท้องร่วง แก้ตัวบวมและช่วยขับเหงื่อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พวงไข่มุก”. หน้า 189.
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “พวงไข่มุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [09 พ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พวงไข่มุก, อูนบ้าน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [09 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “อูนน้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [09 พ.ย. 2014].
ทะเบียนพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “ดอกอูน พวงไข่มุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.wattano.ac.th. [09 พ.ย. 2014].