ขวง หรือ สะเดาดิน เป็นผักในตำรับยาทั้งหลาย ช่วยแก้ไข้และบำรุงน้ำดี

ขวง หรือ “สะเดาดิน” เป็นผักในตำรับยาทั้งหลาย ช่วยแก้ไข้และบำรุงน้ำดี
ขวง หรือ สะเดาดินเป็นไม้ล้มลุก แตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน ใบเดี่ยวขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว
ขวง หรือ “สะเดาดิน” เป็นผักในตำรับยาทั้งหลาย ช่วยแก้ไข้และบำรุงน้ำดี
ขวง หรือ สะเดาดินเป็นไม้ล้มลุก แตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน ใบเดี่ยวขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว

ขวง

ขวง (Glinus oppositifolius) เป็นไม้ล้มลุกที่เลื้อยไปตามพื้นดินซึ่งสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทยแต่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ดอกมีสีขาวอมเขียวขนาดเล็ก เป็นผักที่มีรสขมคล้ายกับสะเดาทำให้บางพื้นที่เรียกผักชนิดนี้ว่า “สะเดาดิน” นิยมนำมาทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือทานร่วมกับลาบได้ จากภายนอกขวงเหมือนเป็นพืชบนดินทั่วไปที่ไม่มีอะไรและไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่ขวงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นส่วนประกอบของตำรับยามากกว่า 7 ตำรับด้วยกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glinus oppositifolius (L.) Aug.DC.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สะเดาดิน ผักขวง” ภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักขี้ขวง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ขี้ก๋วง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE)

ลักษณะของผักขวง

ผักขวง เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน มักจะพบมากในภาคเหนือ ขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ตามไร่นาและตามสนามหญ้าทั่วไป
ต้น : แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก มีการแตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4 – 5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาววงรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเดี่ยวรวมกันอยู่ตามข้อของลำต้นใกล้กับใบ ในข้อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4 – 6 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปยาววงรี เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลได้ชัดเจน
เมล็ด : เมล็ดมีจำนวนมาก เป็นสีน้ำตาลแดงและมีขนาดเท่ากับเม็ดทราย

สรรพคุณของผักขวง

สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไข้หรือแก้ไข้ทั้งปวง เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน เป็นยาระบาย ช่วยบำรุงน้ำดี เป็นยาแก้คัน เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ
– แก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำต้นสดมาตำผสมกับขิงใช้เป็นยาสุมกระหม่อมเด็ก
– แก้อาการปวดหู ด้วยการนำทั้งต้นผสมกับน้ำมันละหุ่งแล้วนำไปอุ่นใช้เป็นยาหยอดหู
สรรพคุณจากผักขวง
– แก้ไข้ที่เกิดจากดีพิการซึ่งมีอาการปวดศีรษะและไข้สูง โดยตำรับยาในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์นำผักขวง เครือเขาด้วย รากขี้กา รากขัดมอน ต้นผีเสื้อ หญ้าเกล็ดหอยและน้ำผึ้งมาผสมเข้าด้วยกัน
– แก้อาการปวดศีรษะและจมูกตึง โดยตำรับยาในพระคัมภีร์โรคนิทานนำผักขวง ใบหญ้าน้ำดับไฟ ใบหางนกยูง ฆ้องสามย่าน เทียนดำ ไพล หัวหอม ดอกพิกุลและดินประสิวขาวมาบดสุมกระหม่อม

ประโยชน์ของผักขวง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวบ้านนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและรับประทานร่วมกับลาบ หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาแกงรวมกับผักอื่นอย่างแกงแค แกงเมืองหรือแกงกับปลาทูนึ่ง
2. เป็นส่วนประกอบของยา เป็นส่วนประกอบในตำรับพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ พระคัมภีร์โรคนิทานและพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
น้ำ 90.3%
โปรตีน 3.2 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม
ใยอาหาร 1.1 กรัม
เถ้า 1.7 กรัม
แคลเซียม 94 มิลลิกรัม 
ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.45 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 2.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 19 มิลลิกรัม

ผักขวง ถือเป็นผักที่นิยมอย่างมากในการเป็นส่วนประกอบของยาพื้นบ้านหรือตำรับยาของคนในอดีต ถือเป็นผักที่คนไทยในยุคใหม่ไม่ค่อยสนใจกันแต่กลับมีประโยชน์ทางโภชนาการและเป็นยาแก้อาการได้ดี ผักขวงมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ทั้งปวง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี แก้โรคผิวหนังและอาการปวดหูได้ ถือเป็นต้นที่น่าสนใจชนิดหนึ่งในการนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรแก้อาการทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักขวง”. หน้า 469-470.
วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขี้ก๋วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/crop_2.htm. [22 พ.ย. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 545, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. (ไพบูลย์ แพงเงิน). “ผักขวง…สมุนไพรบำรุงน้ำดี”.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักขวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [22 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/