หูเสือ ต้นและใบมีกลิ่นหอม ดีต่อการลดไข้และแก้ไอ

หูเสือ ต้นและใบมีกลิ่นหอม ดีต่อการลดไข้และแก้ไอ
หูเสือ หรือเนียมหูเสือ ไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่ม ใบนูนและเส้นใบลึก ใบกลิ่นหอม
หูเสือ ต้นและใบมีกลิ่นหอม ดีต่อการลดไข้และแก้ไอ
หูเสือ หรือเนียมหูเสือ ไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่ม ใบนูนและเส้นใบลึก ใบกลิ่นหอม

หูเสือ

หูเสือ (Indian borage) หรือเนียมหูเสือ เป็นไม้ล้มลุกที่พบได้มากทางภาคเหนือ เป็นดอกสีม่วงขาวที่มีลักษณะเป็นรูปเรือ เป็นผักที่มีน้ำมันหอมระเหยสูงจึงช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก และที่สำคัญต้นและใบมีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นนั้นจะมีกลิ่นคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” ที่เอาไว้ใช้โรยหน้าพิซซ่า ด้วยความที่มีรสเผ็ดร้อนจึงมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพรซึ่งชาวบ้านในแถบทางภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอโดยเฉพาะ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหูเสือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian borage” “Country borage” “Oreille” Oregano”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หอมด่วนหูเสือ หอมด่วนหลวง” ภาคอีสานเรียกว่า “เนียนหูเสือ” ไทใหญ่เรียกว่า “ผักฮ่านใหญ่” คนไทยเรียกว่า “ผักหูเสือ” คนจีนเรียกว่า “เนียมอีไหลหลึง โฮว้หีเช่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Coleus amboinicus Lour., Coleus aromaticus Benth.

ลักษณะของต้นหูเสือ

หูเสือ เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุ 2 – 3 ปี มักจะพบตามที่รกร้างทั่วไป ตามที่ลุ่มชื้นแฉะทั่วทุกภาคของประเทศแต่พบได้มากทางภาคเหนือ
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำและหักได้ง่าย กิ่งและลำต้นค่อนข้างกลม ต้นอ่อนจะมีขนขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อแก่แล้วจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบใบ ใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูนและเส้นใบลึก เมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือยอด ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 6 – 8 ดอก จะทยอยบานทีละ 1 – 2 ดอก ดอกย่อยติดกันหนาแน่นเป็นวงรอบแกนผลเป็นระยะและมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบเป็นสีม่วงขาว ลักษณะเป็นรูปเรือ ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรงและมีขน กลีบล่างมีลักษณะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง มีขนและมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้างและปลายแหลม ส่วนแฉกข้างเป็นรูปหอกแคบ ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง
ผล : ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นน้ำตาลอ่อน เปลือกผลแข็ง

สรรพคุณของหูเสือ

  • สรรพคุณจากต้นและใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร
    – ช่วยแก้ฝีในหู แก้ปวดหู หูน้ำหนวกและแก้พิษฝีในหู ด้วยการนำต้นและใบมาคั้นเอาน้ำหยอดหู
    – ช่วยลดไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัดในเด็ก ด้วยการนำต้นและใบตำแล้วโปะหน้าผากหรือกระหม่อมเด็กเล็ก
    – ช่วยแก้โรคหืดหอบ ทำให้หายใจโล่ง ช่วยแก้ไอและแก้หวัด ด้วยการนำใบสดมาทานร่วมกับน้ำพริก แจ่ว
    – แก้อาการท้องอืด ด้วยการนำต้นและใบมาขยี้ใช้ทาท้องเด็ก
    – ห้ามเลือด ด้วยการนำต้นและใบมาขยี้ใช้เป็นยาปิด
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ลมชักบางประเภท ช่วยบำรุงน้ำนมหลังคลอดของสตรี
    – แก้อาการปวดและลดไข้ ด้วยการนำใบใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะ
    – ช่วยแก้อาการหวัดและคัดจมูก ด้วยการนำใบมาขยี้ดม
    – แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – ช่วยขับน้ำคาวปลา ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำกินหลังคลอด
    – รักษาแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล
    – รักษาแผลเรื้อรัง รักษาแผลที่มีน้ำเหลือง รักษาน้ำหนองหรือเป็นตุ่มพุพอง ด้วยการนำใบมาคั้นใช้เป็นยาทา
    – รักษาหิด ด้วยการนำใบมาขยี้ทา
    – แก้แมงป่องต่อยหรือตะขาบกัด ด้วยการนำใบมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอก
    – ช่วยรักษาอาการบวมและแก้ปวดข้อ ด้วยการนำมาตำแล้วพอก
    – ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา
    – ช่วยลดเสมหะ ด้วยการนำใบสดมาต้มใส่ใบกระวานและกานพลูเล็กน้อยผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ดื่มวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาบำรุงเลือดลม ช่วยรักษาเลือดลมให้เป็นปกติ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกิน
    – ช่วยดับกลิ่นปาก แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากมาแช่กับน้ำธรรมดาแล้วนำมากินและอมบ่อย ๆ
    – แก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการนำใบสดประมาณ 4 – 5 ใบ มาฉีกเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลาก่อนหรือหลังอาหาร หรือนำใบประมาณ 4 – 5 ใบมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียดแล้วต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำและเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น
    – ตำรับยาแก้ไอในเด็ก จะนำใบมานวดกับเกลือคั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือดแล้วนำมาให้เด็กกิน
  • สรรพคุณจากยางจากใบ
    – ช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง แก้อาหารไม่ย่อย ด้วยการนำยางจากใบมาผสมกับน้ำตาลกิน

ประโยชน์ของหูเสือ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบทุกชนิด ก้อย แจ่วป่น ซุบหน่อไม้ ซุบมะเขือ ใช้ใส่ในแกง ทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่นหรือใช้กินกับหมาก และยังนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหลและผัดหมูสับได้ ช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก
2. ใช้แทนเครื่องเทศออริกาโน กลิ่นหอมของใบหูเสือคล้ายกับเครื่องเทศออริกาโนที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่มแล้วบดให้ละเอียดใช้แทนออริกาโนได้
3. ใช้ทำความสะอาด ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้าหรือสระผมได้
4. ใช้ทำเป็นยา ใบทำเป็นยานัตถุ์ได้เพราะมีกลิ่นหอม ชาวบ้านในแถบภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ
5. ไล่แมลง ใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูเสือ

สารที่พบในหูเสือ พบสารน้ำมันหอมระเหย carvacrol, cyperene, thymol, γ – terpinene
ฤทธิ์ของหูเสือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งยีสต์ ช่วยฆ่าแมลง ยับยั้งการงอกของพืชอื่นและยับยั้งเอนไซม์ protease จากเชื้อ HIV

หูเสือ เป็นต้นที่มีน้ำมันหอมระเหยและมีกลิ่นหอมจนสามารถนำมาใช้ไล่แมลง ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารได้ดี เป็นต้นที่มีรสเผ็ดร้อนและนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้หลากหลาย ส่วนมากจะพบได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย หูเสือมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ลดไข้ บำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ แก้ไอและดับกลิ่นปากได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้มากมายมากกว่าที่คิดและยังเป็นยาร้อนที่ดีต่อการแก้หวัด

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หูเสือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [23 ก.ย. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หูเสือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [23 ก.ย. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ใบหูเสือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [23 ก.ย. 2014].
กรุงเทพธุรกิจ. “หูเสือ แก้ไอ บำรุงเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokbiznews.com. [23 ก.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “หูเสือ ต้นสระผมได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [23 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/