โมกมัน ไม้ดอกหอม แก้บิด ขับเลือดเสียและรักษาโรคไต

0
1679
โมกมัน ไม้ดอกหอม มีสรรพคุณแก้บิด ขับเลือดเสียและรักษาโรคไต
โมกมัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นมีสีขาวหรือสีเทาอ่อน ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม
โมกมัน ไม้ดอกหอม มีสรรพคุณแก้บิด ขับเลือดเสียและรักษาโรคไต
โมกมัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นมีสีขาวหรือสีเทาอ่อน ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม

โมกมัน

โมกมัน (Lanete) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มักจะพบตามป่าเบญจพรรณชนิดหนึ่ง คนไทยส่วนมากอาจจะรู้จักต้นไม้ต้นนี้เพราะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี เป็นต้นที่มีดอกสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอมชวนให้น่าปลูกในสวนป่าและเพื่อความร่มเงาได้ นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถนำส่วนของยอดอ่อนมาใช้รับประทานในรูปแบบของผักได้ ทว่าส่วนที่สำคัญเลยก็คือ ส่วนต่าง ๆ ของต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโมกมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Ivory” “Darabela” “Karingi” “Lanete”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดน่านเรียกว่า “มูกน้อย มูกมัน” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “โมกมันเหลือง” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “มักมัน” คนทั่วไปเรียกว่า “โมกน้อย” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เส่ทือ แนแก แหน่แก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อพ้อง : Wrightia tomentosa Roem. & Schult.

ลักษณะของโมกมัน

โมกมัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบที่มักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบและป่าโปร่งทั่วไป
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นมีสีขาวหรือสีเทาอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้นตามยาวและมีขนสีขาวตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน ที่เปลือกมีรูอากาศมากและด้านในมีน้ำยางสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบและที่พื้นผิวบางเหมือนกับกระดาษ ใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 8 – 12 เส้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบเป็นรูปวงรีและมักจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ออกผลเป็นฝักยาวห้อยลง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อฝักแก่และแห้งจะสามารถแตกออกได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปวงรีหรือรูปแถบ ปลายด้านหนึ่งจะมีขนปุยสีขาวอยู่เป็นกระจุกซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ปลิวไปตามลมได้

สรรพคุณของโมกมัน

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น บำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคไต แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยฆ่าเชื้อโรคคุดทะราดและรำมะนาด
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ฟันผุ ช่วยฆ่าเชื้อรำมะนาด
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยขับเหงื่อ แก้ท้องมาน ช่วยแก้ตับพิการ ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • สรรพคุณจากราก แก้ลม แก้ลมที่เกิดเรื้อรัง แก้ลมสันดาน รักษางูกัด
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก
  • สรรพคุณจากยางของต้น แก้ท้องร่วง แก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • สรรพคุณจากแก่น บำรุงถุงน้ำดี แก้ดีพิการ
  • สรรพคุณจากรากและใบ รักษาวัณโรคแรกเริ่มที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แก้อาการปวดข้อจากโรคข้อรูมาติก
  • สรรพคุณจากรากและเนื้อไม้
    – แก้บิดและแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด โดยหมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำรากและเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้และแก่น ช่วยขับเลือดเสียออกจากร่างกาย

ประโยชน์ของโมกมัน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาลวกจิ้มทานร่วมกับน้ำพริกหรือนำมาใช้ทำแกงได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า เปลือกของต้นมีเส้นที่สามารถนำมาใช้ทำกระดาษและใช้แทนเส้นใยจากฝ้ายได้ ส่วนเปลือกของต้นสามารถนำมาใช้เป็นสีย้อมเส้นไหมซึ่งจะให้สีเขียวอ่อน
3. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้ของต้นมีความเหนียวและละเอียดจึงสามารถนำมาใช้ทำในงานแกะสลัก เครื่องเล่นดนตรีไทย เครื่องเล่นสำหรับเด็ก เครื่องเขียนและใช้สร้างบ้านได้
4. ปลูกเป็นไม้ประดับในสวนป่า

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโมกมัน

สารที่พบในโมกมัน พบสาร benzoic acid, 2 – hydroxy – 6 – methyoxy, benzoic acid, 4 – hydroxy, conessidine, conessine, conkurchin, ferulic acid, gentisic acid, hexaconsane – 3, 6 – diol, 12 – oic acid, hexacosan – 3, 6 – diol – 12 – oic acid, quercetin, kaempferol, kurchicine, kurchine, n – tritriacontane – 16 – one, sinapic acid, syringic acid, vanillic acid, wrightiadione

โมกมัน เป็นต้นที่มีดอกสีขาวอมเหลืองและกลิ่นหอมจึงเหมาะอย่างมากที่จะนำมาปลูกเอาไว้ในสวนป่า อีกทั้งส่วนต่าง ๆ ของต้นยังเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำเปลือกต้นมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อทดแทนวัตถุดิบชนิดอื่นได้ โมกมันมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด ขับเลือดเสีย รักษาโรคไตและแก้ลม ถือเป็นต้นที่มีประโยชน์มากกว่าที่เห็นในภายนอกทั้งการนำมาใช้เป็นยาและการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมย้อมผ้า

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โมกมัน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 165.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โมกมัน (Mok Mun)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 248.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โมกมัน”. หน้า 209.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โมกมัน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 650-651.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โมกมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [20 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โมก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [20 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โมกมัน” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [20 พ.ค. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “โมกมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [20 พ.ค. 2014].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “โมกมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [20 พ.ค. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โมกมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [20 พ.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “โมกมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [20 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/