กลึงกล่อม อาหารยอดนิยมของสัตว์ป่า ช่วยแก้ไข้ ดับพิษ ต้านไวรัส HIV

กลึงกล่อม อาหารยอดนิยมของสัตว์ป่า ช่วยแก้ไข้ ดับพิษ ต้านไวรัส HIV
กลึงกล่อม ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสุกเป็นสีแดงเข้ม ยอดอ่อนและผลอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก
กลึงกล่อม อาหารยอดนิยมของสัตว์ป่า ช่วยแก้ไข้ ดับพิษ ต้านไวรัส HIV
กลึงกล่อม ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสุกเป็นสีแดงเข้ม ยอดอ่อนและผลอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก

กลึงกล่อม

กลึงกล่อม (Polyalthia suberosa) มีผลสุกเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงสีม่วงดำทำให้ดูน่าทานเมื่อเห็นไกล ๆ และเป็นอาหารยอดนิยมของสัตว์ป่าทั่วไป ในส่วนของอาหารสำหรับมนุษย์นั้นจะนำยอดอ่อนและผลอ่อนมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก เป็นอาหารยอดนิยมของชาวล้านนา ส่วนของยาสมุนไพรจะนำใบและกิ่ง รากและเนื้อไม้มาใช้ กลึงกล่อมเป็นต้นที่เติบโตช้า ชอบน้ำปานกลางและแสงแดดน้อยแต่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกลึงกล่อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักจ้ำ มะจ้ำ” ภาคใต้เรียกว่า “จิงกล่อม” ภาคใต้และจังหวัดปัตตานีเรียกว่า “น้ำนอง” จังหวัดเลยเรียกว่า “น้ำน้อย” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “ไคร้น้ำ” จังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า “กำจาย” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กระทุ่มกลอง กระทุ่มคลอง กลึงกล่อม ชั่งกลอง ท้องคลอง” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ช่องกลอง” จังหวัดอ่างทองเรียกว่า “มงจาม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

ลักษณะของกลึงกล่อม

กลึงกล่อม เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ มักจะพบขึ้นตามที่โล่งซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ตามป่าเปิด ป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งบริเวณชายป่า ตามพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราวหรือตามฝั่งแม่น้ำลำคลอง
ต้น : แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งแก่มีขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกมักจะย่นเป็นสันนูนขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง ตามกิ่งก้านมีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีขาวหรือสีเทาอมชมพูขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรียาว รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้น โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบแต่ย่นเป็นคลื่นหรือม้วนงอขึ้นเล็กน้อย หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันหรืออาจมีขนสั้น ท้องใบมีสีเขียวนวล เส้นแขนงใบมีข้างละ 7 – 8 เส้น ใบแห้งด้านบนเป็นสีเทา ส่วนด้านล่างเป็นสีน้ำตาลอ่อน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวโดยจะออกตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบใกล้ปลายยอดหรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกมีกลิ่นหอม เป็นสีเหลืองห้อยลง มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ด้านนอกมีขน กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล มี 6 กลีบ กลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กสั้นกว่ากลีบดอกชั้นในและกลีบดอกชั้นในมี 3 กลีบ ใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก กลีบด้านนอกมีขนขึ้นประปราย มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ก้านชูดอกมีสีแดงเป็นลักษณะเรียวยาว มีใบประดับเล็ก ๆ ติดอยู่ใกล้โคนก้าน
ผล : ออกผลเป็นกลุ่มจำนวนมากประมาณ 25 – 35 ผลย่อยต่อกลุ่ม มีหลายผลอยู่บนแกนตุ้มกลาง ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปวงรีหรือกลม เป็นผลสดและมีเนื้อ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงสีม่วงดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเดียวต่อ 1 ผลย่อยหรือบางผลอาจมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปวงรีสีน้ำตาล

สรรพคุณของกลึงกล่อม

  • สรรพคุณจากรากและเนื้อไม้ เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาขับพิษ ขับพิษภายใน แก้น้ำเหลือง
  • สรรพคุณจากใบและกิ่ง มีสาร suberosol ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ในหลอดทดลอง

ประโยชน์ของกลึงกล่อม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและผลอ่อนนำมาทานเป็นผักสดหรือนำไปต้มเพื่อทานร่วมกับน้ำพริก ชาวล้านนานิยมนำผักกลึงกล่อมมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทส้าหรือผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบ
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ความร่มเงาทั่วไปสำหรับบ้านขนาดเล็ก ช่วยบังแดด ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าปรับอากาศ
3. เป็นอาหารสัตว์ ผลสุกเป็นอาหารนกและสัตว์ป่า

กลึงกล่อม เป็นต้นที่นิยมนำมารับประทานทั้งมนุษย์และสัตว์ อีกทั้งยังเป็นไม้ปลูกประดับในบ้านที่ช่วยในเรื่องของการบังแดดได้ดี นิยมเป็นอาหารประเภทส้าของชาวล้านนา กลึงกล่อมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและเนื้อไม้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้ ช่วยดับพิษ แก้น้ำเหลืองและต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กลึงกล่อม (Klueng Klom)”. หน้า 39.
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [23 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [23 มิ.ย. 2015].
พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [23 มิ.ย. 2015].
เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com. [23 มิ.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “น้ำนอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/