ผักโขมหนาม อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยแก้ไข้ แก้บิด แก้นิ่ว แก้บวมอักเสบ

0
1678
ผักโขมหนาม อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยแก้ไข้ แก้บิด แก้นิ่ว แก้บวมอักเสบ
ผักโขมหนาม เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรงและแตกกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ ผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลเป็นมันเงา
ผักโขมหนาม อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยแก้ไข้ แก้บิด แก้นิ่ว แก้บวมอักเสบ
ผักโขมหนาม เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรงและแตกกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ ผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมสีน้ำตาลเป็นมันเงา

ผักโขมหนาม

ผักโขมหนาม (Spiny amaranth) เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน สามารถนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ โดยนิยมนำมาทำแกงหรือผัดผัก ถือเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงสุดชนิดหนึ่ง และยังมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย ดูจากภายนอกนั้นผักชนิดนี้ดูไม่มีอะไรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ส่วนต่าง ๆ ของต้นคือยาที่มีสรรพคุณทั้งนั้น มีดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็กและผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ภายใน เป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรยที่มีชื่อเรียกที่นิยมอีกชื่อว่า “ผักโขมสวน”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักโขมหนาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amaranthus spinosus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Spiny amaranth” “Spiny pigweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักขมหนาม ผักหมหนาม ผักขมสวน” ภาคใต้เรียกว่า “ผักโขมหนาม” เขมรเรียกว่า “ปะตึ ปะตี” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “แม่ล้อคู่ กะเหม่อลอมี แม่ล้อกู่” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อเร่น” ชาวลัวะเรียกว่า “บะโด่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)

ลักษณะของผักโขมหนาม

ผักโขมหนาม เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและแตกกิ่งมาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือกลม ผิวเรียบ มีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น การเกาะติดของใบบนกิ่งเป็นแบบสลับ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ลักษณะของขอบใบเป็นคลื่น มีหนามแหลมยาว 2 อันอยู่ที่โคนก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด หรือเป็นช่อแบบกระจุก ออกบริเวณปลายกิ่ง ตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเท่าเมล็ด ลักษณะของกลีบดอกเป็นเหมือนกาบปลายแหลมสีขาวและเขียวขนาดเล็ก
ผล : ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก เป็นรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 3 พู โดยจะแตกตามขวางของผล ผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลม ตรงกลางทั้งสองด้านจะนูน เมล็ดมีสีน้ำตาลเป็นมันเงา

สรรพคุณของผักโขมหนาม

  • สรรพคุณจากราก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยแก้ไข้ ระงับความร้อนในร่างกาย รักษาเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าละออง รักษาเด็กมีอาการเบื่ออาหาร ช่วยแก้อาการช้ำใน ช่วยแก้อาการจุกเสียด ช่วยแก้หนองใน รักษากามโรค ช่วยต่อต้านสารพิษที่มาทำลายตับ ช่วยแก้ขี้กลาก ช่วยแก้พิษ
    – แก้ฝี ด้วยการนำรากมาเผาไฟพอข้างนอกดำ แล้วจี้ที่หัวฝีจะทำให้ฝีที่แก่แตก
  • สรรพคุณจากทั้งต้น รักษาอาการบิดถ่ายเป็นเลือด มีฤทธิ์ในการบีบตัวของลำไส้เล็ก ช่วยรักษาอาการตกขาวของสตรี ช่วยแก้อาการบวมอักเสบต่าง ๆ ช่วยแก้พิษงู
    – ช่วยแก้อาการแน่นท้อง ช่วยแก้อาการตกเลือด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับและส่งเสริมการไหลของน้ำนมของสตรี ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
    – แก้บวม ด้วยการนำทั้งต้นผสมกับข้าวโพดทั้งต้น แล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากต้น ใบและราก เป็นยาระบายในเด็ก ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง
  • สรรพคุณจากต้นสด
    – ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการนำต้นสดที่มีสีเขียวจำนวน 200 กรัม มาต้มกับไส้หมู 1 ท่อน แล้วนำมาทาน
  • สรรพคุณจากใบ ประเทศอินโดนีเซียใช้ในการพอกแผล ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยแก้พิษงู
    – แก้หนอง ด้วยการนำใบมาตำใช้พอกปิดแผล
  • สรรพคุณจากใบและราก
    – ช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำใบต้มกับรากใช้อาบ

ประโยชน์ของผักโขมหนาม

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผักโขมนำมาทานเป็นผักได้ หรือนำลำต้นมาประกอบอาหารด้วยการลอกเปลือกและหนามออกให้หมด ส่วนใบ ยอดอ่อนและดอกใช้นึ่งกิน หรือนำไปคั่วและผัด ยอดอ่อนนิยมใช้ทำแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงใส่เนื้อหมูและผัดน้ำมัน ส่วนต้นอ่อนก็นำมาแกงได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมหนาม

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมหนามส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้เบตาแคโรทีน 4 – 8 มิลลิกรัม วิตามินซี 60 – 120 มิลลิกรัม ธาตุแคลเซียม 300 – 400 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 4 – 9 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังของผักโขมหนาม

ประเทศบราซิลได้มีรายงานว่า ผักโขมหนามมีพิษต่อวัว ควายและม้า ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม น้ำหนักตัวลดลง มีอาการท้องเสียและกลิ่นเหม็นมาก บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาในอุจจาระได้

ผักโขมหนาม ถือเป็นต้นที่มีวิตามินซีสูงและทำให้ต้านอนุมูลอิสระได้ มีคุณค่าทางโภชนาการและเหมาะต่อการนำมาประกอบอาหาร ซึ่งส่วนมากมักจะนำมาใช้ในการทำแกงต่าง ๆ ผักโขมหนามมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้บิด แก้ตกขาว แก้บวมอักเสบ รักษานิ่วในถุงน้ำดีได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักโขมหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [13 พ.ย. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Spiny amaranth, Spiny pigweed”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 พ.ย. 2013].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. “ผักโขมหนาม สมุนไพรมากคุณค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [13 พ.ย. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ผักขม“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2543. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: dc.oas.psu.ac.th/dcms/files/03180/Chapter4(8-50).pdf‎. [13 พ.ย. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/