ฟักแม้ว
ฟักแม้ว (Chayote) หรือนิยมเรียกกันว่า “ยอดมะระหวาน” เป็นผักชนิดหนึ่งที่นิยมทางภาคเหนือ ส่วนมากมักจะนำมาผัดกับน้ำมันหอยจนกลายเป็นเมนูยอดฮิตเลยก็คือ “ผัดยอดฟักแม้ว” เป็นผักที่สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ทั้งใบและผล ถึงแม้ว่ารูปร่างของผลฟักแม้วจะไม่ค่อยสวยเหมือนผลไม้อื่น ๆ แต่มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมถึงยอดอ่อนและใบของฟักแม้วด้วย เป็นหนึ่งในผักที่น่าสนใจในการนำมาผัดรับประทานที่บ้านด้วยตัวเอง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของฟักแม้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sechium edule (Jacq) Swartz.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Chayote”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อท้องถิ่นว่า “มะระแม้ว” “มะระหวาน” “มะเขือเครือ” “มะเขือฝรั่ง” “มะระญี่ปุ่น” “ฟักญี่ปุ่น” “มะเขือนายก” “บ่าเขือเครือ” “ฟักม้ง” “แตงกะเหรี่ยง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ลักษณะของฟักแม้ว
ฟักแม้ว เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกและแถบอเมริกากลาง
ราก : มีระบบรากสะสมขนาดใหญ่
ลำต้น : ฟักแม้วมีลักษณะของลำต้นเป็นเหลี่ยม เจริญเป็นเถา มีเถาเป็นแขนง 3 – 5 เถา และมีมือเกาะเจริญที่ข้อ
ใบ : หรือเรียกกันว่า “ใบมะระหวาน” ขอบใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ลักษณะคล้ายใบตำลึงแต่มีขนาดใหญ่กว่า ใบมีขนทั้งด้านบนและด้านล่าง
ดอก : หรือเรียกกันว่า “ดอกมะระหวาน” มีสีขาวปนเขียว ดอกจะเกิดตามข้อระหว่างต้นกับก้านใบ ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นประเภทไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่คนละดอกแต่อยู่ในต้นเดียวกัน
ผล : หรือเรียกกันว่า “ผลมะระหวาน” เป็นผลเดี่ยวลักษณะเป็นทรงกลมยาว ผลมีสีเขียวอ่อน รูปร่างคล้ายลูกแพร์ ผลมีรสเย็น เนื้อผลมีรสหวาน รสคล้ายกับฝรั่งปนแตงกวา
สรรพคุณของฟักแม้ว
- สรรพคุณจากฟักแม้ว ต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
- สรรพคุณจากผลและใบ ป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
– บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน
– สลายนิ่วในไต รักษาอาการเส้นเลือดแข็งตัวและรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการนำใบและผลมาต้ม
– เป็นยาช่วยขับปัสสาวะและแก้อาการอักเสบ ด้วยการนำใบและผลมาดอง - สรรพคุณจากใบ ยอดฟักแม้วช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
- สรรพคุณจากผล ป้องกันการพิการของทารกแต่กำเนิด ผลอ่อนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
ประโยชน์ของฟักแม้ว
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนฟักแม้วสามารถนำมาต้มกินกับน้ำพริก ใช้ทำต้มจืด แกงเลียง ผัดฟักแม้ว ลาบ ยำยอดฟักแม้ว ส่วนผลนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วผัดกับไข่หรือผัดน้ำมัน รากนำมาต้มหรือผัดได้เพราะมีแป้งและนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของผลฟักแม้ว
คุณค่าทางโภชนาการของผลฟักแม้ว ต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 4.51 กรัม |
เส้นใย | 1.7 กรัม |
ไขมัน | 0.13 กรัม |
โปรตีน | 0.82 กรัม |
วิตามินบี1 | 0.025 มิลลิกรัม (2%) |
วิตามินบี2 | 0.029 มิลลิกรัม (2%) |
วิตามินบี3 | 0.47 มิลลิกรัม (3%) |
วิตามินบี5 | 0.249 มิลลิกรัม (5%) |
วิตามินบี6 | 0.076 มิลลิกรัม (6%) |
วิตามินบี9 | 93 ไมโครกรัม (23%) |
วิตามินซี | 7.7 มิลลิกรัม (9%) |
วิตามินอี | 0.12 มิลลิกรัม (1%) |
วิตามินเค | 4.1 ไมโครกรัม (4%) |
แคลเซียม | 17 มิลลิกรัม (2%) |
เหล็ก | 0.34 มิลลิกรัม (3%) |
แมกนีเซียม | 12 มิลลิกรัม (3%) |
ฟอสฟอรัส | 18 มิลลิกรัม (3%) |
โพแทสเซียม | 125 มิลลิกรัม (3%) |
สังกะสี | 0.74 มิลลิกรัม (8%) |
สารออกฤทธิ์จากมะระหวาน หรือฟักแม้ว
ผักฟักแม้ว มีสารโพลีฟีนอลและสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์จึงมีฤทธิ์ยับยั้งและป้องกันเซลล์มะเร็ง และมีโฟเลตสูง จึงมีฤทธิ์ช่วยป้องกันข้อบกพร่องในทารกแรกเกิดได้
ฟักแม้ว เป็นผักชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เป็นผักที่มีรสชาติอร่อยเมื่อนำมาปรุง สามารถนำผลและใบยอดอ่อนมารับประทานได้ ถือว่าเป็นผักที่ค่อนข้างนิยมพอสมควร มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ต้านมะเร็ง ช่วยชะลอวัย และป้องกันการพิการของทารกแต่กำเนิด เป็นผักที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและนำมาประกอบเมนูอาหารง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี