มะขามป้อม ประโยชน์และสรรพคุณมากมาย

0
10620
มะขามป้อม มากด้วยประโยชน์และสรรพคุณ
มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณ เป็นไม้ยืนต้นที่มีวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นอาหารและยารักษาโรคได้ดี
มะขามป้อม มากด้วยประโยชน์และสรรพคุณ
มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณ เป็นไม้ยืนต้นที่มีวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นอาหารและยารักษาโรคได้ดี

มะขามป้อม

มะขามป้อม ( Indian gooseberry ) คือ ผลไม้พื้นบ้านที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางด้านสมุนไพร เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สายพันธุ์คล้ายมะขาม แต่มีลักษณะเป็นผลกลมขนาดเล็ก มีสีเขียวอมเหลืองเปลือกบาง รสชาติเปรี้ยว ขม และฝาด จุดเด่นของผลไม้ชนิดนี้ก็คือมีค่าวิตามินซีที่สูงมาก เรียกว่าสูงกว่าส้มหลายเท่าตัวเลยทีเดียว มีสารอนุมูลอิสระ ซึ่งมีทั้งสรรพคุณและประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นการบำบัดหรือรักษาโรคต่างๆ ที่ต้องใช้วิตามินซีช่วย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังพบว่าสามารถป้องกัน รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ เมื่อกินมะขามป้อมสด 1-3 กรัมต่อวันเป็นเวลา 21 วัน

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica

มะขามป้อม จัดอยู่ในกลุ่มไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง สามารถเพาะปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลากหลายชื่อเรียกที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาษาท้องถิ่นนั้นๆ เช่น กันโตด กำทวด สันยาส่า เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่พบมะขามป้อมได้จะมีความสูงของลำต้นอยู่ที่ประมาณ 10-18 เมตร มองผิวเผินก็คล้ายคลึงกับต้นมะขามฝักอยู่เหมือนกัน เพราะมีใบเป็นใบประกอบคู่ที่มีใบย่อยทรงรีแตกออกมาทั้งสองข้าง ขอบใบเรียบ ปลายใบมน และจะผลัดใบตามฤดู ส่วน ของดอกเราจะเห็นขึ้นเป็นกระจุกสีขาว ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็กและอยู่ชิดกับโคนใบ ส่วนของผลมีลักษณะกลมมนสีเขียวอ่อน ดูคล้ายว่าเนื้อจะใสจนมองเห็นข้างในได้แต่ก็ไม่เห็น เมื่อมะขามป้อมสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง แต่ก็ไม่ต่างจากตอนที่ยังเป็นผลอ่อนๆ มากนัก โดยทั่วไปเนื้อจะหนาเพียง 5-7 มิลลิเมตรเท่านั้น เนื้อกรอบฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวอมฝาด แต่กลับทำให้น้ำลายรู้สึกหวานได้ในเวลาต่อมา สามารถทานสดก็ได้ แต่นิยมนำมะขามป้อมแปรรูปมากกว่า

องค์ประกอบทางเคมีของ มะขามป้อม

จากการวิจัยมะขามป้อมสดพบว่ามีวิตามินซีที่อยู่ในกลุ่มของ ascorbic acid มีมากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเนื้อมะขามป้อม 100 กรัม ซึ่งเป็นค่าที่สูงมาก ascorbic acid เป็นวิตามินซีที่พบได้ในธรรมชาติ คุณสมบัติละลายน้ำได้ดีและร่างกายมนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีสารประกอบอื่นๆ ที่สำคัญดังนี้

  • มะขามป้อมมีสารกลุ่มแทนนิน (tannin) เป็นสารที่ให้รสฝาด มีฤทธิ์ในการสมานแผลและบรรเทาอาการท้องเสีย ได้แก่ กรดชิบูราจิก ( chebulagic acid ) เอมบริคานิน ( emblicanin A, B ) และพูนิกลูโคนิน ( punigluconin )
  • มะขามป้อมมีสารกลุ่มคูมารินส์ ( coumarins ) มีคุณสมบัติในการต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ กรดเอลลาจิก( ellagic acid )
  • มะขามป้อมมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ( flavonoids ) จัดเป็นวิตามินอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและต่อต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แอสตรากาลิน ( astragalin ) เคอซิติน ( quercetin ) และรูติน ( rutin )
  • มะขามป้อมมีสารกลุ่มไดเทอร์ปีนส์ ( diterpenes ) สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านจุลชีพต่างๆ ได้แก่ จิบเบอเรลลิน ( gibberellin )
  • มะขามป้อมมีสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ( alkaloids ) เป็นสารอินทรีย์ที่มีสมบัติเป็นเบส มีส่วนในการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ฟิลแลนทีน ( phyllantine ) ฟิลแลนทิดีน ( phyllantidine )

สรรพคุณของมะขามป้อมตามตำรับยาไทย

มะขามป้อม เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีประวัติยาวนาน ประเทศอินเดียมีการปรุงยาด้วยส่วนประกอบของมะขามป้อมมากมาย แล้วก็แพร่หลายแบบปากต่อปากไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย และต่อไปนี้ก็คือตัวอย่างของสรรพคุณและวิธีใช้ตามข้อมูลที่มีบันทึกไว้

มะขามป้อมแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย : ถ้าอาการยังไม่หนักมากนัก ก็สามารถนำส่วนของรากมะขามป้อมที่แห้งสนิทดีแล้วมาช่วยบรรเทาอาการลงได้ โดยนำรากแห้งนั้นไปล้างทำความสะอาดให้ดี อาจลวกน้ำร้อนซ้ำอีกก็ได้ แล้วค่อยใส่หม้อต้มกับน้ำ เมื่อน้ำข้นได้ที่ก็นำมาดื่มทีละนิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

มะขามป้อมแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย : เมื่อรู้ตัวว่าโดนกัดหรือต่อย หากมีเหล็กในก็ให้เอาออกจนเรียบร้อยดีเสียก่อน แล้วใช้รากสดๆ ของมะขามป้อมที่บดละเอียดดีแล้ว มาพอกไว้ที่แผล เป็นการแก้พิษ บรรเทาอาการปวดบวมและอักเสบที่ไม่รุนแรงได้

มะขามป้อมช่วยสมานแผล : ใช้เปลือกของส่วนลำต้นมะขามป้อม ล้างให้สะอาดแล้วตากแดดจนแห้งสนิท จากนั้นบดให้เป็นผงละเอียด ใช้โรยที่ปากแผลเพื่อเร่งให้แผลแห้งเร็วขึ้น
บรรเทาอาการปวดกระเพาะอาหาร และปวดเมื่อยตามกระดูก : ใช้ส่วนของปมก้านต้มกับน้ำแล้วดื่ม

มะขามป้อมบรรเทาอาการหวัด ไอ เจ็บคอ : อันที่จริงผลไม้ที่มีรสออกเปรี้ยวเกือบทั้งหมดสามารถช่วยลดอาการไอและเจ็บคอได้ แต่มะขามป้อมถือว่าให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ทั้งยังมีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยละลายเสมหะได้ด้วย วิธีการใช้ก็ไม่ยุ่งยาก คือทานผลสดของมะขามป้อมได้เลย หรือจะนำมาตำให้ละเอียดเพื่อผสมกับน้ำผึ้งก่อนทานก็ได้ แต่ต้องเลือกผลที่แก่จัดสักหน่อย ให้ผิวออกเหลืองมากกว่าเขียวจึงจะได้สรรพคุณเต็มที่

มะขามป้อมบำรุงผม : มะขามป้อม เป็นวัตถุดิบที่หลายคนไม่นึกถึงเลยสำหรับการใช้เพื่อบำรุงผม มักจะไปนึกถึงดอกอัญชันและผลมะกรูดเสียมากกว่า แต่ผลแห้งของมะขามป้อมนั้นมีสรรพคุณเป็นสารชะล้างอ่อนๆ ที่ช่วยให้ผมดกดำ ป้องกันผมหงอกก่อนวัยได้ดี ถึงขนาดที่มีการจดสิทธิบัตรกันอย่างจริงจัง ขั้นตอนการนำมาใช้งานก็คือ แช่มะขามป้อมลงในน้ำสะอาด ทิ้งไว้ข้ามคืนและใช้น้ำนั้นล้างผมเป็นน้ำสุดท้ายหลังการสระผมทุกครั้ง

มะขามป้อมบรรเทาอาการปวดฟัน : เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ เหงือกบวม รำมะนาด ก็สามารถใช้มะขามป้อมช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ และหลายครั้งก็ช่วยรักษาให้อาการเหล่านั้นหายไปจนหมดสิ้น ให้ใช้ปมกิ่งต้มน้ำจนข้น แล้วใช้น้ำนั้นอมบ้วนปากทั้งเช้าเย็นหลังการแปรงฟัน

มะขามป้อมแก้อาการน้ำเหลืองเสีย : ระบบน้ำเหลืองเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี คนที่ระบบน้ำเหลืองเสีย เมื่อเป็นแผลเพียงเล็กน้อยก็จะหายช้า พร้อมกับทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้ดูต่างหน้า เมื่อสัมผัสอะไรนิดหน่อยก็เสี่ยงที่จะแพ้และเกิดอาการคัน ผู้ที่มีระบบน้ำเหลืองไม่ดีจึงควรทานผลสดของมะขามป้อมเป็นประจำวันละลูก หลังจากทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว

มะขามป้อม ประโยชน์เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาและความชุ่มชื้น เป็นอาหารและยารักษาโรคได้ดี ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด

ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของมะขามป้อม

มะขามป้อมลดระดับคลอเลสเตอรอล : มะขามป้อม ถูกใช้เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลในวงการแพทย์ทางเลือก ด้วยว่ามีสารเคมีสำคัญหลายตัวที่ออกฤทธิ์ช่วยลดไขมันในเลือดได้ เช่น สารเพกทิน ( pectin ) และสารฟลาโวนอยด์ ( flavonoid ) ซึ่งได้ทำการทดสอบสรรพคุณข้อนี้ในกลุ่มผู้ชายจำนวนหนึ่ง แบ่งเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพดีและกลุ่มที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง วิธีการคือให้ทานอาหารเสริมที่ผลิตมาจากมะขามป้อมแห้งเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 28 วันติดต่อกัน พบว่ามีอัตราการลดลงของระดับคอเลสเตอรอลอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ทดลองทั้งสองกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการทดลองซ้ำอีกในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อให้ทานสารสกัดจากมะขามป้อมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็พบผลลัพธ์เช่นเดียวกัน นั่นคือระดับคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

มะขามป้อมลดระดับน้ำตาลในเลือด : อันที่จริง มะขามป้อม ถูกหยิบมาใช้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพราะเชื่อว่าช่วยลดทอนความเสียหายในร่างกายที่เกิดจากโรคเบาหวานได้ จึงมีการนำมาวิจัยเพื่อหาข้อสรุปที่แน่ชัดอีกครั้ง ด้วยการทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นใดจำนวนหนึ่ง ซึ่งการทดสอบในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง วิธีการคือแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม ในขณะที่ อีกกลุ่มจะไม่ได้ทานอาหารเสริมตัวเดียวกันนี้ เมื่อสิ้นสุดการทดสอบและทำการวัดผล พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจริง แต่ยังไม่สามารถระบุปริมาณที่เหมาะสมในการใช้งานและผลข้างเคียงเมื่อใช้มะขามป้อมเป็นเวลานานด้วย

มะขามป้อมลดความอ้วน : ประเด็นนี้เราจะได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ใช้สารสกัดจาก มะขามป้อม เป็นส่วนผสมหลัก แต่จะได้ผลจริงแท้แค่ไหนต้องไปดูงานวิจัยชิ้นนี้ มีการนำมะขามป้อมมาสกัดเอาสารเคมีที่สำคัญและทดสอบกับผู้ป่วยโรคอ้วน โดยให้ทานสารสกัดนี้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 3เดือน สิ่งแรกที่พบคือผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงโดยเฉพาะส่วนของคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้ ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อภาวะแข็งตัวของเกล็ดเลือดได้ด้วย อย่างไรก็ตามมะขามป้อมยังมีข้อจำกัดอยู่เล็กน้อย คือไม่สามารถใช้ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะมากๆ ได้ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีโรคแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงอื่นๆ

มะขามป้อมบรรเทาอาการปวดตามข้อ : เนื่องจากแพทย์อายุรเวทของอินเดียจะมีการใช้ มะขามป้อม เพื่อบรรเทาอาการอักเสบอยู่เสมอๆ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าองค์ประกอบสำคัญในมะขามป้อมน่าจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดตามข้อต่อต่างๆ ได้ ทดสอบโดยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าทานยาสมุนไพรจากมะขามป้อมต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ พบว่าอาการปวดข้อเข่าดีขึ้นจริง และเมื่อทานต่อเนื่องไปอีก ข้อเข่าก็มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีผลข้างเคียงด้วยเหมือนกัน นั่นคือทำให้ตับเกิดการอักเสบ จึงต้องมีการวิจัยเพื่อต่อยอดด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีก ถึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

มะขามป้อมต้านมะเร็ง : มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านมะเร็งในมะขามป้อมอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์ประกอบหลายตัวมีความคล้ายคลึงกับยาเคมีที่ใช้เพื่อบำบัดโรคมะเร็ง เช่น กรดแกลลอก กรดเอลลาจิก ไพโรแกลลอด คอริลาจิน เป็นต้น เริ่มแรกทำการทดสอบด้วยใช้สารสกัด มะขามป้อม ร่วมกับยาเคมีบำบัด เปรียบเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว สรุปว่าได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันในผู้ป่วยมะเร็งบางราย จึงมีความหวังว่าน่าจะใช้สารสกัดมะขามป้อมเพื่อลดปริมาณยาเคมีลงบางส่วน แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปการใช้งานได้อย่างชัดเจน ต่อมาจึงมีการทดลองอีกในหนูทดลองที่เป็นมะเร็งช่องท้อง โดยให้สารสกัดมะขามป้อมทางปากเป็นเวลา 5 วัน พบว่าก้อนมะเร็งในช่องท้องมีขนาดเล็กลง นั่นหมายความว่าสารออกฤทธิ์ในมะขามป้อมช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากใช้ในค่าความเข้มข้นที่สูงมากเกินไป ก็สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ปกติได้เช่นเดียวกัน

เมนูของทานเล่น รสเด็ดจากมะขามป้อม

  • มะขามป้อมคลุกพริกเกลือ
  • ตำมะขามป้อม
  • น้ำพริกมะขามป้อมปลาแห้ง
  • มะขามป้อมแช่อิ่ม
  • มะขามป้อมดอง
  • มะขามป้อมอบแห้ง
  • มะขามป้อมดอง 3 รส
  • บ๊วยมะขามป้อม

ข้อควรระวังในการใช้ประโยชน์จากมะขามป้อม

แม้ว่ามะขามป้อมจะมีสรรพคุณที่น่าสนใจมากมาย แต่หากจะใช้ในรูปแบบของยารักษาโรคก็ต้องมีขีดจำกัดในการใช้ด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายในระยะยาว ข้อควรระวังต่างๆ มีดังนี้
1. ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการทานก่อนเสมอ เพราะแต่ละคนมีระดับน้ำตาลที่ต้องควบคุมแตกต่างกัน สูงไปก็ไม่ได้ ต่ำไปก็ไม่ดี
2. สตรีมีครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรทานในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์
3. งดทาน มะขามป้อม ก่อนเข้ารับการผ่าตัดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 2 สัปดาห์ เพราะมีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อภาวะเลือดออกผิดปกติในบางกรณี

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง


เอกสารอ้างอิง

“Phyllanthus emblica information from NPGS/GRIN”. US Department of Agriculture. http://www.ars-grin.gov/cgi-bin/npgs/html/taxon.pl?28119. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-03-06.
มะขามป้อม ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ

DO-ME ประโยชน์ของIndian Gooseberry
ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า