เร่ว ผลรสเผ็ดปร่า ทั้งต้นเป็นยา ดีต่ออวัยวะของสตรี

เร่ว ผลรสเผ็ดปร่า ทั้งต้นเป็นยา ดีต่ออวัยวะของสตรี
เร่ว เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อน ดอกคล้ายกับดอกข่า
เร่ว ผลรสเผ็ดปร่า ทั้งต้นเป็นยา ดีต่ออวัยวะของสตรี
เร่ว เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อน ดอกคล้ายกับดอกข่า

เร่ว

เร่ว (Tavoy cardamom) เป็นต้นในวงศ์ขิงที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนของผลอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย ซึ่งมีกลิ่นหอมและมีรสร้อนเผ็ดปร่า ซึ่งเร่วสามารถแบ่งได้เป็นเร่วน้อยและเร่วใหญ่ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลาง สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และที่สำคัญเป็นยาสมุนไพรในตำรับยาพิกัดทศกุลาผลได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเร่ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum villosum var. xanthioides (Wall. ex Baker) T.L.Wu & S.J.Chen
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bustard cardamom” และ “Tavoy cardamom”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคอีสานเรียกว่า “หมากเนิง” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “หมากแหน่ง” จังหวัดชัยภูมิเรียกว่า “หน่อเนง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะอี้ หมากอี้ มะหมากอี้” คนทั่วไปเรียกว่า “เร่วใหญ่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Amomum xanthioides Wall. ex Baker

ลักษณะของเร่ว

เร่ว เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลาง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ผิวใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบเรียวยาว เป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลง ก้านใบเป็นแผ่นและมีขนาดสั้น
ดอก : ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกรวมอยู่ในก้านเดียวกันเป็นช่อยาวคล้ายกับดอกข่า กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงปลายแยกเป็นกลีบและก้านช่อดอกสั้น
ผลเร่วน้อย : ผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู และมีขน ผลแก่มีสีน้ำตาลแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลมหรือกลมวงรี มี 3 พู โดยแต่ละพูจะมีเมล็ดประมาณ 3 – 15 เมล็ด อัดเรียงกันแน่น 3 – 4 แถว เมล็ดมีรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและมีสันนูน เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวด้านนอกเรียบและมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นได้เด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม รสเผ็ดซ่าและมีรสขมเล็กน้อย
ผลเร่วใหญ่ : ผลมีลักษณะเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม สามารถแห้งและแตกได้ มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ผลมีรสมันเผื่อนติดเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10 – 20 เมล็ด ลักษณะเหมือนเร่วน้อย เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอมและมีรสร้อนเผ็ดปร่า

สรรพคุณของเร่ว

  • สรรพคุณจากเมล็ด แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยขับลมในลำไส้
    – ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการนำเมล็ดผสมกับหัวแห้วหมู ขิงแห้งและชะเอมเทศมาปรุงเป็นยา
    – แก้ท้องขึ้น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการนำเมล็ดจากผลแก่มาบดให้เป็นผง แล้วใช้ทานหลังอาหารครั้งละ 1 – 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ผลประมาณ 3 – 9 ผล
    – ช่วยแก้อาการเป็นพิษ ด้วยการนำเมล็ดมาบดเป็นผง ชงกับน้ำอุ่นแล้วนำมาดื่ม
  • สรรพคุณจากผลเร่วใหญ่ ช่วยแก้ธาตุพิการ ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยแก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ช่วยแก้หืดไอ ช่วยแก้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ช่วยขับผายลม ช่วยทำให้เรอ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี ช่วยรักษาอาการขัดในทรวง มีฤทธิ์ขับลม ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลาย ช่วยลดความดันโลหิต
    – ช่วยแก้อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ ด้วยการนำผลแห้งประมาณ 7 – 8 กรัม ย่างไฟจนแห้งกรอบแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นประจำ
  • สรรพคุณจากเมล็ดเร่วใหญ่ ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยแก้หืดไอ แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยขับลมในลำไส้ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ ช่วยขับน้ำนมหลังการคลอดบุตรของสตรี
  • สรรพคุณจากผลเร่วน้อย แก้ไข้ ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยแก้หืดไอ แก้เสมหะในลำคอ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี ช่วยรักษาพิษอันบังเกิดในกองมุตกิดและมุตฆาตหรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
    – ช่วยแก้อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ ด้วยการนำผลแห้งประมาณ 7 – 8 กรัม ย่างไฟจนแห้งกรอบแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นประจำ
  • สรรพคุณจากเมล็ดเร่วน้อย ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยแก้หืดไอ แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยกัดเสมหะ ช่วยขับลมในลำไส้ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยขับน้ำนมหลังการคลอดบุตรของสตรี
    – ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ด้วยการนำเมล็ดมาบดเป็นผงครั้งละประมาณ 7 – 8 กรัม ชงกับน้ำขิงต้มดื่มกินเป็นประจำ
  • สรรพคุณจากราก ช่วยแก้ไข้เซื่องซึม ช่วยแก้อาการหืด แก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากต้น แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย

ประโยชน์ของเร่ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เมล็ดและผลของเร่วใหญ่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม นำมาผลิตใช้ทำเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์อาหารได้
3. เป็นส่วนประกอบของยา เป็นยาสมุนไพรในตำรับยา “พิกัดทศกุลาผล”

เร่ว มีหลายชนิดด้วยกันและสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้นที่มีผลรสเผ็ดร้อนจึงสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกด้วย เร่วมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผลและเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยขับลม แก้ไข้ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยขับน้ำนมหลังการคลอดบุตรของสตรี ดีต่ออาการตกขาวและประจำเดือนของผู้หญิง และดีต่อระบบทางเดินปัสสาวะเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/