กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ

0
2464
กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ
กระถิน พืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย
กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ
กระถิน พืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย

กระถิน

กระถิน (Leucaena leucocephala) เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นไม้ที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี สามารถนำต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก และยังเป็นไม้ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเนื่องจากต้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และยังเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับบำรุงสุขภาพได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระถิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “White popinac” “Lead tree” “Horse tamarind” “Leucaena” “lpil – lpil”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหนองบก” ภาคใต้เรียกว่า “ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กะเส็ดโคก กะเส็ดบก” จังหวัดสมุทรสงครามเรียกว่า “กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักก้านถิน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระถินยักษ์”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของกระถิน

กระถิน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
เปลือกต้น : เปลือกต้นมีสีเทาและมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน แกนกลางใบประกอบมีขน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน
ดอก : ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก ดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ฝัก : ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ เมื่อแก่จะแตกตามยาว
เมล็ด : มีเมล็ดในฝักเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15 – 30 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่แบนกว้างสีน้ำตาลและเป็นมัน

สรรพคุณของกระถิน

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาอายุวัฒนะ ขับลมในลำไส้ ขับระดูขาวของสตรี
  • สรรพคุณจากเมล็ดแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาการนอนไม่หลับ ขับลมในลำไส้ ขับระดูขาวของสตรี บำรุงไตและตับ
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน บำรุงกระดูก ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคความดันโลหิตสูง บำรุงและรักษาสายตา บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
  • สรรพคุณจากฝักอ่อน บำรุงกระดูก บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
  • สรรพคุณจากเมล็ด บำรุงกระดูก ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
    – เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25 – 50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5 – 20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3 – 5 วัน
  • สรรพคุณจากดอก แก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา บำรุงตับ
  • สรรพคุณจากฝัก แก้อาการท้องร่วง เป็นยาฝาดสมานและใช้ห้ามเลือด
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาฝาดสมานและใช้ห้ามเลือด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถิน

1. เมล็ดมีสารลิวซีนีน (Leucenine) ซึ่งจะทำให้สัตว์เป็นหมันได้
2. สารสกัดจากใบกระถินเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัขจะทำให้มีระดับความดันโลหิตลดลง มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง แต่ฤทธิ์ดังกล่าวนี้สามารถต้านได้ด้วย Atropine และยาต้านฮิสตามีน
3. หากนำน้ำยาสกัดกระถินมาใช้กับหัวใจของกบและเต่า พบว่ามีอัตราการบีบของหัวใจลดลงและในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro ก็พบว่าน้ำสกัดนี้ทำให้เกิดแรงตึงตัวและเกิดแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองใน in vivo จะพบว่าการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง

ประโยชน์ของกระถิน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ฝักอ่อนและเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้
2. ใช้ในการเกษตร สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ นำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ลำต้นหรือเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตรอย่างการทำฟืนและเผาทำถ่านได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรม เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด เป็นต้น นำเปลือกต้นมาทำเป็นกระดาษได้แต่คุณภาพไม่ค่อยดี นำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัมจะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ “กระถินยักษ์” ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลมและช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ และยังเป็นไม้มงคลตามความเชื่ออีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 62 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
โปรตีน 8.4 กรัม
ไขมัน 0.9 กรัม
เส้นใยอาหาร 3.8 กรัม
น้ำ 80.7 กรัม
วิตามินเอ 7,883 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.33 มิลลิกรัม
วิตามินบี2  0.09 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
แคลเซียม 137 มิลลิกรัม
เหล็ก 9.2 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

การเลือกซื้อและการเก็บรักษากระถิน

การเลือกซื้อ ควรเลือกซื้อยอดกระถินหรือฝักอ่อนที่มีความสดใหม่และไม่เหี่ยว
การเก็บรักษา นำกระถินมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วนำมาใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทและเก็บเข้าแช่ตู้เย็นในช่องผัก

โทษของกระถิน

1. มีสารลิวซีนีน (Leucenine) ทำให้ขนร่วงและเป็นหมันได้หากสัตว์กินใบกระถินในปริมาณสูง
2. กระถินสามารถดูดสารซีลีเนียมจากดินได้มาก อาจเป็นพิษต่อคนที่เป็นโรคเกาต์
3. ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงเพราะมีกรดยูริคสูง

กระถิน แต่ละส่วนของต้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม และยังนำมารับประทานได้หลายส่วน แต่ละส่วนมีรสชาติแตกต่างกัน ส่วนของใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย รากมีรสจืดเฝื่อน ส่วนเปลือกมีรสฝาด เป็นผักที่มีทั้งประโยชน์และโทษ มีสารอาหารฟอสฟอรัสและวิตามินเอสูง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกระดูก ลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคความดันโลหิตสูง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระถินไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [23 พ.ย. 2013].
ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [23 พ.ย. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [23 พ.ย. 2013].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [23 พ.ย. 2013].
เดลินิวส์. “กระถินกินมีประโยชน์”. (06/12/55). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [23 พ.ย. 2013].
GotoKnow. “พืชผักสมุนไพรใกล้ครัว: กระถิน”. (ครูนาย). อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยสมุนไพรไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นฤมล มงคลชัยภักดิ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [23 พ.ย. 2013].
เว็บสำหรับคนรักอาหาร. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siammoo.com. [23 พ.ย. 2013].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “กระถินบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [23 พ.ย. 2013].