PM2.5
PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้

PM 2.5

ปัจจุบันฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานและเกิดฝุ่นพิษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ระดับค่ามาตราฐานและค่าเกินมาตราฐานคุณภาพอากาศในแต่ละวัน ดังนี้ 0-25 คือ ดีมาก, 26-50 คือ ดี, 51-100 คือ ปานกลาง,101-200 คือ เริ่มมีผลกระทบต่อร่างกาย, 201 ขึ้นไป คือ มีผลกระทบต่อร่างกาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น ได้รับทราบถึงสถานการณ์ระดับความรุนแรงของ PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด เตรียมหาหน้ากากอนามัย สำหรับกันฝุ่นชนิด N95 เราจะมาทำความรู้จักกับฝุ่นละออง PM 2.5 ดังต่อไปนี้ ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน
ฝุ่นพิษ PM2.5 อันตรายต่อร่างกายอย่างไร วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง หน้ากากกันฝุ่น n95 ซื้อที่ไหน

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน

แน่นอนว่าปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นฝุ่นพิษที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างที่เราทำกันอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น ควันจากท่อไอเสียของยานพาหนะรูปแบบต่างๆ การเผาขยะ การเผาป่า แม้แต่จุดเล็กๆ อย่างควันบุหรี่ก็ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์นี้ด้วยเช่นกัน หากมองในภาพรวมที่กว้างขึ้นมาหน่อยก็จะพบว่าช่วงหลังๆ มานี้ มีโครงการโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมากทางภาคตะวันออก และยังมีการก่อสร้างระบบคมนาคมทั่วทุกมุมเมืองของกรุงเทพมหานคร เมื่อรวมกับรูปแบบผังเมืองและการวางตำแหน่งของอาคารในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้เมืองมีสภาพถูกโอบล้อมไปด้วยตึกสูง การหมุนเวียนของกระแสลมจึงไม่ได้ทำให้ฝุ่นที่มีนั้นกระจายตัวไป พอฝุ่นเดิมไม่ลดและฝุ่นใหม่ก็ยังมีมาเพิ่ม จึงทำให้มีปริมาณความหนาแน่นสูงจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ฝุ่นพิษ PM 2.5 อันตรายต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะยังไม่พูดถึง PM 2.5 เอาแค่ฝุ่นเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปที่เราเจอกันเป็นเรื่องปกติ เช่น ฝุ่นจากถนน ฝุ่นภายในบ้าน ฝุ่นจากสนามดินตอนเล่นกีฬา เป็นต้น หากสูดดมเข้าไปก็เกิดความระคายเคืองได้เช่นเดียวกัน ทีนี้เมื่อ PM 2.5 มีขนาดที่เล็กและตอนนี้ก็มีปริมาณที่มากด้วย ยังไงก็มีผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ลองดูรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดความระคายเคือง อักเสบ หายใจไม่สะดวก เป็นต้น ในคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคปอด เป็นต้น กลุ่มนี้ก็จะต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษ เพราะฝุ่นที่มีละอองเล็กแบบนี้สามารถที่จะเล็ดลอดผ่านผนังถุงลมไปได้ อาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นโดยไม่จำเป็น
  • กระทบต่อความสมดุลของร่างกาย ด้วยเหตุที่ฝุ่นเหล่านี้มีผลกระตุ้นต่อการสร้างอนุมูลอิสระ ทั้งยังลดแอนติออกซิแดนซ์ให้น้อยลงอีกด้วย เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับฝุ่นนานๆ จึงทำให้ระบบต่างๆ ผิดเพี้ยนไป ผิวพรรณก็ไม่แข็งแรงเหมือนปกติ แพ้และระคายเคืองได้ง่าย ตลอดจนการหลั่งสารต่างๆ ในร่างกายก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงไปจากค่าที่ควรจะเป็น
  • กระทบต่อเยื่อเมือกต่างๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับฝุ่น เช่น เยื่อเมือกในลูกตา เยื่อเมือกในช่องปาก เป็นต้น อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองรุนแรงได้ สัญญาณแรกก็คืออาการแสบตา แสบช่องคอ มีอาการคันไปจนถึงอักเสบในที่สุด
  • กระทบต่อระบบเลือด เนื่องจากขนาดของฝุ่นที่มีขนาดเล็กจนสามารถแพร่กระจายจากทางเดินหายใจไปสู่กระแสเลือดได้ หมายความว่าฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถแทรกซึมไปตามอวัยวะภายในต่างๆ ได้ และนั่นก็อาจเป็นสามารถที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมา

เมื่อดูตามข้อมูลนี้ก็คงจะเห็นว่าฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างอันตราย เพราะมันต่อยอดไปสู่โรคร้ายได้หลายอย่าง แถมยังมีข้อมูลการคาดคะเนทางระบาดวิทยาที่ชี้ว่า ฝุ่นเหล่านี้อาจทำให้คนเสียชีวิตได้มากถึง 50000 คนต่อปี แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังคงต้องศึกษาต่อไปอีกในระยะยาว และเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก กรุงเทพมหานครเคยมีปรากฏการณ์ฝุ่นหนาในปี พ.ศ.2554 มาแล้ว เพียงแค่ไม่มีสื่อที่มาประโคมข่าวให้ทุกคนได้รับรู้ในวงกว้างอย่างเช่นยุคดิจิตอลนี้ ตอนนั้นก็ไม่พบว่ามีอันตรายที่ร้ายแรงอะไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องวิตกกังวลให้มากเกินไปนัก แค่ดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ก็เพียงพอแล้ว

วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องเมื่อต้องเผชิญกับภาวะฝุ่น PM 2.5

1. สวมหน้ากากกันฝุ่นทุกครั้งที่ต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง โดยต้องสวมใส่ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของหน้ากากแต่ละประเภทด้วย เพราะต่อให้หน้ากากคุณภาพดีแค่ไหน ถ้าใช้งานไม่ถูกก็จะไม่มีผลอะไรเลย

2. งดการออกกำลังกายกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่เสี่ยง เวลาที่เราออกกำลังกาย ระบบหายใจจะทำงานมากขึ้น ช่วงจังหวะของการหายใจจะลึกขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อเติมออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าเราไปอยู่ในจุดที่มีฝุ่นหนาก็หมายความว่าเราจะสูดเอาฝุ่นเหล่านั้นเข้าไปด้วย ถ้าต้องการออกกำลังกายในช่วงนี้ก็ให้เลือกใช้บริการของฟิตเนสหรือสถานที่ออกกำลังกายในร่มอื่นๆ ไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็เลือกสถานที่ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่เสี่ยงออกไป

3. ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ น้ำสะอาดช่วยได้มากในสถานการณ์แบบนี้ อาการแสบคอจากการเผชิญมลภาวะจะบรรเทาลงได้มากเมื่อร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ทั้งยังช่วยปรับสมดุลร่างกายให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอีกด้วย

4. เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ให้มาก และเลือกทานวิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานมากขึ้น ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่างของวิตามินที่น่าสนใจ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น

5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอเสมอ เมื่อไรที่นอนน้อยภูมิต้านทานในร่างกายก็จะลดต่ำลงโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงระบบร่างกายก็มีโอกาสที่จะรวนได้ หากต้องพาตัวเองไปเจอกับฝุ่นในสภาพอดนอนก็จะส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายนั่นเอง

การเลือกหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ชนิด n95 ซื้อที่ไหน

ในเมื่อฝุ่นละอองมีขนาดเล็กกว่าปกติ การใช้หน้ากากอนามันธรรมดาก็อาจจะไม่ช่วยอะไร คงต้องเลือกใช้หน้ากากให้เหมาะสม ซึ่งหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายยาทั่วไป เพื่อป้องกันฝุ่นที่จะเป็นอันตรายได้ โดยแนวทางในการเลือกใช้หน้ากากอนามัยมีข้อกำหนดอยู่ 3 ประการ คือ

1. หน้ากากกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควรมีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้จริง

2. หน้ากากอนามัยมีความกระชับรับกับใบหน้า ไม่มีจุดที่เปิดเผยอไม่แนบเนื้อ เพื่อจะได้กรองอากาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

3. หน้ากากอนามัยกันฝุ่น ควรมีมาตรฐานรองรับซึ่งบอกถึงคุณภาพของหน้ากากที่ใช้งานได้ เช่น NIOSH 42 CFR 84, EN 149, AS/NZS 1761, หน้ากาก3M เป็นต้น โดยหาดูได้จากตัวบรรจุภัณฑ์ของหน้ากากนั่นเอง แต่ถ้าไม่อยากจำอะไรให้วุ่นวายเพียงแค่มองหาว่าเป็นหน้ากากอนามัยชนิด N95 ก็เป็นอันใช้ได้

รูปแบบของหน้ากากอนามัยที่นำมาใช้ได้

หน้ากาก N95 : หน้าตาของหน้ากากก็จะดูคล้ายกับแบบที่เราเห็นคนใส่ในโรงงานอุตสาหกรรมนั่นเอง เป็นรูปทรงโค้งครอบบริเวณปากและจมูก สายรัดแน่นหนา สามารถกรองฝุ่นได้มากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นหน้ากากที่ควรจะอยู่ในตัวเลือกอันดับแรกๆ เลยทีเดียว เพียงแต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่รูปทรงไม่สวยงามนัก และหายใจไม่ค่อยสะดวกเมื่อสวมใส่ อย่างไรก็ตามเมื่อความต้องการหน้ากาก N95 เพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีการออกแบบให้เอื้อต่อการใช้งานมากขึ้นด้วย ทั้งในเรื่องของการหมุนเวียนอากาศและรูปทรง เช่น ทำให้ดูสวยงามสามารถสวมใส่ได้ง่ายขึ้น มีพัดลมเล็กๆ ระบายอากาศเพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

หน้ากากพร้อมชั้นกรองคาร์บอน : สังเกตง่ายๆ ตรงที่มีรูปลักษณ์เหมือนกับหน้ากากอนามัยทั่วไป แต่มีชั้นสีดำแทรกอยู่ตรงกลาง ตัวนี้มีขายอยู่หลายเกรด ต้องดูให้ดีว่าสามารถกรองได้มากกว่า 95% หรือไม่ ข้อดีคือหาซื้อง่าย ราคาถูก เน้นใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ข้อเสียก็คือจะมีส่วนที่ไม่ได้แนบกับใบหน้าค่อนข้างมาก ทำให้มีอากาศที่ไม่ได้ถูกกรองผ่านเข้าไปด้วย

หน้ากากผ้าฝ้ายที่มีชั้นกรอง : อันนี้จะมีความเป็นแฟชั่นมากกว่าตัวอื่นๆ ปกปิดครอบคลุมช่องปากและจมูก ไปจนถึงแนวกราม แต่ก็ไม่ใช่ว่าหน้ากากผ้าฝ้ายทุกอันจะใช้ได้ ต้องสังเกตให้ดีว่ามีชั้นกรองด้านใน ซึ่งมีมาตรฐานระบุว่าสามารถกรองฝุ่นได้มากกว่า 95% หรือไม่ หน้ากากแบบนี้สามารถซักทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ต้องเปลี่ยนแผ่นกรองด้านในให้เป็นแผ่นใหม่เสมอ

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน

PM 2.5 ไม่ใช่ชื่อของกลุ่มฝุ่นหรือชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะแต่อย่างใด ในกลุ่มคนที่คลุกคลีอยู่กับงานในวงการอุตสาหกรรมจะคุ้นเคยกับศัพท์คำนี้ดี มันเป็นค่ามาตรฐานที่ใช้เพื่อวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM ย่อมาจาก Particulate Matters ซึ่งแปลตรงตัวว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับฝุ่นละออง ส่วนตัวเลขที่อยู่ด้านหลังเป็นค่าเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยของฝุ่นในหน่วยไมโครเมตรหรือไมครอน ดังนั้น PM 2.5 จึงหมายความว่าค่าอนุภาคของฝุ่นที่วัดได้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของฝุ่นละเอียดตามคำจำกัดความของ US. EPA ( Environmental Protection Agency -EPA ) หรือหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

PM 2.5 และ PM 10

ค่าวัดฝุ่นละอองที่มีความสำคัญจะมีอยู่ 2 ค่า ก็คือ PM 2.5 และ PM 10 เนื่องจากว่าปกติฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมอะไรก็ตาม จะลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเพียงช่วงสั้นๆ ราวๆ 3-4 นาที จากนั้นก็ตกลงสู่พื้นโลกตามกฎแรงโน้มถ่วง แต่สำหรับฝุ่นขนาดเล็กในระดับ PM 2.5 ( ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ) และ PM 10 ( ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 2.5-10 ไมครอน ) นี้จะตกสู่พื้นโลกได้ช้ากว่าเพราะมีมวลที่น้อยกว่า และเมื่อเจอกับปัจจัยอื่นๆ เช่น กระแสลม การหมุนเวียนของมวลอากาศ เป็นต้น ก็ยิ่งทำให้ฝุ่นเหล่านั้นลอยฟุ้งอยู่ในอากาศได้นานมากขึ้นอีก และสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นๆ ได้

นอกจากนี้หากเป็นเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถหาหน้ากากเหล่านี้ได้จริงๆ ก็ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกแทนได้ แต่ก็ช่วยได้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ควรรีบพาตัวเองออกไปจากบริเวณที่มีฝุ่นหนาแน่นโดยเร็ว และในส่วนของหน้ากากอนามัยซ้อนด้วยกระดาษทิชชู 2 ชั้นที่เคยมีข่าวว่าใช้ทดแทนหน้ากาก N95 ได้นั้น ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ได้จริง จึงควรใช้หน้ากากที่มีมาตรฐานรองรับชัดเจนแล้วดีกว่า

ไม่ว่าจะเป็น PM 2.5 หรือค่าฝุ่นละอองระดับไหน ต่างก็มีผลกระทบกับร่างกายได้ไม่มากก็น้อย จึงต้องหาเครื่องป้องกันเพื่อดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ร่วมกับการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องฝุ่น PM 2.5 นี้ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และเป็นเพียงแค่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ก็อย่าได้ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม