สรรพคุณว่านเพชรหึง
ว่านเพชรหึง หรือ กล้วยไม้ยักษ์ มีสรรพคุณทายามากกว่าความสวยงามในรูปแบบของดอกไม้ หากพูดถึงสมุนไพรในบ้านเราที่ถูกหยิบใช้เพื่อการปรุงยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ วัตถุดิบที่นึกถึงเสมอก็ต้องเป็นกลุ่มของพืชผักพื้นบ้านหรือต้นไม้พื้นถิ่น น้อยนักที่จะเป็นจำพวกไม้ดอกไม้ประดับ ไม่เหมือนกับสมุนไพรในต่างประเทศที่มีกลุ่มของดอกไม้มากพอสมควร เช่น ซากุระ ลาเวนเดอร์ ทิวลิป เป็นต้น แต่ถึงจะมีน้อยก็ใช่ ว่าไม่มีเลย อย่างว่านเพชรหึงที่เรากำลังจะลงรายละเอียดอยู่นี้ ก็เป็นว่านที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของดอกกล้วยไม้ ซึ่งเพาะปลูกได้ในพื้นที่ป่าดิบชื้น แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของประเทศไทยนี่เอง ว่านเพชรหึงไม่ได้เป็นกล้วยไม้ที่หาดูได้ยากเย็นอะไรนัก หลายคนก็พบเห็นจนคุ้นชินแล้วเสียด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าดอกกล้วยไม้สวยๆ ช่อนี้มีสรรพคุณทางยาที่ไม่ธรรมดาเลย
>> พืชสมุนไพรโบราณ ต้นกระบือเจ็ดตัว มีประโยชน์อย่างไร
การปลูกว่านเพชรหึง ควรเลือกซื้อว่านเพชรหึงราคาเท่าไหร่
กล้วยไม้เพรชหึงเมื่อโตเต็มที่จะมีกอขนาดใหญ่สูงราวๆ 3 เมตร ทำให้กล้วยไม้เพรชหึงราคาสูงถึง 30,000 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการนำว่านเพชรหึงไปปลูกแนะนำให้ซื้อเป็นกอเล็ก ราคาประมาณ 300-500 บาท การปลูกว่านเพชรสามารถปลูกในที่กึ่งแดดถึงแดดแต่ไม่จัดมากนัก ใช้กาบมะพร้าวสับเป็นเครื่องปลูกขณะต้นยังเล็ก และใช้กาบมะพร้าวสับผสมอิฐแดงทุบเมื่อต้นโตขึ้น ไม่ควรรดน้ำจนชุ่มแฉะเพราะจะทำให้กอเน่าง่ายหรือเป็นโรคง่าย
ลักษณะว่านเพชรหึง หรือกล้วยไม้เพชรหึง
กล้วยไม้เพชรหึงแตกกอใหญ่ ระบบรากค่อนข้างหนาแน่นและจะแตกแขนงที่บริเวณปลายรากแบบที่แตกแล้วชี้ขึ้นด้านบน มีชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ ได้แก่ ว่านหางช้าง กล้วยกา ตับตาน มือตับแก ว่านงูเหลือม ว่านหางช้าง เอื้อง และพร้าว มีรูปร่างลักษณะที่มองรวดเดียวก็รู้ได้ว่าเป็นกล้วยไม้ยักษ์แน่นอน ใบเป็นใบเดี่ยวที่เรียงสลับ ความยาวจากโคนถึงปลายใบเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม และก้านใบหุ้มลำตันไว้อย่างสวยงาม ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ยาวได้มากสุดถึง 3 เมตร กลีบดอกมีสีเหลืองหม่น และมีจุดแต้มสีน้ำตาลม่วงกระจายทั่วกลีบอีกทีหนึ่ง เรียกว่า กล้วยไม้ลายเสือ แถมยังเป็นดอกกล้วยไม้ที่ทนทานมาก เพราะออกดอกแต่ละครั้งก็จะชูดอกและค่อยๆ ทยอยบานในช่วงระยะเวลานาน ไม่ช้ำและไม่ร่วงโรยไปง่ายๆ ส่วนของผลจะมีสีเขียวอ่อน ในหนึ่งผลมี 3 พูนูนออกมาให้เห็นชัดเจน รูปร่างยาวเรียว เมื่อผลแก่จัดก็จะแตกออกเป็น 3 กลีบ เผยให้เห็นเมล็ดสีดำด้านใน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ต่อไปตามธรรมชาติ โดยเมล็ดเหล่านี้จะหลุดออกจากผลแล้วปลิวไปตามลมนั่นเอง ส่วนมากเรานิยมใช้ต้นว่านเพชรหึงเพื่อการประดับตกแต่งมากกว่าอย่างอื่น เพราะยังมีงานวิจัยในทางเภสัชวิทยาหรือคลินิกน้อยมาก ทำให้เรายังไม่อาจรู้ถึงสรรพคุณทั้งหมดของว่านเพชรหึงได้
ว่านเพชรหึงใช้เป็นยาอายุวัฒนะ : สารออกฤทธิ์ในว่านจะช่วยปรับสมดุลร่างกายและบำรุงกำลังได้ สิ่งใดที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็นก็สามารถกลับมาเป็นปกติ และเมื่อร่างกายเข้าสู่สมดุลจึงทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงโดยธรรมชาติ วิธีการนำว่านเพชรหึงมาใช้ประโยชน์ก็คือ เลือกส่วนของลำต้นและก้านใบที่แก่สักหน่อยมาล้างทำความสะอาด ก่อนหั่นให้เป็นแว่นบางๆ ดองกับเหล้าไว้จิบเพียงเล็กน้อยหลังมื้ออาหาร
ว่านเพชรหึงบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ : เราจะใช้ส่วนของเหง้าที่มีฤทธิ์เย็นจัดมาทำเป็นยา โดยใช้เหง้าตากแห้ง พุทธาจีน จี่อ้วง โงวบี่จี้แห้ง ขิง โส่ยชินและมั่วอึ้ง ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนเกือบทั้งหมด ต้มรวมกันในหม้อเดียวเพื่อนำน้ำนั้นมาดื่มในรูปแบบของน้ำสมุนไพร จะช่วยให้รู้สึกชุ่มคอ ลดความระคายเคือง และลดอาการกระหายน้ำ สามารถจิบได้ตลอดทั้งวันแทนการดื่มน้ำเปล่าในช่วงที่มีอาการ หากรู้สึกว่ารสชาติดื่มยากให้เติมน้ำผึ้งแทนน้ำตาล
ว่านเพชรหึงช่วยขับลมให้กระเพาะอาหารและลำไส้ : หากมีอาการแน่นท้องเนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารมาก โดยเจาะจงไปที่ต้นเหตุของการทานอาหารเป็นหลัก ไม่รวมอาการข้างเคียงที่เกิดจากโรคประจำตัวอื่นๆ แบบนี้ว่านเพชรหึงสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ โดยนำลำต้นและก้านใบมาล้างให้สะอาด แล้วดองกับเหล้าหรือน้ำผึ้งก็ได้ จิบเพียงเล็กน้อยร่วมกับมื้ออาหารในช่วงที่มีอาการเท่านั้น
ว่านเพชรหึงบรรเทาอาการแสบร้อนในลำคอ : โดยปกติอาการแสบร้อนสามารถหายได้เองเมื่อดื่มน้ำอย่างเพียงพอ มักเป็นในวันที่อากาศร้อนจัด หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังจะเป็นไข้ไม่สบาย เมื่อดื่มน้ำมากแล้วก็ยังไม่หาย ก็สามารถใช้ส่วนเหง้าของว่านเพชรหึงแบบสดๆ มาล้างทำความสะอาด แล้วบดให้ละเอียด เติมน้ำส้มสายชูกับน้ำสะอาดเพียงเล็กน้อย บีบคั้นเพื่อเอาน้ำ ค่อยๆ จิบให้ไหลผ่านช่วงคอช้าๆ บ้างก็ใช้วิธีเอาสำลีปั้นเป็นก้อน ชุบกับน้ำยาจากว่านให้ชุ่ม อมก้อนสำลีนั้นไว้ในปากแล้วค่อยๆ กลืนแค่ส่วนของน้ำลงไป
ว่านเพชรหึงรักษาท้องมาน : อาการท้องมานเป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่ทำให้ท้องโตเหมือนคนมีครรภ์ แต่เป็นการสะสมของน้ำในช่องท้อง ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากโรคเกี่ยวกับตับหรือหัวใจ นอกจากการใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาแล้ว ก็ยังสามารถใช้สมุนไพรมาช่วยเพื่อลดเคมีที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ โดยนำเหง้าสดของว่านเพชรหึงมาล้างให้ปราศจากคราบดินโคลน ใช้มีดขูดเอาผิวนอกออกแล้วปั่นให้ละเอียด คั้นเอาแค่น้ำจากเหง้าและไม่ต้องผสมน้ำอื่นๆ เพิ่มอีก ใช้ดื่มกินบ่อยๆ
ว่านเพชรหึงรักษาผดผื่นคัน : ผดผื่นคันที่ว่านี้ไล่ระดับความรุนแรงตั้งแต่อาการแพ้เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงผื่นคันที่อักเสบและมีหนองได้เลย เราใช้เหง้าตากแห้งต้มกับน้ำจนเดือดได้ที่ เติมเกลือแกงลงไปเล็กน้อย ต้มต่ออีกจนกว่าเกลือจะละลายดี พักไว้ให้เย็น หากทำปริมาณมากให้กรอกใส่ภาชนะแช่ตู้เย็นไว้ได้ นำน้ำนั้นมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่นคันให้ทั่ว ทั้งเช้าและเย็นจนกว่าจะมีอาการดีขึ้น
ว่านเพชรหึงรักษาฝีในระยะเริ่มต้น : ความน่ากลัวของฝีก็คือ มักเกิดในที่ลับและเจ็บปวดมาก หากรักษาเร็วก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าปล่อยไว้หรือไม่รู้ตัวว่าเป็นฝี ก็จะกลายเป็นหนองลึกและต้องผ่าออก ว่านเพชรหึงสามารถช่วยได้ในระยะต้นของการเป็นฝีเท่านั้น สังเกตจากปริมาณของหนอง จะเห็นเพียงจุดขาวๆ ที่ไม่เป็นวงกว้างนัก ใช้เหง้าแห้งบดผง ผสมกับดอกไม้จีนบดผงเช่นกัน เมื่อจะทานก็ให้ใส่น้ำผึ้งลงไปเล็กน้อย ฝีจะค่อยๆ ลดอาการอักเสบลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ส่วนของลำต้นฝนกับน้ำซาวข้าว แล้วนำน้ำนั้นมาทาพอกบริเวณฝี ก็ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน
ว่านเพชรหึงรักษาโรคคางทูม : อาการของโรคคางทูมคือ คางจะบวมผิดรูปร่างไปจนสังเกตเห็นได้ อาจบวมพร้อมกันทั้งสองด้านหรือบวมเพียงด้านเดียวก็ได้ ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการไข้ตัวร้อนร่วมด้วย ปกติโรคคางทูมจะหายได้เอง เพียงแต่ใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ ก็สามารถเร่งให้หายเร็วขึ้นได้ ด้วยการใช้เหง้าสดของว่านเพชรหึงมาต้มกินวันละ 2 ครั้ง ไม่นานก็จะหายเป็นปกติ
ว่านเพชรหึงใช้เป็นยาระบาย : ส่วนของใบว่านมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นยาระบายอ่อนๆ อยู่ด้วย เพียงแค่นำใบสดมาประมาณ 3-4 ใบ ต้มน้ำดื่ม ก็จะช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดื่มน้ำสมุนไพรคือช่วงก่อนนอน เพื่อให้ระบายถ่ายท้องในตอนเช้าพอดี
ว่านเพชรหึงใช้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย : นำส่วนของลำต้นมาบดละเอียด คั้นเอาน้ำออก ใช้เพียงแค่ส่วนของกากมาพอกบริเวณแผลที่ถูกกัด ผึ้งต่อย มดกัด ฤทธิ์ยาจะช่วยดูดซับสารพิษออกมาได้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามใช้กับกรณีของงูพิษ เพราะงูนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า
ว่านเพชรหึง หรือ ว่านหางช้าง จัดเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เป็นยาอายุวัฒนะและยาบำรุงกำลัง มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการอักเสบ
ว่านเพชรหึงกับวงการความสวยความงาม
มีงานวิจัยเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์สำคัญในว่านเพชรหึงโดยทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. พบว่ามีสารชีวภาพที่ต้านเอนไซม์อิลาสเตส ( elastase )และลดการสร้างเอนไซม์คอลลาจิเนส ( collagenase ) ในผิวได้ ซึ่งเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดริ้วรอยบนผิวหนัง และบั่นทอนความอ่อนเยาว์ของผิวในทุกๆ ด้าน เมื่อสกัดสารที่ว่านี้ออกมาจากว่านเพชรหึง แล้วนำมากักเก็บไว้ในรูปของอนุภาคนาโนไขมัน ก็จะช่วยเพิ่มจุดเด่นด้านการซึมเข้าสู่ชั้นผิวได้ดีขึ้น และยังเป็นการรักษาสภาพความคงตัวของสารออกฤทธิ์เหล่านั้นเอาไว้ได้อีกด้วย จากข้อมูลงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวและเครื่องประทินโฉมต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก และเอาไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ร่วมกับสารสกัดอื่นๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงประเด็นที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมในทางเภสัชวิทยาของว่านเพชรหึง
- มีการทดลองในหนูด้วยสารสกัดจากว่านเพชรหึง พบว่าสามารถรักษาอาการบวมและอักเสบของหนูตัวใหญ่ได้ แต่เป็นการอักเสบที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงอยู่ จึงยังไม่มีการนำมาต่อยอดในมนุษย์
- เมื่อสกัดสารออกฤทธิ์ในว่านเพชรหึงด้วยเหล้า แล้วนำไปใช้กับกระต่าย พบว่าระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
- น้ำที่คั้นจากเหง้าสดมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเอสโตรเจน ( estrogen ) ในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่จะมีปริมาณมากกว่าในเพศชาย แต่ก็จำเป็นต้องมีอีกหลายปัจจัยร่วมด้วย
- มีการทำวิจัยเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอล โดยศึกษาจากสารสกัดว่านเพชรหึงที่สกัดด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น สกัดด้วยน้ำ สกัดด้วยแอลกอฮอล์ เป็นต้น พบว่ามีสารออกฤทธิ์ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงแม้ว่าจะสกัดด้วยน้ำธรรมดา จึงน่าจะต่อยอดไปเป็นชาชงจากว่านเพชรหึงได้
- เคยมีข้อมูลว่าว่านเพชรหึงถูกบันทึกอยู่ในตำรายาสมุนไพร ซึ่งค้นคว้าและวิจัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้าน มะเร็งเต้านม โดยต้องใช้ส่วนเหง้าที่ขึ้นในบางพื้นที่เท่านั้น เพราะพื้นที่ที่แตกต่างจะทำให้สารออกฤทธิ์มีความเข้มข้นต่างกันไปด้วย และสูตรยาที่ว่านี้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนำเหง้ามาล้างทำความสะอาด สับหรือบดให้มีขนาดเล็ก ต้มกับน้ำด้วยไฟอ่อน ค่อยๆ เคี่ยวจนน้ำงวดขึ้น ทานวันละ 3 เวลาหลังอาหาร ครั้งละ 3 ช้อนโต๊ะ อย่างไรก็ตามไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการวิจัยมากนัก และอาจยังต้องศึกษาถึงผลข้างเคียงในการใช้สูตรยาเป็นเวลานานต่อไปอีก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านเพชรหึง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [6 ธ.ค. 2013].
ผู้จัดการออนไลน์. “เชิญชมว่านเพชรหึง กล้วยไม้ใหญ่ที่สุดในโลกออกดอกสะพรั่งแค่ปีละ 3 เดือน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [6 ธ.ค. 2013].