อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

0
1725
อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อ้อยช้าง หรือกอกกั๋น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อน ต้นมียางเหนียวใส เปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ผลเป็นรูปถั่ว เมื่อสุกจะมีสีม่วงอมแดง
อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อ้อยช้าง หรือกอกกั๋น ไม้ยืนต้นดอกสีเหลืองอ่อน ต้นมียางเหนียวใส เปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ผลสุกจะมีสีม่วงอมแดง

อ้อยช้าง

อ้อยช้าง (Wodier tree) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “กอกกั๋น” เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่เปลือกต้นมียางเหนียวใสซึ่งอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย ทว่าแก่นหรือเนื้อไม้และรากต้องมีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถนำมาใช้ทำยาได้ ส่วนเปลือกต้นจะต้องมีอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไป ส่วนต่าง ๆ ของต้นนั้นมีรสที่แตกต่างกันโดยเปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ซึ่งทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ส่วนของใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารของช้างโดยช้างจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้างได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อต้น “อ้อยช้าง”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอ้อยช้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Wodier tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “อ้อยช้าง” ภาคเหนือเรียกว่า “กุ๊ก กุ้ก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หวีด” จังหวัดตราดเรียกว่า “ช้าเกาะ ช้างโน้ม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “กอกกั่น กอกกั๋น” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “ตะคร้ำ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ซาเกะ” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “เส่งลู่ไค้” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปีเชียง” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “แม่หยูว้าย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กอกกัน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อพ้อง : Dialium coromandelicum Houtt.

ลักษณะของอ้อยช้าง

อ้อยช้าง เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มักจะพบขึ้นในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูและชวา ในประเทศไทยพบกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง อาจพบตามป่าเขาหินปูนบ้าง
ลำต้น : ลำต้นเป็นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด มีสีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส เป็นไม้ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ
ต้น : ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ของใบที่หลุดใบ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักจะมีสันปีกแคบด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมจนถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลมหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ใบแก่ผิวจะเกลี้ยง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนงโดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ก้านช่อมีขนเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบดอกมีประมาณ 4 – 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขนและพับงอกลีบ มีเกสรเพศผู้ประมาณ 8 – 10 อัน เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวนและมีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย รังไข่จะเกลี้ยงเป็นสีแดงสด มักจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมูหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ผลแก่เป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือวงรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1 – 2 รอยที่ปลายบน

สรรพคุณของอ้อยช้าง

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย รักษาอาการปวดฟัน แก้เสมหะเหนียว ช่วยแก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ เป็นยาแก้ปวดท้องหรือท้องร่วง เป็นยาใส่แผล ช่วยสมานแผลและเป็นยาห้ามเลือด แก้ผิวหนังพุพองหรือเน่าเปื่อย ช่วยรักษาโรคเกาต์ แก้ปวด แก้รอยฟกช้ำ แก้อาการแพลง
    – รักษาอาการตาเจ็บและอาการตาอักเสบรุนแรง ด้วยการนำน้ำที่ได้จากเปลือกสดมาใช้เป็นยาหยอดตา
    – แก้ฝี รักษาโรคผิวหนังและโรคเรื้อน ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาหรือนำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้อาการแพลงและรอยฟกช้ำ
    – แก้ไอเป็นเลือด โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำใบมาผสมกับใบไพล ใบหวดหม่อนแล้วนำมาบดให้เป็นผงกินกับน้ำเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยแก้เสมหะ ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก
  • สรรพคุณจากยางที่ปูดจากลำต้น
    – แก้ไอเป็นเลือด ด้วยการนำยางที่ปูดจากลำต้นมาผสมกับยางที่ปูดจากลำต้นมะกอกมาฝนกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น
    – แก้ท้องเสีย ด้วยการนำรากและเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของอ้อยช้าง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักร่วมกับพริกเกลือได้ รากเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำสามารถนำมาดื่มแก้อาการกระหายได้
2. เป็นอาหารช้าง ใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารช้างโดยจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน
3. เป็นส่วนประกอบของยา แก่นใช้ปรุงรสยา รากใช้เข้ากับตำรับยาเพื่อชูรสในตำรับนั้น
4. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต ใช้ในงานแกะสลัก ใช้ทำพื้นกระดาน ฝา รอด เครื่องเรือน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้าง ใช้ทำเชือก ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมหนัง ย้อมแห ฟอกหนังสัตว์ ใช้ในงานศิลปะ

ข้อควรระวังของอ้อยช้าง

สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสดและผลสดเป็นพิษต่อปลา

อ้อยช้าง เป็นต้นที่มีรสหลากหลายและยังมีเปลือกเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมายแต่ว่าก็ต้องดูอายุของไม้นั้นด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและใช้ในอุตสาหกรรมได้ อ้อยช้างมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้ไอเป็นเลือด ช่วยรักษาโรคเกาต์และแก้อาการปวดได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลากหลายและคู่ควรแก่การนำมาใช้เป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อ้อยช้าง”. หน้า 840-841.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “โพธิญาณพฤกษา : อ้อยช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [21 ก.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. “อ้อยช้าง เปลือกแก้ปวดท้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [21 ก.ย. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 ก.ย. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กอกกัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/