Home Blog Page 72

อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

0
อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อ้อยช้าง หรือกอกกั๋น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อน ต้นมียางเหนียวใส เปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ผลเป็นรูปถั่ว เมื่อสุกจะมีสีม่วงอมแดง
อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อ้อยช้าง หรือกอกกั๋น ไม้ยืนต้นดอกสีเหลืองอ่อน ต้นมียางเหนียวใส เปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ผลสุกจะมีสีม่วงอมแดง

อ้อยช้าง

อ้อยช้าง (Wodier tree) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “กอกกั๋น” เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่เปลือกต้นมียางเหนียวใสซึ่งอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย ทว่าแก่นหรือเนื้อไม้และรากต้องมีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถนำมาใช้ทำยาได้ ส่วนเปลือกต้นจะต้องมีอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไป ส่วนต่าง ๆ ของต้นนั้นมีรสที่แตกต่างกันโดยเปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ซึ่งทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ส่วนของใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารของช้างโดยช้างจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้างได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อต้น “อ้อยช้าง”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอ้อยช้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Wodier tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “อ้อยช้าง” ภาคเหนือเรียกว่า “กุ๊ก กุ้ก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หวีด” จังหวัดตราดเรียกว่า “ช้าเกาะ ช้างโน้ม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “กอกกั่น กอกกั๋น” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “ตะคร้ำ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ซาเกะ” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “เส่งลู่ไค้” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปีเชียง” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “แม่หยูว้าย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กอกกัน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อพ้อง : Dialium coromandelicum Houtt.

ลักษณะของอ้อยช้าง

อ้อยช้าง เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มักจะพบขึ้นในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูและชวา ในประเทศไทยพบกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง อาจพบตามป่าเขาหินปูนบ้าง
ลำต้น : ลำต้นเป็นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด มีสีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส เป็นไม้ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ
ต้น : ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ของใบที่หลุดใบ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักจะมีสันปีกแคบด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมจนถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลมหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ใบแก่ผิวจะเกลี้ยง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนงโดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ก้านช่อมีขนเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบดอกมีประมาณ 4 – 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขนและพับงอกลีบ มีเกสรเพศผู้ประมาณ 8 – 10 อัน เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวนและมีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย รังไข่จะเกลี้ยงเป็นสีแดงสด มักจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมูหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ผลแก่เป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือวงรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1 – 2 รอยที่ปลายบน

สรรพคุณของอ้อยช้าง

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย รักษาอาการปวดฟัน แก้เสมหะเหนียว ช่วยแก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ เป็นยาแก้ปวดท้องหรือท้องร่วง เป็นยาใส่แผล ช่วยสมานแผลและเป็นยาห้ามเลือด แก้ผิวหนังพุพองหรือเน่าเปื่อย ช่วยรักษาโรคเกาต์ แก้ปวด แก้รอยฟกช้ำ แก้อาการแพลง
    – รักษาอาการตาเจ็บและอาการตาอักเสบรุนแรง ด้วยการนำน้ำที่ได้จากเปลือกสดมาใช้เป็นยาหยอดตา
    – แก้ฝี รักษาโรคผิวหนังและโรคเรื้อน ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาหรือนำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้อาการแพลงและรอยฟกช้ำ
    – แก้ไอเป็นเลือด โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำใบมาผสมกับใบไพล ใบหวดหม่อนแล้วนำมาบดให้เป็นผงกินกับน้ำเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยแก้เสมหะ ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก
  • สรรพคุณจากยางที่ปูดจากลำต้น
    – แก้ไอเป็นเลือด ด้วยการนำยางที่ปูดจากลำต้นมาผสมกับยางที่ปูดจากลำต้นมะกอกมาฝนกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น
    – แก้ท้องเสีย ด้วยการนำรากและเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของอ้อยช้าง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักร่วมกับพริกเกลือได้ รากเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำสามารถนำมาดื่มแก้อาการกระหายได้
2. เป็นอาหารช้าง ใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารช้างโดยจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน
3. เป็นส่วนประกอบของยา แก่นใช้ปรุงรสยา รากใช้เข้ากับตำรับยาเพื่อชูรสในตำรับนั้น
4. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต ใช้ในงานแกะสลัก ใช้ทำพื้นกระดาน ฝา รอด เครื่องเรือน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้าง ใช้ทำเชือก ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมหนัง ย้อมแห ฟอกหนังสัตว์ ใช้ในงานศิลปะ

ข้อควรระวังของอ้อยช้าง

สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสดและผลสดเป็นพิษต่อปลา

อ้อยช้าง เป็นต้นที่มีรสหลากหลายและยังมีเปลือกเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมายแต่ว่าก็ต้องดูอายุของไม้นั้นด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและใช้ในอุตสาหกรรมได้ อ้อยช้างมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้ไอเป็นเลือด ช่วยรักษาโรคเกาต์และแก้อาการปวดได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลากหลายและคู่ควรแก่การนำมาใช้เป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อ้อยช้าง”. หน้า 840-841.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “โพธิญาณพฤกษา : อ้อยช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [21 ก.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. “อ้อยช้าง เปลือกแก้ปวดท้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [21 ก.ย. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 ก.ย. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กอกกัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

โสมไทย ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม รากและเหง้าอุดมไปด้วยสรรพคุณ

0
โสมไทย ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม รากและเหง้าอุดมไปด้วยสรรพคุณ
โสมไทย หรือโสมคน เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี มีดอกเป็นสีชมพูบานเย็น
โสมไทย ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม รากและเหง้าอุดมไปด้วยสรรพคุณ
โสมไทย หรือโสมคน เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี มีดอกเป็นสีชมพูบานเย็น

โสมไทย

โสมไทย (Fame Flower) หรือเรียกอีกอย่างว่า “โสมคน” สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี มีดอกเป็นสีชมพูบานเย็นทำให้ดูสวยงามมากจนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ นอกจากนั้นใบอ่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารซึ่งให้รสชาติดีอีกด้วย รากโสมไทยจะมีรสชุ่มและขมเล็กน้อยจึงเป็นยาสุขุมที่ไม่มีพิษ เหง้าโสมไทยมีรสหวานร้อนสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดี

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโสมไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Fame Flower” “Ceylon Spinach” “Sweetheart” “Surinam Purslane”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โสม โสมคน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ว่านผักปัง” คนจีนเรียกว่า “โทวหนิ่งเซียม” จีนกลางเรียกว่า “ถู่เหยินเซิน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ TALINACEAE
ชื่อพ้อง : Claytonia patens (L.) Kuntze, Portulaca paniculata Jacq., Portulaca patens L., Talinum patens (L.) Willd.

ลักษณะของโสมไทย

โสมไทย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุเพียงหนึ่งปี เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นสูงและชอบที่มีแสง พบขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย มักพบในที่ชุ่มชื้น บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ตามไร่สวนหรือบ้านเรือนทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง มักแตกกิ่งก้านบริเวณโคนต้น จำนวนของกิ่งที่แตกออกจากต้นมีประมาณ 5 กิ่งขึ้นไป โดยการแตกกิ่งจะทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและฉ่ำน้ำ ลำต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อมีอายุมากจะเป็นสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น ต้นอ่อนลำต้นจะเปราะและหักได้ง่าย เมื่อแก่แล้วจะแข็งและเหนียว มีเนื้อแข็งคล้ายไม้
ราก : เป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินคล้ายรากโสมเกาหลี รากแก้วมีความเหนียว ลักษณะของรากเป็นรูปกลมยาวปลายแหลมคดงอเล็กน้อยและมีรากฝอยมาก ส่วนเปลือกของรากเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล เนื้อในรากนิ่มเป็นสีขาวนวล เมื่อขูดที่ผิวของรากสักครู่จะพบว่าบริเวณที่ขูดเป็นสีแดง รากแก้วจะมีความเหนียว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เมื่อรากโตเต็มที่จะมีรูปร่างคล้ายโสมเกาหลีหรือโสมจีน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลมสั้น โคนใบสอบหรือเรียวแคบเล็กลงจนถึงก้านใบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเรียบเป็นมันทั้งสองด้านและไม่มีขน หลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบ เนื้อใบหนาและนิ่ม เส้นใบสานกันเป็นร่างแห น้ำยางที่ใบมีสีและเหนียว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคันเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดหรือที่ปลายกิ่ง ก้านช่อตั้งขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีม่วงแดงอ่อน ดอกจะบานในช่วงที่มีแสง เวลาไม่มีแสงดอกจะหุบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปกลมรี ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นสีม่วงแดงไม่มีกลิ่น กลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ หลุดร่วงได้ง่ายเป็นสีขาวใสห่อหุ้มดอกในขณะตูม โคนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม แกนกลางของกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม เป็นเส้นบางขึ้นไป ส่วนปลายกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะแหลม เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมีย มีสีเหลืองคล้ายเมล็ดถั่วประกบกัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นเส้นบางคล้ายกับด้ายและมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายแฉกจะแยกออกเป็น 3 แฉก และมีสีชมพูเหมือนสีของกลีบดอก รังไข่มีลักษณะกลม ภายในรังไข่มีออวุลเป็นเม็ดเล็กจำนวนมาก ส่วนละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กสีเหลือง หากมีความชุ่มชื้นเพียงพอจะออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมักมีแมลงและมดดำมาอาศัยอยู่
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผลมีขนาดเล็ก เมื่ออ่อนผลจะเป็นสีเขียวเรียบ เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองอ่อน สีแดงและจะเป็นสีเทาเข้ม เมื่อแก่จัดจะแตกทำให้เมล็ดฟุ้งกระจายตกลงบนพื้นดิน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ดประมาณ 50 – 60 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เมล็ดมีสีขาวตอนผลอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ผิวเมล็ดเรียบและมีลักษณะเปราะบาง

สรรพคุณของโสมไทย

  • สรรพคุณจากราก บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นยาแก้ศีรษะมีไข้ เป็นยาบำรุงปอดและทำให้ปอดชุ่มชื่น แก้ปัสสาวะขัด แก้ประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วยบำรุงม้าม เป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี
    – บรรเทาอาการอ่อนเพลียจากการทำงานหนัก แก้อาการไอ แก้ไอเป็นเลือด แก้ไอแห้ง แก้ปวดร้อนแห้ง ด้วยการนำรากสดหรือรากแห้งมาผสมกับรากทงฮวยและน้ำตาลกรวดแล้วนำมาตุ๋นกินกับไก่
    – แก้อาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ด้วยการนำรากแห้ง 35 กรัม มาตุ๋นกินกับปลาหมึกแห้ง 1 ตัว
    – ลดเหงื่อออกมากผิดปกติหรือเหงื่อออกไม่รู้ตัว ด้วยการนำรากแห้งประมาณ 60 กรัม มาตุ๋นกับกระเพาะหมูหนึ่งใบแล้วนำมากิน
    – เป็นยาบำรุงร่างกายหลังการฟื้นไข้ใหม่ ๆ ด้วยการนำรากแห้ง 30 กรัม รากโชยกึงป๊วก 30 กรัมและโหงวจี้ม่อท้อ 15 กรัม มาผสมกันต้มกับน้ำกิน
    – รักษาอาการไอเรื้อรังซึ่งเกิดจากปอด ด้วยการนำรากแห้งและหงู่ตั่วลักแห้งอย่างละประมาณ 30 กรัม เจียะเชียงท้อแห้ง 15 กรัม และแบะตง 10 กรัม มาผสมกันแล้วต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ท้องเสีย แก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากความเครียดหรือความกังวลที่มากเกินไป ด้วยการนำรากแห้งประมาณ 15 – 30 กรัม และผลพุทราจีน 15 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้ธาตุอ่อน แก้กระเพาะลำไส้ไม่มีเรี่ยวแรง แก้ถ่ายกะปริบกะปรอย ด้วยการนำรากแห้ง 30 กรัม และพุทราจีน 30 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำกิน
    – แก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ด้วยการนำรากสดกับรากกิมเอ็งสดอย่างละประมาณ 60 กรัม มาต้มกับน้ำกินวันละ 2 – 3 ครั้ง
  • สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาทาภายนอกแก้อาการอักเสบและลดอาการบวม
    – บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการนำเหง้ามาดองกับเหล้ากิน
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้บวมอักเสบมีหนอง ด้วยการนำใบสดกับน้ำตาลทรายแดงมาตำผสมกันให้ละเอียดจนเข้ากัน ใช้เป็นยาพอก
    – ช่วยขับน้ำนมสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร ด้วยการนำใบอ่อนมาผัดกินเป็นอาหาร

ประโยชน์ของโสมไทย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาผัดน้ำมันหอย ผัดแบบผักบุ้งไฟแดงหรือนำมาใช้ทำแกงเลียง แกงป่า แกงจืดและแกงแค ยอดใบอ่อนนำมาลวก ต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริกหรือใช้ผสมในแป้งทำขนมบัวลอย ขนมทองพับ ข้าวเกรียบปากหม้อและนำมาใช้แทนผักโขมสวนได้ ใช้ทำเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ

คุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย

คุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย ให้คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และ essential oils, สาร flavonoids, chromene และมีน้ำมันหอมระเหยอีกเล็กน้อย มีสารสำคัญอย่าง borneol, camphene, camphor, cineol, limonene, myrcene, pinene, pinostrobin, rubramine, thujene

ข้อควรระวังของโสมไทย

ผู้ที่เป็นโรคไต โรคเกาต์และโรคไขข้ออักเสบ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเพราะโสมไทยมีกรดออกซาลิกสูง

โสมไทย เป็นต้นที่มีวิตามินและแร่ธาตุมากมายในส่วนของรากและเหง้า ใบอ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู นอกจากนั้นยังมีดอกสีม่วงอ่อนดูสวยงามเหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นอย่างมาก เป็นต้นที่นิยมนำมาปรุงผสมเป็นยาสมุนไพรได้ โสมไทยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง บำรุงปอด บำรุงม้าม แก้ปัสสาวะขัดและอื่น ๆ อีกมากมาย ถือเป็นต้นที่น่าสนใจในการนำมาปลูกเอาไว้เพราะใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โสมคน”. หน้า 792-794.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมไทย”. หน้า 568.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โสมไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 ก.ย. 2014].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “โสมไทย”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2547 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [08 ก.ย. 2014].
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. “โสมคน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th. [08 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ

0
มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ
มะกล่ำต้น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นฝักแบนยาว เมล็ดค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน สีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีรสเมาเบื่อ
มะกล่ำต้น เมล็ดเป็นสีแดงเลือดนก ช่วยบำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิ
มะกล่ำต้น ไม้ยืนต้น ดอกสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นฝักแบนยาว เมล็ดค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน สีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีรสเมาเบื่อ

มะกล่ำต้น

มะกล่ำต้น (Red sandalwood tree) ค่อนข้างที่จะเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในประเทศไทยเพราะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีผลเป็นรูปฝักแถบแบนยาวซึ่งมีเมล็ดเป็นส่วนสำคัญในการนำมารับประทานและเป็นยาสมุนไพร มีรสเมาเบื่อและมีลักษณะเป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มะกล่ำต้นเป็นต้นไม้ที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะกล่ำต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenanthera pavonina L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Red sandalwood tree” “Sandalwood tree” “Bead tree” “Coralwood tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะแดง มะหัวแดง มะโหกแดง” คนทั่วไปเรียกว่า “มะกล่ำตาช้าง” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มะแค้ก หมากแค้ก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มะหล่าม” จังหวัดสตูลเรียกว่า “บนซี” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ไพ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หมากแค้ก มะแค้ก” คนเมืองเรียกว่า “มะแค้กตาหนู” ชาวม้งเรียกว่า “กัวตีมเบล้” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ซอรี่เหมาะ” ชาวขมุเรียกว่า “กล่องเคร็ด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ลิไพ ไพเงินก่ำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Adenanthera gersenii Scheff., Adenanthera polita Miq., Corallaria parvifolia Rumph.

ลักษณะของมะกล่ำต้น

มะกล่ำต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ผลัดใบระยะสั้น มักจะพบขึ้นตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง
ต้น : เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบไม่สมมาตรกัน ขอบใบเรียบมีประมาณ 8 – 16 คู่ เรียงสลับกัน แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียบเกลี้ยง ด้านหลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมเทา ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่า ก้านใบย่อยสั้น ไม่มีหูใบ ส่วนก้านใบหลักมีหูใบขนาดเล็กมากและหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อดอกแคบยาวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจะออกดอกตามซอกใบช่วงบนหรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง และจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมสีครีม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีขนอยู่ประปราย มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบแคบและปลายกลีบแหลมเชื่อมติดกันที่ฐานเป็นหลอด ก้านดอกสั้นเป็นทรงแคบ ส่วนปลายเป็นถ้วยตื้นแยกเป็น 5 กลีบ กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน อับเรณูมีต่อมอยู่ที่ปลาย ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนในช่วงเย็นคล้ายกลิ่นของดอกส้ม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : ออกผลเป็นฝักรูปแถบแบนยาว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ดและมีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน
เมล็ด : เมล็ดจะติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10 – 15 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม แข็งและผิวมัน เป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มักจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณของมะกล่ำต้น

  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาฝาดสมาน
    – บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้โรคปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ ด้วยการนำใบมาต้มกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้อาการปวดศีรษะ แก้อักเสบ ด้วยการนำเมล็ดมาฝนกับน้ำทา
    – แก้อาการจุกเสียด ด้วยการนำเมล็ดมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกิน
    – เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิตัวตืด ด้วยการนำเมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออกแล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับยาระบาย
    – แก้หนองใน ด้วยการนำเมล็ดมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกินเป็นยา
    – แก้แผลฝีหนอง ช่วยดับพิษฝี ดับพิษบาดแผล ด้วยการนำเมล็ดมาบดให้เป็นผงใช้โรยใส่แผล
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้
    – แก้ปวดศีรษะ ด้วยการนำเนื้อไม้ฝนกับน้ำทาขมับ
    – ทำให้อาเจียน ด้วยการนำเนื้อไม้ฝนกับน้ำกินกับน้ำอุ่น
    – เป็นยาแก้อาเจียน ด้วยการนำเนื้อไม้ต้มหรือฝนกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ร้อนใน ช่วยแก้อาเจียน เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ ช่วยแก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้อาการสะอึก ช่วยแก้ลมในท้อง ช่วยถอนพิษฝี
  • สรรพคุณจากเนื้อในเมล็ด ผสมกับยาอื่นเป็นยาระบาย
    – เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำเนื้อในเมล็ดมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นมัด กินเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ดและใบ เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก

ประโยชน์ของมะกล่ำต้น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสมันจึงใช้กินเป็นผักสดร่วมกับอาหารพวกลาบ ส้มตำ น้ำตกและอาหารประเภทที่มีรสจัด หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกและนำมาแกงได้ เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วกินเป็นอาหารว่างซึ่งจะมีรสมัน
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เมล็ดนำมาใช้ประดับตกแต่งเสื้อผ้าหรือตุ๊กตาได้ เนื้อไม้มะกล่ำต้นจะให้สีแดงที่ใช้สำหรับย้อมผ้าได้ เนื้อไม้ใช้ทำเสาบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำเรือและเกวียนได้
3. ใช้ในด้านเชื้อเพลิง ไม้มะกล่ำต้นนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือฟืน ซึ่งให้ความร้อนได้สูงถึง 5,191 แคลอรีต่อกรัม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม

จากข้อมูลจากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปี พ.ศ. 2537 คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้
โปรตีน 0.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม 
ไขมัน 1.51 กรัม
ใยอาหาร 1.7 กรัม
วิตามินเอ 6,155 หน่วยสากล
วิตามินบี3 37 มิลลิกรัม

มะกล่ำต้น เป็นต้นที่มีใบและเนื้อไม้รสฝาดเฝื่อน รากมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น เมล็ดมีรสเฝื่อนเมาและเนื้อในเมล็ดมีรสเมาเบื่อ ซึ่งแต่ละส่วนจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแตกต่างกัน นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้หลากหลายแบบ มะกล่ำต้นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ด ใบและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง แก้ฝี ขับพยาธิและแก้โรคปวดข้อได้ ค่อนข้างที่จะมีประโยชน์ในการรักษาอาการพื้นฐานภายนอกและแก้อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เป็นอย่างดี

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะกล่ำต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 พ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะกล่ำต้น (Ma Klam Ton)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 210.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกล่ำตาช้าง Red Sandalwood tree”. หน้า 36.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะกล่ำต้น”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 144.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Red sandalwood tree,Coralwood tree, Sandalwood tree, Bead tree”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [14 พ.ค. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไพ, มะกล่ำตาไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [14 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

แพงพวยน้ำ ไม้น้ำประดับในอ่างปลา อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร เป็นยามากสรรพคุณ

0
แพงพวยน้ำ ไม้น้ำประดับในอ่างปลา อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร เป็นยามากสรรพคุณ
แพงพวยน้ำ เป็นผักที่ขึ้นในน้ำมีรากแก้วเป็นฝอย ดอกเป็นสีขาวตรงกลางสีเหลืองอ่อน
แพงพวยน้ำ ไม้น้ำประดับในอ่างปลา อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร เป็นยามากสรรพคุณ
แพงพวยน้ำ เป็นผักที่ขึ้นในน้ำมีรากแก้วเป็นฝอย ดอกเป็นสีขาวตรงกลางสีเหลืองอ่อน

แพงพวยน้ำ

แพงพวยน้ำ (Water primrose) เป็นผักที่พบอยู่ในน้ำได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัวทำให้สามารถลอยน้ำได้ มีดอกเป็นสีขาวและใจกลางของดอกเป็นสีเหลืองอ่อนดูสวยงามมากจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในอ่างปลา นอกจากนั้นยังนำใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริก ทั้งต้นมีรสจืดและเป็นยาเย็นจึงนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ทว่าก่อนที่จะนำมาทำเป็นยาหรือรับประทานนั้นก็ต้องดูแหล่งน้ำของผักชนิดนี้ที่ไปเก็บมาด้วย หากน้ำมีการปนเปื้อนก็อาจจะเป็นอันตรายแทนได้ ซึ่งหนองน้ำในประเทศไทยนั้นมักจะไม่มีการบำบัดที่เหมาะสมและยังมีการเทสารพิษจากโรงงานมากมายอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแพงพวยน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ludwigia adscendens (L.) H.Hara
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sunrose willow” “Periwikle” “Creeping water primrose” “Water primrose”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักแพงพวย ผักพังพวย ผักแพงพวยน้ำ พังพวย ผักปอดน้ำ” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ก้วย ชื่อเผื่อเข่า จุ่ยเล้ง นั่งจั้ว ปี่แป่ฉ่าย” จีนกลางเรียกว่า “กั้วถังเสอ สุ่ยหลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พญารากดำ (ONAGRACEAE)
ชื่อพ้อง : Jussiaea repens L.

ลักษณะของแพงพวยน้ำ

แพงพวยน้ำ เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักจะพบบนดินโคลนตามข้างทาง ทุ่งนาหรือตามห้วย หนอง คลองบึง
ลำต้น : มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำหรือบนดินเหลว ลำต้นไม่มีขนปกคลุมและเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดงเล็กน้อย ลักษณะอวบน้ำ เป็นรูปกลม เป็นข้อปุ่ม ตามข้อของลำต้นจะมีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัวทำให้สามารถลอยน้ำได้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือกลมมน โคนใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ หน้าใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวโดยจะออกตามง่ามใบ ดอกเป็นสีขาว ใจกลางของดอกเป็นสีเหลืองอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ตั้งชูออกจากข้อ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบห่อหุ้มอยู่ มีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน เพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ 5 อัน อยู่ส่วนล่างของเกสร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวแบบทรงกระบอกหรือเป็นรูปหลอดยาวคล้ายเทียนนา
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมีรูปร่างไม่แน่นอนและเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล

สรรพคุณของแพงพวยน้ำ

  • สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยขับน้ำชื้น ช่วยแก้บิด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคงูสวัด
    – เป็นยาแก้ร้อนในและกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการท้องผูก ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการนำต้นสดมาตำคั้นเอาน้ำ 60 – 120 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าแล้วอุ่นใช้กินเป็นยา
    – แก้ไข้หวัดตัวร้อน แก้ไอแห้ง ด้วยการนำทั้งต้น 30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำทั้งต้น 60 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – ช่วยแก้โรคหนองใน แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการนำต้นสด 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม มาต้มรวมกันใช้กินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
    – ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับชะเอมเทศ จุยฮ่วยเฮีย จุยเจ่ากับและหกเหล็งอย่างละ 15 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำกิน
    – ช่วยแก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา ด้วยการนำต้นสด 1 กำมือ มาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้ากิน
    – แก้กลากน้ำนม แก้แผลหกล้ม แก้แผลเน่าเปื่อยและแผลอักเสบอื่น ๆ ช่วยแก้ฝีหนองภายนอกบริเวณผิวหนัง แก้ฝีหัวดาวหัวเดือน แก้เด็กเป็นฝีมีหัวกลัดหนองและยังไม่แตก แก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำต้นสดมาตำพอกบริเวณแผล
    – ช่วยแก้พิษงูกัด แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้สุนัขบ้ากัด ด้วยการนำต้นสดล้างให้สะอาด 1 – 2 กำมือ มาตำคั้นเอาแต่น้ำกิน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณแผล
    – ช่วยแก้ผดผื่นคัน แก้ออกหัด แก้อาการมีไข้ตัวร้อน แก้ไข้ไม่ลด ด้วยการนำต้นสด 60 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำ นำไปนึ่งก่อนกิน
  • สรรพคุณจากยอด
    – แก้ร้อนใน ด้วยการนำยอดมาตำให้ละเอียดใช้โปะกระหม่อมเด็กเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษร้อน
    – ดับพิษปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก

แพงพวยน้ำที่ดีในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร

1. ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10 – 35 กรัม มาต้มกับน้ำกิน ยาแห้งที่ดีควรมีลักษณะของลำต้นยาวและอวบอ้วน มีความกว้างประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร สีออกน้ำตาลแดง มีรอยย่นทั้งตามยาวและตามขวาง มีเนื้อนิ่ม ตามใต้ข้อมีรากแห้งเป็นฝอยสีดำคล้ายเส้นผม กลีบมันร่วงง่ายและมักร่วงหายหมดไป ยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 – 70 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำกินหรือใช้ตำพอกแผลภายนอก
2. ควรเก็บในช่วงกำลังออกดอกและลำต้นงอกงามแล้วนำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้งเก็บเอาไว้ใช้หรือจะใช้แบบสด
3. ไม่ว่าจะนำมาทานหรือใช้เป็นยาต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีพิษและสะอาด ไม่ว่าแหล่งน้ำนั้นจะเป็นอย่างไรก่อนนำมาทานต้องล้างให้สะอาดด้วยการแช่น้ำด่างทับทิม

ประโยชน์ของแพงพวยน้ำ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและลำต้นอ่อนนำมาลวกให้สุกแล้วนำมาทำยำ จิ้มกินกับน้ำพริกหรือใช้ประกอบอาหารอย่างแกงส้มได้
2. เป็นยารักษาของสัตว์ ชาวบ้านจะนำลำต้นผสมกับกะปิ เติมน้ำเล็กน้อยแล้วนำไปให้วัวควายกินเป็นยารักษาโรคปากเปื่อยและเท้าเปื่อย
3. ปลูกเป็นไม้น้ำประดับ ปลูกทั่วไปตามแหล่งน้ำ ปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลา

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้
น้ำ  87%
โปรตีน 3.3 กรัม
ไขมัน 4.8 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม
ใยอาหาร 3.3 กรัม
เถ้า 1 กรัม
วิตามินเอ 9,875 หน่วยสากล
วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 2.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
แคลเซียม 57 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 300 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำ

สารที่พบจากทั้งต้นของแพงพวยน้ำ พบสารที่มีปฏิกิริยาทางเคมีจำพวก Flavonoid glycoside, Pinenols, Amino acid, Glucoline เป็นต้น

แพงพวยน้ำ เป็นพืชน้ำที่มีประโยชน์ได้หลากหลายและมีดอกสีขาวชวนให้น่ามอง สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักและเป็นยาสมุนไพรได้ ที่สำคัญนอกจากจะเป็นยาแล้วยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วยโดยเฉพาะวิตามินเอ แพงพวยน้ำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้โรคหนองในและอาการภายนอกทั่วไป เป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าที่เห็นจากภายนอก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แพงพวยน้ํา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 402.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแพงพวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [08 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “แพงพวยน้ํา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [08 พ.ค. 2014].
พรรณไม้น้ำ, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “แพงพวยน้ำ ผักแพง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/suphansa/home.htm. [08 พ.ค. 2014].
หนังสือรายชื่อวัชพืชที่มีรายงานในประเทศไทย. “แพงพวย”. (ธวัชชัยรัตน์ชเลศ และเจมส์ เอฟ แมกซ์เวล).
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แพงพวยน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [08 พ.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 6 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “พังพวย”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ของประเทศจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [08 พ.ค. 2014].
หนังสือ ผัก-ผลไม้ ต้านโรค. “แพงพวย”.
เทศบาลเมืองทุ่งสง. “แพงพวย (น้ำ)” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [08 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

มหาหงส์ เหง้าเป็นยาและน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงกำลังและบำรุงไตได้

0
มหาหงส์ หรือว่านมหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมในตอนเช้า ผลเป็นรูปทรงกลม
มหาหงส์ เหง้าเป็นยาและน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงกำลังและบำรุงไตได้
มหาหงส์ หรือว่านมหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมในตอนเช้า ผลเป็นรูปทรงกลม

มหาหงส์

มหาหงส์ (Butterfly lily) หรือว่านมหาหงส์ เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะหรือริมลำธาร มีดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมมากในช่วงเช้าทำให้นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นอยู่ที่น้ำมันจากเหง้าสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้เรียกว่า “น้ำมันมหาหงส์” คนส่วนใหญ่นั้นจะไม่ค่อยนิยมนำมารับประทานนักแต่คนเหนือจะนำหน่ออ่อนมาลวกรับประทานกับน้ำพริก และที่สำคัญมหาหงส์ยังเป็นส่วนประกอบในตำรายาสมุนไพรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมหาหงส์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium coronarium J.Koenig
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Butterfly lily” “Garland flower” “Ginger lily” “White ginger”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระทายเหิน หางหงส์” ภาคเหนือเรียกว่า “ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ” ภาคอีสานเรียกว่า “ว่านกระชายเห็น สะเลเต” จังหวัดระยองและจันทบุรีเรียกว่า “เลเป ลันเต” คนเมืองและชาวไทลื้อเรียกว่า “ตาเหิน” ชาวไทใหญ่เรียกว่า “เฮวคำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของมหาหงส์

มหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินอายุหลายปี มักจะพบตามพื้นที่ชื้นแฉะหรือตามชายป่าใกล้ลำธาร
เหง้า : เหง้าเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนกันแน่น ลักษณะกลมและเป็นสีเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีใบประมาณ 7 – 12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นกลางใบเห็นได้ชัดจากด้านหลังใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มโดยเฉพาะเส้นกลางใบ แผ่นใบมักงอตัวลงไปด้านหลัง ส่วนก้านใบสั้นเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ลิ้นใบเป็นเนื้อเยื่อบางสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดของลำต้นเทียม มีใบประดับใหญ่เป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกัน ลักษณะของใบประดับเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเกลี้ยงและเป็นสีขาว ใบประดับย่อยเป็นรูปหอก ปลายมนและผิวเกลี้ยง ขอบพับเข้าหากัน ตรงกลางเป็นสัน แต่ละอันจะซ้อนเหลื่อมกัน ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม โดยจะออกตามซอกใบประดับประมาณ 1 – 5 ดอก มีกลีบดอกเป็นรูปแถบแคบ ปลายมนเป็นสีขาว กลีบปากเป็นรูปไข่เกือบกลม ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ เป็นสีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนเป็นสีเหลือง สีขาวหรือสีนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกตื้น 3 แฉกและแฉกลึก 1 แฉก ปลายกลีบเป็นสีขาวแกมสีเขียว ส่วนโคนเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปวงรีหรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมนสีขาว อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 ก้าน มีรังไข่เป็นรูปขอบขนานและผิวเรียบ มี 3 ห้อง ส่วนยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเกือบกลม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ผล : เป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้เป็นพู 3 พู

สรรพคุณของมหาหงส์

สรรพคุณจากเหง้า ช่วยขับลม ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย
– บำรุงกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาแก้กษัย ช่วยบำรุงไต โดยตำรายาไทยนำเหง้าแห้งมาบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น
– แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ช่วยแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำเหง้ามาต้มเป็นยา
– แก้อาการลมชักหรือใช้ทาตุ่มผื่นลมพิษ โดยคนเมืองนำเหง้าใต้ดินมาต้มกับน้ำดื่ม
– รักษาแผลฟกช้ำและแผลบวม ด้วยการนำเหง้ามาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา

ประโยชน์ของมหาหงส์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ภาคเหนือนำหน่ออ่อนลวกรับประทานกับน้ำพริก
2. เป็นความเชื่อ ชาวไทใหญ่นำดอกมหาหงส์บูชาพระ มีความเชื่อว่าเป็นยาทำเสน่ห์ เชื่อว่าเป็นสิริมงคลให้แก่สถานที่ปลูก เป็นว่านให้ลาภแก่ผู้ปลูก
3. สารสกัดน้ำมันหอมระเหย น้ำมันจากเหง้าสดสามารถนำมาใช้ฆ่าแมลงได้ น้ำมันหอมระเหยใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหอมและใช้ในวงการสปาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นส่วนผสมในครีม โลชัน โคโลญจน์ สบู่ ครีมอาบน้ำหรือโคลนหมักตัว
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. ป้องกันยุง ป้องกันการกัดของยุงรำคาญ 5.8 ชั่วโมง ยุงก้นปล่อง 7.1 ชั่วโมง และยุงลายสวนได้ 7.5 ชั่วโมง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมหาหงส์

สารจากน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเหง้า มีลักษณะเป็นของเหลวใส มีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว โดยประกอบไปด้วย beta – pinene, borneol, d – limonene, linalool

มหาหงส์ เป็นต้นที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่เหง้าใต้ดินซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในการนำมาใช้ประโยชน์ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้และใช้ทำน้ำหอม รวมถึงใช้ในการฆ่าแมลงและป้องกันยุงได้ มหาหงส์มีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนของเหง้าใต้ดินโดยเฉพาะ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยขับลม บำรุงกำลัง บำรุงไตและแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ถือว่าเป็นต้นที่น่าสนใจในการปลูกประดับไว้เพราะมีประโยชน์ทั้งการให้ความงาม ให้สรรพคุณทางยา ให้ความหอมและเป็นความเชื่อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [11 พ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มหาหงส์ (Maha Hong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 208.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 367 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ว่านมหาหงส์”. (ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [11 พ.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “มหาหงส์”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [11 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Butterfly lily”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 พ.ค. 2014].
กรุ่นกลิ่นดอกไม้ในโคราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nrru.ac.th/web/plant_flower/. [11 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

หัสคุณ เป็นยารสเผ็ดร้อน แก้ไข้ แก้ลม แก้ไอและดีต่อระบบเลือด

0
หัสคุณ เป็นยารสเผ็ดร้อน ช่วยแก้ไข้ แก้ลม แก้ไอและดีต่อระบบเลือด
หัสคุณ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร ดอกอ่อนมีรสหวานมัน ผลเป็นรูปกระสวยสีเขียวอ่อนและมีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้มหรือสีแดงรสเปรี้ยว
หัสคุณ เป็นยารสเผ็ดร้อน ช่วยแก้ไข้ แก้ลม แก้ไอและดีต่อระบบเลือด
หัสคุณ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร ดอกอ่อนมีรสหวานมัน ผลเป็นรูปกระสวยสีเขียวอ่อนและมีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้มหรือสีแดงรสเปรี้ยว

หัสคุณ

หัสคุณ (Lime Berry) เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบตามป่าทั่วไป มีจุดเด่นอยู่ที่ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูรและมีรสหอมร้อน นอกจากนั้นส่วนของราก เปลือกต้นและกระพี้ก็มีรสร้อนเช่นกัน ดังนั้นทุกส่วนของต้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ แต่ว่าส่วนของดอกอ่อนมีรสหวานมันจึงนำมาใช้รับประทานหรือเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหาร หัสคุณถือเป็นต้นที่มากประโยชน์และยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหัสคุณ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micromelum minutum Wight & Arn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lime Berry”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กาจับลัก จี้ปุกตัวผู้ จี้ย้อย มองคอง หญ้าสาบฮิ้น” ภาคใต้เรียกว่า “หมุย สมุย หัสคุณ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “คอมขน สามโซก” จังหวัดลำปางเรียกว่า “หวด” จังหวัดเลยเรียกว่า “เพี้ยฟานดง สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “หัสคุณ” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “ฉี้ ลิ้นชี่ สาบแร้งสาบกา” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “หมอน้อย” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ดอกสะมัด สะแบก” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ชะมุย” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “มุยขาว” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “หมุยขน” จังหวัดยะลาเรียกว่า “กะม่วง สมุยช้าง หมุยช้าง” จังหวัดตรังเรียกว่า “มรุยช้าง” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “สมุย” จังหวัดกระบี่เรียกว่า “หมรุย หมุยใหญ่” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “สมัด สมัดน้อย สหัสคุณ หัสคุณไทย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ชื่อพ้อง : Glycosmis subvelutina F.Muell.

ลักษณะของหัสคุณ

หัสคุณ เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มักจะพบตามป่าดงดิบเขา ตามลำธาร ตามป่าโปร่งทุ่งร้างทั่วไป
ต้น : ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทา ต้นเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 7 – 15 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันขนาดเล็กจับดูแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบมีขนสั้น ท้องใบมีขนบาง ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูรและมีรสหอมร้อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลังเล็กน้อย
ผล : เป็นผลสดออกเป็นพวงโต ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลเรียบใสและฉ่ำน้ำ มีสีเขียวอ่อนและมีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง

สรรพคุณของหัสคุณ

  • สรรพคุณจากหัสคุณ เป็นยาแก้เสมหะและลมทั้งปวง เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาขับลมในท้อง แก้ผอมแห้ง แก้หืดไอ แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือด ขับหนองให้ตก
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ (น้ำหนองหรือน้ำเหลือง) เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้โรคหอบหืด เป็นยาแก้ลม เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาขับเลือดและหนอง เป็นยาพอกแผลริดสีดวงจมูกและแผลคุดทะราด
    – รักษานิ่วในไต โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากผสมกับรากปลาไหลเผือกแล้วฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้อันผอมเหลือง เป็นยาแก้ไอ เป็นยาแก้หืดไอ ช่วยแก้ลมอันเสียดแทง ช่วยขับลมและยอกในข้อ
    – เป็นยาทาแก้คัน แก้ผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์และอัมพาต ด้วยการนำใบมาตำหรือนำมาพอกประคบหรืออบไอน้ำ
  • สรรพคุณจากต้น เป็นยาแก้ไอ ช่วยแก้ลมภายในให้กระจาย เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลเรื้อรัง
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยแก้โลหิตในลำคอและลำไส้ให้กระจาย
  • สรรพคุณจากใบและเปลือก เป็นยารมรักษาริดสีดวงจมูก
  • สรรพคุณจากกระพี้ เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงน้ำดี

ประโยชน์ของหัสคุณ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดและดอกนำมาทานเป็นผักสดและนำมากินกับแกงไตปลาน้ำพริกและขนมจีนได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหัสคุณ

จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารสกัดจากต้นหัสคุณมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบได้

หัสคุณ เป็นต้นที่มีฤทธิ์รสเผ็ดร้อนทำให้มีสรรพคุณทางยาได้มากมายจากทั้งต้น และยังมีใบกลิ่นหอมอีกด้วย เป็นต้นที่ทางตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยนำมาใช้ในการรักษา นอกจากนั้นยังนำมากินได้เช่นกัน ถือเป็นต้นที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายมาก หัสคุณมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ลม รักษานิ่วในไต บำรุงน้ำดีและเป็นต้นที่ดีต่อระบบเลือดในร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นใครที่มีปัญหาในเรื่องของการไหลเวียนเลือดนั้น หัสคุณก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและอาจช่วยส่งเสริมควบคู่ไปกับยาแพทย์สมัยใหม่ก็เป็นได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หัสคุณ”. หน้า 153.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สมัดน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [26 ก.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หัสคุณไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [26 ก.ย. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “หมรุยมัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [26 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้

0
กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้
กระดูกไก่ หรือหอมไก๋ ลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ นำมาขยี้มีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม และสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้
กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้
กระดูกไก่ หรือหอมไก๋ ลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ นำมาขยี้มีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม และสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้

กระดูกไก่

กระดูกไก่ (Chloranthus erectus) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “หอมไก๋” เป็นต้นที่มีลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ จึงเป็นที่มาของชื่อต้น ทั้งนี้ลำต้นจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรอีกด้วยเมื่อนำมาขยี้ และมีรสค่อนข้างขมพอสมควร มักจะพบได้ทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของใบอ่อนจะนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและชาวกาลิมันตัน ส่วนคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยนิยมนำมาใช้กันมากนัก กระดูกไก่ยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระดูกไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloranthus erectus (Buch. – Ham.) Verdc.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หอมไก่” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “หอมไก๋” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “เกตเมือง ฝอยฝา” จังหวัดตรังเรียกว่า “ชะพลูป่า” ชาวมาเลเซียเรียกว่า “เกอรัส ตูรัง” ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า “บาเรา บาเรา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดูกไก่ (CHLORANTHACEAE)

ลักษณะของกระดูกไก่

กระดูกไก่ เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน พบได้ทั่วไปตั้งแต่เนปาล ยูนนาน หมู่เกาะอันดามันไปจนถึงเกาะนิวกินี มักจะพบได้ทั่วไปตามบริเวณริมน้ำหรือดินที่ค่อนข้างแฉะชื้นและมักพบได้ทั่วไปในป่าที่ราบต่ำ พบได้มากที่สุดทางภาคเหนือ
ลำต้น : ลำต้นมีข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรและมีรสค่อนข้างขม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบดูเหมือนเรียบแต่จะมีหยักเป็นฟันเลื่อยแบบตื้น แผ่นใบบางเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ใบมีน้ำมันหอมระเหยและกรดคูมาริก
ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งติดก้านช่อดอก แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวติดเป็นก้อนกลมตามก้านช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกหรือกลีบรองดอกแต่จะมีใบประดับและเกสรเพศผู้สีขาวซึ่งจะออกเรียงกันอยู่ข้างในและมีอับเรณู 4 พู มีรังไข่ 1 ช่อง เชื่อมติดกันอยู่โคนใบประดับ มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลสดสีขาวฉ่ำน้ำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง

สรรพคุณของกระดูกไก่

  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้ไข้เรื้อรัง โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็นแล้วต้มกับน้ำดื่มต่างชาเป็นยา
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    แก้ไข้ เป็นยาขับเหงื่อ แก้กามโรค ด้วยการนำรากและใบชงเป็นชาดื่ม
  • สรรพคุณจากกิ่ง
    – รักษามาลาเรีย โดยชาวไทยภูเขานำกิ่งมาต้มเป็นยา
    – ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยชาวกาลิมันตันนำกิ่งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ผิดเดือนและผิดสาบ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากหนาดคำและรากหนาดมาฝนกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – เป็นยากระตุ้น ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับเปลือกอบเชยกินเป็นยา

ประโยชน์ของกระดูกไก่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนนำมากินเป็นผักร่วมกับลาบได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ทำสีย้อมผ้าโดยจะให้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมและปลูกเลี้ยงง่าย

กระดูกไก่ เป็นต้นที่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้านและชาวเขาเป็นอย่างมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าได้อีกด้วย และส่วนของดอกมีกลิ่นหอมชวนให้น่าชม แต่ที่สำคัญเลยก็คือกระดูกไก่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านมากมาย กระดูกไก่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะกิ่ง รากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ รักษามาลาเรีย รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติและระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระดูกไก่”. หน้า 17-18.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระดูกไก่”. หน้า 67.
หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ. (เกรียงไกร และคณะ). “กระดูกไก่”.
หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16 พืชที่ให้สารกระตุ้น. (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ). “กระดูกไก่”.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

หนาดคำ ไม้ล้มลุกของทางเหนือ ต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยง

0
หนาดคำ ไม้ล้มลุกของทางเหนือ ต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยง
หนาดคำ มีดอกสีเหลืองทองเป็นกระจุกเล็ก มีขนเหนียวติดมือ ผลมีขนยาวสีเทา
หนาดคำ ไม้ล้มลุกของทางเหนือ ต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยง
หนาดคำ มีดอกสีเหลืองทองเป็นกระจุกเล็ก มีขนเหนียวติดมือ ผลมีขนยาวสีเทา

หนาดคำ

หนาดคำ (Inula cappa) เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่มีดอกสีเหลืองทองเป็นกระจุกเล็ก สามารถพบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนมากมักจะพบตามทุ่งหญ้า เป็นอาหารของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและสัตว์เคี้ยวเอื้อง จากภายนอกดูเหมือนจะไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้มากนักแต่ต้นหนาดคำนั้นกลับมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้มากกว่าที่คิด ซึ่งชาวเขาเผ่าแม้ว ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ตำรายาไทยและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนล้วนนำหนาดคำมาใช้เป็นยาทั้งนั้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหนาดคำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Inula cappa (Buch.-Ham. ex D.Don) DC.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เขืองแพงม้า หนาดดอย” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “พอปัวล่ะ ห่อเปรื่อะ ห่อเผื่อะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เพาะปกาล่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของหนาดคำ

หนาดคำ เป็นไม้ล้มลุกอายุได้หลายปี มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มักจะพบตามที่เปิด ทุ่งหญ้าและป่าโปร่ง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง โคนเนื้อค่อนข้างแข็ง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนสีเทาแกมเหลืองปกคลุมหนาแน่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ มีขนเหนียวติดมือที่ผิวด้านหลังใบ ท้องใบมีขนละเอียดยาวเป็นมันสีเงินแกมเทา
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกมาก ดอกย่อยไม่มีก้านหรือมีก้านสั้น กลีบดอกเป็นสีเหลืองทอง มีชั้นใบประดับ มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : เป็นผลแห้งและไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ผลมีขนยาวสีเทา

สรรพคุณของหนาดคำ

  • สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้เป็นยาแก้นิ่วและขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
    – บำรุงกำลังและแก้อาการอ่อนเพลีย โดยชาวเขาเผ่าแม้วนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้แพ้อาหาร โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากมาฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
    – แก้ท้องร่วงและช่วยให้คลอดบุตรง่ายขึ้น ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – รักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ แก้ผิดเดือนและผิดสาบ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากกระดูกไก่และรากหนาด (Inula polygonata DC.) ทำการฝนกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ผื่นคัน ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยย่อยอาหาร โดยตำรายาพื้นบ้านนำใบมาต้มกับน้ำกิน
    – รักษาแผลสด แผลถลอกและใช้ห้ามเลือด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกหรือคั้นเอาน้ำทา
    – ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการนำใบมาย่างไฟแล้วนำมาพันขา
    – แก้อาการเคล็ดและปวดบวม ด้วยการนำใบมาอังไฟใช้ประคบบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากต้น
    – แก้อาการลมผิดเดือน โดยชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากดอกและเมล็ด น้ำมันหอมระเหยจากดอกและเมล็ดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและเชื้อที่ทำให้เกิดแผลพุพอง

ประโยชน์ของหนาดคำ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำยอดอ่อนมาลวกกินกับน้ำพริก
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง

หนาดคำ เป็นต้นเล็ก ๆ ที่มีประโยชน์ในการนำมาใช้มากมาย ถือเป็นต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เป็นอย่างมากเพราะเป็นต้นที่มักจะพบในทางภาคเหนือ ชาวเขาเผ่าแม้ว ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ตำรายาไทยและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำหนาดคำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน หนาดคำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้นิ่ว บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง บรรเทาอาการปวดและแก้ประจำเดือนผิดปกติ ถือเป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนาดคำ”. หน้า 130.
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. “หนาดคำ”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หนาดคำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [01 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

เมื่อย เปลือกใช้ทำอุปกรณ์ ลำต้นเป็นยา มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย

0
เมื่อย เปลือกใช้ทำอุปกรณ์ ลำต้นเป็นยา มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย
เมื่อย หรือมะเมื่อย เมล็ดเป็นรูปกระสวยสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง
เมื่อย เปลือกใช้ทำอุปกรณ์ ลำต้นเป็นยา มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย
เมื่อย หรือมะเมื่อย เมล็ดเป็นรูปกระสวยสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง

เมื่อย

เมื่อย (Gnetum montanum Markgr) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “มะเมื่อย” เป็นต้นที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรเนปาล มักจะพบได้ในป่าดงดิบทั่วไปและมีเมล็ดเป็นรูปกระสวยสีเขียวหรือสีแดงโดดเด่นอยู่บนต้น สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นอาหารหรือใช้ในการทำอุปกรณ์ได้ แต่ที่สำคัญเลยก็คือเป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาไทย ชาวเขาเผ่าอีก้อและตำรายาพื้นบ้านอีสานในการบำรุงและแก้อาการ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเมื่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum montanum Markgr.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะม่วย” จังหวัดเชียงรายและอุบลราชธานีเรียกว่า “ม่วย” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ม่วยขาว เมื่อยขาว” จังหวัดเลยเรียกว่า “แฮนม่วย” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “เถาเมื่อย” จังหวัดตราดเรียกว่า “เมื่อย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “แฮนเครือ มะเมื่อย ม่วยเครือ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ GNETACEAE

ลักษณะของมะเมื่อย

มะเมื่อย เป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรเนปาล มักจะพบขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง
เถา : เลื้อยพันไปตามต้นไม้ใหญ่
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก
เปลือกต้น : เปลือกนอกแตกเป็นสะเก็ด เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนดำ กิ่งเป็นข้อต่อกันและตามข้อพองบวม ลักษณะเป็นข้อปล้อง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่จนถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนาดแตกต่างกันมาก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบกลม มนหรือแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียว เมื่อแห้งจะเป็นสีออกดำ เส้นใบมีลักษณะโค้ง มีเส้นใบประมาณ 6 – 8 คู่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดที่ปลายยอดและตามลำต้น ช่อดอกแตกแขนงมากและมีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ช่อดอกแยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแต่อยู่บนต้นเดียว สร้างโคนหรือสตรอบิลัสออกเป็นช่อแกน มีลักษณะเป็นกลุ่ม โดยจะออกเรียงกันเป็นชั้นตามซอกใบ มีสีเขียวปนเหลือง โคนเพศผู้เป็นช่อเชิงลด แตกแขนง และออกตามลำต้นหรือปลายยอด โดยโคนย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายมน โคนมน มีสีเขียวและมีขนสั้นจำนวนมากและหนาแน่น แต่ละโคนมีชั้น 8 – 15 ชั้นและในแต่ละชั้นมีเกสรเพศผู้ 8 – 25 อันเรียงเป็นวงรอบข้อ เป็นสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ส่วนอับเรณูเป็นสีขาว มีก้านชูเกสรเพศผู้เป็นรูปทรงกระบอก ส่วนโคนเพศเมียแตกแขนง ในแต่ละโคนจะมีชั้น 6 – 14 ชั้น และในแต่ละชั้นจะมีเมล็ด 1 – 8 เมล็ด มีขนเล็กน้อย ช่วงการออกดอกเพศผู้คือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ส่วนช่วงการออกดอกเพศเมียและติดเมล็ดจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
ผลหรือเมล็ด : มีลักษณะเป็นรูปกระสวย โคนและปลายมน ผิวเกลี้ยง เมล็ดไม่มีผลห่อหุ้มแต่จะมีกลีบนุ่มคล้ายหนังหุ้มอยู่ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง ก้านเมล็ดสั้นและเกลี้ยง

สรรพคุณของมะเมื่อย

  • สรรพคุณจากลำต้น ทำให้จิตใจชุ่มชื่นและทำให้แข็งแรง
    – ช่วยในการอยู่ไฟของสตรี บำรุงร่างกายของสตรีหลังการคลอดบุตร โดยยาพื้นบ้านอีสานนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
    – แก้เมื่อยหรือทำให้เส้นเอ็นหย่อน โดยตำรายาไทยนำเถาหรือลำต้นเป็นยา
    – แก้ปวดเมื่อย โดยตำรับยาพื้นบ้านอีสานนำลำต้นผสมกับลำต้นของเถาเอ็นอ่อนแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยชาวเขาเผ่าอีก้อนำใบเมื่อยขาวมาต้มกับน้ำดื่ม
    – ล้างแผลสด ล้างแผลเปื่อยอักเสบ แก้ฝี แก้หนองและตุ่ม ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อชะล้าง
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้ไข้มาลาเรีย แก้พิษได้บางชนิด ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้บวมพอง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของมะเมื่อย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เมล็ดหรือผลนำมาทำให้สุกหรือต้มใช้ทานได้ ใบใช้รับประทานเป็นผัก เมล็ดให้น้ำมัน นำมาทานหรือใช้ทำไวน์ได้
2. ใช้ในการทำอุปกรณ์ เปลือกต้นมีความเหนียวมากจึงนำมาใช้ทำเชือก เส้นใยจากเปลือกนำมาใช้ทำกระสอบหรือแหจับปลา ชาวขมุและชาวเมี่ยนนำเครือมาทำสายหน้าไม้เพราะมีความเหนียวมาก

มะเมื่อย เป็นไม้ที่มีเปลือกเหนียวจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำอุปกรณ์ของชาวบ้านได้ และยังนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารได้ด้วย ถือเป็นต้นที่นิยมในหมู่ชาวเขาและชาวบ้านทั่วไป รวมถึงชาวขมุและชาวเมี่ยนด้วย มะเมื่อยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดเมื่อย แก้ไข้มาลาเรีย ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและช่วยบำรุงร่างกายได้ เป็นต้นที่ช่วยแก้อาการพื้นฐานทั่วไปโดยเฉพาะการบำรุงกำลังให้กับร่างกายและการแก้ปวดเมื่อยตัว

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “เมื่อย”. หน้า 127.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เมื่อย”. หน้า 119.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เมื่อยขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เมื่อยขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [27 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เมื่อย, มะเมื่อย”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพืชอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518. “วงศ์นีเทซีอี GNETACEAE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.narm.buu.ac.th/Forest/cites.php?. [27 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

มะหวด ผลรสหวานฉ่ำ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ซาง

0
มะหวด ผลรสหวานฉ่ำ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ซาง
มะหวด เป็นไม้พุ่มผลัดใบ ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองแดงและเป็นสีม่วงดำ
มะหวด ผลรสหวานฉ่ำ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ซาง
มะหวด เป็นไม้พุ่มผลัดใบ ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองแดงและเป็นสีม่วงดำ

มะหวด

มะหวด (Lepisanthes rubiginosa) เป็นพืชในวงศ์เงาะที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายจนน่าสับสนและแต่ละชื่อก็ค่อนข้างแปลก ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ส่วนของผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวานทำให้นำมารับประทานได้ เช่นเดียวกับส่วนของใบอ่อนที่นิยมนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ นอกจากนั้นมะหวดยังมีส่วนต่าง ๆ ของต้นที่สามารถนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะหวด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กำซำ กะซ่ำ มะหวด” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “มะหวดป่า หวดคา” ภาคเหนือเรียกว่า “สีฮอกน้อย หวดลาว” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและคนเมืองเรียกว่า “หวดเหล้า” ภาคตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “ชันรู มะหวดบาท มะหวดลิง” ภาคใต้เรียกว่า “กำจำ นำซำ มะจำ หมากจำ” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “หวดฆ่า หวดค่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “สีหวด” บางภาคเรียกว่า “สีหวดใหญ่” คนทั่วไปเรียกว่า “ซำ” ชาวม้งเรียกว่า “สือเก่าก๊ะ ยาตีนไก่” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “เดี๋ยงอายเปียว” ไทลื้อเรียกว่า “มะซ้าหวด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ชื่อพ้อง : Sapindus rubiginosus Roxb.

ลักษณะของมะหวด

มะหวด เป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและพื้นที่โล่งแจ้ง
ลำต้น : ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงเวียนสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3 – 6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นรอย ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว
ดอก : ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้งจากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีกลีบดอก 4 – 5 กลีบ เป็นสีขาวและโคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด มีสันนูน 2 สัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรเพศเมียยาวและไม่มีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบจะเล็กกว่ากลีบในและมีขนที่ด้านนอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปวงรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยงและมีพู 2 พู เปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงและจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด เนื้อผลฉ่ำน้ำมีรสหวานใช้รับประทานได้ มักจะติดผลช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงวงรีแกมรูปขอบขนาน

สรรพคุณของมะหวด

  • สรรพคุณจากผล บำรุงกำลัง ช่วยแก้ท้องร่วง
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ ช่วยแก้บิด ช่วยสมานแผล
  • สรรพคุณจากราก ช่วยแก้วัณโรค ช่วยแก้พิษร้อน เป็นยาขับพยาธิ ช่วยแก้พิษฝีภายใน ช่วยแก้กระษัยเส้น
    – แก้เบื่อเมา แก้อาการปวดท้อง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้ไข้ ด้วยการนำรากฝนกับเหล้าขาวแล้วนำมาพอกศีรษะ
    – รักษาโรคผิวหนังหรือผิวหนังเป็นผื่นคัน ด้วยการนำรากมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากรากและใบ ช่วยรักษาอาการไข้
    – แก้ซาง ด้วยการนำรากหรือใบผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
    – แก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก ด้วยการนำเมล็ดมาต้มกับน้ำให้เด็กรับประทานเป็นยา

ประโยชน์ของมะหวด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดด้วยการนำมาต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่างและชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้นำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำไม้ฟืนหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้

มะหวด มีผลรสหวานและมีเนื้อฉ่ำน้ำจึงสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ และยังนำใบอ่อนมาทานเป็นผักได้ ทว่าส่วนที่สำคัญเลยก็คือส่วนต่าง ๆ ของต้นนั้นคือยาสมุนไพรชั้นดีชนิดหนึ่งที่ควรนำมาใช้ประโยชน์ได้ มะหวดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ซาง แก้ปวดหัว แก้ไข้ บำรุงกำลังและช่วยแก้ท้องร่วงได้ เป็นยาที่ดีต่อเด็กที่เป็นโรคซางหรือเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึม ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดขึ้นในปากและคอได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะหวด (Ma Huat)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 239.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “มะหวด”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 125.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะหวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 พ.ค. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “มะหวด”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะหวด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 พ.ค. 2014].
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “มะหวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/. [19 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/