ผักกระเฉด
ผักกระเฉด (Water mimosa) เป็น ผักที่มีรสชาติอร่อยเมื่อนำมาปรุงและผัดน้ำมันหอยหรือเมนูยอดฮิตที่ชื่อว่า “ผัดผักกระเฉดไฟแดง” เป็นผักที่ใช้ปรุงในเมนูอาหารไทยได้หลากหลายชนิด ขึ้นชื่อว่าผักที่เป็นพืชสีเขียวแล้วย่อมอุดมไปด้วยสารอาหารและประโยชน์มากมาย ผักกระเฉดเองก็มีสรรพคุณทางยาได้เช่นกัน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกระเฉด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neptunia oleracea Lour.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water mimosa”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักกระเฉด ผักรู้นอน” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหนอง” ภาคใต้เรียกว่า “ผักฉีด” ภาคอีสาน จังหวัดยโสธรและอุดรธานีเรียกว่า “ผักกระเสดน้ำ” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักหละหนอง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของผักกระเฉด
ผักกระเฉด เป็นพืชที่เกิดตามผิวน้ำ ลำต้นเป็นเถากลม เนื้อนิ่ม
ใบ : เป็นใบประกอบคล้ายใบกระถิน ตัวใบจะหุบลงในเวลากลางคืน จึงเรียกว่า “ผักรู้นอน” ระหว่างข้อมีปล้องเป็นฟองสีขาวไว้หุ้มลำต้น เรียกว่า “นมผักกระเฉด” เป็นตัวช่วยพยุงให้ผักกระเฉดลอยน้ำได้และช่วยดึงไนโตรเจนจากอากาศไปเลี้ยงยอด
ราก : รากงอกออกมาตามข้อ เรียกว่า “หนวด”
ดอก : ดอกจะเป็นช่อเล็ก ๆ สีเหลือง
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้งงอเล็กน้อยและแบน
เมล็ด : มีเมล็ดประมาณ 4 – 10 เมล็ด
สรรพคุณของผักกระเฉด
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย บำรุงร่างกายและดับพิษร้อน เสริมสร้างกระบวนการเผาผลาญสารอาหารให้นำมาสร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้ สำหรับคนธาตุไฟและธาตุดินจะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความสมดุลและไม่เจ็บป่วย
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ แก้อาการปวดศีรษะ แก้พิษไข้ ขับเสมหะ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ถอนพิษยาเบื่อยาเมา
- สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา เสริมสร้างฟันให้แข็งแรง
– บรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผักกระเฉดมาตำผสมกับเหล้า แล้วหยอดในบริเวณที่มีอาการปวด - สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ขับลมในกระเพาะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษากามโรค ป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบ
- สรรพคุณด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
ประโยชน์ของผักกระเฉด
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประกอบในเมนู เช่น ยำวุ้นเส้นผักกระเฉด ผัดหมี่กระเฉด ผัดผักกระเฉดไฟแดง ผักกระเฉดผัดน้ำมันหอย หรือจะใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริก หรือถ้าจะให้ดีเมื่อลวกเสร็จแล้วให้ตักผักใส่น้ำเย็นจัดทันที จะทำให้ผักกระเฉดกรอบอร่อยและน่ารับประทานมากขึ้น หรือจะใช้น้ำแข็งมาโปะก็ได้เช่นกัน
เคล็ดลับ
– การเลือกซื้อผักกระเฉดควรเลือกซื้อผักที่มียอดอ่อน เพราะจะมีความกรอบและอร่อยมากกว่าผักกระเฉดแก่
– เคล็ดลับในการลวกผักง่าย ๆ ตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่เกลือด้วยเล็กน้อย อย่าลวกนานเพราะจะทำให้ผักกระเฉดเหนียว
คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด
คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด 100 กรัม ให้พลังงาน 29 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
โปรตีน | 6.4 กรัม |
ไขมัน | 0.4 กรัม |
แคลเซียม | 387 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 7.0 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 5.3 มิลลิกรัม |
เบตาแคโรทีน | 3,710 ไมโครกรัม |
ไทอะมีน | 0.12 มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน | 0.14 มิลลิกรัม |
วิตามินบี1 | 0.12 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.14 มิลลิกรัม |
ไนอะซีน | 3.2 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 22 มิลลิกรัม |
กากใยอาหาร | 1.8 กรัม |
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานดิบ เพราะมีความเสี่ยงต่อพยาธิตัวอ่อนที่อาจปะปนเข้ามา รวมไปถึง “ไข่ปลิง” ที่ทนความร้อนได้สูงมาก ควรรับประทานสุกที่ต้มด้วยความร้อนสูงก่อนนำมารับประทาน
2. คนที่รับประทานยารักษาอยู่ไม่ควรรับประทาน เพราะฤทธิ์ของผักกระเฉดอาจจะไปทำให้ยารักษาโรคเสื่อมฤทธิ์ได้
ผักกระเฉด เป็นยาสมุนไพรที่บรรพบุรุษใช้รักษาบำรุงร่างกายมาแต่เนิ่นนาน จัดเป็นประเภทยาเย็นที่มีความสามารถในการดับความร้อนในร่างกายได้ มีรสชาติอร่อยเมื่อนำมาปรุงกับอาหารต่าง ๆ สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เสริมสร้างกระดูกเพราะมีแคลเซียมสูง แก้ไข้ แก้อาการปวดแสบร้อน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เป็นผักที่รับประทานง่ายและพบได้ทั่วไปในเมนูอาหารไทยต่าง ๆ
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม