เพศสัมพันธ์ หรือ เซ็กส์ สำคัญไฉน
เพศสัมพันธ์ ( Sex ) ของชายและหญิงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของชีวิตคู่ ซึ่งก่อให้เกิดความรักและความผูกพันกันและเป็นต้นกำเนิดของครอบครัว และในความเป็นจริงเซ็กส์ก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตไปจนถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ด้วย
เพศสัมพันธ์หรือเซ็กส์มักใช้เป็นคำย่อ ซึ่งก็คือกิจกรรมเพศสัมพันธ์นั่นเอง มี 2 รูปแบบคือ
- เพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ( Sexual Intercourse ) หมายถึง กิจกรรมเพื่อความสุขทางเพศหรือเพื่อสืบพันธุ์หรือทั้งสองอย่าง โดยขณะการมีเพศสัมพันธ์อวัยวะเพศชายจะแข็งตัวและสอดใส่องคชาตเข้าไปยังช่องคลอดของเพศหญิงและมีโอกาสที่จะสร้างบุตร ร่วมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่สอดใส่เข้าทางช่องปาก ทางทวารหนัก การใช้นิ้วสอดใส่ ( Fingering ) เข้าไปยังช่องคลอดของเพศหญิง หรือการใช้ดิลโดและการใช้ไวเบรเตอร์สอดใส่ด้วย ( Dildo,Vibrator คือ องคชาตเทียมและอุปกรณ์เทียมในรูปแบบต่าง ๆ ใช้สอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์ )
- เพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ ( Sexual Outercourse ) หมายถึง กิจกรรมเพศสัมพันธ์ภายนอก เช่น การเล้าโลม ( Foreplay ) การสำเร็จความใคร่ให้กันและกัน ( Mutual Masturbation ) และการทำออรัลเซ็กส์ ( Oral Sex ) โดยใช้ปากเล้าโลมที่อวัยวะเพศ ส่วนการเล้าโลมด้วยปากกับส่วนอื่นของร่างกายโดยการจูบหรือเลียนั้นไม่ถือว่าเป็นออรัลเซ็กส์
ประโยชน์ที่ดีของเพศสัมพันธ์ต่อร่างกาย
- ลดความเครียดและลดความดันโลหิตสูง ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ( Endorphins ) และฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้มีความสุขในขณะมีเพศสัมพันธ์ เซ็กส์จะช่วยลดความเครียดลงจึงสามารถป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้
- นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ถึงจุดสุดยอดร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินและสารออกซิโทซิน ( Oxytocin ) หรือฮอร์โมนแห่งความรักและความผูกพันออกมา ทำให้จิตใจสงบและนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันได้ดีขึ้น
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง การมีเพศสัมพันธ์จะช่วยเพิ่มระดับภูมิต้านทานโรคหรือแอนติบอดี้ ( Antibody ) จึงป้องกันเชื้อโรค ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ได้ดีขึ้น จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีเซ็กส์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจะมีระดับแอนติบอดี้บางชนิดสูงกว่าผู้ที่มีเซ็กส์น้อยครั้ง
- บรรเทาอาการปวดศีรษะ การมีเพศสัมพันธ์ช่วยลดอาการปวดศีรษะบางชนิดได้ดีกว่าการใช้ยาแก้ปวด เนื่องจากเซ็กส์จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ซึ่งเป็นสารระงับความเจ็บปวดที่ร่างกายผลิตขึ้นตามธรรมชาติ จากงานวิจัยพบว่า จำนวนผู้ที่มีเซ็กส์ขณะปวดศีรษะมีอาการทุเลาลงมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
- บำรุงสุขภาพหัวใจ การมีเพศสัมพันธ์ส่งผลดีต่อหัวใจเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย จากการวิจัยพบว่าชายที่มีเซ็กส์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งจะลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และยังพบว่า ระหว่างที่มีเซ็กส์เป็นเวลาประมาณ 25 นาทีนั้นผู้ชายสามารถเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 4 แคลอรี่ / นาที ส่วนผู้หญิงก็เผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 3 แคลอรี่ / นาที
- ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก จากงานวิจัยพบว่า ชายที่ถึงจุดสุดยอดมากกว่า 21 ครั้ง / เดือน มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าชายที่ถึงจุดสุดยอดเพียง 4-7 ครั้ง / เดือน
- ช่วยให้ใบหน้าอ่อนเยาว์ขึ้น เซ็กส์ช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินจนส่งผลให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งกระจ่างใส นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตออกมาด้วย ซึ่งช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่นและป้องกันการเกิดริ้วรอยได้
เพศสัมพันธ์สมบูรณ์แบบ 5 ขั้น
1. สร้างบรรยากาศ ( Desire Phase )
จุดเริ่มต้นของอารมณ์ทางเพศ เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างฮอร์โมนเพศและปัจจัยสิ่งเร้าทางสายตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ปรุงแต่งเป็นอารมณ์ทางเพศขึ้นมา อุปสรรค์ที่ขัดขวาง คือภาวะตรึงเครียด ( Sympathetic nervous system ) ทำให้การตื่นตัวเกิดขึ้นได้ยาก เช่น การที่ทั้งสองฝ่ายกำลังตกอยู่ในสภาพเครียด หงุดหงิด หวาดผวา อดนอน หรือป่วย แต่หากร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ( Parasympathetic nervous system ) ก็ไม่เป็นการยากสำหรับการตื่นตัวของอารมณ์ ดังนั้นหากต้องฝืนมีเซ็กส์ในวันที่เหน็ดเหนื่อย เราอาจเลือกที่จะพักผ่อนเต็มที่ก่อน และตื่นขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นเวลาที่ดีกว่า
2. เล้าโลม ( Excitement Phase )
เพศหญิงและเพศชายมีอารมณ์ทางเพศเร็วช้าต่างกัน เพศชายตื่นตัวง่ายเหมือนเตาแก๊ส ส่วนเพศหญิงตื่นตัวช้าเหมือนเตาถ่าน เมื่อเพศชายตื่นตัวแล้วก็มิได้แปลว่าเพศหญิงจะพร้อมเสมอไป เพศหญิงอาจต้องการเวลาอีกสักเล็กน้อยเพื่อให้มีอารมณ์ทางเพศทัดเทียมกับเพศชาย
การเล้าโลมของฝ่ายชายจึงเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้กับฝ่ายหญิง ซึ่งรองจากสิ่งเร้าทางตาก็จะเป็นทางผิวหนังตามส่วนที่ไวต่อการกระตุ้น ( Emgenous zone ) โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก ติ่งหู ซอกคอ สีข้าง และแผ่นหลัง
3. ท่วงท่าลีลา ( Plateau Phase )
ความสำคัญของเพศสัมพันธ์ในขั้นตอนนี้คือ ท่วงท่าลีลารัก ( Sexual position ) ซึ่งมีหลากหลาย ความสำคัญของท่วงท่าในการมีเพศสัมพันธ์ ก็เพื่อความเหมาะสมกับภาวะสุขภาพ ยังเป็นการช่วยเพิ่มรสชาติของเพศสัมพันธ์ และช่วยลดความเบื่อหน่ายจำเจในการมีเพศสัมพันธ์ในระยะยาว
4. จุดสุดยอด ( Orgasmic Phase )
จุดสุดยอดของเพศชาย คือ การหลั่งน้ำอสุจิ ส่วนจุดสุดยอดของเพศหญิงจะเป็นการบีบรัดตัวของช่องคลอดเป็นจังหวะ ๆ รวมทั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั้งตัว ช่วงถึงจุดสุดยอดนั้นสมองจะมีการหลั่งสารแห่งความสุข คือ เอนดอร์ฟิน ซึ่งทำให้ลดความเครียด เป็นช่วงที่ความเครียดจางหายไปได้ชั่วขณะที่มีเซ็กส์
ความแตกต่างของชายหญิงในเรื่องจุดสุดยอด คือ เพศชายถึงจุดสุดยอดได้เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็เป็นระยะตื้อ ( Refractory period ) ต้องใช้เวลาพักระยะหนึ่งจึงสามารถมีการทำกิจกรรมรักได้อีกซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของชายแต่ละคน ในขณะที่เพศหญิงสามารถึงจุดสุดยอดได้หลาย ๆ ครั้ง ( Multiple orgasm ) ซึ่งต่างจากเพศชาย
5. ผ่อนคลาย ( Resolution Phase )
หลังจุดสุดยอด คือ การผ่อนคลายทั้งชายและหญิง ร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลย์อีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นเกิดความสุขกายสุขใจร่วมกันระหว่างสามีภรรยา เพศสัมพันธ์ก็เหมือนการปรับความเข้าใจกันด้วยภาษากาย เกิดความสุขทางจิตใจ สัมผัสกันด้วยความทะนุถนอม ใส่ใจกันและกัน นำไปสู่ความปรองดองของชีวิตคู่
ถึงอย่างไรเซ็กส์ ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างชีวิตคู่ให้มีความสุขและสมดุล แต่ความรักความเข้าใจความเอาใจใส่ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กันไปหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งความสุขก็จะไม่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์
ปัญหาเพศสัมพันธ์ในชีวิตคู่
ปัญหาเพศสัมพันธ์ หรือ ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ( โรคเซ็กส์เสื่อม ) คือภาวะที่ร่างกายและจิตใจไม่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศได้ตามปกติ มีผลกระทบมากในชีวิตคู่ เสียสุขภาพจิต ไม่มีความสุข ครอบครัวมีปัญหา และกระทบต่อการทำงานได้ ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไม่ได้เกิดเฉพาะในเพศชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในเพศหญิงที่ยังไม่ถึงวัยทองจำนวนไม่น้อยก็เกิดภาวะนี้เช่นกัน
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ( Impotence )
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายเกิดได้ 3 ลักษณะ คือ
- ไม่มีความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศ
- ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว หรือไม่สามารถคงสภาพการแข็งตัวเป็น เวลานานพอ ( Erectile Dysfunction หรือ ED ) ที่จะมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้
- ภาวะหลั่งเร็ว ปวดเวลาหลั่ง ทำให้มีเซ็กส์ไม่สำเร็จในบางครั้งจนถึงไม่สามารถที่จะมีเซ็กส์ได้เลย
สาเหตุของการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายมี 2 สาเหตุใหญ่ คือ
- ทางกาย เกิดจากโรค หรือภาวะทางกายที่มีผลต่อระบบประสาท หรือระบบหลอดเลือดของอวัยวะเพศ หรือเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะเพศเอง สาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมา เช่น เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ปอด ไต โรคตับ โรคมะเร็ง ภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง เนื้องอกสมอง โรคลมชัก อัมพาต สาเหตุทางกายมักพบในคนอายุมาก และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย อุบัติเหตุ การฉายแสง และยาบางชนิดที่ทำให้เกิดกามตายด้าน บางชนิดทำให้ความสนใจทางเพศลดลง แต่โปรดจำไว้ว่ามีเพียงส่วนน้อยที่มีผลข้างเคียงจากยา
- ทางจิตใจ เกิดจากโรค หรือภาวะทางจิตที่มีผลกระทบต่อการกระตุ้นทางเพศจากสมอง หรือประสาทสัมผัสเป็นสำคัญ เช่น เกิดจากโรคซึมเศร้า มีภาวะความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงาน ครอบครัว ความกลัวความล้มเหลวทางเพศสัมพันธ์ หรือถูกตำหนิจากคู่รักทำให้หมดความมั่นใจ มักพบในคนหนุ่ม แต่อย่างไรก็ตามเหตุทางกายและใจมักเกิดร่วมกันได้เสมอ
ตาราง ยาที่ทำให้เกิดกามตายด้าน หรือทำให้ความสนใจทางเพศลดลง
ชื่อยา | ใช้รักษาโรค | ผลข้างเคียง |
nifedipine | ยาลดความดันโลหิต | กามตายด้าน |
doxepin | ความต้องการทางเพศลดลงและมีปัญหาในการหลั่ง | |
spironolactone | ยาขับปัสสาวะชนิดหนึ่ง | ความต้องการทางเพศลดลงและมีปัญหาในการแข็งตัว |
methyldopa | ยาลดความดันโลหิตสูง | มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัว (พบน้อย) |
ramipril | ยาลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคไตจากโรคเบาหวาน | มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการทางเพศ มีปัญหาเกี่ยวกับการถึงจุดสุดยอดและการหลั่ง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (20%) |
clomipramine | ยารักษา | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว |
naproxen | ยาแก้ปวดลดการอักเสบของข้อ | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) |
hydralazine | ยาลดความดันโลหิต | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว |
trihexyphenidyl | ยารักษาโรคพาร์กินสัน | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว |
amoxapine | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ความต้องการทางเพศลดลง | |
lorazepam | ยาคลายเครียด | ความต้องการทางเพศลดลง |
nortriptyline | ยารักษาโรคซึมเศร้า | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ความต้องการทางเพศลดลง |
nizatadine | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว | |
dicyclorriine | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว | |
timolol | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) ความต้องการทางเพศลดลง | |
bumetanide | หลั่งเร็ว | |
buspirone | ผลข้างเคียงไม่มาก พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงความต้องการทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว | |
verapamil ยาลดความดันโลหิต | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) | |
captopril | ยาลดความดันโลหิต | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) |
nicardipine | ยาลดความดันโลหิต | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) |
diltiazem | ยาลดความดันโลหิต | อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (พบน้อย) ความต้องการทางเพศลดลง |
doxazosin | ยาลดความดันโลหิต | sexual difficulty |
การรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
- การรักษาเบื้องต้น คือเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีกากอาหาร อาหารที่มีไขมันต่ำ ลดเกลือ งดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่
- การรักษาทางด้านจิตใจ ( Psychotherapy ) หากปัญหาเกิดจากทางด้านจิตใจแพทย์จะช่วยลดความกังวล
- การใช้ยาในการรักษา ( Drug Therapy ) มีทั้งยารับประทาน ยาฉีด หรือยาสอด
1. Sildenafil citrate หรือ Viagra เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยต้องรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ยาจะออกฤทธิ์นาน 4-5 ชั่วโมง ยานี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ใช้ต้องมีความต้อง การทางเพศ ยาจะเพิ่มเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น ปริมาณที่ใช้ ต้องเหมาะสมตามที่แพทย์สั่ง ข้อห้าม ผู้ที่เป็นโรคหัวใจได้รับยาNitrateไม่ควรใช้ยานี้เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เป็นลมและเกิดอันตราย
2. ยาในกลุ่ม Alpha Blocker แต่เดิมเป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ ปัจจุบันยานี้ออกฤทธิ์ที่สมองและขยายหลอดเลือดที่ส่วนปลายรวมทั้งองคชาตทำให้แข็งตัวได้ ปริมาณที่ใช้ต้องเหมาะสมตามที่แพทย์สั่ง แต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ปัสสาวะบ่อย
3. Apomorphine ใช้อมใต้ลิ้นออกฤทธิ์ใน 10-25 นาที ผลข้างเคียงของยาต่ำมีเพียงคลื่นไส้อาเจียน
4. ยาฮอร์โมน Testosterone เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับฮอร์โมน Testosterone ในเลือดต่ำ
5. การฉีดยาเข้าอวัยวะเพศ ยาที่นิยมใช้ คือ Papaverine Hydrochloride, Phentolamine และ Alprostadil ยาเหล่านี้จะทำให้หลอดเลือดขยาย เริ่มออกฤทธิ์หลังจากฉีดไปแล้ว 5-20 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 1 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยาอาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ โด่ไม่รู้ล้ม ” จะทำให้เกิดอาการปวดบริเวณที่ฉีดและเลือดออก
6. การใส่ยาเข้าทางท่อปัสสาวะ จะเริ่มออกฤทธิ์ในเวลา 8-10 นาที และอยู่ได้นาน 30-60 นาทีและต้องใช้ยางรัดไว้เพื่อให้อวัยวะเพศแข็งตัวนาน ผลข้างเคียงมีการระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ อัณฑะ และอาจมีเลือดออกจากท่อปัสสาวะ - การใช้เครื่องสูญญากาศ ( Vacuum Devices ) ครอบที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นก็สูบอากาศให้ออกจากท่อทำให้เลือดเข้าไปในอวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ดีจึงใช้ยางรัด
- การผ่าตัด ( Surgery )
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง ( Female Sexual Dysfunction หรือ FSD )
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงมีลักษณะ คือ
- ไม่มีความต้องการทางเพศ ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เบื่อและไม่สนใจในการมีเพศสัมพันธ์
- ได้รับการกระตุ้นก็ไม่สามารถมีความตื่นเต้นทางเพศได้
- รังเกียจ หรือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
สาเหตุของการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิงสรุปได้ 6 สาเหตุ คือ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการต้องการทางเพศ ( Disorders of Desire ) ไม่มีความต้องการทางเพศ ไม่สนใจในการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจัยหลายอย่างที่อาจจะทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความเครียด โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง และโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การผ่าตัดในช่องเชิงกราน วัยทอง หรือโรคทางระบบประสาท
- ความผิดปกติเกี่ยวกับอารมณ์เมื่อถูกกระตุ้น ( Arousal Disorders ) ไม่มีอารมณ์ตื่นตัวเวลาถูกกระตุ้นทางเพศ ปุ่มคลิตอรีสไม่ไวต่อการถูกกระตุ้น ช่องคลอดฝ่อเนื่องจากหมดประจำเดือน วัยทองขาดฮอร์โมนทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการถึงจุดสุดยอด ( Orgasmic Disorders ) เกิดจากการที่ไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอ ฝ่ายชายไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มากพอที่จะกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงมีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งทำให้ฝ่ายหญิงผิดหวัง และอาจจะรุนแรงถึงขั้นกลัวการมีเพศสัมพันธ์
- เกิดอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ( Sex Pain Disorders ) หลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้ช่องคลอดแห้ง กล้ามเนื้อช่องคลอดมีอาการหดเกร็งเวลามีเพศสัมพันธ์ ทำให้การมีเซ็กส์เต็มไปด้วยความลำบาก
- ภาวะรังเกียจ หรือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ( Aversion Disorders ) มักจะเกิดจากเหตุการณ์รุนแรงทางเพศ เช่นถูกทำร้าย หรือถูกกระทำชำเรา
- ยาบางชนิด
ตาราง ยาที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
การรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง
- การรักษาทางจิตใจ ( Psychotherapy ) เป็นการประคับประคองจิตใจของทั้งสามีภรรยา พูดคุย สื่อสารต่อกัน ให้กำลังใจกันและกัน มองโลกในแง่ดีการรักษาโรคเซ็กส์เสื่อมในผู้หญิงที่ดีที่สุดต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างสามีภรรยาเป็นสำคัญ จัดระเบียบชีวิตในแต่ละวันใหม่ พักผ่อนให้เพียงพอเข้านอนแต่หัวค่ำ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ที่สำคัญต้องหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทำให้มีการตอบสนองทางเพศได้ดีขึ้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะแร่ธาตุจำพวกสังกะสี ( Zinc ) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนทางเพศให้มากขึ้น
- การรักษาโดยใช้ยา ( Drug Therapy ) ปัจจุบันที่ใช้อยู่มี 2 ตัว คือ
1. ฮอร์โมนเพศหญิง ( Estrogen ) ทดแทนในกรณีที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดต่ำลง เนื่องจากใกล้หมดหรือหมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงนี้จะทำให้ช่องคลอดและอวัยวะเพศไม่แห้ง
2. ฮอร์โมนเพศชาย ( Testosterone ) ชนิดแปะผิวหนัง จะทำให้ความต้องการทางเพศของผู้หญิงมากขึ้น
สมุนไพรช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
สมุนไพรมากมายเชื่อกันว่ามีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ ซึ่งก็มีงานวิจัยบางส่วนที่ศึกษาว่าสมุนไพรบางชนิดรักษาภาวะนี้ได้จริง โดยสมุนไพรที่ได้รับความสนใจและนิยมรับประทานกันอย่างกว้างขวาง มีดังนี้
1. ตังถั่งเช่า หรือถั่งเช่า ( Cordyceps )
2. กระชายดำ ( Black galingale )
3. เห็ดหลินจือ ( Lingzhi หรือ Reishi )
4. โสม ( Ginseng )
5. เมล็ดองุ่นสกัด ( Grape seed extract )
6. เปลือกสน มาริไทม์ฝรั่งเศส ( French Maritime Pine Bark Extract )
7. โกจิเบอร์รี่ ( Goji berry )
บริโภคสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
แม้ผลการค้นคว้ามากมายจะแสดงถึงสรรพคุณของสมุนไพรต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ แต่เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคผู้ที่ต้องการใช้ยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เพื่อป้องกันส่วนประกอบหรือสารแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงควรศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ในด้านส่วนประกอบต่าง ๆ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ให้ดีก่อน
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ขอบคุณคลิปความรู้จาก : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รศ. นพ. อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.siamhealth.net
สตรีเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.siamhealth.net