ชะอม
ชะอม (Climbing wattle) เป็น ผักที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร โดยเฉพาะเมนู “ไข่ชะอมทอด” ที่มักจะรับประทานกับน้ำพริกกะปิ เป็นผักที่รสชาติอร่อยเมื่อนำมารวมกับส่วนผสมอื่น ๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายมากและมีราคาไม่แพง อีกทั้งยังปลูกได้ด้วยตัวเอง ชะอมก็เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้ผักชนิดอื่น แต่ชะอมเป็นผักที่ต้องระมัดระวังในการรับประทานเข้าร่างกาย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชะอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Climbing wattle” “Acacia” และ “Cha – om”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหละ” ภาคใต้เรียกว่า “อม” ภาคอีสานและจังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ผักขา” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “พูซูเด๊าะ” ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “โพซุยโดะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของชะอม
ชะอม เป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมรับประทานในทุกภาคของไทย ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม
ใบ : ใบชะอมเป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน ลักษณะคล้ายรูปรี ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็นและแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน
ดอก : ดอกชะอมมีขนาดเล็ก ออกตามซอกใบและมีสีขาว
วิธีการปลูกชะอม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการโน้มกิ่งลงดิน วิธียอดนิยมเลยก็คือ “การเพาะเมล็ด”
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1. นำเมล็ดชะอมมาใส่ถุงพลาสติก แล้วรดน้ำวันละครั้ง
2. เมื่อเมล็ดงอกให้ทำการย้ายลงดิน โดยปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร
3. ทำการเก็บยอดชะอม แต่ให้เหลือยอดไว้ 3 – 4 ยอด เพื่อให้ต้นได้โตต่อไป
คำแนะนำในการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด
1. ใช้ปุ๋ยสดหรือมูลสัตว์ในการบำรุงต้น
2. ไม่ควรปลูกฤดูฝนเพราะเมล็ดชะอมมีโอกาสเน่าได้สูง หากปลูกในฤดูร้อนแล้วหมั่นรดน้ำจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า
3. หากมีแมลงให้ใช้ปูนขาวโรยไว้รอบโคนต้น แต่ถ้ามีหนอนกินยอดชะอมก็ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก ๆ 8 วัน
4. การเก็บยอดชะอม ควรเก็บให้เหลือยอดไว้ 3 – 4 ยอด เพื่อให้ต้นได้โตต่อไป และเพื่อความปลอดภัยควรเก็บหลังจากการฉีดยาฆ่าแมลงแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน
สรรพคุณของชะอม
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
- สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก รากช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ แก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
- สรรพคุณด้านกล้ามเนื้อ บำรุงเส้นเอ็น
- สรรพคุณด้านความงาม
– ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสียและแตกปลาย ด้วยการนำใบชะอมประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้นแล้วกรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นให้ล้างออก
ประโยชน์ของชะอม
เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนูอย่าง ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง หรือนำมาลวกนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกกะปิ สามารถนำมารับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงลาว แกงแค ก็ได้เช่นกัน
คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม
คุณค่าทางโภชนาการของยอดชะอม 100 กรัม ให้พลังงาน 57 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
เส้นใยอาหาร | 5.7 กรัม |
แคลเซียม | 58 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 80 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 4.1 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 10066 IU |
วิตามินบี1 | 0.05 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.25 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 1.5 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 58 มิลลิกรัม |
โทษของชะอม
1. ควรรับประทานชะอมในหน้าร้อน เพราะชะอมจะมีรสชาติดีกว่าหน้าฝนที่มีรสเปรี้ยวและกลิ่นแรง ซึ่งอาจจะทำให้ปวดท้องได้
2. คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอด อาจแพ้กลิ่นแรงของชะอม ทำให้มีอาการแพ้ท้องหรือรู้สึกพะอืดพะอม ไม่สบายได้มากขึ้น คุณแม่หลังคลอดไม่ควรรับประทานผักชะอมเพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้
3. คนที่เป็นโรคเกาต์ควรงดการทานชะอมเพราะในชะอมมีพิวลีนสูง ซึ่งพิวลีนจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก เป็นสาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเกาต์มีอาการกำเริบมากยิ่งขึ้น
4. ควรล้างผักให้สะอาดหรือนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เพราะชะอมอาจจะปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอย่างซาลโมเนลลา (Salmonella) อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด และมีไข้ได้
ชะอม เป็นผักที่ค่อนข้างมีกลิ่นแรง สำหรับผู้ที่อ่อนไหวต่อกลิ่นหรือคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารกลิ่นแรงได้อาจจะไม่ชอบใจนัก แต่ชะอมเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงเส้นเอ็น ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง และเป็นยาอายุวัฒนะได้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม