Home Blog Page 77

เร่วหอม เครื่องเทศกลิ่นหอม ช่วยแก้ไข้และรักษาริดสีดวงทวาร

0
เร่วหอม เครื่องเทศกลิ่นหอม ช่วยแก้ไข้และรักษาริดสีดวงทวาร
เร่วหอม เป็นพืชล้มลุก ดอกมีสีแดงแทงช่อโดยตรงจากเหง้า ผลคล้ายกับผลเงาะ เหง้ามีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม
เร่วหอม เครื่องเทศกลิ่นหอม ช่วยแก้ไข้และรักษาริดสีดวงทวาร
เร่วหอม เป็นพืชล้มลุก ดอกมีสีแดงแทงช่อโดยตรงจากเหง้า ผลคล้ายกับผลเงาะ เหง้ามีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม

เร่วหอม

เร่วหอม (Etlingera punicea) มักจะนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร เป็นพืชสำหรับคนเมืองตราดและจันทบุรี คนส่วนมากอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อและไม่รู้จัก ส่วนมากเร่วหอมจะเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือเป็นส่วนประกอบในอาหารมากกว่าที่จะนำมารับประทานโดยตรง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเร่วหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith

ลักษณะของเร่วหอม

เร่วหอม เป็นพืชล้มลุกที่คาดกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเปอร์เซีย แล้วแพร่ขยายไปยังประเทศร้อนชื้น มักจะพบอยู่ทั่วไปตามต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก มีเหง้าอยู่ใต้ดินสีอมชมพู ลำต้นสากสีเขียวอมแดง ส่วนโคนต้นมีสีแดงเรื่อและมีกลิ่นหอม
ใบ : ใบออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเรียวยาว หนาและมีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ
ดอก : ดอกมีสีแดง ออกดอกแทงช่อโดยตรงจากเหง้า
ผล : ผลออกเป็นช่อ เปลือกผลมีขนคล้ายกับผลเงาะ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงอัดกันแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก
เหง้า : อยู่ใต้ดินมีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม

สรรพคุณของเร่วหอม

  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ไข้ แก้อาการหืดและไอมีเสมหะ เป็นยาขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและจุกเสียดแน่นท้อง รักษาริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากรากและเหง้า เป็นยาเส้น

ประโยชน์ของเร่วหอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร
– ผลนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ
– รากนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยว น้ำต้มเนื้อ แกงป่า แกงเลียงและผัดเผ็ด เป็นต้น
– เหง้าแก่ใช้ต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวหมูหรือใช้ทำแกงเลียง และทำน้ำพริกแกงผัดเผ็ดหมูป่า
– เหง้าอ่อนใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริก
2. เป็นส่วนประกอบของยา รากและเหง้าใช้ทำเป็นยาหอมเย็นได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่วหอมแห้งชนิดแท่งสามารถนำมาใช้เป็นแท่งสำหรับคนในเครื่องดื่มร้อน ๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอมเช่นเดียวกับเปลือกอบเชย เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อย่างลูกกวาด ลูกอมเร่วหอม น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน เจลสำหรับล้างมือ น้ำปรุงรส ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เร่วหอมอบแห้ง น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ เร่วหอมสกัด เป็นต้น

สารสำคัญออกฤทธิ์ที่พบ

  • สาร 4-methoxycinnamyl 4-coumarate
  • สาร p-anisic acid
  • สาร p-hydroxy benzaldehyde
  • สาร 4-methoxycinnamyl alcohol
  • สาร p-coumaric acid
  • สาร trans-4-methoxycinnamaldehyde
  • สาร (E)-methyl isoeugenol
  • สาร trans-anethole
  • สาร p-anisaldehyde

เร่วหอม เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ช่วยให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมและน่าทานมากยิ่งขึ้น คนเมืองตราดและจันทบุรีได้มีการนำเร่วหอมมาใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาริดสีดวงทวาร ช่วยแก้ไข้และเป็นยาขับลม

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์ : https://puechkaset.com/

กาสามปีก เป็นยาแก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้นิ่วและปัสสาวะเป็นเลือด

0
กาสามปีก เป็นยาแก้ไข้ ช่วยบำรุงหัวใจ แก้นิ่วและปัสสาวะเป็นเลือด
กาสามปีก เป็นพรรณไม้ยืนต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ร่วงง่าย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
กาสามปีก เป็นยาแก้ไข้ ช่วยบำรุงหัวใจ แก้นิ่วและปัสสาวะเป็นเลือด
กาสามปีก เป็นพรรณไม้ยืนต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ร่วงง่าย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

กาสามปีก

กาสามปีก (Vitex peduncularis Wall) เป็นต้นไม้ที่มักจะพบตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วไป มีชื่อเรียกที่หลากหลายมากตามแต่พื้นที่ ดอกมีกลิ่นหอมและส่วนมากมักจะนิยมปลูกในสวน ส่วนของใบกาสามปีกจะนำมารับประทานเป็นผัก ชาวเมี่ยนจะนำใบมาดื่มเป็นชาและชาวปากีสถานนำใบกับผลมารับประทาน เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของยาสมุนไพรได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกาสามปีก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex peduncularis Wall. ex Schauerr
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กาสามซีก กาสามปีก ตีนกา สมอบ่วง” ภาคเหนือเรียกว่า “กาสามปีก กาจับหลัก ตีนนกผู้ มะยางห้าชั้น” ภาคตะวันออกเรียกว่า “โคนสมอ ตีนนก สมอตีนเป็ด สมอหวอง” ภาคใต้เรียกว่า “นน สมอตีนเป็ด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ตีนนกผู้ มะยาง ห้าชั้น” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “สวองหิน” จังหวัดนครราชสีมาและลพบุรีเรียกว่า “ไข่เน่า” จังหวัดลพบุรีเรียกว่า “เน่า” จังหวัดนครปฐมเรียกว่า “ขี้มอด” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “แคตีนนก” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “กะพุน ตะพรุน” จังหวัดตราดเรียกว่า “ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม สะพุนทอง” จังหวัดราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กานน สมอกานน สมอตีนนก สมอหิน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “สมอป่า สมอหิน” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “นนเด็น” จังหวัดสตูลเรียกว่า “ตาโหลน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปะถั่งมิ เปอต่อเหมะ” ชาวมาเลเซียนราธิวาสเรียกว่า “ลือแบ ลือแม” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ไม้เรียง” ชาวขมุเรียกว่า “ตุ๊ดอางแลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE – LABIATAE)

ลักษณะของกาสามปีก

กาสามปีก เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคเหนือของปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย มักจะพบในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพและป่าชายหาด
เปลือกต้น : เป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือดำ กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนอ่อนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปวงรีหรือเป็นรูปคล้ายใบหอก ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นประปราย ใบแก่ด้านบนจะเรียบเกลี้ยงส่วนด้านล่างมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ดอกร่วงได้ง่ายและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก แฉกด้านล่างมักจะมีขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ
ผล : ผลมีลักษณะกลม ฝาปิดขั้วผลมีขนาดกว้างประมาณ 1 ใน 4 ของตัวผล มีเนื้อหุ้มเมล็ดบาง ๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็งมาก

สรรพคุณของกาสามปีก

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุงหัวใจ
    – เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยาแก้ปัสสาวะดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • สรรพคุณจากใบและเปลือก
    – เป็นยาลดไข้ ด้วยการนำใบและเปลือกมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากต้น ราก ใบ เป็นยารักษาโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย

ประโยชน์ของกาสามปีก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นผัก ชาวเมี่ยนนำใบมาต้มแล้วตากแห้งเพื่อดื่มเป็นชา ชาวปากีสถานนำใบและผลมารับประทาน
2. ใช้ในการก่อสร้าง เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไปอย่างทำเสา พื้น กระดาน ครก สาก พานท้าย รอด ตง พาย กรรเชียง รางปืน ฟืน ซึ่งเนื้อไม้กาสามปีกยังเหมาะสำหรับใช้ในการแกะสลักอีกด้วย

กาสามปีก ค่อนข้างมีใบเป็นที่นิยมสำหรับชาวปากีสถาน ชาวอินเดียและชาวเมี่ยน ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่าน้ำจากใบกาสามปีกมีสรรพคุณทางยา ส่วนคนไทยก็นำใบมารับประทานเช่นกัน นอกจากนั้นดอกยังมีกลิ่นหอมชวนให้รู้สึกดี เป็นต้นที่มีชื่อเรียกตามที่ต่าง ๆ มากมายจนน่าสับสน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือดและเป็นยาลดไข้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ตีนนก”. หน้า 99.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาสามปีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 ก.ค. 2015].
การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ตีนนก / สวอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [16 ก.ค. 2015].
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กาสามปีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [16 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กาสามปีก, ตีนนก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 ก.ค. 2015].

กะเพรา ผักยอดนิยมของคนไทย ราชินีแห่งสมุนไพร ป้องกันโรคและไข้หวัดได้

0
กะเพรา ผักยอดนิยมของคนไทย ราชินีแห่งสมุนไพร ป้องกันโรคและไข้หวัดได้
กะเพรา เป็นยาสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนรสเผ็ดร้อน มีทั้งขาวและแดง นิยมนำไปปรุงอาหารเพื่อแต่งกลิ่น
กะเพรา ผักยอดนิยมของคนไทย ราชินีแห่งสมุนไพร ป้องกันโรคและไข้หวัดได้
กะเพรา เป็นยาสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนรสเผ็ดร้อน มีทั้งขาวและแดง นิยมนำไปปรุงอาหารเพื่อแต่งกลิ่น

กะเพรา

กะเพรา (Holy basil) เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของคนไทยว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนรสเผ็ดร้อน และมักจะนำมาเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารไทยอย่างเมนู กะเพราหมู หรือ กะเพราหมูกรอบ นอกจากในไทยแล้วนั้นยังนิยมอย่างมากในประเทศอินเดียอีกด้วย ถือเป็นต้นที่นิยมนำมารับประทานเพื่อป้องกันไวรัสโควิด ปัจจุบันนั้นกะเพรายังเป็นผักที่ได้ฉายาว่าเป็นราชินีแห่งสมุนไพร (The Queen of herbs) และยาอายุวัฒนะ (The Elixir of life) อีกด้วย ถือเป็นผักที่คู่ควรแก่การนำมารับประทานเป็นประจำจริง ๆ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะเพรา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenuiflorum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Holy basil” และ “Sacred basil”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “อีตู่ไทย” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กอมก้อ กอมก้อดง” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Ocimum sanctum L.

ลักษณะของกะเพรา

กะเพรา เป็นไม้ล้มลุกที่มีโคนต้นแข็ง โดยกะเพราแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. กะเพราแดง นิยมใช้เป็นยาสมุนไพร
2. กะเพราขาว นิยมนำมาทำอาหาร
ลำต้น : กะเพราแดงมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาวและยอดอ่อนมีขนสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปวงรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีสีขาวแกมม่วงแดงจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน
ผล : เป็นผลแห้งขนาดเล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำไปจนถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่

สรรพคุณของกะเพรา

  • สรรพคุณจากกะเพรา เป็นยาอายุวัฒนะ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัด บำรุงธาตุไฟ แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยขับลมแก้อาการปวดท้อง ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ลมซานตาง ช่วยขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ลดระดับไขมันเลว (LDL) เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
    – แก้อาการปวดและปวดมวนท้อง ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วรับประทานสด 1 ถ้วยตะไล
    – แก้ลมพิษ ด้วยการนำใบประมาณ 1 กำมือ มาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
    – รักษากลากเกลื้อน ด้วยการนำใบสดประมาณ 20 ใบ มาขยี้ให้น้ำออกแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการวันละ 2 – 3 ครั้งจนกว่าจะหายดี
    – แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วทาบริเวณที่ถูกกัด แต่ห้ามรับประทานเด็ดขาดเพราะจะมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาจถึงขั้นโคม่าได้
    – ช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร ด้วยการนำใบสดประมาณ 1 กำมือ มาใส่แกงเลียงแล้วทานเป็นประจำในช่วงหลังคลอด
  • สรรพคุณจากใบสด
    – รักษาหูด ด้วยการนำใบกะเพราแดงสดมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็นหูดทุกเช้าเย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมาแต่ไม่ควรโดนผิวหนังบริเวณอื่นและดวงตาเพราะส่งผลให้ผิวหนังเน่าเปื่อยได้
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้โรคธาตุพิการ ด้วยการนำรากแห้งมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่ม
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้อาการฝุ่นเข้าตา ด้วยการนำเมล็ดไปแช่น้ำเพื่อให้พองตัวเป็นเมือกขาวแล้วนำมาพอกบริเวณตา
  • สรรพคุณจากน้ำสกัดจากทั้งต้น ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยย่อยไขมัน ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยขับน้ำดี
  • สรรพคุณจากน้ำมันใบ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด

ประโยชน์ของกะเพรา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นส่วนประกอบในเมนูผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้งหรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารได้
2. ส่วนประกอบของยาสมุนไพร ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็กและอื่น ๆ
3. สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำใบและกิ่งสดมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยด้วยการต้มกลั่นจนได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 – 0.1 ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท
4. ใช้ในการไล่ยุง นำใบสดและกิ่งสดมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ทั้งนี้น้ำมันกะเพราที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสดและยังช่วยล่อแมลงได้อีกด้วย
5. ช่วยดับกลิ่นปาก

กะเพรา มีรสเผ็ดร้อนและช่วยให้อาหารมีรสกลมกล่อม เป็นผักที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางและเป็นผักยอดนิยมที่มักจะอยู่ในเมนูอาหารประจำวัน ซึ่งเมนูยอดฮิตเลยก็คือ “ผัดกะเพรา” ซึ่งเป็นอาหารที่คู่ควรกับคนไทยมายาวนาน และที่สำคัญเป็นที่รู้กันดีว่ากะเพรานั้นเป็นยาสมุนไพรและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งนี้สรรพคุณนั้นมีมากมายกว่าที่รู้กันโดยพื้นฐาน กะเพรามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันอาการหวัด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ถือเป็นผักที่หาได้ง่ายและมีรสชาติดีเมื่อนำมาปรุง และที่สำคัญเป็นยาสมุนไพรที่ดีต่อร่างกายจริง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กรมชลประทาน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

ก้นจ้ำ วัชพืชอายุสั้นแต่มากสรรพคุณ ช่วยแก้โรคตามัว แก้ไข้ แก้ไอ แก้ลำไส้อักเสบ

0
ก้นจ้ำ วัชพืชอายุสั้นแต่มากสรรพคุณ ช่วยแก้โรคตามัว แก้ไข้ แก้ไอ แก้ลำไส้อักเสบ
ก้นจ้ำ เป็นพรรณไม้ที่มีอายุสั้น ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น
ก้นจ้ำ วัชพืชอายุสั้นแต่มากสรรพคุณ ช่วยแก้โรคตามัว แก้ไข้ แก้ไอ แก้ลำไส้อักเสบ
ก้นจ้ำ เป็นพรรณไม้ที่มีอายุสั้น ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น สีเหลือง

ก้นจ้ำ

ก้นจ้ำ (Spanish Needles) เป็นพรรณไม้ที่มีอายุสั้นซึ่งอยู่ได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ส่วนมากมักจะพบก้นจ้ำเป็นวัชพืชตามไร่และสวน ตามข้างถนนและที่แห้งแล้งทั่วไป สามารถพบได้มากหากลองสังเกตตามพงหญ้าต่าง ๆ หรือริมถนน ทั้งนี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าวัชพืชที่ขึ้นริมทางทั่วไปจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของก้นจ้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bidens biternata (Lour.) Merr. & Scherff.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Spanish Needles”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ก้นจ้ำ” จีนกลางเรียกว่า “ชื่อเจินเฉ่า จิงผานอิ๋งจ่านเฉ่า” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะดี่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของก้นจ้ำ

ก้นจ้ำ เป็นไม้ล้มลุกที่เป็นต้นพื้นเมืองของทวีปอเมริกา มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 3 – 5 ใบ บางใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบคล้ายลิ่มหรือสอบเข้าหากัน ขอบใบหยักย่อยคล้ายฟันปลา แผ่นใบทั้งสองด้านเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น เป็นช่อเดียว ช่อแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อจะมีใบประดับ 8 – 10 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบปลายแหลม ดอกวงนอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีขาว ปลายกลีบเป็นจัก 2 – 3 จัก ดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นจักแหลม 4 – 5 จัก มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะยาวแคบ มีสีน้ำตาลเข้ม ผลติดบนฐานดอกเป็นกระจุกหัวแหลม ท้ายแหลม มีสันและมีร่องตามยาว ผลมีรยางค์แข็ง 2 – 4 อัน ติดอยู่ที่ปลาย ผิวนอกผลจะมีขนสั้น ๆ เมื่อผลแก่แห้งจะไม่แตก
เมล็ด : เมล็ดมีสีดำขนาดเล็กออกเป็นเส้น ๆ

สรรพคุณของก้นจ้ำ

  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้โรคตามัว ด้วยการนำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำใช้ล้างตา
    – แก้คออักเสบและเจ็บคอ ด้วยการนำใบสดประมาณ 30 – 50 กรัม มาตำแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อยเพื่อดื่ม
    – รักษาแผลสด แผลน้ำร้อนลวกหรือแผลไฟไหม้ ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอก
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบสดมาคั้นหรือต้มแล้วนำน้ำมาล้างผิวหนัง
    – รักษาแผลงูกัดหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบสดประมาณ 50 – 100 กรัม มาตำแล้วเอาน้ำล้างหรือใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มแก้อาการ
    – แก้หวัดตัวร้อน ด้วยการนำทั้งต้นแห้งประมาณ 10 – 15 กรัม มาต้มรับประทาน
    – แก้ไอมีน้ำมูกข้น ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้ลำไส้อักเสบ ปวดท้องน้อย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 30 – 50 กรัม มาต้มแล้วดื่ม
    – มีฤทธิ์ยับยั้งโรคที่ติดเชื้อในลำไส้ ด้วยการสกัดจากน้ำต้มของก้นจ้ำหรือสกัดจากแอลกอฮอล์
    – ยับยั้งเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียและเชื้อ Btaphylococcus ของลำไส้ใหญ่ ด้วยการนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำแล้วดื่ม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้นจ้ำ

มีสาร Anthraquinone Glycoside และ Phytosterin – B

ประโยชน์ของก้นจ้ำ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานกับน้ำพริก

ก้นจ้ำ เป็นวัชพืชที่มีประโยชน์ในการรักษามากกว่าที่คิด และยังเป็นพืชที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะหาได้จากริมข้างทาง ก้นจ้ำเป็นส่วนหนึ่งในยาพื้นบ้านของชาวล้านนา สรรพคุณส่วนมากจะอยู่ที่ใบและการนำทั้งต้นมาใช้รักษา ก้นจ้ำเป็นพืชของชาวพื้นบ้านจึงใช้รักษาอาการพื้นฐานเป็นส่วนมาก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาแผล แก้ไข้และแก้ไอ แก้โรคตามัว แก้เจ็บคอและแก้ลำไส้อักเสบ หากใครพบก้นจ้ำโดยบังเอิญก็อย่าลืมลองนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้อาการได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ก้นจ้ำ”. หน้า 2-3.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ก้นจ้ำ”. หน้า 46.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ก้นจ้ำ”. หน้า 18.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ก้นจ้ำ, หญ้าก้นจ้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [10 ก.ค. 2015].

เดื่อหว้า ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะและบรรเทาอาการท้องเสีย

0
เดื่อหว้า
เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้น ผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง
เดื่อหว้า ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะและบรรเทาอาการท้องเสีย
เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้น ผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง

เดื่อหว้า

เดื่อหว้า (Ficus auriculata Lour) เป็นพืชวงศ์ขนุนที่มักจะพบตามป่าดิบทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถนำผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ เป็นส่วนหนึ่งในตำรับยาพื้นบ้านล้านนา มักจะนำผลและยอดอ่อนของต้นมารับประทานเป็นผัก เป็นต้นที่ไม่ได้ยินบ่อยนักและผลสุกก็ไม่ค่อยมีใครนิยมทานกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเดื่อหว้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus auriculata Lour.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ไทรโพ” ภาคเหนือเรียกว่า “เดื่อหลวง” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “มะเดื่อหว้า” จังหวัดยะลาเรียกว่า “มะเดื่อชุมพร” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตะกื้อเด๊าะ” ชาวมาเลย์นราธิวาสเรียกว่า “ฮากอบาเต๊าะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของเดื่อหว้า

เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน สิกขิม พม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธารหรือริมลำน้ำ
ลำต้น : ลำต้นเห็นแผลของก้านใบที่ร่วงชัดเจน มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล มีน้ำยางสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกระจุกที่ปลายยอด ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เนื้อใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ลำต้น เกิดภายในฐานรองดอกที่รูปร่างคล้ายผล ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน
ผล : ผลเป็นผลสด เกิดเป็นกระจุกตามลำต้นหรือกิ่งขนาดใหญ่ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบนและมีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลติดอยู่ ผิวผลเกลี้ยงหรืออาจมีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม มักจะมีสันตามยาวและมีรอยแผลใบประดับข้าง ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง

สรรพคุณของเดื่อหว้า

  • สรรพคุณจากผล
    – แก้ท้องเสีย ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ประมาณครึ่งผลมารับประทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้นและราก
    – รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเปลือกต้นหรือรากมาผสมกับรากเจตพังคี รากเจตมูลเพลิงแดง รากละหุ่งแดง รากมหาก่าน รากหิ่งเม่น รากหิงหายผี ต้นพิศนาด หัวกระชาย เหง้าว่านน้ำ เมล็ดยี่หร่า เมล็ดพริกไทย เมล็ดเทียนดำหลวง วุ้นว่านหางจระเข้และเทียนทั้งห้า ในปริมาณอย่างละเท่ากันแล้วนำมาบดให้เป็นผง จากนั้นนำมาผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย

ประโยชน์ของเดื่อหว้า

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกใช้รับประทานได้ทันที ส่วนผลดิบใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือลาบ ยอดอ่อนนำไปแกงหรือรับประทานสดหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและลาบ

เดื่อหว้า มีผลเป็นพวงโดดเด่นอยู่บนต้น ผลและยอดอ่อนของต้นสามารถนำมารับประทานได้ เป็นต้นที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก ทั้งนี้เดื่อหว้าเองก็เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านล้านนาด้วย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ท้องเสียและรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เดื่อหว้า”. หน้า 111.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เดื่อหว้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 ธ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อหว้า, มะเดื่อหว้า”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2014].

กระเจียวแดง ดอกอ่อนรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย

0
กระเจียวแดง ดอกอ่อนรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
กระเจียวแดง เป็นพืชในวงศ์ขิง ดอกเป็นช่อแน่นทรงกระบอก ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอม หน่ออ่อนและดอกอ่อนนำมารับประทานได้
กระเจียวแดง ดอกอ่อนรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
กระเจียวแดง เป็นพืชในวงศ์ขิง ดอกเป็นช่อแน่นทรงกระบอก ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอม หน่ออ่อนและดอกอ่อนนำมารับประทานได้

กระเจียวแดง

กระเจียวแดง (Curcuma sessilis Gage) เป็นพืชในวงศ์ขิงที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมจึงทำให้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ดี นอกจากนั้นกระเจียวแดงยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้อย่างดีอีกด้วย หน่ออ่อนและดอกอ่อนของกระเจียวแดงสามารถนำมาปรุงอาหารหรือใช้รับประทานในรูปแบบผักได้ เป็นต้นที่หาได้ง่ายตามป่าทั่วไป

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเจียวแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma sessilis Gage.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระเจียว กระเจียวแดง” ภาคเหนือเรียกว่า “อาวแดง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดเลยเรียกว่า “กาเตียว” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “ว่านมหาเมฆ” ภาคใต้และจังหวัดชุมพรและจังหวัดสงขลาเรียกว่า “จวด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระเจียวสี กระเจียวป่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของกระเจียวแดง

กระเจียวแดง เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน สามารถอยู่ได้นานหลายปี อาจขึ้นเป็นต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ มักจะพบตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและที่โล่งทั่วไป
เหง้า : มีเหง้าใหญ่รูปวงรีในแนวดิ่ง มีผิวเป็นสีน้ำตาล ภายในเป็นสีขาว สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเหง้า
ใบ : ใบมีลักษณะเป็นกาบห่อรวมตัวกันแน่นเป็นลำต้นเทียม เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแน่นแบบช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ก้านช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2 – 7 ดอก ใบประดับที่โคนช่อดอกรองรับดอกสีเขียว ดอกเป็นสีเหลือง แฉกบนเป็นรูปวงรี แฉกด้านข้างแคบกว่าเล็กน้อย กลีบปากเป็นรูปไข่กลับและมีสีเหลือง ปลายแยกออกเป็นพู 2 พู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันจะเป็นรูปไข่กลับหรือรูปวงรี มีสีเหลืองและมีขนสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์และมีจุดสีแดงจำนวนมาก โคนอับเรณูเรียวแหลมเป็นเดือย 2 อัน โค้งเข้าหากัน เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบและมีขนสั้นขึ้นหนาแน่น มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่และที่ผิวมีขนหนาแน่น
เมล็ด : เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ

สรรพคุณของกระเจียวแดง

  • สรรพคุณจากกระเจียวแดง ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดสารพิษและสารก่อมะเร็ง
  • สรรพคุณจากดอกอ่อน เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อและลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด
  • สรรพคุณจากหน่ออ่อน เป็นยาสมานแผล
  • สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาแก้ปวดเมื่อย

ประโยชน์ของกระเจียวแดง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร หน่ออ่อนนำมาทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อยและส้มตำได้ ช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุกทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือทานดอกสดได้ สามารถนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อยได้

กระเจียวแดง เป็นต้นที่มีรสเผ็ดร้อนทำให้มีสรรพคุณช่วยขับลมในร่างกายได้ และยังมีกลิ่นหอมชวนให้น่าชมได้อีกด้วย สามารถหาได้ตามป่าทั่วไปและมีเหง้าอยู่ใต้ดิน นิยมนำส่วนของหน่ออ่อนและช่อดอกอ่อนมารับประทานเป็นผักและปรุงในอาหาร กระเจียวแดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอกอ่อน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อและลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอดได้ เป็นยาสมุนไพรที่ดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายในร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระเจียวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อาวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [08 ก.ค. 2015].
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “กระเจียว…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : royal.rid.go.th/phuphan/. [08 ก.ค. 2015].
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเจียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี

0
กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี
กระเช้าผีมด ไม้เถาเลื้อย ผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับ มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย
กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี
กระเช้าผีมด ไม้เถาเลื้อย ผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับ มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ผลแก่จะแตกออก ลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า

กระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด (Indian Birthwort) เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีชื่อเรียกแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร และยังมีผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับค่อนข้างป้อมโดดเด่นอยู่บนต้นทำให้จำง่าย เป็นต้นที่มีรสเผ็ดขมเล็กน้อยและเป็นยาเย็น นิยมใช้ส่วนของใบ ต้นและรากในการปรุงเป็นยาสมุนไพร ชาวม้งกับคนเมืองนำมาใช้ในการรักษาแต่กระเช้าผีมดเป็นต้นที่หาได้ยากในประเทศไทย มักจะนำเข้ามาจากต่างประเทศมากกว่า นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเช้าผีมด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aristolochia tagala Cham.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian Birthwort” และ “Dutchman’s pipe”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระเช้ามด กระเช้าผีมด” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “กระเช้ามด กระเช้าสีดา” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ปุลิง” จีนกลางเรียกว่า “เจี่ยต้าสู่ เอ่อเย่หม่าเอ๋อหลิน เฮยเมี่ยนฝังจี่ มู่ฝังจี่” คนเมืองเรียกว่า “ผักข้าว ผักห่ามป่าย ผักห่ามหนี” ชาวม้งเรียกว่า “ชั้วมัดหลัว” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “คอหมู่เด๊าะ” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะหูกว๋าง พ่วน ลำเด่อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ไก่ฟ้า (ARISTOLOCHIACEAE)

ลักษณะของกระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ไปตลอดจนถึงหมู่เกาะโซโลมอนและทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก จันทบุรี กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ตและจังหวัดนครศรีธรรมราช มักจะพบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ที่โล่งแจ้งและบนดินปนทราย
ลำต้น : ลำต้นเป็นเถา ผิวเป็นร่องไปตามยาวของลำเถา ลำต้นเมื่อยังอ่อนจะมีขนและขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปจนเกือบเกลี้ยงหรือจนเกลี้ยง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบมีหลายแบบ ตั้งแต่รูปไข่ไปจนถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีต่อมลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กระจัดกระจาย มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3 – 5 เส้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 3 – 4 เส้น เส้นใบย่อยเรียงตามขวางใบคล้ายขั้นบันไดและสานกันเป็นร่างแห เส้นร่างแหนั้นจะเห็นได้ชัดทางด้านล่างมากกว่าด้านบน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เป็นดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกมีเพียงชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ที่โคนหลอดจะมีลักษณะป่องเป็นกระเปาะกลม ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายและโคนของใบประดับแหลม ขอบใบมีขน ตามผิวมีขนสั้นทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่แนบติดกับก้านเกสรเพศเมีย อับเรณูเป็นรูปวงรี ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก รูปกรวยยาวและปลายมน ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกเล็ก ๆ
ผล : ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานแกมวงรี เมื่อผลแก่จะแตกออกตามยาวจากขั้วไปยังโคน ก้านผลจะแตกแยกออกเป็น 6 เส้น โดยที่โคนก้านและปลายผลยังติดกันอยู่ มีลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนรูปไข่หัวกลับค่อนข้างป้อมหรืออาจเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจกลับและมีปีก ด้านหนึ่งมีผิวเรียบ ส่วนอีกด้านมีตุ่มขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ

สรรพคุณของกระเช้าผีมด

  • สรรพคุณจากลำต้น
    – ทำให้ธาตุปกติ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำเพื่อรับประทาน
    – แก้อาการป่วยในเด็ก โดยนำลำต้นมาต้มให้เด็กที่มีอาการไม่สบายอาบ
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยลดไข้ แก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกศีรษะ
    – แก้อาการปวดบวม ด้วยการนำใบมาเผาให้ร้อนแล้ววางนาบไว้บนท้องหรือตามแขนขาที่บวม
    – บรรเทาอาการปวดเอว โดยชาวม้งนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยาหรืออาจนำมาทุบแล้วใช้ประคบเอว
    สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้คออักเสบ แก้ไข้
    สรรพคุณจากใบ ต้นและราก เป็นยาช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด รักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ ช่วยลดอาการบวมน้ำ ช่วยขับพิษที่ติดจากเชื้อไวรัสหรือพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดบวม แก้อักเสบ แก้กระเพาะอักเสบ แก้ไขข้อปวดบวม

ประโยชน์ของกระเช้าผีมด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้นึ่งหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทแกง
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. อาหารของผีเสื้อ ใบใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงผีเสื้อได้
4. เป็นส่วนประกอบของวัสดุ ชาวลัวะนำเปลือกต้นมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิงได้เหมือนเส้นใยเพียด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมด

  • สารที่พบในกระเช้าผีมด พบสาร Aristolochic acid, Magnoorine เป็นต้น
  • ฤทธิ์ของกระเช้าผีมด กระเช้าผีมดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • พิษของกระเช้าผีมด กรด aristolochic ในกระเช้าผีมดมีความเป็นพิษต่อไตและก่อให้เกิดมะเร็ง

กระเช้าผีมด เป็นต้นที่มีรสเผ็ดขมในส่วนของต้น รากและใบ เป็นยาเย็นที่มีจุดเด่นในเรื่องของการแก้ไข้และดับพิษร้อนในร่างกาย ทว่ากระเช้าผีมดเป็นต้นที่หาได้ยากในประเทศไทย หากจะหาได้ก็มักจะพบตามป่าเขา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย กระเช้าผีมดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก ต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้ แก้อาการปวดบวม รักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ เป็นต้นที่เหมาะในการปรับอุณหภูมิร่างกายที่ร้อนจากพิษไข้ให้เย็นขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระเช้าผีมด”. หน้า 120-124.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กระเช้าผีมด”. หน้า 206.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเช้าผีมด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [08 ก.ค. 2015].
ผีเสื้อแสนสวย. “การเพาะเลี้ยงผีเสื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www3.ru.ac.th/research/butterfly/home.htm. [08 ก.ค. 2015].
Kalaiarasi V, Johnson M, Sivaraman A, Janakiraman N, Babu A, Narayani M. “PHYTOCHEMICAL AND ANTIBACTERIAL STUDIES ON ARISTOLOCHIA TAGALA CHAM”. Centre for Plant Biotechnology, Department of Plant Biology and Plant Biotechnology, St. Xavier’s College (Autonomous), Palayamkottai – 627 002, Tamil Nadu, India.
STUARTXCHANGE. “Timbañgan”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.stuartxchange.org. [08 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระเช้าผีมด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

ขางครั่ง หรือ “ดอกครั่ง” ยาสมุนไพรของชาวล้านนา สำหรับแก้ไข้โดยเฉพาะ

0
ขางครั่ง หรือ “ดอกครั่ง” ยาสมุนไพรของชาวล้านนา สำหรับแก้ไข้โดยเฉพาะ
ขางครั่ง หรือ ดอกครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อย กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ด้านในเป็นสีม่วงอมแดงเข้ม ใบอ่อนและช่อดอกมีรสฝาดมัน
ขางครั่ง หรือ “ดอกครั่ง” ยาสมุนไพรของชาวล้านนา สำหรับแก้ไข้โดยเฉพาะ
ขางครั่ง หรือ ดอกครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อย กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ด้านในเป็นสีม่วงอมแดงเข้ม ใบอ่อนและช่อดอกมีรสฝาดมัน

ขางครั่ง

ขางครั่ง (Dunbaria longiracemosa Craib) หรือเรียกอีกอย่างว่า ดอกครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีดอกสีสันหลากหลายซึ่งกลีบด้านนอกมีสีเขียวอมเหลืองและด้านในมีสีม่วงอมแดงเข้มโดดเด่นอยู่บนต้น สามารถนำดอก ใบอ่อนและช่อดอกมารับประทานเป็นผักได้ ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากนั้นขางครั่งยังเป็นส่วนหนึ่งในยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวล้านนาอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขางครั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dunbaria longiracemosa Craib
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ดอกครั่ง” จังหวัดเลยเรียกว่า “เถาครั่ง” จังหวัดลำพูนเรียกว่า “ขางครั่ง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Dunbaria longeracemosa Craib

ลักษณะของขางครั่ง

ขางครั่ง เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มเลื้อยพันที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในลาว กัมพูชา เวียดนามและประเทศไทย สามารถพบได้ในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรังและป่าดิบ
ลำต้น : ลำต้นเป็นสีเขียวอมน้ำตาลและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยส่วนปลายเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก ใบย่อยด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยวหรือรูปใบหอกแกมสามเหลี่ยม หน้าใบและหลังใบมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ผิวใบนุ่ม สีใบด้านหน้าเป็นสีเขียวอมเหลืองอ่อนถึงเขียวเข้มและค่อนข้างมัน สีใบด้านหลังเป็นสีเขียวอมเหลืองเข้มกว่าด้านหน้าและผิวออกด้านเล็กน้อย ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย เส้นใบด้านหลังนูนขึ้นเป็นสันเล็กน้อย เส้นใบแตกแบบขนนก ก้านใบมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น หูใบแหลม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ดอกย่อยมีหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกถั่วจำนวน 6 – 35 ดอกต่อช่อ ออกเรียงสลับรอบแกนช่อดอก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ด้านในเป็นสีม่วงอมแดงเข้ม มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นช่อง 3 ช่อง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม เมื่อแห้งจะแตกเป็นสองแนว ออกผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล

สรรพคุณของขางครั่ง

  • สรรพคุณจากรากและใบ
    แก้ไข้ ยาพื้นบ้านล้านนานำรากหรือใบมาผสมกับใบโผงเผงแล้วบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นปั้นเป็นยาลูกกลอนเพื่อทานแก้อาการ

ประโยชน์ของขางครั่ง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาทำอาหารประเภทผัก ใบอ่อนและช่อดอกมีรสฝาดมันนำมาทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ฝักรับประทานได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติหรือสัตว์แทะเล็มอย่างโคกระบือ

คุณค่าทางโภชนาการของใบและเถาอ่อน

คุณค่าทางโภชนาการของใบและเถาอ่อน ให้โปรตีน 13.34% เยื่อใย 29.14% ไขมัน 2.18% เถ้า 6.87% คาร์โบไฮเดรต (NFE) 48.47% เยื่อใยส่วน ADF 33.38% NDF 45.11% และลิกนิน 9.88%

ขางครั่ง เป็นไม้เถาเลื้อยที่ชาวล้านนานำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยาพื้นบ้านเพื่อแก้ไข้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นผักที่สามารถนำดอก ใบอ่อนและช่อดอกมารับประทานได้โดยจะให้รสฝาดมัน นอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้วยังเป็นอาหารของสัตว์แทะเล็มอีกด้วย เป็นต้นในวงศ์ถั่วที่เหมาะสำหรับชาวเกษตรในการเลี้ยงโคกระบือและยังเป็นผักไว้ทานเองได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขางครั่ง”. หน้า 91.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ดอกครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [03 มิ.ย. 2015].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [03 มิ.ย. 2015].
ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [03 มิ.ย. 2015].
พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/ขางครั่ง.pdf. [03 มิ.ย. 2015].
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [03 มิ.ย. 2015].

ข้าวสารดอกใหญ่ ดอกสีขาวกลิ่นหอม เมล็ดช่วยแก้ไข้และขับเหงื่อ รากใช้รักษาดวงตา

0
ข้าวสารดอกใหญ่ ดอกสีขาวกลิ่นหอม เมล็ดช่วยแก้ไข้และขับเหงื่อ รากใช้รักษาดวงตา
ข้าวสารดอกใหญ่ มีดอกสีขาวขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม ฝักโค้ง ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่ซึ่งมีขนเป็นพู่
ข้าวสารดอกใหญ่ ดอกสีขาวกลิ่นหอม เมล็ดช่วยแก้ไข้และขับเหงื่อ รากใช้รักษาดวงตา
ข้าวสารดอกใหญ่ มีดอกสีขาวขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม ฝักโค้ง ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่ซึ่งมีขนเป็นพู่

ข้าวสารดอกใหญ่

ข้าวสารดอกใหญ่ (Raphistemma pulchellum) มีดอกสีขาวขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม มักจะพบตามป่าดิบเขาบริเวณชายป่าและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับข้าวสารดอกเล็กและอยู่ในวงศ์ตีนเป็ดเหมือนกัน สามารถนำดอกและผลมาปรุงในอาหารได้ ข้าวสารดอกใหญ่มักจะเรียกอีกอย่างว่า “ข้าวสารเถา”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวสารดอกใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphistemma pulchellum (Roxb.) Wall.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ข้าวสาร” ภาคเหนือเรียกว่า “เครื่อเขาหนัง” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “มะโอเครือ เคือเขาหนัง” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “เคือคิก” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ข้าวสารดอกใหญ่” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “เมือสาร” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “เข้าสาร” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “ไคร้เครือ” ชาวกะเหรี่ยงลำปางเรียกว่า “เซงคุยมังอูมื่อ เซงคุยมังอูหมื่อ มังอุยเหมื่อเซงครึย” คนลาวเรียกว่า “โอเคือ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ข้าวสารเถา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของข้าวสารดอกใหญ่

ข้าวสารดอกใหญ่ เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยที่มักจะพบตามป่าดิบเขาบริเวณชายป่าและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป สามารถพบได้ในประเทศอินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ มาเลเซียและประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นมีขนาดเล็กและเกลี้ยง มีน้ำยางสีขาว
ใบ : ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนที่โคนเส้นกลางใบมีขนขึ้นเป็นกระจุก ก้านใบมีลักษณะเรียวและเล็ก
ดอก : ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม ดอกเป็นสีขาวหรือสีครีม ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 4 – 10 ดอก ก้านดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองดอกมี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายกลม ส่วนขอบกลีบบาง กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบหนาและสั้นกว่าท่อดอกมาก เส้าเกสรมี 5 กลีบ โดยจะอยู่ติดกับชั้นของเกสรเพศผู้ซึ่งเชื่อมติดกัน มักจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้ง ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่ซึ่งมีขนเป็นพู่

สรรพคุณของข้าวสารดอกใหญ่

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาหยอดตา แก้ตาแดง แก้ตาแฉะและตามัว
  • สรรพคุณจากเมล็ด ขับเหงื่อ แก้ไข้

ประโยชน์ของข้าวสารดอกใหญ่

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกและผลใช้เป็นอาหารได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวสารดอกใหญ่

พบสาร Cardiac glycoside ในเมล็ดข้าวสารดอกใหญ่ ซึ่งเป็นสารในธรรมชาติที่มักจะพบในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) เป็นสารที่มีพิษจึงนิยมนำมาทำเป็นธนูอาบยาพิษแต่ก็เป็นสารที่ใช้ในการรักษาได้เช่นกัน ในที่นี้จะนำเมล็ดมาใช้แก้ไข้และขับเหงื่อได้

ข้าวสารดอกใหญ่ เป็นต้นที่มีดอกสีขาวขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม สามารถนำดอกและผลมาปรุงในอาหารได้ ข้าวสารดอกใหญ่จะมีสรรพคุณอยู่ที่ส่วนของเมล็ดและราก แม้ว่าเมล็ดจะมีสารที่เป็นพิษต่อหัวใจแต่สามารถนำมาใช้แก้อาการได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้อาการตาแดงและตามัว ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีในการนำมารักษาดวงตาและแก้โรคที่เกี่ยวกับตา

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข้าวสารดอกใหญ่”. หน้า 125-126.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ข้าวสาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [15 มี.ค. 2015].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ข้าวสารเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 มี.ค. 2015].

ข้าวสารดอกเล็ก ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคทางดวงตา

0
ข้าวสารดอกเล็ก ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคทางดวงตา
ข้าวสารดอกเล็ก มีดอกสีขาวขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว
ข้าวสารดอกเล็ก ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคทางดวงตา
ข้าวสารดอกเล็ก มีดอกสีขาวขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว

ข้าวสารดอกเล็ก

ข้าวสารดอกเล็ก (Raphistemma hooperianum) มีดอกสีขาวขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม มักจะพบตามชายป่าหรือที่รกร้างทั่วไป เป็นต้นที่คนไม่ค่อยรู้จักหรือเคยได้ยินแต่อยู่ในตำรายาไทยที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรด้วย สามารถนำดอกมาใช้ใส่ในแกงส้มซึ่งให้รสชาติที่อร่อยและยังนำส่วนเถามาทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ ข้าวสารดอกเล็กสามารถนำมาปลูกเพื่อให้กลิ่นหอมและเพื่อใช้รับประทานเป็นผักได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวสารดอกเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphistemma hooperianum (Blume) Decne.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ข้าวสาร เครือข้าวสาร” ภาคอีสานและจังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ปลายสาน ดอกข้าวสาร ผักข้าวสาร” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “เคือคิก” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ข้าวสารดอกเล็ก” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “เมือยสาร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของข้าวสารดอกเล็ก

ข้าวสารดอกเล็ก เป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้เถาเลื้อยพันที่พบตามชายป่าดิบทั่วไป ชายป่าธรรมชาติ บริเวณสวนที่รกร้างหรือบริเวณป่าไผ่
ลำต้น : ลำต้นเกลี้ยงและมีน้ำยางสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้าทั้งสองข้าง ห้อยเป็นรูปติ่งหู ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนที่โคนเส้นกลางใบจะมีขนสั้นและออกเป็นกระจุก ก้านใบมีลักษณะเล็กและยาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 4 – 7 ดอก ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบรองดอกเป็นรูปไข่ปลายมน มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีขาวก่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองนวล ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีลักษณะยาวกว่าท่อดอกเล็กน้อย ที่ปลายกลีบมีสีแต้มสีม่วง เส้าเกสรมีสีขาว มักจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว
ผล : ลักษณะของผลจะเป็นฝักรูปไข่แกมขอบขนานหรือเป็นรูปกระสวย ฝักเป็นสีเขียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีขนสีขาว

สรรพคุณของข้าวสารดอกเล็ก

  • สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้ถอนพิษ ทำให้อาเจียนและระงับพิษทั้งปวง
    – เป็นยารักษาตาอย่างแก้ตาแดง แก้ตาอักเสบ แก้ตาแฉะ แก้ตามัว แก้ตาฝ้าฟาง ป้องกันโรคต้อกระจก เป็นยาหยอดตา ด้วยการนำรากตากแห้งมาบดแล้วทานเป็นยา

ประโยชน์ของข้าวสารดอกเล็ก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาใส่ในแกงส้ม เถาใช้ลอกเปลือกจิ้มกับน้ำพริก โคนต้นที่หมกดินนำมาล้างแล้วต้มลอกเปลือกใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือน้ำปลาร้า
2. ปลูกเพื่อรับประทาน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวสารดอกเล็ก

พบสาร Cardiac glycoside ในเมล็ดข้าวสารดอกเล็ก ซึ่งเป็นสารในธรรมชาติที่มักจะพบในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) เป็นสารที่มีพิษจึงนิยมนำมาทำเป็นธนูอาบยาพิษแต่ก็เป็นสารที่ใช้ในการรักษาได้เช่นกัน

ข้าวสารดอกเล็ก เป็นต้นที่อยู่ในตำรายาไทยและมีดอกสีขาวกลิ่นหอมชวนให้น่าปลูก นอกจากนั้นยังนำส่วนต่าง ๆ ของต้นโดยเฉพาะดอกและเถามารับประทานได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาอยู่ที่ส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยถอนพิษ ดีต่อดวงตาและรักษาโรคที่เกี่ยวกับตาได้ ข้าวสารดอกเล็กเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคทางดวงตาเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข้าวสารดอกเล็ก”. หน้า 124-125.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [15 มี.ค. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [15 มี.ค. 2015].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [15 มี.ค. 2015].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ข้าวสารดอกเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [15 มี.ค. 2015].