กุหลาบมอญ ดอกสีสดใสสวยงาม มีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจและคลายความอ่อนเพลีย

0
กุหลาบมอญ ดอกสีสดใสสวยงาม มีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจและคลายความอ่อนเพลีย
กุหลาบมอญ หรือดอกยี่สุ่นเป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี ดอกเป็นช่อกระจุกมีกลิ่นหอมมาก
กุหลาบมอญ ดอกสีสดใสสวยงาม มีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจและคลายความอ่อนเพลีย
กุหลาบมอญ หรือดอกยี่สุ่นเป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี ดอกเป็นช่อกระจุกมีกลิ่นหอมมาก

กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ (Damask rose) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ดอกยี่สุ่น” เป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี เชื่อกันว่ามีการนำเข้าในไทยเพราะเป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดของสมเด็จพระนเรศวร เป็นไม้ดอกที่มีดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าที่เห็นภายนอก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกุหลาบมอญ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa × damascena Mill.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Damask rose” “Pink damask rose” “Summer damask rose” “Rose”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ยี่สุ่น” เงี้ยวและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กุหลาบออน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)

ลักษณะของกุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ เป็นไม้พุ่มกลางแจ้งที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียไปจนถึงเขตอบอุ่นของยุโรปตั้งแต่อินเดีย อิหร่าน ประเทศแถบตะวันออกกลางไปจนถึงตุรกีและบัลแกเรีย
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น
เปลือกต้น : เปลือกเรียบ มีหนามแหลมตามกิ่งและตามลำต้น ปกติมีหนามมากและมีความยาวไม่เท่ากัน มีลักษณะตรงถึงโค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบ แผ่นใบด้านล่างมีขนไม่มีต่อม ก้านใบมีขนสีน้ำตาลแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะหรือช่อแบบกระจุกแตกแขนงบริเวณปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีชมพูและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ปลายกลีบมนหรือเป็นคลื่น กลีบดอกมีตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวรูปสามเหลี่ยม
ผล : เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ผลเป็นสีแดงอ่อนไปจนถึงเข้ม
เมล็ด : ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 1 – 3 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมกลม

สรรพคุณของกุหลาบมอญ

  • สรรพคุณจากกุหลาบมอญ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ
  • สรรพคุณจากกลีบดอก บำรุงหัวใจ ช่วยขับน้ำดี
  • สรรพคุณจากดอกแห้ง บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ
  • สรรพคุณจากน้ำดอกไม้เทศที่มีส่วนผสมของกุหลาบมอญ แก้อาการอ่อนเพลียและกระวนกระวาย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ

น้ำมันกุหลาบมอญเป็นสารที่มีความปลอดภัยในการใช้ เนื่องจากมีค่าทำให้สัตว์ทดลองครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้ยาทางปากกับหนูขาวและให้ยาทาโดยการทาผิวหนังของกระต่ายมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม

ประโยชน์ของกุหลาบมอญ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร กลีบดอกสามารถนำมาชุบแป้งทอด ใช้รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก หรือทำเมนูยำดอกกุหลาบได้ ใช้แต่งหน้าขนมตะโก้หรือนำมาใช้โรยบนท่อนอ้อยควั่น กลีบดอกใช้ทำเป็นชากุหลาบ เป็นส่วนผสมของน้ำดอกไม้เทศ
2. เป็นไม้ประดิษฐ์ นำดอกมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย กลีบดอกนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์และบุหงา
3. สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นยา แต่งกลิ่นอาหารและน้ำเชื่อมของขนมไทย และนำมาใช้เป็นหัวน้ำหอม
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกง่ายและดูแลง่าย มีดอกที่สวยงามและสีสันสดใสเหมาะสำหรับปลูกไว้ในสวน

กุหลาบมอญ ใช้เป็นยาหอมสำหรับบำรุงหัวใจในตำราไทย ส่วนมากที่พบมักจะมีสีชมพูไปจนถึงสีแดง เป็นดอกที่สวยงามมากและมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังปลูกง่ายและดูแลง่ายเหมาะอย่างมากในการนำมาปลูกไว้ในบ้าน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ และช่วยขับน้ำดี นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นไม้ประดิษฐ์อีกด้วย ถือเป็นไม้ดอกที่มีประโยชน์ในหลายด้านจริง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 53.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “”กุหลาบมอญ”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 181.
ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กุหลาบมอญ”. อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมณฑล, หน้า 21, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [04 ก.พ. 2014].
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th. [04 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [04 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กุหลาบมอญ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [04 ก.พ. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 484, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553. “กุหลาบมอญ กุหลาบในตำนาน”. (องอาจ ตัณฑวณิช).

กาหลง มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน

0
กาหลง มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน
กาหลง มีดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชาวเวียดนามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ป่า สัญลักษณ์ของความรัก
กาหลง มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟัน
กาหลง มีดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชาวเวียดนามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ป่า สัญลักษณ์ของความรัก

กาหลง

กาหลง (Snowy orchid tree) มีดอกสีขาวสวยงาม เป็นดอกที่มีความหมายและความเชื่อมากมาย ส่วนมากคนไทยมักจะได้ยินผ่านหูเนื่องจากคำว่า “กาหลง” มักจะนำไปใช้มากมายในละคร กาหลงได้รับการยกย่องจากชาวเวียดนามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ป่าและเป็นสัญลักษณ์ของความรัก นอกจากความเชื่อแล้วยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกาหลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia acuminata L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Snowy orchid tree” “Orchid tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ส้มเสี้ยว” มลายูและนราธิวาสเรียกว่า “กาแจ๊กูโด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เสี้ยวน้อย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “โยธิกา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของกาหลง

กาหลง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเมืองร้อนตั้งแต่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
เปลือกลำต้น : ผิวเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงและไม่ค่อยมีขน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรีกว้าง ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่ง ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนละเอียดสีขาว ร่วงได้ง่ายและมีแท่งรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ ผลัดใบในช่วงฤดูหนาวและเริ่มแตกใบอ่อนในช่วงฤดูร้อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะแบบสั้น ๆ บริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีลักษณะตูมเป็นรูปกระสวย มีกลีบสีขาว 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ปลายกลีบมน โคนสอบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว 5 กลีบติดกันคล้ายกาบ ปลายกลีบมีลักษณะเรียวแหลมและแยกเป็นพูเส้นสั้น ๆ 5 เส้น สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : มีลักษณะเป็นฝักแบน ขอบฝักเป็นสันหนา ส่วนปลายฝักและโคนฝักสอบแหลม ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
เมล็ด : ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5 – 10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กและแบนหรือเป็นรูปขอบขนาน

สรรพคุณของกาหลง

  • สรรพคุณจากดอก ลดความดันโลหิต แก้อาการปวดศีรษะ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะพิการ แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้เสมหะ แก้อาการไอ แก้บิด
  • สรรพคุณจากใบ รักษาแผลในจมูก
  • สรรพคุณจากต้น แก้เลือดออกตามไรฟัน เป็นยาแก้เสมหะ แก้โรคสตรี

ประโยชน์ของกาหลง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำดอกมารับประทาน ชาวเขาจะนิยมรับประทานยอดอ่อน
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ชาวจีนมักปลูกต้นกาหลงไว้เป็นไม้ประจำบ้านเพราะเชื่อว่าต้นกาหลงเป็นไม้ที่ให้คุณแก่เจ้าของบ้าน

ข้อควรระวัง

ไม่ควรสัมผัสต้นกาหลงบริเวณใบและกิ่งโดยตรงเนื่องจากมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประปราย อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้

กาหลง เหมาะสำหรับปลูกประดับเป็นอย่างมากเพราะมีดอกสีขาวสวยงามและปลูกง่าย อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่ดีต่อผู้ปลูกด้วย นอกจากนั้นยังนำมารับประทานได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาแผลในจมูก แก้เสมหะและลดความดันโลหิต

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กาหลง (Kalong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 47.
ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/. [04 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [04 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [04 ก.พ. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “กาหลง : มิใช่หลงเฉพาะเพียงกา”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [04 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กาหลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [04 ก.พ. 2014].

แว่นแก้ว พรรณไม้น้ำยอดนิยมในอ่างปลา แต่มีสรรพคุณทางยาได้ด้วย

0
แว่นแก้ว พรรณไม้น้ำยอดนิยมในอ่างปลา แต่มีสรรพคุณทางยาได้ด้วย
แว่นแก้วมีลักษณะคล้ายบัวบกนิยมนำมาประดับในอ่างปลาช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้กับบ้าน
แว่นแก้ว พรรณไม้น้ำยอดนิยมในอ่างปลา แต่มีสรรพคุณทางยาได้ด้วย
แว่นแก้วมีลักษณะคล้ายบัวบกนิยมนำมาประดับในอ่างปลาช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้กับบ้าน

แว่นแก้ว

แว่นแก้ว (Water pennywort) มีลักษณะคล้ายบัวบก เป็นพืชที่มีอายุยาวหลายปี ส่วนมากมักจะพบเป็นไม้ประดับในอ่างปลาเนื่องจากแว่นแก้วเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย จึงเหมาะที่จะนำมาประดับเป็นพืชในบ้านได้ แถมยังมีสรรพคุณเป็นยาที่หลายคนไม่เคยรู้อีกด้วย นอกจากนั้นแว่นแก้วยังเป็นไม้มงคลที่ช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้กับบ้าน ถือเป็นพรรณไม้น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแว่นแก้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia rotunda L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water pennywort”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อท้องถิ่นว่า “บัวแก้ว” “ผักหนอก” “ผักหนอกใหญ่” “ผักหนอกเทศ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Kaempferia longa Jacq., Kaempferia versicolor Salisb., Zerumbet zeylanica Garsault

ลักษณะของแว่นแก้ว

แว่นแก้ว เป็นไม้น้ำที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคกลาง มีกลิ่นหอม มักจะขึ้นในที่ชื้นแฉะและริมน้ำ
ลำต้น : ทอดเลื้อยไปตามผิวดินที่ชุ่มชื้น
ราก : รากออกตามข้อ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวลักษณะกลม มีก้นปิด ขอบใบหยักมนหรือเป็นแฉกมน มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบสีเขียวอ่อนและตั้งตรงขึ้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อซี่ร่ม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีสีขาวขุ่นถึงขาวอมเขียวอ่อน
ผล : เป็นผลชนิดแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก
เมล็ด : ในแต่ละซีกจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก

สรรพคุณผักแว่นแก้ว

  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้พิษไข้ แก้อาการตาแดง แก้อาการท้องเสีย แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ช่วยขับปัสสาวะ เป็นยาแก้บวม
  • สรรพคุณจากใบ แก้อาการช้ำในด้วยการนำใบมาต้มแล้วดื่ม

ประโยชน์ผักแว่นแก้ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำใบมารับประทานเป็นผัก โดยใช้เป็นผักจิ้มเครื่องหลน เป็นเครื่องเคียงหรือนำไปทำแกง รับประทานกับลาบแบบสด ๆ หรือนำไปคั้นทำเป็นน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน
2. เป็นพืชปลูกประดับ เป็นไม้ประดับในตู้ปลาหรืออ่างปลา ปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อให้ความสวยงาม เป็นไม้ที่นิยมเนื่องจากแว่นแก้วเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย

แว่นแก้ว เป็นพืชไม้น้ำที่สามารถนำมารับประทานเป็นผัก ปลูกเป็นไม้ประดับและนำมาทำเป็นยาได้ สามารถปลูกได้ง่ายด้วยตัวเอง สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาการบวมหรือช้ำใน แก้อาการตาแดง แก้ท้องเสียหรือท้องอืดท้องเฟ้อได้ แม้ว่าสรรพคุณจะไม่ได้มากมายเหมือนผักอื่น ๆ แต่แว่นแก้วนั้นดูแลรักษาง่าย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายตามแต่ผู้ปลูกต้องการ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 พ.ย. 2013].
พรรณไม้น้ำ เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [7 พ.ย. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แว่นแก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [7 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th [7 พ.ย. 2013].
งานประสานงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้. “มารู้จักต้นไม้ในงานประสานงาน ม.แม่โจ้ กันเถิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.coordinate.mju.ac.th. [7 พ.ย. 2013].

ขจร ดอกสีเหลืองกลิ่นหอม มีสรรพคุณช่วยบำรุงอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย

0
ขจร ดอกสีเหลืองกลิ่นหอม มีสรรพคุณช่วยบำรุงอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย
ขจร หรือดอกสลิดเป็นไม้เถาเลื้อย ดอกที่มีสีเหลืองสดเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ
ขจร ดอกสีเหลืองกลิ่นหอม มีสรรพคุณช่วยบำรุงอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย
ขจร หรือดอกสลิดเป็นไม้เถาเลื้อย ดอกที่มีสีเหลืองสดเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ

ขจร

ขจร (Cowslip creeper) หรือเรียกกันว่า “ผักสลิด” และ “ดอกสลิด” เป็นไม้ต้นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ส่วนมากมักจะพบขจรในเมนูอาหารมากมายอย่างแกงส้มดอกขจร เป็นดอกที่มีสีเหลืองสดและมีสรรพคุณทางยาอย่างคาดไม่ถึง เป็นต้นที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขจร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Telosma cordata (Burm. f.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cowslip creeper”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สลิด ขจร” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักสลิด” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “กะจอน ขะจอน สลิดป่า ผักสลิดคาเลา ผักขิก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อพ้อง : Telosma minor (Andrews) W. G. Craib

ลักษณะของขจร

ขจร เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย มักจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะและป่าเต็งรัง
เถา : เถามีขนาดเล็ก ลักษณะกลมเหนียวมากและเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์หรือใบพลู ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบบางเกลี้ยง หน้าใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียวอมแดงเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามใบหรือออกเป็นพวง ๆ คล้ายพวงอุบะตามซอกใบหรือโคนก้านใบ ดอกย่อยมีลักษณะแข็งเป็นสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวปลายแหลม ผิวเรียบ ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตะเข็บเดียว
เมล็ด : ภายในผลหรือฝักมีเมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก และมีปุยสีขาวติดอยู่ที่ปลายเมล็ด เมล็ดปลิวว่อนคล้ายกับนุ่นที่มีเมล็ดเกาะติดกับใยสีขาว

สรรพคุณของขจร

  • สรรพคุณจากดอก บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา รักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรือตากอากาศเย็น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ แก้เสมหะและโลหิต ช่วยบำรุงปอด แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ช่วยในการขับถ่าย บำรุงฮอร์โมนของสตรี บำรุงตับและไต
  • สรรพคุณจากยอดใบอ่อน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา บำรุงตับและไต
  • สรรพคุณจากราก รักษาโลหิตเป็นพิษ ช่วยให้อาเจียน เป็นยาดับพิษ ทำให้รู้รสชาติของอาหารและช่วยดับพิษยา
    – แก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ด้วยการนำรากมาฝนหยอดตาหรือใช้ผสมกับยาหยอดตา
  • สรรพคุณจากแก่นและเปลือก บำรุงธาตุในร่างกาย

ประโยชน์ของขจร

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ผลอ่อนและดอกใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำมาลวกให้สุกแล้วรับประทานร่วมกับน้ำพริก ดอกนำไปทำเมนูแกงส้มดอกขจร แกงจืดดอกขจร แกงเลียง ขจรผัดไข่ ขจรชุบแป้งทอด ยำดอกขจร ข้าวต้มดอกขจร เป็นต้น สามารถทำขนมดอกขจรได้ด้วย
2. เป็นไม้ประดิษฐ์ นำมาใช้ร้อยอุบะติดชายมาลัยหรือเครื่องแขวนต่าง ๆ
3. ใช้แทนอุปกรณ์ เถานำมาใช้แทนเชือกได้
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้

คุณค่าทางโภชนาการของขจร

คุณค่าทางโภชนาการของขจรในส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 72 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม
โปรตีน 5.0 กรัม
ไขมัน 1.1 กรัม
ใยอาหาร 0.8 กรัม
น้ำ 80.5 กรัม
เถ้า 1.0 กรัม
วิตามินเอ 3,000 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.17 มิลลิกรัม
วิตามินซี 68 มิลลิกรัม
แคลเซียม 70 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.0 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม

ขจร เป็นดอกที่มีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ยอดอ่อนของขจรคือส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุด ทั้งนี้ลำต้นนั้นเป็นพิษต่อสุกร ในส่วนของรากมีรสเบื่อเย็น ดอกมีรสเย็นขมและหอม สามารถนำดอกมาใช้เป็นเครื่องยาหอมได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงสายตา บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงตับและไต เป็นต้นที่คู่ควรแก่การนำมารับประทานในชีวิตประจำวัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขจร (Kha Chon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 56.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [07 ก.พ. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ขนุนและขจร”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [07 ก.พ. 2014].
กรุ่นกลิ่นดอกไม้ในโคราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. “ขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nrru.ac.th. [07 ก.พ. 2014].
สถานบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ขจร”.
หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “สลิด ขจร (Telosma monor Craib)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.chula.ac.th/thaiplants/. [07 ก.พ. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “ดอกขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [07 ก.พ. 2014].
Tree2go. “ขจร Telosma minor Craib อร่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tree2go.com. [07 ก.พ. 2014].
มติชนออนไลน์. “ดอกขจร”. (จอม ณ คลองลึก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [07 ก.พ. 2014].

กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ

0
กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ
กระถิน พืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย
กระถิน สมุนไพรพื้นบ้านทั่วไป อุดมไปด้วยธาตุฟอสฟอรัสและวิตามินเอ
กระถิน พืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย

กระถิน

กระถิน (Leucaena leucocephala) เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นไม้ที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี สามารถนำต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก และยังเป็นไม้ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเนื่องจากต้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และยังเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับบำรุงสุขภาพได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระถิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “White popinac” “Lead tree” “Horse tamarind” “Leucaena” “lpil – lpil”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหนองบก” ภาคใต้เรียกว่า “ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กะเส็ดโคก กะเส็ดบก” จังหวัดสมุทรสงครามเรียกว่า “กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักก้านถิน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระถินยักษ์”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของกระถิน

กระถิน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
เปลือกต้น : เปลือกต้นมีสีเทาและมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน แกนกลางใบประกอบมีขน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน
ดอก : ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก ดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ฝัก : ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ เมื่อแก่จะแตกตามยาว
เมล็ด : มีเมล็ดในฝักเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15 – 30 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่แบนกว้างสีน้ำตาลและเป็นมัน

สรรพคุณของกระถิน

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาอายุวัฒนะ ขับลมในลำไส้ ขับระดูขาวของสตรี
  • สรรพคุณจากเมล็ดแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาการนอนไม่หลับ ขับลมในลำไส้ ขับระดูขาวของสตรี บำรุงไตและตับ
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน บำรุงกระดูก ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคความดันโลหิตสูง บำรุงและรักษาสายตา บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
  • สรรพคุณจากฝักอ่อน บำรุงกระดูก บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
  • สรรพคุณจากเมล็ด บำรุงกระดูก ลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร
    – เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25 – 50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5 – 20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3 – 5 วัน
  • สรรพคุณจากดอก แก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา บำรุงตับ
  • สรรพคุณจากฝัก แก้อาการท้องร่วง เป็นยาฝาดสมานและใช้ห้ามเลือด
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาฝาดสมานและใช้ห้ามเลือด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถิน

1. เมล็ดมีสารลิวซีนีน (Leucenine) ซึ่งจะทำให้สัตว์เป็นหมันได้
2. สารสกัดจากใบกระถินเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัขจะทำให้มีระดับความดันโลหิตลดลง มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง แต่ฤทธิ์ดังกล่าวนี้สามารถต้านได้ด้วย Atropine และยาต้านฮิสตามีน
3. หากนำน้ำยาสกัดกระถินมาใช้กับหัวใจของกบและเต่า พบว่ามีอัตราการบีบของหัวใจลดลงและในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro ก็พบว่าน้ำสกัดนี้ทำให้เกิดแรงตึงตัวและเกิดแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองใน in vivo จะพบว่าการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง

ประโยชน์ของกระถิน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ฝักอ่อนและเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้
2. ใช้ในการเกษตร สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ นำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ลำต้นหรือเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตรอย่างการทำฟืนและเผาทำถ่านได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรม เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด เป็นต้น นำเปลือกต้นมาทำเป็นกระดาษได้แต่คุณภาพไม่ค่อยดี นำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัมจะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ “กระถินยักษ์” ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลมและช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ และยังเป็นไม้มงคลตามความเชื่ออีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 62 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
โปรตีน 8.4 กรัม
ไขมัน 0.9 กรัม
เส้นใยอาหาร 3.8 กรัม
น้ำ 80.7 กรัม
วิตามินเอ 7,883 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.33 มิลลิกรัม
วิตามินบี2  0.09 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
แคลเซียม 137 มิลลิกรัม
เหล็ก 9.2 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

การเลือกซื้อและการเก็บรักษากระถิน

การเลือกซื้อ ควรเลือกซื้อยอดกระถินหรือฝักอ่อนที่มีความสดใหม่และไม่เหี่ยว
การเก็บรักษา นำกระถินมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วนำมาใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทและเก็บเข้าแช่ตู้เย็นในช่องผัก

โทษของกระถิน

1. มีสารลิวซีนีน (Leucenine) ทำให้ขนร่วงและเป็นหมันได้หากสัตว์กินใบกระถินในปริมาณสูง
2. กระถินสามารถดูดสารซีลีเนียมจากดินได้มาก อาจเป็นพิษต่อคนที่เป็นโรคเกาต์
3. ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงเพราะมีกรดยูริคสูง

กระถิน แต่ละส่วนของต้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม และยังนำมารับประทานได้หลายส่วน แต่ละส่วนมีรสชาติแตกต่างกัน ส่วนของใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย รากมีรสจืดเฝื่อน ส่วนเปลือกมีรสฝาด เป็นผักที่มีทั้งประโยชน์และโทษ มีสารอาหารฟอสฟอรัสและวิตามินเอสูง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกระดูก ลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคความดันโลหิตสูง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระถินไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [23 พ.ย. 2013].
ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [23 พ.ย. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [23 พ.ย. 2013].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [23 พ.ย. 2013].
เดลินิวส์. “กระถินกินมีประโยชน์”. (06/12/55). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [23 พ.ย. 2013].
GotoKnow. “พืชผักสมุนไพรใกล้ครัว: กระถิน”. (ครูนาย). อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยสมุนไพรไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นฤมล มงคลชัยภักดิ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [23 พ.ย. 2013].
เว็บสำหรับคนรักอาหาร. “กระถิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siammoo.com. [23 พ.ย. 2013].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “กระถินบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [23 พ.ย. 2013].

กระดอม ยาสมุนไพรชั้นดีสำหรับสตรี บำรุงมดลูกและบำรุงน้ำนม

0
กระดอม ยาสมุนไพรชั้นดีสำหรับสตรี บำรุงมดลูกและบำรุงน้ำนม
กระดอม หรือลูกกระดอมเป็นสมุนไพรในตำรับยาโบราณ ลักษณะคล้ายกระสวยหรือรูปวงรีแหลมหัวท้าย มีผิวสาก ผลแก่สุกมีพิษ ผลอ่อนแห้งเป็นสีน้ำตาลทานได้
กระดอม ยาสมุนไพรชั้นดีสำหรับสตรี บำรุงมดลูกและบำรุงน้ำนม
กระดอม หรือลูกกระดอมเป็นสมุนไพรในตำรับยาโบราณ ลักษณะคล้ายกระสวย วงรีแหลมหัวท้าย มีผิวสาก ผลแก่สุกมีพิษ ผลอ่อนแห้งเป็นสีน้ำตาลทานได้

กระดอม

กระดอม (Gymnopetalum chinensis) หรือลูกกระดอมมีผลที่โดดเด่นและมีสรรพคุณทางยารักษา ส่วนมากมักจะพบอยู่ในแกงป่ามากกว่าการรับประทานในรูปแบบอื่น เป็นผักชื่อแปลกที่เป็นสมุนไพรในตำรับยาโบราณของไทยอย่างตำรับยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร์และตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา เป็นต้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระดอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะนอยจา” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ขี้กาเหลี่ยม” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “ขี้กาดง ขี้กาน้อย” จังหวัดน่านเรียกว่า “ผักแคบป่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ขี้กาลาย” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ดอม” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักขาว” และจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มะนอยหก มะนอยหกฟ้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ชื่อพ้อง : Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz

ลักษณะของกระดอม

กระดอม เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค มักจะขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง
ลำต้น : เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นร่องและมีมือเกาะ (tendril)
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปไตไปจนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยมหรือเป็นแฉก โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ
ดอก : เป็นดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ขอบใบเป็นจักแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก กลีบดอกมีสีขาว โคนติดกันเล็กน้อยส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นเดี่ยว ๆ และกลีบเลี้ยงลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ มีรังไข่ช่อเดียว ยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 3 แฉก
ผล : ผลสุกเป็นสีแดงอมส้มรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายกระสวยหรือรูปวงรีแหลมหัวท้าย มีผิวสากและมีสัน 10 สัน เนื้อผลสีเขียว ผลแก่และผลสุกมีพิษห้ามรับประทาน ส่วนผลอ่อนจะแห้งเป็นสีน้ำตาลสามารถรับประทานได้
เมล็ด : มีเมล็ดจำนวนมากเป็นรูปวงรี ลักษณะเป็นริ้ว ๆ สีน้ำตาลไหม้และมีกลิ่นฉุน

สรรพคุณของกระดอม

  • สรรพคุณจากผล
    – บำรุงโลหิต ด้วยการนำผลมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากผลอ่อน ช่วยดับพิษโลหิต ดับพิษร้อนในร่างกาย แก้อาการสะอึก ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ดีฝ่อ ดีแห้ง อาการคลั่งเพ้อหรือคุ้มดีคุ้มร้าย รักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร บำรุงมดลูก บำรุงน้ำนมของสตรี ช่วยถอนพิษผิดและแก้พิษ
    – แก้ไข้หรือแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัม มาต้มกับน้ำพอประมาณแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาดื่มก่อนอาหารช่วงเช้าและเย็นหรือในช่วงที่มีอาการไข้
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ขับน้ำลาย ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับน้ำดี รักษาโรคในการแท้งบุตร แก้พิษสำแดง เป็นยาถอนพิษจากการรับประทานผลไม้ที่เป็นพิษ ใช้ถอนพิษจากพืชมีพิษชนิดต่าง ๆ
    – เป็นยาลดไข้ ด้วยการนำเมล็ดมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบ แก้พิษบาดทะยัก
    – แก้อาการตาอักเสบ ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วเอาน้ำมาหยอดตา
  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาทาถูนวดตามกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดเมื่อย ด้วยการนำรากกระดอมแห้งมาบดผสมกับน้ำร้อนแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากสมุนไพรกระดอม ยับยั้งการจับตัวกันของเกล็ดเลือดและช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว

ประโยชน์ของกระดอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำมาใช้ทำแกง เช่น แกงป่าหรือแกงคั่ว โดยผ่าเอาเมล็ดออกก่อนนำมาใช้แกงหรือจะนำมาใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน
2. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร เป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา ตำรับยาหอมนวโกฐและตำรับยาหอมอินทจักร์

กระดอม เป็นสมุนไพรที่มีลักษณะเด่นและมีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย ส่วนมากจะนำผลอ่อนมารับประทานและเป็นส่วนประกอบในอาหารเพราะผลสุกนั้นมีพิษ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงเลือด บำรุงน้ำดี บำรุงมดลูก และเป็นยาแก้ไข้ กระดอมเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เหมาะกับสตรีเป็นอย่างมากเนื่องจากรักษามดลูกหลังจากการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร บำรุงมดลูกและบำรุงน้ำนมของสตรีได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [14 ต.ค. 2013].
ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data. [14 ต.ค. 2013].
สมุนไพรพื้นบ้าน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th. [14 ต.ค. 2013].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “ลูกกระดอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [14 ต.ค. 2013].

เนระพูสีไทย ยาบำรุงกำลังทางเพศชั้นดีของท่านชาย ช่วยแก้อาการอักเสบ แก้ปวดและสรรพคุณอีกมากมาย

0
เนระพูสีไทย ยาบำรุงกำลังทางเพศชั้นดีของท่านชาย ช่วยแก้อาการอักเสบ แก้ปวดและสรรพคุณอีกมากมาย
เนระพูสีไทย ดอกเป็นสีม่วงดำ ลักษณะคล้ายค้างคาวดำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเพศของผู้ชาย
เนระพูสีไทย ยาบำรุงกำลังทางเพศชั้นดีของท่านชาย ช่วยแก้อาการอักเสบ แก้ปวดและสรรพคุณอีกมากมาย
เนระพูสีไทย ดอกเป็นสีม่วงดำ ลักษณะคล้ายค้างคาวดำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเพศของผู้ชาย

เนระพูสีไทย

เนระพูสีไทย (Bat flower) หรือเรียกกันว่า “ว่านค้างคาวดำ” มีดอกเป็นสีม่วงดำที่มีลักษณะคล้ายค้างคาวดำโดดเด่นอยู่บนต้น ในปัจจุบันมักจะนำเนระพูสีไทยมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เจลสำหรับใช้ทากันเป็นส่วนมาก สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เนระพูสีไทยหรือว่านค้างคาวดำนั้นค่อนข้างโด่งดังในเรื่องของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเพศของผู้ชายได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเนระพูสีไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca chantrieri André
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bat flower” “Black lily”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เนระพูสีไทย” ภาคเหนือเรียกว่า “ดีงูหว้า” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “คลุ้มเลีย ว่านหัวเลีย ว่านหัวลา ว่านหัวฬา” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ค้างคาวดำ มังกรดำ” จังหวัดตราดเรียกว่า “ดีปลาช่อน” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ม้าถอนหลัก” จังหวัดยะลาเรียกว่า “ว่านพังพอน” จังหวัดตรังเรียกว่า “นิลพูสี” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ว่านนางครวญ” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “กลาดีกลามูยี” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “เส่แหง่เหมาะ” ชาวลัวะเรียกว่า “ล่อเคลิน” ชาวขมุเรียกว่า “เหนียบเลิน” มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ว่านค้างคาว ว่านค้างคาวดำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)

ลักษณะของเนระพูสีไทย

เนระพูสีไทย เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในทางตอนใต้ของจีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า เวียดนามและชายฝั่งมาเลเซีย มักจะพบขึ้นตามป่าเขา ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น
ลำต้น : ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรีกว้างหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ เส้นแขนงของใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันเกือบถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกลุ่ม ๆ ประมาณ 1 – 2 ช่อ ในแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 4 – 6 ดอก แทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ดอกเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม กลีบดอก 6 กลีบ โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน กลีบด้านนอก 3 กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบด้านใน 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้สีเขียวหรือสีเหลือง ดอกมีใบประดับเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม 2 คู่ ออกตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ไม่มีก้าน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบประดับคู่ในแผ่กว้างออกเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ
ผล : ลักษณะของผลเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีสันเป็นคลื่น 6 สันตามความยาวของผล มีวงกลีบรวมที่ยังไม่ร่วงติด
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต

สรรพคุณของเนระพูสีไทย

  • สรรพคุณจากต้น ใบ ราก เหง้า
    – รักษามะเร็ง เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการปวดท้อง แก้อาการอาหารไม่ย่อยและอาหารเป็นพิษ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยการนำราก ต้น ใบ เหง้ามาต้มกับน้ำแล้วดื่มหรือเคี้ยวกิน
  • สรรพคุณจากใบ ราก เหง้า
    – ทำให้เจริญอาหาร ด้วยการนำรากหรือเหง้าใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยา หรือนำใบสดมารับประทาน
  • สรรพคุณจากเหง้า แก้ธาตุพิการ แก้ซางเด็ก ช่วยดับพิษไข้อย่างแก้ไข้กาฬ แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้ท้องเสีย แก้อาการไอ รักษาโรคในปากคอ แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ปอดพิการ แก้บิดหรือบิดมูกเลือด ช่วยสมานแผล
    – เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ความดันโลหิตต่ำ บำรุงกำลังทางเพศ เป็นยาบำรุงสำหรับสตรีมีครรภ์ ด้วยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำหรือใช้ดองกับเหล้า
    – รักษาอาการผดผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำแล้วอาบ
    – แก้อาการปวด แก้อักเสบ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว ด้วยการนำเหง้ามาซอยเป็นชิ้นและบดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นนำมาละลายในน้ำต้มเดือดแล้วแช่ทิ้งไว้สักครู่ให้พออุ่น ใช้ผ้าขนหนูชุบนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้อาการเบื่อเมา ด้วยการนำทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นแล้วนำมาฝนรวมกันเพื่อรับประทานแก้อาการ
    – รักษาอาการผดผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วอาบ
    – แก้อัมพฤกษ์ โรคความดันและโรคหัวใจ ด้วยการนำทั้งต้น 1 กำมือ ต้นเหงือกปลาหมอ 1 กำมือ ใบหนุมานประสานกาย 7 ก้าน และบอระเพ็ด 1 เซนติเมตร มาตากหรืออบให้แห้งแล้วเอามารวมกับโสมเกาหลีอายุ 6 ปีขึ้นไป 5 สลึง ที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ และขั้วมาแล้ว หลังจากนั้นนำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ภาชนะต้มน้ำให้พอท่วมยาจนเดือด ใช้ดื่มกินครั้งละ 2 แก้ว เช้าและเย็น แล้วให้อุ่นยาวันละหนึ่งครั้ง หากดื่มหมดก็เติมน้ำต้มใหม่จนยาจืด (หมายเหตุ : ห้ามดื่มของมึนเมาในระหว่างดื่มยานี้ ห้ามนำตัวยานี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์เพื่อการค้าและให้นำกล้วยน้ำว้า 1 หวี มาถวายพระและอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของยา)
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาการปวด แก้อักเสบ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว ด้วยการใช้รากดองกับเหล้าหรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับหญ้าถอดปล้องเพื่อใช้ดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้อาการปวด แก้อักเสบ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว ด้วยการนำใบสดมารับประทาน

ประโยชน์ของเนระพูสีไทย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวปะหล่องใช้ใบรับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ชาวกะเหรี่ยงแดงใช้ใบรับประทานร่วมกับน้ำพริก คนเมืองและชาวเผ่าม้ง มูเซอ ใช้ใบอ่อนนำมาย่างไฟให้อ่อนหรือนำมาลวกใช้รับประทานกับลาบ ชาวขมุใช้ดอกรับประทานร่วมกับน้ำพริก คนเมืองจะใช้ทั้งดอกและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
2. สกัดเป็นผลิตภัณฑ์ สกัดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสกัดบรรจุขวดหรือทำเป็นเจลสำหรับใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียและใช้รักษาสิวได้
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ
4. ใช้ในการเกษตร มีฤทธิ์ยับยั้งการกินของหนอนใยผักซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชผักที่สำคัญโดยเฉพาะพืชในตระกูลกะหล่ำ

เนระพูสีไทย เป็นที่นิยมสำหรับชาวพื้นเมืองและเป็นยาบำรุงเพศชั้นดีต่อเพศชาย เป็นต้นที่มีลักษณะโดดเด่นเหมือนค้างคาวสีดำเกาะอยู่บนต้น เหง้าของเนระพูสีไทยเป็นส่วนที่มีสรรพคุณทางยาชั้นเยี่ยม มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ ช่วยแก้อาการอักเสบและแก้ปวด ช่วยดับพิษไข้ แก้อัมพฤกษ์ รักษาโรคความดันและโรคหัวใจ รวมถึงอาการอื่น ๆ อีกมากมาย เหมาะอย่างมากที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้านเพราะนอกจากจะเป็นยาชั้นดีแล้วยังเป็นไม้ประดับที่โดดเด่นอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เนระพูสีไทย (Na ra Pu Si Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 159.
หนังสือสมุนไพรไทยในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เนระพูสีไทย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 128.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “เนระพูสีไทย Bat Flower”. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 206.
หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1. “เนระพูสีไทย”. (ปรัชญา ศรีสง่า, ชัยยุทธ กล่ำแวววงศ์).
เอกสารการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 6. “ฤทธิ์ควบคุมหนอนใยผัก (Plutella xylostella L.) ของสารสกัดจากเหง้าค้างคาวดำ (Tacca chantrieri Andre)”. (มยุรฉัตร เกื้อชู, ศิริพรรณ ตันตาคม, ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ).
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [29 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Bat flower”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 ม.ค. 2014].
หนังสือธรรมชาติศึกษา ดอกไม้และประวัติไม้ดอกเมืองไทย. (วิชัย อภัยสุวรรณ).
คมชัดลึกออนไลน์. “วิจัยพบสารออกฤทธิ์ เนระพูสีไทย”. (ผศ.ดร.ไชยยง รุจนเวท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [29 ม.ค. 2014].
สิงห์แดง รุ่น ๑๘. “ว่านค้างคาวดํา‘”. (สมุทร ทองวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: singdang18.net/kangkao.html. [29 ม.ค. 2014].
พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน, โครงการตาสับปะรด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [29 ม.ค. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [29 ม.ค. 2014].

ตับเต่านา เป็นไม้ปลูกประดับในอ่างปลา ช่วยแก้ลมและแก้เสมหะได้

0
ตับเต่านา เป็นไม้ปลูกประดับในอ่างปลา ช่วยแก้ลมและแก้เสมหะได้
ตับเต่านา พืชลอยน้ำที่มีดอกสีขาว ใบเป็นรูปหัวใจ นิยมนำมาประดับอ่างปลาหรือนำมาประดับบ้าน
ตับเต่านา เป็นไม้ปลูกประดับในอ่างปลา ช่วยแก้ลมและแก้เสมหะได้
ตับเต่านา พืชลอยน้ำที่มีดอกสีขาว ใบเป็นรูปหัวใจ นิยมนำมาประดับอ่างปลาหรือนำมาประดับบ้าน

ตับเต่านา

ตับเต่านา (Frogbit) เป็นพืชลอยน้ำที่มีดอกสีขาวสวยงามและมีใบโดดเด่นเป็นรูปหัวใจ สามารถพบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป เป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นเคยและแปลกแต่เราอาจจะเคยผ่านตามาบ้าง เป็นพืชที่เหมาะอย่างมากในการนำมาประดับอ่างปลาหรือนำมาประดับบ้าน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตับเต่านา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrocharis dubia (Blume) Baker
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Frogbit” “Frog bit”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักตับเต่า ผักตับเต่านา ตับเต่าน้ำ ผักเต่า ผักปอดม้า บัวฮาวาย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สันตะวา (HYDROCHARITACEAE)
ชื่อพ้อง : Hydrocharis morsus-ranae L.

ลักษณะของตับเต่านา

ตับเต่านา เป็นพืชลอยน้ำที่มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำตื้นและในน้ำนิ่งทั่วไป เช่น ตามนาข้าวหรือบริเวณหนองน้ำ
ใบ : ใบจะโผล่อยู่เหนือน้ำหรือลอยบนผิวน้ำ มีก้านใบยาว ในฤดูแล้งที่มีน้ำน้อยก้านใบจะสั้นลง ใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบมน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ รากเกิดเป็นกระจุกอยู่ทางด้านล่างของกลุ่มใบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างจะสีอ่อนกว่า และมักจะมีเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายกับฟองน้ำอยู่บริเวณกลางใบ ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยพยุงลำต้น
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสีขาวออกดอกตามซอกใบ มีก้านชูดอกเรียวยาว โคนกลีบดอกมีแต้มสีเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศโดยมีกาบหุ้มช่อดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ผล : มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและมีสันอยู่ 6 สัน

สรรพคุณของตับเต่านา

ประโยชน์ของตับเต่านา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ต้นอ่อนหรือยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อช่วยคลุมผิวน้ำ

ตับเต่านา เป็นพืชลอยน้ำที่มีชื่อแปลกและมีชื่อเรียกหลายชื่อ มักจะพบตามทุ่งนาหรือหนองน้ำทั่วไป มีดอกที่สวยงามและมีใบรูปหัวใจช่วยเพิ่มระดับความงามให้กับอ่างปลาในบ้านหรือบึงริมน้ำ เป็นไม้ที่เหมาะอย่างมากในการนำมาปลูกประดับ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ลม แก้เสมหะ นอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้วตับเต่านายังเป็นไม้น้ำที่ช่วยคลุมผิวน้ำได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตับเต่านา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [23 ม.ค. 2014].
สารสนเทศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Frog bit”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/AgrInfo. [23 ม.ค. 2014].
หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ. “ผักตับเต่านา”. (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ผักตับเต่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [23 ม.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ตับเต่านา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ตับเต่านา. [23 ม.ค. 2014].

ธูปฤาษี พืชสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรรู้

0
ธูปฤาษี พืชสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรรู้
ธูปฤาษี ดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ออกดอกตลอดทั้งปี
ธูปฤาษี พืชสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรรู้
ธูปฤาษี ดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ออกดอกตลอดทั้งปี

ธูปฤาษี

ธูปฤาษี (Cattail) หรือเรียกกันว่า “กกช้าง” มีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ดอกเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายธูปดอกใหญ่จึงเป็นที่มาของชื่อ “ธูปฤาษี” มักจะพบขึ้นตามหนองน้ำและหาได้ง่ายทั่วประเทศไทย ต้นธูปฤาษีมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและการเกษตรเป็นอย่างมาก และที่สำคัญส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นยังเป็นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ รวมถึงประโยชน์ด้านสรรพคุณทางยาในการรักษาที่คาดไม่ถึงด้วย แต่ธูปฤาษีก็มีข้อเสียเพราะเมล็ดสามารถปลิวและลอยฟุ้งไปตามสายลมจนสร้างความรำคาญให้กับผู้คนได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของธูปฤาษี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typha angustifolia L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bulrush” “Cattail” “Cat – tail” “Elephant grass” “Flag” “Narrow – leaved Cat – tail” “Narrowleaf cattail” “Lesser reedmace” “Reedmace tule”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กกช้าง กกธูป เฟื้อ เฟื้อง หญ้าเฟื้อง หญ้ากกช้าง หญ้าปรือ” ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้าสลาบหลวง หญ้าสะลาบหลวง” ภาคใต้เรียกว่า “ปรือ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ธูปฤๅษี (TYPHACEAE)

ลักษณะของธูปฤาษี

ธูปฤาษี เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปและอเมริกา มักจะพบขึ้นตามหนองน้ำ ลุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ตามทะเลสาบหรือริมคลอง รวมไปถึงตามที่โล่งทั่วไป
เหง้า : เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง
ใบ : เป็นใบเดี่ยว มีกาบใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะใบเป็นรูปแถบ แผ่นใบด้านบนมีลักษณะโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหมุนอยู่กลางใบ ด้านล่างของใบแบน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลดเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : ผลมีขนาดเล็กมาก ลักษณะของผลเป็นรูปวงรี เมื่อแก่จะแตกตามยาว

สรรพคุณของธูปฤาษี

  • สรรพคุณจากลำต้น ช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร
  • สรรพคุณจากลำต้นและราก ช่วยขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากลำต้นและอับเรณู เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ

ประโยชน์ของธูปฤาษี

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ทั้งสดและทำให้สุก นำแป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินและรากมาประกอบอาหารได้
2. ใช้ในการเกษตร
ต้น : ใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ ใช้เป็นปุ๋ยพืชสตูหรือใช้ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินได้
ซาก : นำมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินสำหรับไม้ยืนต้นตามสวนผลไม้ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการสูญเสียความชื้นออกจากผิวดินและช่วยลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝนได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรม
ใบ : มีความยาวและเหนียวจึงนำมาใช้มุงหลังคา ทำสานตะกร้า ทำเสื่อและทำเชือกได้
ช่อดอก : ช่อดอกแห้งนำมาใช้เป็นไม้ประดับ ก้านช่อดอกนำมาทำเป็นปากกา
เยื่อของต้น : นำมาใช้ทำกระดาษและทำใยเทียมได้ เส้นใยที่ได้จะมีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนนั้นสามารถนำมาใช้ทอเป็นผ้าเพื่อใช้สำหรับแทนฝ้ายหรือขนสัตว์
4. ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยบำบัดน้ำเสียตามแหล่งต่าง ๆ มีศักยภาพในการลดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ ช่วยปรับเปลี่ยนสีของน้ำที่ผิดปกติให้จางลงและช่วยลดความเป็นพิษในน้ำได้ ป้องกันการพังทลายของดินตามชายน้ำ ช่วยกำจัดไนโตรเจนจากน้ำเสียในที่ลุ่มต่อไร่ได้สูงถึง 400 กิโลกรัมต่อปี ช่วยดูดธาตุโพแทสเซียมต่อไร่ได้สูงถึง 690 กิโลกรัมต่อปี ทำให้วัฏจักรของแร่ธาตุอาหารในดินสมบูรณ์ขึ้น ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
5. ใช้ในด้านอื่น ๆ
ดอก : นำมาใช้กำจัดคราบน้ำมันได้โดยน้ำหนักของดอก 100 กรัม สามารถช่วยกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร
ต้น : นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เพราะมีปริมาณของโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง กากที่เหลือจากการสกัดเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตออกแล้วใช้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนย่อยจะให้แก๊สมีเทนซึ่งใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงได้

ส่วนประกอบที่พบในเยื่อธูปฤาษี

เยื่อธูปฤาษีมีเส้นใยมากถึงร้อยละ 40 มีความชื้นของเส้นใย 8.9% ลิกนิก 9.6% ไข 1.4% เถ้า 2% เซลลูโลส 63% และมีเฮมิเซลลูโลส 8.7%

วิธีการป้องกันการแพร่กระจายและการกำจัดต้นธูปฤาษี

  • วิธีการป้องกันการแพร่กระจายของต้นธูปฤาษี ควรทำก่อนที่ต้นธูปฤาษีจะออกดอกเพราะเมล็ดสามารถแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีโดยอาศัยลมและน้ำ
  • วิธีการกำจัดธูปฤาษี ตัดต้นขนาดใหญ่โดยต้องตัดให้ต่ำกว่าระดับของผิวน้ำ

ธูปฤาษี เป็นพืชที่มีความสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากจึงจัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่อาจมีบทบาทเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้านแต่ที่สำคัญคือสามารถบำบัดน้ำเสียได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ถือเป็นพืชที่คู่ควรแก่การปลูกไว้ใกล้กับโรงงานหรือชุมชนที่มีลำคลองเน่าเหม็นเพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีการปล่อยมลพิษทางน้ำมากมายและยังถูกเพิกเฉยจากโรงงานในการตระหนักเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีสรรพคุณโดดเด่นในเรื่องของการรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สารานุกรมพืช, “ธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [6 ม.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ธูปฤาษี“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “การผลิตกระดาษจากธูปฤาษีและผักตบชวา“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [6 ม.ค. 2014].
วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง. “ดอกต้นธูปฤาษี วัชพืชกำจัดคราบน้ำมัน“. (ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. ” ต้นธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].

แคแสด ไม้ยืนต้นดอกสีส้มสะดุดตา เป็นไม้ปลูกประดับที่ช่วยรักษาแผลเรื้อรังต่าง ๆ

0
แคแสด ไม้ยืนต้นดอกสีส้มสะดุดตา เป็นไม้ปลูกประดับที่ช่วยรักษาแผลเรื้อรังต่าง ๆ
แคแสด เป็นไม้ยืนต้น ดอกสีแสดหรือสีเลือดหมู มีขนาดใหญ่
แคแสด ไม้ยืนต้นดอกสีส้มสะดุดตา เป็นไม้ปลูกประดับที่ช่วยรักษาแผลเรื้อรังต่าง ๆ
แคแสด เป็นไม้ยืนต้น ดอกสีแสดหรือสีเลือดหมู มีขนาดใหญ่

แคแสด

แคแสด (Africom tulip tree) เป็นไม้ยืนต้นที่สูงสง่าและสวยงามมาก ดอกมีสีส้มแสดที่มองแล้วต้องสะดุดตา เป็นพืชที่คนไทยรู้จักเพราะดอกแคเป็นดอกพื้นบ้านของไทย แต่ดอกแคแสดอาจจะยังไม่คุ้นเคยมากนัก เป็นไม้ที่นิยมปลูกประดับสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายและนำมารับประทานได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแคแสด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spathodea campanulata P.Beauv.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Africom tulip tree” “Fire bell” “Fountain tree” “Pichkari” “Nandi flame” “Syringe”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “แคแดง” แอฟริกาตอนใต้เรียกว่า “แคแสด” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ยามแดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

ลักษณะทั่วไปของแคแสด

แคแสด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางที่เป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกาตอนใต้
เปลือกต้น : เป็นสีน้ำตาลเข้มและมีรอยแตกเป็นรวงตามยาว ต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลมและค่อนข้างทึบ
ใบ : เป็นใบผสมแบบขนนก ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบสาก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งตรง มีก้านช่อดอกยาว แต่ละช่อจะมีดอกจำนวนมากและจะทยอยกันบาน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูประฆังคล้ายดอกทิวลิป เป็นสีแสดหรือสีเลือดหมู ดอกแคแสดมีขนาดใหญ่ กลีบดอกหลุดร่วงได้ง่าย จะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุได้ประมาณ 4 – 8 ปี และจะออกดอกตลอดทั้งปี มักจะออกดอกมากในช่วงฤดูหนาว
ผล : เป็นฝักคล้ายรูปเรือสีดำ ปลายผลแหลม เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลและจะแตกเป็นด้านเดียว จะออกผลตลอดทั้งปีและจะออกผลมากในช่วงฤดูฝน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก แบนและมีปีก

สรรพคุณของแคแสด

  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาบำรุงธาตุเมื่อนำมาต้ม แก้อาการบิด รักษาแผลเรื้อรัง พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ
  • สรรพคุณจากดอก รักษาแผลเรื้อรัง ใช้พอกแผล พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ
  • สรรพคุณจากใบ ใช้พอกแผล พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ
  • สรรพคุณจากผล พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ

ประโยชน์ของแคแสด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้เหมือนแคบ้าน
2. เป็นไม้ปลูกประดับ ปลูกประดับหรือปลูกให้ร่มเงา โดยจะนิยมปลูกตามสวนสาธารณะและตามริมข้างถนน

แคแสด เป็นไม้ต้นที่มักจะพบตามที่สาธารณะต่าง ๆ เป็นต้นที่มีดอกสีส้มแสดที่มองแล้วสะดุดตา มีฝักสีดำออกตามต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาการบิด รักษาแผลเรื้อรัง พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ เป็นต้นที่มีประโยชน์ได้ทั้งในด้านความสวยงามและเป็นยาที่ดีต่อร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “แคแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [24 ธ.ค. 2013].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แคแสด”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [24 ธ.ค. 2013].
โครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “แคแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sbg.uru.ac.th. [24 ธ.ค. 2013].
สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 . “แคแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com. [24 ธ.ค. 2013].
ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์).