Home Blog Page 16

อังกาบหนู สรรพคุณของใบใช้รักษาเลือดออกตามไรฟัน

0
อังกาบหนู สรรพคุณของใบใช้รักษาเลือดออกตามไรฟัน เป็นไม้พุ่มเตี้ย ดอกช่อกระจุกดอกมีสีเหลืองหรือส้ม เป็นใบเดี่ยวรูปไข่ขอบขนานมีขนนุ่ม ผลเป็นแคปซูล
อังกาบหนู
เป็นไม้พุ่มเตี้ย ดอกช่อกระจุกดอกมีสีเหลืองหรือส้ม เป็นใบเดี่ยวรูปไข่ขอบขนานมีขนนุ่ม ผลเป็นแคปซูล

อังกาบหนู

อังกาบหนู เป็นพืชท้องถิ่นในประเทศอินเดีย เป็นพืชสมุนไพรในตำรับยาอายุรเวท พบเป็นวัชพืชขึ้นตามที่แห้งแล้งทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria prionitis L. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เขี้ยวเนื้อ เขี้ยวแก้ง มันไก่ อังกาบ เป็นต้น

ลักษณะของอังกาบหนู

  • ต้น จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ย สูงราวๆ 1-1.5 เมตร มีกิ่งก้านสาขาแตกออกมาจำนวนมากลำต้นเกลี้ยง รอบข้อมีหนามยาวอยู่ หนามยาวราวๆ 1-2 เซนติเมตร
  • ดอก ออกเป็นช่อค่อนข้างแน่นกระจุกอยู่บริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับดอกเป็นรูปแถบยาวราวๆ 1 เซนติเมตร มีใบประดับย่อยเป็นหนามยาวราวๆ 1-1.5 เซนติเมตรติดทน มีกลีบเลี้ยงขนาดไม่เท่ากันเรียงซ้อนเหลี่ยมกันอยู่ 4 กลีบ กลีบคู่ในเป็นรูปไข่ บริเวณปลายเป็นติ่งหนาม กลีบดอกเป็นรูปปากเป็ดหลอดกลีบจะยาวราวๆ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีสีเหลืองหรือส้ม มีกลีบดอก 5 กลีบ ด้านบนจะมี 4 กลีบยาวเท่าๆกัน หลอดกลีบจะซ้อนอยู่เหลื่อมกัน รังไข่เป็นรูปไข่ยาวราวๆ 3-4 มิลลิเมตรมีช่องอยู่ 2 ช่องและมีออวุล 2 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรตัวเมียจะมียอดเป็น 2 พูไม่ชัดเจนมีลักษณะเรียวยาว และยาวกว่าเกสรตัวผู้ ที่โคนกลีบดอกมีเกสรตัวผู้ 2 ก้านติดอยู่ ยื่นเลยปากหลอดกลีบไปเล็กน้อย มีความยาวอับเรณูราวๆ 3 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัด 2 ก้านจะมีขนาดเล็ก
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว เป็นรูปรีรูปไข่หรือขอบขนาน ใบออกเรียงตรงข้ามกัน ปลายใบแหลมความยาวราวๆ 4-12 เซนติเมตร โคนใบเรียวสอบ มีขนนุ่มสั้นกระจายอยู่ด้านล่างของแผ่นใบมีขนแข็งขึ้นบริเวณขอบใบ ก้านใบยาวราวๆ 2.5 เซนติเมตร
  • ผล เป็นแคปซูลรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวราวๆ 1.5-2 เซนติเมตร มีจะงอยอยู่ที่ปลาย มีเมล็ดแบนอยู่ภายในผล เมล็ดยาวราวๆ 5-7 มิลลิเมตรเป็นรูปไข่ มีขนคล้ายไหมแบนราบ

สรรพคุณและประโยชน์ของอังกาบหนู

1. ใช้เป็นยาแก้ไข้ข้ออักเสบได้(ทั้ง 5 ส่วน)
2. ใช้ในการทาแก้กลากเกลื้อนได้โดยการใช้รากหรือใบมาผสมกับน้ำมะนาว(ใบ, ราก)
3. ใบ ใช้ในการแก้พิษงูได้
4. ใบ ใช้แก้และป้องกันอาการท้องผูกได้
5. ใช้ในการรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้โดยใช้ใบผสมกับน้ำผึ้ง (ใบ)
6. นำรากของดอกอังกาบสีเหลืองตากแห้งมาต้มเป็นยาดื่มจะช่วยในการขับเสมหะได้(ราก)
7. ช่วยในการบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยเจริญธาตุไฟได้ดีด้วยการใช้ดอกอังกาบนำมาตากแห้งใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร(ราก, ดอก)
8. สารสกัดจากรากใช้ในการคุมกำเนิด เนื่องจากสามารถรบกวนการสร้างสเปิร์ม ลดจำนวนสเปิร์ม และทำให้การเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลงได้ โดยจะส่งผลต่อการสร้างสเปิร์มทำให้โครงสร้างและหน้าที่ของสเปิร์มผิดปกติไป ข้อมูลจากการทดลองในหนูเพศผู้นานติดต่อกัน 60 วัน พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้ 100%(ราก)
9. ใช้ใบในการรักษาโรคปวดตามข้อ ช่วยแก้อัมพาต โรครูมาติซั่ม ใช้ทาแก้ปวดบวมหรือแก้อาการปวดหลังก็ได้(ใบ)
10. ราก สามารถใช้ทำเป็นยาแก้ฝีได้
11. ใบ ใช้รักษาโรคคันได้
12. ใช้รากแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้(ราก)
13. ใช้ใบคั้น มาหยอดหูแก้อาการหูอักเสบได้(ใบ)
14. สามารถช่วยแก้อาการปวดฟันได้ โดยนำใบมาเคี้ยวแก้(ใบ)
15. ใช้ทำเป็นยาลดไข้ได้(ราก, ใบ) ใบคั้นสามารถนำมาทานแก้หวัดได้
16. ปลูกไว้ประดับตามสวน ปัจจุบันอังกาบดอกเหลืองนั้นหายากมาก
17. ใบ คั้นสามารถนำมาทาแก้ส้นเท้าแตกได้

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

แหล่งอ้างอิง
1. สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ไทยรัฐออนไลน์ (นายเกษตร), หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, www.sirisombon.com (ครูบาไตรภพ), www.biogang.net (ใช้ข้อมูลจาก sisaket.go.th)
2. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.myupchar.com/
2. https://powo.science.kew.org/

ต้นหมาก สรรพคุณช่วยรักษาโรคมาลาเรีย

0
ต้นหมาก สรรพคุณช่วยรักษาโรคมาลาเรีย เป็นไม้จำพวกปาล์ม ใบประกอบแบบขนนกปลายแหลม ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่สีขาวแกมสีเหลือง ผลเป็นทะลายสีเขียว ผลแก่สีเหลืองส้ม เนื้อสีเหลืองถึงเหลืองเข้มอมแดง
ต้นหมาก
เป็นไม้จำพวกปาล์ม ดอกเป็นช่อใหญ่สีขาวแกมสีเหลือง ผลเป็นทะลายสีเขียว ผลแก่สีเหลืองส้ม เนื้อสีเหลืองถึงเหลืองเข้มอมแดง

หมาก

หมาก มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน เติบโตได้ดีที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 700 เมตร ชื่อสามัญ คือ Areca nut, Areca nut palm, Areca palm, Betel nut palm, Betel Nuts[1],[5]
ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Areca catechu L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[1],[2],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ หมากเมีย (ทั่วไป), หมากสง (ภาคใต้), แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), สีซะ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), มะ (ชอง-ตราด), เซียด (ชาวบน-นครราชสีมา), ปีแน (มลายู-ภาคใต้), ปิงน๊อ (จีนแต้จิ๋ว), ปิงหลาง (จีนกลาง)[1],[3]

ลักษณะของต้นหมาก

  • ต้น[1],[3],[5]
    – เป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม
    – ต้นมีความสูงได้ถึง 10-15 เมตร
    – ลำต้นตั้งตรง
    – เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน
    – ลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก
    – มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร
    – ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง
    – มีตายอดตรงส่วนปลายสุดของลำต้น
    – หากยอดตายต้นก็จะตาย
    – ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้
    – มีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ
    – มีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันตรงเปลือกนอก
    – ในส่วนกลางของลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่น
    – มีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ
    – ต้นเหนียวและสามารถโยกเอนได้
    – สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ[1],[3]
    – เป็นใบประกอบแบบขนนก
    – ออกเรียงเวียนกันที่ปลายยอด
    – ก้านใบมีความยาวได้ถึง 130-200 เซนติเมตร
    – ใบย่อยเป็นรูปใบหอก
    – ปลายใบแหลม
    – โคนใบเรียวแคบ
    – ใบอ่อนมีรอยแยก
    – ใบมีความกว้าง 2.5-6 เซนติเมตร และยาว 50-70 เซนติเมตร
    – แผ่นใบเรียบหนา
    – กาบใบหุ้มลำต้น
  • ดอก[1],[3],[5]
    – ออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก
    – ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่
    – จะประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น
    – ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง
    – มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ มีความยาว 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา
    – มีใบประดับหุ้มอยู่
    – ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน
    – กลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีเหลือง
    – กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น มีความยาว 5-6 มิลลิเมตร
    – ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน
    – มีเกสรเพศเมียเป็นเส้น 3 เส้นบาง ๆ แผ่ออก
    – ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงส่วนปลายของก้านช่อดอก
    – ดอกเพศเมียจะค่อนข้างใหญ่และอยู่ที่โคนก้านช่อดอก
    – ดอกเพศผู้จะใช้เวลาบาน 21 วัน หลังจากนั้น 5 วัน ดอกเพศเมียจะเริ่มบาน
  • ผล[1],[3],[4],[5]
    – ผลออกเป็นทะลาย
    – ผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก
    – ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล
    – ผิวผลเรียบ
    – มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล
    – ผลมีความกว้าง 5 เซนติเมตร และยาว 7 เซนติเมตร
    – ผลดิบหรือผลสดเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า “หมากดิบ”
    – ผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม เรียกว่า “หมากสุก”
    – ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นกลาง เปลือกชั้นใน และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อ
    – เนื้อผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล
    – ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง
    – ผลมีเมล็ดอยู่เมล็ดเดียว
    – จะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคม

หมากกับมะเร็งปาก

1. ในอดีต เป็นสัญลักษณ์ของความนับถือและมิตรภาพ
2. ในสมัยก่อนถือเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก
3. ในภายหลัง ได้ถูกห้ามในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
– เพื่อให้คนไทยก้าวสู่ความเป็นอารยชน
– การปลูกยังเป็นการปลูกเพื่อเป็นพืชส่งออก
4. ในปัจจุบันแพทย์ได้พบหลักฐานว่า
– กินเป็นประจำจะทำให้คนกินเป็นโรคมะเร็งปาก
– เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคหืด และโรคเบาหวาน
5. รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศมีการรณรงค์ให้คนลดการกินหมาก
– ทำให้สถิติการเป็นโรคมะเร็งปากในบางประเทศลดลง
– ในบางประเทศมีการออกกฎหมายห้ามผลิตสินค้าที่มีหมากเจือปน
– ในบางประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดการผลิต

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  1. สารสำคัญที่พบ คือ[2],[3[
    – Arecoline
    – Arecaidine
    – Arecolidine
    – Guvacoline
    – Guvacine
    – Isoguvacine
    – Leucocyanidin
    – Alkaloid 0.3-0.7%
    – Tanin 15%
    – น้ำมันระเหย 18%
  2. เมล็ดมีสาร Procyanidins[2]
    – ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ
    – เมล็ดมีสาร Arecatannin B1[2]
    – ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อเชื้อโรคเอดส์
  3. สารสกัดด้วยเอทานอลจากเนื้อของผลหมากสง[6]
    – มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของคะน้าได้
  4. มีสารอัลคาลอยด์[14]
    – มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและฆ่าเชื้อไวรัส
  5. จากการนำเนื้อผลมาต้มกับน้ำแล้วป้อนให้หนูทดลองกิน[3]
    – พบว่าภายใน 20 นาที สามารถฆ่าพยาธิในหนูทดลองได้
  6. มีสาร Arecoline[3]
    – มีฤทธิ์ทำให้พยาธิมึนชาได้
    – นำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในหมูได้ดีมาก
  7. สารที่สกัดได้จากเนื้อผลของผล เมื่อนำไปให้สัตว์ทดลองกิน[3]
    – มีผลกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้ที่หดเกร็งเคลื่อนไหวได้
    – ช่วยทำให้น้ำย่อยของกระเพาะและลำไส้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
  8. สาร Arecoline[7]
    – ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แรงดันโลหิต
    – ช่วยกระตุ้นปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในสมอง

สรรพคุณของหมาก

  • ช่วยแก้โรคกษัย[1]
  • ช่วยแก้พิษผิดสำแดงไข้[2]
  • ช่วยรักษาโรคในปาก[8],[11]
  • ช่วยแก้ปากเปื่อย[8],[11]
  • ช่วยถอนพิษถูกสารปรอทตามฟันได้[8],[13]
  • ช่วยสมานลำไส้[1],[2],[13]
  • ช่วยแก้อาการท้องเดิน[1]
  • ช่วยแก้โรคบิด[11]
  • ช่วยขับปัสสาวะ[11]
  • ช่วยถอนพิษบาดแผล[1]
  • ช่วยแก้เกลื้อน[1]
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็นได้[2],[13]
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร[1]
  • ช่วยแก้โรคเบาหวาน[13]
  • ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย[14]
  • ช่วยแก้อาการไอ[1]
  • ช่วยขับเสมหะ[1],[3]
  • ช่วยแก้เมา แก้อาเจียน[1]
  • ช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตา[14]
  • ช่วยแก้กระเพาะอาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • ช่วยแก้บิดทวารหนัก[3]
  • ช่วยถ่ายพยาธิ ยาขับพยาธิได้หลายชนิด[3],[4],[14]
  • ช่วยขับพยาธิในถุงน้ำดี[3]
  • ช่วยลดอาการขาบวมน้ำ[3]
  • ช่วยสมานแผล[1]
  • ช่วยรักษาหูด[14]
  • ช่วยแก้ไข้ แก้หวัด[2]
  • ช่วยป้องกันสารพิษทำลายตับ[2],[13]
  • ช่วยล้อมตับดับพิษ[9],[11]
  • ช่วยขับพิษภายในและภายนอก[9],[11]
  • ช่วยแก้ผดผื่นคันตามตัวได้[9],[11],[13]
  • ช่วยขับเหงื่อ[4]
  • ช่วยรักษาโรคในปาก[4]
  • ช่วยแก้ปากเปื่อย[4]
  • ช่วยทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง[4]
  • ช่วยรักษาท้องเดิน ท้องเสีย[4]
  • ช่วยแก้บิดปวดเบ่ง ปวดแน่นท้อง[4]
  • ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ[2],[4]
  • ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และทำให้แผลหายเร็ว[4],[11]
  • ช่วยยับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล[4]
  • ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น[4],]12]
  • ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น[4],[12]
  • ช่วยแก้คัน[4]

ประโยชน์ของหมาก

1. เนื้อในเมล็ด สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้[7]
2. เปลือกผล สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้[7]
3. เมล็ด สามารถนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ได้[2],[4],[11]
4. สามารถนำมาใช้กำจัดหนอน ในเวลาที่โค กระบือเป็นแผลมีหนอน จะทำให้หนอนตายได้[11]
5. ช่อดอก จะนำมาใช้ในงานแต่งงานและงานศพ[7]
6. สามารถปลูกไม้ประดับทั่วไปได้ เพื่อลำต้นและทรงพุ่มมีความสวยงาม[7]
7. กาบ สามารถนำมาใช้ทำพัดได้[10]
8. กาบใบ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำภาชนะ เครื่องจักสาน หรือวัสดุห่อหุ้มสิ่งของได้
9. ในสมัยก่อน จะนำกาบใบมาทำเป็นรถลาก (เด็กเล่น) [7],[10],[11]
10. กาบใบ สามารถนำมาดัดหรือเจียนทำเป็นเนียนสำหรับขูดน้ำพริกที่สากและครก[7],[10],[11]
11. กาบใบ สามารถนำมาทำเป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาลได้[7],[10],[11]
12. ลำต้นสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ เช่น ใช้ทำสะพาน เฟอร์นิเจอร์ ทำเสาตอม่อ ทำไม้คานแบกของ ทำคร่าวสำหรับยึดฝาฟากสับ [7],[10],[11]
13. โคนแก่ สามารถนำมาใช้ทำชั้นพะองเพื่อทอดทำสะพานข้ามกระโดง ท้องร่อง[7],[10],[11]
14. ลำต้น เมื่อมาทะลวงไส้ออก จะสามารถใช้เป็นท่อระบายน้ำได้[7],[10],[11]
15. ต้น สามารถนำมากั้นคันดินและทำเป็นตอม่อได้ เพื่อป้องกันคันดินที่กั้นน้ำเข้าสวนพังได้อีกด้วย[7],[10],[11]
16. ชาวสวนใช้ทางแห้งนำมาทำเป็นเสวียนขนาดใหญ่ ใช้สำหรับรองรับกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ในขณะที่กวนน้ำตาลองุ่นให้เป็นน้ำตาลปี๊บ[10]
17. ยอดอ่อนของลำต้น สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักได้[7],[11]
18. จั่นหรือดอกอ่อน สามารถใช้รับประทานเป็นอาหารได้[7],[11]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หมาก (Mak)”. หน้า 328.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หมาก Areca Plam, Betelnut Palm”. หน้า 41.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หมาก”. หน้า 612.
4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หมาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [19 ก.ค. 2014].
5. สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา. “หมาก (Betel Nuts)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chachoengsao.doae.go.th. [19 ก.ค. 2014].
6. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 วันที่ 3-5 ก.พ. 2553. (ศานิต สวัสดิกาญจน์, สุวิทย์ เฑียรทอง, เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์, สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์, วริสรา ปลื้มฤดี). “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า”. หน้า 412-421.
7. บ้านจอมยุทธ์. “หมาก ( areca palm ) Areca catechu L.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.baanjomyut.com. [19 ก.ค. 2014].
8. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “หมาก แก้น้ำกัดมือเท้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [19 ก.ค. 2014].
9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “หมาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [19 ก.ค. 2014].
10. จุฬาวิทยานุกรม. “ต้นหมาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chulapedia.chula.ac.th. [19 ก.ค. 2014].
11. ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร. “หมาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.apoc12.com. [19 ก.ค. 2014].
12. โครงการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนทั่วไป, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “หมาก”. อ้างอิงใน: หนังสือพฤกษาพัน (เอื้อมพรวีสมหมาย และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th. [19 ก.ค. 2014].
13. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “หมาก แก้เบาหวานแผลหายเร็ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [19 ก.ค. 2014].
14. รักบ้านเกิด. “การใช้หมากรักษาหูด”. อ้างอิงใน: กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com. [19 ก.ค. 2014].
15. ผู้จัดการออนไลน์. (นายเกษตร). “หมากกับมะเร็งปาก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [19 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.indiamart.com/
2. https://hzgoodar.live/
3. https://medthai.com/

หนาดใหญ่ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

0
หนาดใหญ่
หนาดใหญ่ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อมีริ้วประดับหลายชั้น สีเหลืองขนาดเล็ก ดอกแก่เป็นสีขาว ผิวใบมีขนละเอียด และมีกลิ่นหอม ผลแห้งไม่แตกเป็นสีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย
หนาดใหญ่
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อสีเหลืองขนาดเล็ก ดอกแก่เป็นสีขาว ผิวใบมีขนละเอียด และมีกลิ่นหอม ผลแห้งไม่แตกเป็นสีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย

หนาดใหญ่

หนาดใหญ่ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชื่อสามัญ Ngai Camphor Tree[1], Camphor Tree[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC.จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[4] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ใบหลม ผักชีช้าง พิมเสน หนาดใหญ่ (ภาคกลาง), คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ),ใบหรม (ใต้), เพาะจี่แบ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ด่อละอู้ (ปะหล่อง),หนาด (จันทบุรี), จะบอ (มลายู-ปัตตานี), ส้างหยิ้ง (ม้ง), อิ่มบั้วะ (เมี่ยน), ตั้งโฮงเซ้า ไต่ฮวงไหง่ ไหง่หนับเฮียง (จีน), เก๊าล้อม (ลั้วะ),ต้าเฟิงไอ๋ ไอ๋น่าเซียง (จีนกลาง), แน พ็อบกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)เป็นต้น[1],[3],[6]

ลักษณะของหนาดใหญ่

  • ต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีกลิ่นหอม สูง 1-4 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรงเปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว หากแก่แล้วจะกลายเป็นสีน้ำตาลแกมเทา มีกิ่งก้านมาก กิ่งก้านมีขนนุ่มยาวสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์ด้วยการใช้ผลหรือเมล็ด มักพบขึ้นตามที่รกร้าง หรือหุบเขาทั่วไป[1],[2],[3]
  • ดอก เป็นดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบเป็นช่อกลม ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน กว้าง 6-30 เซนติเมตร ยาว 10-50 เซนติเมตร มีริ้วประดับหลายชั้น ริ้วประดับอาจยาวกว่าดอก ลักษณะของดอกย่อยมีสีเหลืองขนาดเล็กเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อบานปลายกลีบจะแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ เมื่อแก่แล้วกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบดอกมีลักษณะติดกันเป็นหลอดยาวได้สูงสุด 6 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นเส้นฝอยปลายแหลมหุ้มอยู่บริเวณโคนดอก ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้ยื่นออกมา 5 อัน[1],[2],[3],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน ผิวใบมีขนละเอียดหนาแน่น และมีกลิ่นหอม ใบมีขนาดกว้าง1.2-4.5 เซนติเมตรและยาว 10-17 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ก้านใบสั้นหรืออาจไม่มีก็ได้[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปขอบขนาน ยาวราวๆ 1 มิลลิเมตร ผลแห้งไม่แตกเป็นสีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย เป็นเส้น 5-10 เส้น มีขนสีขาวปกคลุมอยู่ส่วนบน[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ของหนาดใหญ่

  • สามารถใช้ใบมาทำเป็นที่ประพรมน้ำมนต์ร่วมกับกิ่งพุทราเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย[6]
  • มีความเชื่อจากฟิลิปปินส์ว่า ใบหนาดหากพกติดตัวจะทำให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆและมีความเชื่อจากมาเลเซียอีกว่า สามารถช่วยป้องกันตัวเวลาออกล่าช้างป่าส่วนในบ้านเรามีความเชื่อว่า สามารถป้องกันผีได้
  • ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพิมเสนใช้ในปัจจุบัน[3]

พิมเสนหนาด คือส่วนที่นำใบและยอดอ่อนมาสกัดด้วยไอน้ำจะได้เป็นน้ำมันหอม เมื่อเย็นตัว พิมเสนก็จะตกผลึก จากนั้นกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำไปทำเป็นยาเม็ดกินหรือนำมาป่นให้เป็นผงละเอียดใช้ก็ได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัด ใช้ในการป้องกันและรักษาไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดตีบใช้กันเมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศจีน[2]
  • นำสารสกัดจากใบมาฉีดให้กับคนจะพบว่าสามารถแก้ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายใจ อาการนอนไม่หลับ และช่วยในการขับปัสสาวะ และเมื่อนำมาฉีดเข้ากับสัตว์ทดลอง พบว่าช่วยลดความดันโลหิต ทำให้กล้ามเนื้อลายหดตัว ขยายหลอดลม และช่วยยับยั้ง Sympathetic nerveได้[1],[3]
  • สารที่พบคือ น้ำมันหอมระเหย และในน้ำมันหอมระเหยพบสาร Borneol, Cineole, Di-methyl ether of phloroacetophenone, Limonene และยังพบสารจำพวก Hyperin, Amino acid, Flavonoid glycoside,Erysimin ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าพบสาร blumealactone, borneol, flavanone, quercetin, xanthoxylin[2]
  • สารผสม ถูกใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย โรคหลอดเลือดตีบในปริมาณ 5:1000 มิลลิกรัม พบเมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจีน[2]
  • น้ำต้มที่ได้จากรากและใบ ในความเข้มข้นร้อยละ 1 มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของน้ำต้มจากกาเฟอีนและใบชา พบว่าหนาดจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอ่อนกว่าเล็กน้อย[3]
  • สามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ ยับยั้งเอนไซม์ ยับยั้งการหลั่งของฮีสตามีน ฆ่าปลา ขับปัสสาวะ[2]

สรรพคุณของหนาดใหญ่

1. ใบ มีสรรพคุณในการแก้ปวดกระดูกและเอ็นได้(ใบ)[7]
2. สามารถเป็นในการแก้ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้น แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยการใช้รากและใบทำเป็นยา (รากและใบ)[1],[3] แก้อาการปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตรได้ โดยการใช้รากต้มกับน้ำกินเป็นยา(ราก)[1],[4]
3. สามารถแก้อาการปวดข้อ แก้บวม แก้แผลฟกช้ำโดยการนำรากมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา(ราก)[1],[2],[4]
นำใบมาบดเป็นผงผสมเหล้า ใช้เป็นยาทาแก้ปวดบวม ปวดข้อ ปวดเอว ปวดหลังได้(ใบ)[1],[2],[7] ใช้ยอดอ่อนหรือใบหนาดใหญ่ รากว่านน้ำเล็กสด ใบละหุ่งสด อย่างละเท่าๆกัน นำมาต้ม ใช้น้ำต้มชะล้างบริเวณที่บวมเจ็บ หรือตามข้อที่ปวด(ใบ)[7]
4. ใบ สามารถใช้เป็นยาพอกแก้หิดได้ (ใบ)[7]
5. ใบสามารถรักษาแผลสด แผลฟกช้ำจากการกระแทก ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง แก้กลากเกลื้อนได้
โดยการนำใบมาบดให้เป็นผงผสมกับเหล้าใช้พอกหรือทา หากนำใบมาตำพอกจะสามารถช่วยห้ามเลือดได้(ใบ)[1],[2],[4],[7] ทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้โดยการนำใบหรือผงใบแห้งมาคั้นเอาน้ำและใช้ทาบริเวณแผล (ใบ)[7]
6. สามารถทำเป็นยาพอกแก้ม้ามโตได้โดยการ ใช้ใบตำร่วมกับใบเพกา ใบยอและใบกระท่อม (ใบ)[7]
7. ใบ ในจีนมีการสร้างยาทำให้แท้ง[4]
8. สามารถช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นโดยการใช้ใบหนาดอ่อนนำมาต้มกับน้ำร่วมกับ ใบเดื่อฮาก ใบก้านเหลือง ใบช่าน ใบฝ่าแป้ง เครือไฮ่มวย ว่านน้ำเล็ก ต้นสามร้อยยอด ลำต้นป้วงเดียตม ต้นถ้าทางเมีย ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบ ชาวเมี่ยนนิยิมใช้วิธีนี้(ใบ)[6]
9. สามารถช่วยในการขับประจำเดือน (ใบ)[4] และยังสามารถใช้เป็นยาแก้มุตกิด ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติได้(ใบ[4],รากและใบ[3]) สามารถทำยาแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติได้ โดยการใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือจากราก นำมาทานเป็นยา วิธีนี้นิยมในชวา (ใบ, ราก)[7]
10. สามารถทำเป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดท้องได้ โดยการใช้รากต้มเอาน้ำทานเป็นยา(ราก)[1],[2],[4]
ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องร่วงได้โดยการใช้ส่วนใบมาต้มเอาน้ำกิน(ใบ)[1],[2],[4],[7] ใช้พิมเสนสามารถทานเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วงได้(พิมเสน)[1],[4]
11. สามารถแก้ลมขึ้นจุกเสียดแน่นเฟ้อได้ (ใบ[1],[4], รากและใบ[3])
12. สามารถรักษาโรคหืดได้ โดยการใช้ใบมาทำเป็นยา[2] ใบมีสาร cryptomeridionซึ่งสามารถลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลมได้ สามารถนำใบบดมาผสมกับการบูร ต้นข่อย แก่นก้ามปูและพิมเสน แล้วมวนด้วยใบตองแห้งสูบรักษาโรคหืด(ใบ)[4]
13. ใบมีสรรพคุณที่สามารถช่วยในการขับเหงื่อได้(ใบ)[1],[2],[4] ใช้ใบร่วมกับต้นตะไคร้ ต้มให้เดือดแล้วนำมาอบตัวจะช่วยในการขับเหงื่อได้ โดยนิยมใช้ในอินโดจีน (ใบ)[7]
14. ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรียได้ โดยการใช้ยอดอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆจากนั้นนำไปตุ๋นใส่ไข่ วิธีนี้ได้มาจากชาวม้ง(ยอดอ่อน)[6]
15. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ใบและลำต้นหนาดใหญ่ร่วมกับใบเป้าใหญ่และใบมะขาม มาต้มอาบสามารถช่วยแก้อาการหน้ามืด วิงเวียน ตาลายได้(ต้นและใบ)[4]
16. ใช้ใบสดมาหั่นให้เป็นฝอย ตากแดดและมวนกับยาฉุนใช้สูบจะสามารถเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกได้ (ใบ)[1],[4],[7]
17. สามารถใช้พอกศีรษะเพื่อแก้อาการปวดศีรษะได้ โดยการใช้ใบมาตำกับใบขัดมอญ นิยมวิธีนี้ในกัมพูชา(ใบ)[7]
18. สามารถช่วยในการระงับประสาทได้(ใบ, ทั้งต้น)[4]
19. ใช้เป็นยาฟอกเลือดช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยขับลมชื้นในร่างกายได้ เนื่องจากใบและรากมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย มีฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ ม้ามและลำไส้ (ใบและราก)[3]
20. ใช้เป็นยาบำรุงให้แก่สตรีหลังคลอดบุตรได้ (ใบ)[4] ช่วยให้สตรีหลังคลอดบุตรฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาได้แก่ ไพล ใบหนาด เปล้าหลวง ราชาวดีป่า และอูนป่า ต้มในสตรีหลังคลอดอาบ[6]
21. ใบช่วยทำให้เจริญอาหาร และเป็นยาบำรุงธาตุ(ใบ)[4]
22. ใช้เป็นส่วนผสมของยาอบสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสีย โรคผิวหนังพุพองได้ โดยเป็นสูตรช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)[5]
23. ใบมีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ (ใบ)[4]
24. ใช้รากหนาด 30 กรัม, เหลี่ยงเมี่ยนเจิน 6 กรัม, เถาหีบลมเทศ 30 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำกินสามารถแก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นได้(ราก)[3] ใบก็สามารถทำเป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบได้เช่นกัน (ใบ)[4]
25. ช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น และช่วยแก้หิดได้โดยการใช้ใบผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด (ใบ)[4]
26. นำใบมาตำให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ จะใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อนได้โดยการนำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[4]
27. สามารถช่วยรักษาแผลอักเสบ แผลฟกช้ำ แก้กลากเกลื้อนและทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้ โดยการใช้ผงพิมเสนมาโรยใส่แผล(พิมเสน)[1],[4],[7]
28. ใช้ใบหนาด 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม,ขู่เซินจื่อ 20 กรัม,เมล็ดพุดตาน 15 กรัม,ใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม,ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัมนำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผลสามารถแก้เริมบริเวณผิวหนังได้(ใบ)[3]
29. ใช้เอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัมและใช้รากหนาด 30 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำกินสามารถช่วยในการแก้ปวดประจำเดือนได้(ราก)[3]
30. ใช้ใบหนาดร่วมกับใบหมากป่า และใบเปล้าหลวงใช้เป็นยาสมุนไพรอาบเพื่อรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรได้ ชาวลั้วะจะใช้รากมาต้มผสมกับรากเปล้าหลวงในน้ำ สามารถใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือนได้ (ราก, ใบ)[6]
31. ทำเป็นยาขับพยาธิได้ โดยใช้น้ำต้มจากใบและยอดอ่อนมาดื่มเป็นยา(ใบ)[1],[4]และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ทั้งต้น)[4]
32. สามารถช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก, ใบ, พิมเสน)[1],[2],[4]
33. ชาวลั้วะใช้ใบมานวดบริเวณอกเพื่อแก้อาการเจ็บหน้าอก หากยังไม่หายจะใช้ต้นมาต้มกับน้ำดื่ม(ต้น, ใบ, ทั้งต้น)[4],[6]
34. มีสรรพคุณช่วยในการขับเสมหะ (ต้น, ใบ)[1],[2],[4]
35. สามารถทำเป็นยาแก้หวัดได้โดยการใช้รากมาต้มกับน้ำทาน(ราก, ใบและราก)[3],[4]
36. ทำเป็นยาแก้ไข้ได้ โดยใช้ใบและยอดอ่อนต้มกับน้ำทาน(ใบ)[1],[2],[4] ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลมแดดได้(ทั้งต้น)[4] สามารถนำต้นมาต้มอาบแก้ไข้ได้โดยนิยมในชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน(ต้น)[6] สามารถทำเป็นยาทานแก้ไข้ได้ โดยใช้ใบนำมาต้มรวมกับเทียนดำ หัวหอมเล็ก หรือจะบดกับเกลือก็ได้ (ใบ)[7]
37. ทำให้เลือดหยุดไหลได้ โดยการนำใบมาขยี้แล้วใช้ยัดบริเวณจมูก(ใบ)[6]
38. พิมเสนสามารถช่วยแก้ตาเป็นต้อได้ (พิมเสน)[7]
39. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรคได้ (ทั้งต้น)[4]
40. มีสรรพคุณใช้เป็นยาลดความดันโลหิต (ใบ, ทั้งต้น)[4]
41. ทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้นโดยการใช้รากสดมาต้มเอาน้ำดื่ม(ราก)[1],[2],[4]
42. ใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ บำรุงร่างกายและผิวพรรณได้โดยการนำใบมาสับแล้วตากให้แห้ง (ใบ)[6]
43. สามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได้ โดยการใช้ใบและยอดอ่อนต้มเอาน้ำดื่ม(ใบ)[1],[2],[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนาดใหญ่”. หน้า 813-815.
2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หนาดใหญ่” หน้า 192.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนาดใหญ่”. หน้า 610.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาดใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ก.ย. 2014].
5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ย. 2014].
6. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หนาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ย. 2014].
7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หนาดใหญ่และผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [30 ก.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://tcmwiki.com/
2. https://blog.xuite.net/
3. https://medthai.com/

หญ้าแพรก สรรพคุณแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

0
หญ้าแพรก
หญ้าแพรก สรรพคุณแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นวัชพืชแตกกิ่งเลื้อยปกคลุมดิน ใบออกตามข้อ ดอกเป็นช่อกระจะ รูปร่างเป็นเส้นสีเขียวเทาไปถึงสีม่วง เมล็ดขนาดเล็กรูปไข่ สีน้ำตาลไปจนสีแดง
หญ้าแพรก
เป็นวัชพืชแตกกิ่งเลื้อยปกคลุมดิน ใบออกตามข้อ ดอกเป็นช่อกระจะ รูปร่างเป็นเส้นสีเขียวเทาไปถึงสีม่วง เมล็ดขนาดเล็กรูปไข่ สีน้ำตาลไปจนสีแดง

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก ถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและยุโรป เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและอากาศอบอุ่น ความชื้นในปริมาณที่ค่อนข้างมาก พบขึ้นเองได้ตามพื้นที่แห้งแล้ง ที่ว่างริมถนน หรือในบริเวณสนามหญ้า ทนน้ำท่วมขังและสามารถขึ้นได้ในดินเค็ม จะขึ้นในที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 40-400 เมตร ชื่อสามัญ Bermuda grass, Bahana grass, Creeping-cynodon, Dub grass, Dog’s tooth grass, Florida grass, Scutch grass, Lawn grass, Wire grass[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Cynodon dactylon (L.) Pers. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ หญ้าแผด (ภาคเหนือ), หญ้าเป็ด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หนอเก่เค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ทิซั่วเช่า (จีน), สทฺทล (สัด-ทะ-ละ) , สทฺทโล (สัด-ทะ-โล) , หริต (หะ-ริ-ตะ)[1],[2]

ความหมายของหญ้าแพรก

หญ้าแพรที่ใช้ในพานไหว้ครูมีความหมายว่า ศิษย์จะเป็นผู้มีความอดทนในการศึกษาเล่าเรียน เป็นผู้มีความอ่อนน้อมและไม่โกรธตอบ และในทางความเชื่อ ถ้าใช้หญ้าแพรกไหว้ครูแล้วจะทำให้ลูกศิษย์เป็นผู้มีปัญญาแตกฉานเหมือนกับความเจริญงอกงาม จะประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับหญ้าแพรกที่แตกทอดไปตามพื้นดิน

ลักษณะของหญ้าแพรก

  • ต้น[1],[2]
    – เป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า มีขนาดเล็ก
    – มีอายุอยู่ได้หลายปี
    – ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาปกคลุมดิน
    – เติบโตแบบแผ่ราบไปตามพื้นดิน
    – เลื้อยปกคลุมดินไปได้ประมาณ 1 เมตร
    – ลำต้นชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร
    – ลำต้นเป็นข้อและมีรากงอกออกมา
    – สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด กิ่ง ราก และแตกลำต้นไปตามพื้นดิน
  • ใบ[1],[4]
    – ใบจะออกเป็นกระจุกตามข้อของลำต้น
    – จะออกใบตรงข้ามกัน
    – ใบเป็นรูปเส้นยาวหรือรูปใบหอกเรียว
    – ปลายใบแหลมยาว
    – โคนใบมีขนสั้นที่เป็นสีขาวก่อนถึงส่วนที่หุ้มรอบข้อ
    – ใบมีความกว้าง 1-3 มิลลิเมตร และมีความยาว 1-6 เซนติเมตร
  • ดอก[1],[2],[4]
    – ออกดอกเป็นช่อกระจะ
    – ในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยอยู่ 3-6 ช่อย่อย
    – ก้านช่อดอกร่วมมีความยาว 1.5-5 เซนติเมตร
    – ช่อดอกย่อยมีรูปร่างเป็นเส้นสีเขียวเทาไปถึงสีม่วง มีความยาว 2-5 เซนติเมตร
    – มีดอกย่อยเรียงกันเป็นแถว 2 แถว
    – ดอกย่อยมีความยาว 1.5-3 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่แน่นบนด้านหนึ่งของก้านดอกย่อย
    – ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีอับเรณูสีม่วงยาว 1.1-5 มิลลิเมตร
    – รังไข่มีก้านเกสรเพศเมีย 2 เส้น ส่วนปลายเป็นฝอยมีรูปร่างคล้ายขนนก
    – สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  • ผล[1]
    – ผลหรือเมล็ดนั้นจะมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก
    – ผลมีความยาวได้ 11.5 มิลลิเมตร เป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาลไปจนสีแดง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  1. รายงานความเป็นพิษที่ได้ศึกษาในประเทศอินเดีย ตรวจพบ hydrocyanic acid[2]
    – ทำให้สัตว์ที่กินพืชนี้เข้าไปเกิดอาการเป็นพิษ
    – มีอาการกล้ามเนื้อหน้าชักกระตุก เกิดอาการกัดฟัน
    – มีความดันโลหิตสูง หลังจากนั้นก็ส่งผลให้สัตว์ตาย
  2. สารสกัดจากลำต้นด้วยอีเทอร์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ดังนี้[1]
    – Bacillus subtilis
    – Escherichia coli
    – Pseudomonas aeruginosa
    – Salmonella typhi
    – Shigella dysenteriae
    – Staphylococcus aureus
    – Streptococcus faecalis
  3. สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส ที่มีการทดลองกับ Vaccinia virus[1]
  4. สารอัลคาลอย์บางชนิด[2]
    – มีฤทธิ์ทำให้การไหลเวียนของโลหิตของหนูและหนูถีบจักช้าลง
    – มีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภา
    – มีส่วนที่เป็น Glycoside มีที่ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของแมว
  5. จากการทดลองฉีดสารอัลคาลอยด์ ในขนาด 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม[1]
    – ฉีดเข้าในหลอดเลือดดำของกระต่ายทดลอง
    – พบว่าเลือดจากบาดแผลของกระต่ายจะเกิดการแข็งตัวขึ้น
    – เลือดจะหยุดไหลได้เร็วขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการทางอาหารสัตว์ (อายุประมาณ 45 วัน)[2]

– โปรตีน 9.7%
– เยื่อในส่วน ADF 31.5%
– NDF 67.7%
– แคลเซียม 0.5%
– ฟอสฟอรัส 0.12%
– โพแทสเซียม 1.54%
– ลิกนิน 6.4%

สรรพคุณหญ้าแพรก

  • ช่วยแก้อัมพาต แก้อัมพาตครึ่งตัว[1],[2],[4]
  • ช่วยแก้แขนขาชา ปวดเมื่อยกระดูก[1],[2],[4]
  • ช่วยแก้พิษอักเสบ ปวดบวม[2]
  • ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น[4]
  • ช่วยห้ามเลือด[1],[4]
  • ช่วยแก้อาการบวมน้ำ[1],[2]
  • ช่วยแก้ตกโลหิตระดูมากเกินไปของสตรี[2]
  • ช่วยขับปัสสาวะ[1],[2],[3]
  • ช่วยขับลม[1],[2]
  • ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด[1],[2],[4]
  • ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ[2]
  • ช่วยแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว รวมถึงเหือดหัด และอีสุกอีใส[2]
  • ช่วยแก้ไข้[1],[4]
  • ช่วยแก้อาการลมชัก[4]
  • ช่วยแก้โรคเบาหวาน[1],[2]
  • ช่วยแก้อาการปวดข้อ[1]
  • ช่วยรักษาพิษไข้มีผื่นต่าง ๆ เช่น เป็นหัด เหือด[1]
  • ช่วยแก้ท้องเดินเรื้อรังได้[3]
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย[1]
  • ช่วยแก้โรคหนองเรื้อรัง[1]
  • ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก[1]
  • ช่วยแก้ซิฟิลิสในระยะออกดอก[1]
  • ช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ[1]

ประโยชน์ของหญ้าแพรก

  • ทั้งต้น สามารถนำมาใช้ในพิธีไหว้ครูได้ โดยจะใช้ร่วมกับดอกเข็มและดอกมะเขือ[2],[3]
  • สามารถนำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างดินได้[2]
  • รากนั้นจะไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำกัดเซาะหน้าดินพังทลายได้เหมือนกับหญ้าแฝก[2]
  • เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ตามธรรมชาติ จำพวกสัตว์แทะเล็มเช่น พวกโค กระบือ แกะ แพะ เป็นต้น[2],[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้าแพรก”. หน้า 809-810.
2. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (รักษ์เกียรติ จิรันธร). “หนึ่งในพืชสำคัญของพิธีไหว้ครู หญ้าแพรก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th. [25 ก.ค. 2014].
3. ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หญ้าแพรก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm. [25 ก.ค. 2014].
4. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “หญ้าแพรก”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th. [25 ก.ค. 2014].
5. https://medthai.com/

หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ

0
หญ้าดอกขาว ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก เป็นสีเขียวเข้ม มีเส้นใบที่หลังใบ ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น สีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกแก่เป็นสีขาว เปลือกผลสีน้ำตาลแข็งแห้ง
หญ้าดอกขาว
เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบสีเขียวเข้มมีเส้นที่หลังใบ ดอกเป็นช่อกระจุก สีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกแก่สีขาว เปลือกผลสีน้ำตาลแข็งแห้ง

หญ้าดอกขาว

ดอกขาว เป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ความชื้นปานกลาง สามารถพบเจอได้ทั่วไปตามทุ่งนาชายป่า สนามหญ้า ที่รกร้าง ชื่อสามัญ Purple-flowered fleabane, Ash-coloured ironweed, Little ironweed, Ash-coloured fleabane, Purple fleabane [6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cacalia cinerea (L.) Kuntze, Conyza cinerea L., Vernonia cinerea (L.) Less.) อยู่วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[7] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ม่านพระอินทร์, ซางหางฉ่าว (จีนกลาง), เซียวซานหู่ (จีนกลาง), เซียวซัวโห้ว (จีนแต้จิ๋ว), หญ้าหมอน้อย (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), หนาดหนา (จังหวัดชัยภูมิ), ฝรั่งโคก (จังหวัดเลย), หญ้าสามวัน (จังหวัดเชียงใหม่), ยาไม่ต้องย่าง, เซียวซัวเฮา (จีนกลาง), หมอน้อย (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), เสือสามขา (จังหวัดตราด), ถั่วแฮะดิน (จังหวัดเลย), ก้านธูป ต้นก้านธูป (จังหวัดจันทบุรี), หญ้าละออง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), เซียหั่งเช่า (จีนแต้จิ๋ว), ผ้ำสามวัน, เย่เซียงหนิว (จีนกลาง) [1],[2],[3],[7]

ลักษณะของหญ้าดอกขาว

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก สามารถมีอายุได้ถึงประมาณ 1-5 ปี ต้นสูงประมาณ 20-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงจะแตกกิ่งก้านนิดหน่อย กิ่งกับก้านเรียว เป็นร่อง มีขนสีเทาขึ้น และมีลายเส้นนูนขึ้นที่ตามข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[1],[4],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปใบหอก รูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปแถบ ปลา โคนใบมนหรือแหลม ใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร มีเส้นใบที่หลังใบชัดเจน เป็นสีเขียวเข้ม ทั้งสองด้านจะมีขนขึ้น ใบที่โคนต้นนั้นจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าใบที่ปลายยอด[1],[2],[5]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกที่บริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 20 ดอก ดอกออกรวมเป็นช่อแยกแขนง มีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 5-35 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปคล้ายระฆัง 4 ชั้น ดอกย่อยเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนอมแดง สีชมพู สีม่วง ดอกบานเต็มที่จะสีดอกจะจางลง ดอกแก่เป็นสีขาว เมื่อดอกร่วงจะเห็นผลเป็นรูปทรงกระบอก[1],[6]
  • ผล เป็นรูปทรงกระบอกแคบ เป็นสีน้ำตาลเข้ม เปลือกผลจะแข็งแห้ง มีความยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ที่ด้านบนจะมีขนสีขาว ผลเป็นพู่แตกบาน ทำให้เมล็ดลอยตามลมได้ [1],[6]

ประโยชน์หญ้าดอกขาว

  • มีการพัฒนาเป็นยาในรูปแบบต่างๆ แบบผลิตภัณฑ์ผสมกาแฟ หมากฝรั่ง ลูกอมเม็ดแข็ง ชาชง แบบแผ่นฟิล์มละลายเร็ว แบบแคปซูล แบบลูกกวาดนุ่ม หาซื้อง่าย ปัจจุบันชาหญ้าดอกขาวถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ในส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพรสำหรับลดความอยากบุหรี่รูปแบบชง ใช้ทานครั้งละ 2 กรัม ด้วยการชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิเมตร ใช้ทานหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ในรูปแบบชาชง คือนำหญ้าดอกขาวแห้งมาบดให้เป็นผงละเอียด บรรจุในถุงชาขนาดเล็ก วิธีทานคือนำถุงชาจุ่มลงน้ำร้อน ทิ้งไว้สักพัก อมในปากเป็นเวลาประมาณ 1-2 นาที ส่วนรูปแบบยาอมแบบอัดเม็ด มาจากการนำมาเคี่ยวทำเป็นผงแห้งก่อนอัดเม็ด รูปแบบนี้จะทำให้พกพาง่าย พกพาสะดวก ก่อนสูบบุหรี่ทุกครั้งให้นำมาอมไว้จนละลายหมดค่อยสูบบุหรี่ จะช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้ [3],[4]
  • ในปัจจุบันมีการใช้เป็นยาแก้อาการติดบุหรี่ เนื่องจากทานแล้วทำให้เหม็นบุหรี่และไม่อยากสูบบุหรี่ ทางโรงพยาบาลหลายแห่งใช้อย่างแพร่หลาย ต่อมาในปี พ.ศ.2547 มีการจดสิทธิบัตรในอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ใช้สารสกัดจากที่ได้ใส่ในก้นกรองของบุหรี่เพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่[3]
  • ช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้น เลือดมีคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มยิ่งขึ้น ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลง ผลข้างเคียงของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีนี้มีน้อยมาก (อย่างเช่น สมาธิแปรปรวน มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย)[3]

โทษของหญ้าดอกขาว

เมื่อทานยาชนิดนี้จะทำให้ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง คอแห้ง (ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคไตเพราะมีโพแทสเซียมสูง) อาจมีประโยชน์ในการใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก[3]

สรรพคุณหญ้าดอกขาว

1. สามารถช่วยลดอาการอยากบุหรี่ โดยนำทั้งต้นมาประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำให้พอท่วมยา ต้มให้เดือดเป็นเวลา 10 นาที ทานบ่อย ๆ หรือใช้รูปแบบชาชงขนาด 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง (ทั้งต้น)[3]
2. ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยาแก้เด็กกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แก้ปัสสาวะรดที่นอน โดยนำลำต้นแห้งประมาณ 15-30 กรัม มาชงกับน้ำร้อนทานเป็นชา (ทั้งต้น)[2],[5],[6],[7]
3. สามารถใช้แก้อาการแขนขาไม่มีแรง แก้เหน็บชาได้ โดยทั้งต้น และกิ่งก้านใบทองพันชั่ง มาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา (ทั้งต้น)[3]
4. สามารถช่วยรักษาโรคเท้าช้างได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
5. สามารถช่วยรักษาแผลเบาหวานได้ โดยนำทั้งต้นรวมรากด้วยประมาณ 1-2 กำมือ มาต้มกับน้ำประมาณ 6-8 แก้ว ให้เดือด แล้วปล่อยให้เดือดกรุ่นประมาณ 5-10 นาที จนได้น้ำยาที่มีสีเหลืองแบบชา หรือตากแห้งแล้วนำมาต้มหรือใช้ชงทาน (ทั้งต้น)[3]
6. สามารถช่วยแก้บวม รักษาแผลบวมอักเสบ ดูดฝีหนองได้ (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
7. ในตำรายาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นรวมรากมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ห้ามเลือด ใช้เป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังพุพอง และ (ทั้งต้น)[2],[6]
8. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะขัด ช่วยขับปัสสาวะได้ โดยนำรากสด 30-60 กรัม ถ้าใช้รากแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม มาต้มเอาน้ำทาน (ราก[6],[7], ใบ[5], ทั้งต้น[3])
9. สามารถนำเมล็ดป่นมาชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (เมล็ด)[4],[6],[7]
10. สามารถใช้เป็นยาแก้บิดได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
11. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[2],[5],[6]
12. สามารถนำเมล็ดป่นมาชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้ท้องอืดได้ (เมล็ด)[6],[7]
13. สามารถช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ แก้ประสาทอ่อนได้ (ทั้งต้น)[1]
14. สามารถช่วยแก้เต้านมอักเสบได้ (ทั้งต้น)[1]
15. ใบ มีรสเย็น มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ และแก้หืด (ใบ)[5]
16. ใช้เป็นยาล้างปอดได้ดี มีการนำมาใช้แก้หอบ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยลดเสมหะ ช่วยน้ำมูกเวลาเป็นหวัด (ทั้งต้น)[3]
17. ถ้าเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้นำทั้งต้นมาตากแห้งไว้ต้มทานเป็นประจำ (ทั้งต้น)[3],[6]
18. ในตำรับยาลดความดันโลหิตสูงอีกวิธี ให้นำลำต้นแห้ง 15 กรัม, ต้นส้มดินแห้ง 15 กรัม, ต้นสะพานก๊นแห้ง 15 กรัม มาต้มรวมกัน เอาน้ำมาทาน[7]
19. สามารถช่วยบำรุงกำลังได้ (ทั้งต้น)[5]
20. ทั้งต้นมีรสขมชุ่ม จะเป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับปอด ตับ มีสรรพคุณที่ทำให้เลือดเย็น เป็นยาแก้พิษ (ทั้งต้น)[1]
21. เมล็ดมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้พิษ โดยนำเมล็ดแห้ง 2-4 กรัม มาป่นให้ละเอียด ชงกับน้ำร้อนทาน (เมล็ด)[6],[7]
22. การแพทย์โบราณ การแพทย์พื้นบ้าน มีการใช้บรรเทาโรคและอาการต่าง ๆ เยอะมาก อย่างเช่น ไข้มาลาเรีย มะเร็ง ในกัมพูชาใช้เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ในอินเดียใช้น้ำที่คั้นได้บรรเทาอาการปัสสาวะขัดในเด็ก บรรเทาอาการไอ เมล็ดสามารถใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น[6]
23. เมล็ด มีรสเฝื่อน สามารถนำมาตำใช้พอกช่วยกำจัดเหาได้ (เมล็ด)[5]
24. สามารถใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดข้อ โดยนำมาต้มทาน (ทั้งต้น)[3]
25. ในตำรับยาแก้ฟกช้ำ ใช้ทั้งต้นหญ้าดอกขาว, ทั้งต้นบัวบก, ทั้งต้นฝาง, ยาหัว, เถาไม้กระเบื้องต้น มาต้มกับน้ำทานจนหาย (ทั้งต้น)[3]
26. ทั้งต้นสามารถใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู ฝีหนอง ผ้ำ งูสวัด แผลกลาย (ทั้งต้น)[1],[3]
27. ในตำรับยาแก้ผ้ำหรืออาการติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึกคล้ายกับฝีแต่ไม่ใช่ฝี ให้นำมาต้มใช้ไอรมแผล เมื่อยาเย็นลงให้นำน้ำต้มยามาล้างแผล 1 วัน รม 3 ครั้ง 3 วัน โดยให้ใช้ยาหม้อเดิมทั้ง 3 วัน (ทั้งต้น)[3]
28. สามารถใช้แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน (ทั้งต้น)[1]
29. สามารถนำใบมาตำใช้พอกแก้กลากเกลื้อน เรื้อนกวางได้ (ใบ)[2],[5],[6]
30. สามารถนำเมล็ดมาตำใช้พอกหรือป่นชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังด่างขาว โรคผิวหนังเรื้อรัง (เมล็ด)[5],[6],[7]
31. สามารถนำใบสดมาตำใช้พอกปิดแผล เป็นยาสมานแผล (ใบ)[2],[5],[6]
32. สามารถใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน และแก้ดีซ่านได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[5],[6]
33. สามารถช่วยแก้ริดสีดวงทวารได้ (ทั้งต้น)[5],[6]
34. สามารถใช้เป็นยาขับพยาธิได้ โดยนำรากสด 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำแล้วเอาน้ำมาทาน (ราก[6],[7], ทั้งต้น[1])
35. สามารถนำเมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม มาป่นจนละเอียดชงกับน้ำร้อนทานเป็นยาขับพยาธิเส้นด้าย (เมล็ด)[4],[5],[6],[7]
36. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้ท้องขึ้น แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[2],[3],[4],[5],[6]
37. สามารถนำทั้งต้นมาตำจนละเอียดใช้เป็นยาพอกแก้นมคัดได้ (ทั้งต้น)[4],[5],[6]
38. สามารถนำใบมาตำน้ำนมของคน แล้วกรองเอาน้ำใช้เป็นยาหยอดตา แก้ตาแฉะ ตาแดง ตาเปียก (ใบ)[2],[5],[6]
39. สามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ[5], ทั้งต้น[1])
40. สามารถนำเมล็ดมาป่นชงกับน้ำร้อนใช้ทานเป็นยาบำรุงธาตุ (เมล็ด)[6],[7]
41. ในตำรายาพื้นบ้านใช้ทั้งต้น 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาแก้ตกเลือด ยาบำรุงเลือด (ทั้งต้น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • การศึกษาด้านความปลอดภัย ผลปรากฏว่ามีความปลอดภัยสูง[3] จากการศึกษาด้านพิษวิทยาผลปรากฏว่าสารสกัดในเมทานอลไม่ทำเกิดให้เกิดพิษเฉียบพลันในหนูเมื่อให้ทางปาก มีค่า LD50 สูงกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[6]
  • ราก ต้น ใบ มีสารสำคัญนั่นก็คือ Sodium nitrate ซึ่งจะทำให้ลิ้นชา ช่วยลดอาการอยากบุหรี่[5] จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในการลดการสูบบุหรี่ ผลปรากฏว่า หญ้าดอกขาวช่วยลดการสูบบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มควบคุม และหญ้าดอกขาวรูปแบบการนำไปเคี่ยว ก็คือนำหญ้าดอกขาวแห้ง 20 กรัม มาผสมน้ำ 3 แก้ว แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว นำมาอมในปากประมาณ 1-2 นาทีแล้วจึงค่อยกลืน แล้วค่อยสูบบุหรี่ จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไปจนทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ และลดจำนวนของมวนบุหรี่ที่ใช้สูบต่อวันได้ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ ไม่ว่าสูบเบาหรือสูบหนักมาก่อนก็ตาม จากการวิจัยปรากฏว่าถ้าใช้ติดต่อกัน 2 เดือน จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ 60% ถ้าออกกำลังกายด้วยจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ 62% สามารถช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ 60-70% ถ้าออกกำลังกายด้วย[3],[4]
  • รากกับเมล็ดจะมีฤทธิ์ที่สามารถฆ่าเชื้อพยาธิได้[1],[7]
  • ใบจะมีฤทธิ์ที่ฆ่าเชื้อโรคได้นิดหน่อย ไม่มีฤทธิ์กับเชื้อมาลาเรีย[1],[7]
  • พบสารจำพวก Amino acids, Flavonoid glycoside, Phenols [1]
  • จากการศึกษาผู้ติดบุหรี่ผลปรากฏว่าหลังรักษาด้วยหญ้า 4 เดือน ผู้ติดบุหรี่มีอัตราเลิกสูบบุหรี่ 69.35% เหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ นั้นก็คือ ลิ้นชา ทานอาหารไม่อร่อย ไม่อยากบุหรี่ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ สูบแล้วรู้สึกอยากอาเจียน และผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ให้เหตุผลว่า การดื่มชาหญ้าดอกขาวเหมือนกับดื่มน้ำธรรมดา ไม่มีอาการอะไร[5]
  • ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ ผลปรากฏว่าจะมีฤทธิ์ที่เป็นยาลดไข้ ลดการอักเสบ แก้ปวด ต้านแบคทีเรีย ต้านไม่ให้รังสีแกมมาทำลายเซลล์ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเบาหวาน ต้านการกระจายตัวของมะเร็ง ขับปัสสาวะ ป้องกันไตไม่ให้ถูกทำลาย ต้านการเกิดแผล ต้านการอักเสบ [3],[6] และมีฤทธิ์ยับยั้งการทานอาหารของแมลงบางชนิด และการวิจัยใหม่มุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์ต้านการเติมออกซิเจนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ[6]
  • สารสกัดที่สกัดได้จากต้นด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ที่ลดการบีบตัวของลำไส้หนู เป็นพิษกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง[2]
  • น้ำต้มที่ได้จากส่วนที่อยู่เหนือดินจะมีฤทธิ์ที่ต้านการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการปวด ลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลอง[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าหมอน้อย”. หน้า 604.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสือสามขา”. หน้า 223.
3. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “หญ้าดอกขาว หมอข้างกาย ทางสบายเลิกบุหรี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/. [13 ก.ค. 2014].
4. เดลินิวส์ 5 สิงหาคม พ.ศ.2555. “หญ้าดอกขาว สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่”.
5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “หญ้าดอกขาวกับการลดการอยากบุหรี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/dic/newsletter/newpdf/newsletter10_6/smokingherb.pdf. [14 ก.ค. 2014].
6. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2553. (อรลักษณา แพรัตกุล). “องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของหมอน้อย และแนวทางการพัฒนาตำรับเพื่อใช้ช่วยเลิกบุหรี่”.
7. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หมอน้อย”. หน้า 819-820.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://portal.wiktrop.org/
2. https://www.floraofbangladesh.com/

หญ้างวงช้าง ใบมีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด

0
หญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง ใบมีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นไม้ล้มลุก ใบหยาบมีรอยย่น ท้องใบมีขน ดอกเล็กสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว โคนกลีบมีขนสีขาว ผลขนาดเล็กเปลือกแข็ง
หญ้างวงช้าง
เป็นไม้ล้มลุก ใบหยาบมีรอยย่น ท้องใบมีขน ดอกเล็กสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว โคนกลีบมีขนสีขาว ผลขนาดเล็กเปลือกแข็ง

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง  เป็นไม้กลางแจ้ง มักขึ้นในที่มีความชื้น โตได้ดีในดินทุกชนิด มักพบเจอตามพื้นที่ชื้นแฉะ อย่างเช่น ริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอาราม บ้างที่จะปลูกไว้ขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนชื่อสามัญ Turnsole, Indian Heliotrope, Alacransillo, Eye bright, Indian Turnsole [6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) อยู่วงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)[1],[2],[3] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ ต้าเหว่ยเอี๋ยว (จีนกลาง), ไต่บ๋วยเอี้ยว (จีนแต้จิ๋ว), หญ้างวงช้าง (ไทย), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), เงียวบ๋วยเช่า (จีนกลาง), ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง) [1],[2],[3],[4],[5]

ลักษณะของหญ้างวงช้าง

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุแค่ฤดูเดียว จะเกิดช่วงฤดูฝน พอหน้าแล้งก็จะตาย ต้นสูงประมาณ 15-60 เซนติเมตร จะแตกกิ่งก้านเยอะ ทั้งต้นจะมีขนขึ้น ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด [1],[3],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงสลับกันหรือจะออกเกือบตรงข้าม ใบเป็นรูปป้อม รูปไข่ รูปกลมรี ที่ปลายใบจะแหลมและสั้น ที่กลางใบจะกว้างออก ส่วนที่โคนใบจะมนรีหรือจะเรียวถึงก้านใบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม พื้นผิวใบหยาบ จะมีรอยย่น ขรุขระ ท้องใบจะมีขนขึ้นนิดหน่อย ส่วนหลังใบก็มีขนขึ้นนิดหน่อยเช่นกัน ก้านใบมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ปลายยอด ที่ปลายช่อจะม้วนลงคล้ายงวงช้าง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ออกดอกทางด้านบนแค่เพียงด้านเดียวและเรียงเป็นแถว ดอกย่อยมีลักษณะเล็กและเป็นสีฟ้าอ่อน สีขาว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ มีขนาดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ที่ปลายกลีบจะแยกจากกัน ส่วนที่โคนดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอด มีขนที่ด้านนอก มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ ที่โคนกลีบจะเชื่อมกัน มีขนสีขาวขึ้น มีเกสรเพศผู้ 5 อันอยู่ในหลอดดอก ที่ฐานดอกมีเกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่มีลักษณะเป็นรูปจานแบน [1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปไข่ ผลมีลักษณะเป็นคู่ และมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากรังไข่ 2 อันรวมตัวกัน เปลือกผลจะแข็ง ภายในจะแบ่งเป็น 2 ช่อง และแต่ละช่องจะมีเมล็ดอยู่ตามช่อง [1],[2],[4]

ประโยชน์หญ้างวงช้าง

1. คนอีสานมีภูมิปัญญาใช้เป็นประโยชน์ในด้านเครื่องมือตรวจวัดอากาศ วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าต้องการวัดคุณภาพอากาศ ให้ดูที่ช่อดอกถ้าเหยียดตรงแสดงว่าฝนแล้งจัด ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีมีน้ำเยอะ ถ้าหากแปลงนามีขึ้นเยอะแสดงว่าแปลงนามีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยผลผลิตที่ดี จากการทดลองปรากฏว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะให้ผลผลิตได้มากกว่าแปลงที่ไม่มีหญ้างวงช้างประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อการเปรียบเทียบ)[9]
2. ใบ ใช้รักษาสิวได้ (ข้อมูลไม่ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่าเอาใบมาตำใช้ทาตรงบริเวณที่เป็นสิว)[3]
3. ใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีที่ได้จากใบ ถ้าเอาไปย้อมเส้นไหมจะเห็นว่าเส้นไหมที่มีคุณภาพดี ทนต่อแสงในระดับดี และทนต่อการซักระดับดี โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อน[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สัตว์ทดลองทาน liver microsome ออกซิไดซ์ ได้สาร dehydroheliotrine แบบรวดเร็ว pyrrolic dehydroalkaloid เป็น reactive alkylating agent ซึ่งจะทำให้เกิดแผลในตับ (แค่จำนวนเล็กน้อยก็ทำให้เกิดแผล) แผลที่เกิดขึ้นกว่าจะแสดงอาการให้รู้ก็เป็นปี ๆ และในขนาดสูงจะทำให้เกิด liver necrosis อาการที่สังเกตเห็นได้ในสัตว์ นั่นก็คือ ซึมตัวเหลือง ความอยากอาหารลดน้อยลง เนื้อเยื่ออ่อน มีสีซีด[7]
  • จากการทดลองใช้เป็นยารักษาแผลมีหนอง ฝีเม็ดเล็ก โดยนำทั้งต้นแห้ง 50 กรัม มาหั่นเป็นฝอยผสมน้ำ 1 ลิตร เอามาต้มด้วยไฟอ่อนให้เหลือครึ่งลิตร โดยแบ่งทานหลังอาหารครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ถ้าเป็นเด็กให้ลดปริมาณตามสัดส่วน จากการรักษาด้วยวิธีนี้ปรากฏว่าคนไข้จำนวน 213 ราย ที่ทานยา 1-3 วัน หาย 73 ราย, ทานยา 4-5 วัน หาย 96 ราย, ทานยา 6-10 วัน หาย 52 ราย, ทานยา 10 วันขึ้นไป หายจำนวน 28 ราย จากการทดสอบเบื้องต้นปรากฏว่ายานี้มีผลกับฝีขนาดเล็ก ที่เริ่มเป็นหนองและเริ่มเป็นหนองแล้ว (มีเนื้อเยื่อตายแล้ว) แต่ถ้าใช้ในตอนเริ่มเป็นจะได้ผลการรักษาดีกว่า[4]
  • สารที่ได้จากการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์การกระตุ้นมดลูกหนูทดลอง ซึ่งทำให้มีการบิดตัวของมดลูกแรงขึ้น และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Schwartz) ได้ระยะหนึ่ง จะทำให้คนไข้ยืดต่อเวลาชีวิตได้อีกระยะหนึ่ง[2]
  • ทั้งต้นพบสาร Indicinine Acetyl indicine, Indicine เป็นต้น[2] พบสารสำคัญอีกหลายชนิด อย่างเช่น Pyrrolizidine, Alkaloid, Tumorigenic สารเหล่านี้เป็นพิษกับร่างกาย ควรใช้แบบระมัดระวังให้มาก ๆ [9]
  • มีการทดลองในคนโดยทานสารสกัดน้ำที่ได้จากทั้งต้นแห้งของ และปรากฏว่าช่วยลดอาการอักเสบและเร่งการเจริญของเนื้อเยื่อที่แผลได้[9]
  • จากการทดลองกับหนูขาว ปรากฏว่าสารสกัดที่ได้จากรากด้วยแอลกอฮอล์ 95% และสารกลุ่มอัลคาลอยด์จากเมล็ด จะมีฤทธิ์ที่ต้านการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ, มีฤทธิ์ที่ช่วยลดความดันโลหิตแบบอ่อน, มีฤทธิ์ที่ยับยั้งเซลล์เนื้องอกบางชนิด แต่พบว่าทั้งต้นมีสารพิษที่เป็นพิษกับตับ ต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป[9]
  • เมื่อนำรากมาต้มให้เข้มข้น แล้วฉีดเข้าเส้นเลือดแมวที่สลบ ปรากฏว่าความดันโลหิตแมวลดน้อยลง และกระตุ้นการหายใจได้แรงยิ่งขึ้น แต่ลดการเต้นของหัวใจของคางคกที่แยกจากตัว ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่มีผลอันนี้ ส่วนที่สกัดด้วยน้ำไม่มีผลที่เด่นชัดกับกล้ามเนื้อลำไส้เล็กของหนูที่แยกจากตัว แต่กับลำไส้เล็กของกระต่ายทดลองที่แยกออกจากตัว มีผลที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวได้ ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ลำไส้เล็กของกระต่ายเท่านั้น ส่วนที่สกัดทั้งสองจะไม่มีผลกับกล้ามเนื้อเรียบที่ท้องคางคก แต่มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกจากตัว ทั้งส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์กับน้ำจะมีสารทำให้มดลูกบีบตัว ส่วนที่สกัดจากใบมีผลกับโรคของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของหนูเล็ก ช่วยต่อต้านเนื้องอกได้ระยะหนึ่ง ด้วยการยืดอายุหนูออกไป ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่เห็นพิษชัด (ใช้ยาฉีดขนาดเข้มข้น 1:1 เข้าช่องท้องหนูเล็กในขนาด 0.8 มิลลิกรัม ปรากฏว่าไม่ทำให้หนูทดลองตาย) ส่วนที่สกัดด้วยน้ำจะมีพิษกับหนูเล็กนิดหน่อย[2],[4]

สรรพคุณหญ้างวงช้าง

1. สามารถใช้รักษาอาการฟกช้ำได้ (ประเทศอินเดีย-ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด)[9]
2. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาลดบวม สามารถช่วยแก้แผลบวมมีหนอง และช่วยลดอาการปวดบวมฝีหนองได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
3. สามารถใช้แก้หนองในช่องคลอดได้ (ทั้งต้น)[1]
4. สามารถช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบาได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทานเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
5. ทั้งต้นหญ้าจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]
6. สามารถช่วยแก้อาการปวดท้องได้ โดยนำต้นสดประมาณ 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน (ต้น)[4]
7. สามารถช่วยแก้หอบหืดได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
8. ทั้งต้น มีรสขม เป็นยาสุขุม จะออกฤทธิ์กับกระเพาะปัสสาวะและปอด สามารถใช้เป็นยาแก้อาการไอได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
9. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาช่วยดับพิษร้อน แก้ไข้ ลดไข้ ถอนพิษไข้ ช่วยดับพิษร้อน โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทานเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
10. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่สามารถช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด และโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (ทั้งต้น)[1]
11. น้ำที่ได้จากใบสามารถใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟางได้ และทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ตาฟาง (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[4]
12. สามารถช่วยแก้เด็กตกใจเวลากลางคืนบ่อย ๆ ได้ (ทั้งต้น)[4]
13. น้ำที่ได้จากใบจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (น้ำจากใบ)[1]
14. บางตำราใช้ทั้งต้น มาผสมใบชุมเห็ดไทย ดอกชุมเห็ดไทย ใบผักเสี้ยนผี ดอกผักเสี้ยนผี ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดตามข้อได้ อย่างเช่น ข้อเข่า ในขณะที่พอกให้พันด้วยผ้าไว้จนรู้สึกร้อนตรงบริเวณที่พอก แล้วเปิดผ้าออก เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วทาด้วยน้ำมันมะพร้าว (ทั้งต้น)[9]
15. ใบสามารถใช้เป็นยาพอกฝี รักษาโรคผิวหนังได้ (ใบ)[1],[3]
16. ในอินเดียใช้แก้กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง แก้แมลงสัตว์กัดต่อยด้วย (ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด)[9]
17. สามารถช่วยแก้แผลฝีเม็ดขนาดเล็ก มีหนองได้ โดยนำรากสดประมาณ 60 กรัม มาผสมเกลือนิดหน่อย แล้วต้มกับน้ำทาน และนำใบสดมาตำกับข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) นำมาใช้พอกแผล (ราก,ใบ)[4]
18.ใบสามารถใช้เป็นยาพอกรักษาแผลได้ (ใบ)[1],[3]
19. รากกับดอกถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับระดู โดยนำดอกสดมาต้มทาน แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้แท้งบุตรได้ (ราก,ดอก)[1],[3]
20. ในอินเดียใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด) เมล็ดสามารถใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บปวดกระเพาะอาหารได้ (เมล็ด)[9]
21. สามารถช่วยแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษได้ โดยนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มผสมต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ), หญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) (ต้น)[5]
22. สามารถช่วยแก้ฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด แก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด โดยนำต้นสด 60 กรัม มาต้มผสมน้ำผึ้งทาน หรือนำทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม มาตำคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
23. น้ำที่ได้จากใบสามารถใช้ทำยาอมกลั้วคอช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำที่ได้จากใบ)[1],[2],[3]
24. ทั้งต้นใช้เป็นยาเย็น สามารถช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยดับร้อนในได้ (น้ำที่ได้จากใบ,ทั้งต้น)[1],[4]
25. สามารถช่วยแก้อาการปากเปื่อยได้ โดยนำต้นสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาบ้วนปากและกลั้วคอวันละ 4-6 ครั้ง (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
26. สามารถนำรากสดมาตำคั้นเอาน้ำมาใช้หยอดตาแก้ตาฟาง ตาอักเสบ ตามัว ตาเจ็บ (ราก)[1],[3]
27. สามารถนำใบสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาใช้เป็นยาหยอดหูได้ (ใบ)[1],[3]
28. ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็กได้ (ทั้งต้น)[1],[3]

การเก็บมาใช้

  • ให้เก็บทั้งต้นที่โตเต็มที่และมีดอก มาล้างให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด ใช้เป็นยาสดหรือเอามาตากแห้งเก็บไว้ใช้[4]

วิธีใช้

ให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม มาคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งทาน ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม ถ้าใช้ภายนอกให้เอามาต้มเใช้น้ำชะล้าง หรือคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก[2],[4]

ข้อควรระวังในการใช้

  • ทั้งต้นมีสารพิษ Pyrrolizidine alkaloid จะออกฤทธิ์กับตับ ถ้าได้รับครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่กับอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง หมดสติ วิธีรักษาเบื้องต้นคือให้รีบทำให้อาเจียน โดยทาน Syrup of ipecac 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กที่อายุ 1-12 ปี ให้ทาน 1 ช้อนโต๊ะ[6] อีกข้อมูลระบุเอาไว้ว่าสารที่เป็นพิษนั่นก็คือสาร Lasiocarpine จะมีฤทธิ์ที่ทำให้ตับอักเสบ (cirrhoesis) เป็นพิษกับตับ[7] มีข้อมูลอื่นที่ระบุไว้ว่า แม้ได้รับครั้งเดียวก็ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์ตับแบบเรื้อรังได้
  • ห้ามให้สตรีที่มีครรภ์ทาน[4]
  • ถ้าใช้ในขนาดที่เยอะเกินขนาด อาจจะทำให้แท้งบุตรได้[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้างวงช้าง (Ya Nguang Chang)”. หน้า 316.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้า งวงช้าง”. หน้า 582.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้างวงช้าง”. หน้า 803-805.
4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [07 ก.ค. 2014].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้างวงช้าง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [07 ก.ค. 2014].
6. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หญ้า งวง ช้าง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [07 ก.ค. 2014].
7. กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530. (วันทนา งามวัฒน์). “สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง”. หน้า 3.
8. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [07 ก.ค. 2014].
9. แผ่นดินทอง. “หญ้างวงช้างภูมิปัญญาตรวจวัดอากาศ”. อ้างอิงใน: มติชนสุดสัปดาห์, 4 พ.ย. 2554. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: glamdring.baac.or.th. [07 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/
2. https://www.nparks.gov.sg/
3. https://medthai.com

หญ้าเกล็ดหอยเทศ สรรพคุณรักษาอาการตับอักเสบ ตับแข็ง

0
หญ้าเกล็ดหอยเทศ
หญ้าเกล็ดหอยเทศ สรรพคุณรักษาอาการตับอักเสบ ตับแข็ง เป็นพืชล้มลุกลำต้นเลื้อยปกคลุมพื้นดิน ใบมีสีเขียวขนาดเล็ก ดอกสีเขียวอมขาวหรือสีแดงอ่อน ผลเล็กแบนและเหลี่ยม ผิวแต้มเป็นจุด ๆ
หญ้าเกล็ดหอยเทศ
เป็นพืชล้มลุกลำต้นเลื้อยปกคลุมพื้นดิน ใบมีสีเขียวขนาดเล็ก ดอกสีเขียวอมขาวหรือสีแดงอ่อน ผลเล็กแบนและเหลี่ยม ผิวแต้มเป็นจุด ๆ

หญ้าเกล็ดหอยเทศ

หญ้าเกล็ดหอยเทศ เป็นวัชพืช ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไป จัดเป็นหนึ่งในวัชพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle sibthorpioides Lam.[1],[3] อยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เกล็ดหอย หญ้าเกล็ดหอยเล็ก (ไทย),หญ้าเกล็ดหอย (ภาคกลาง),โพวตี่กิ้ม เทียงโอ่วซุย (จีนแต้จิ๋ว),เทียนหูซุยพูตี้จิ่น (จีนกลาง)[1],[2]

ลักษณะของหญ้าเกล็ดหอยเทศ

  • ต้น จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยแผ่ปกคลุมไปตามพื้นดิน ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาว ลำต้นเป็นข้อยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร มีรากฝอยแตกขยายเพื่อยึดเกาะตามหน้าดิน สามารถใช้เมล็ดหรือวิธีแยกลำต้นในการขยายพันธุ์ สามารถเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบมีสีเขียวขนาดเล็กรูปทรงกลม แผ่นใบบาง ส่วนโคนใบนั้นจะหยักเข้าด้านในคล้ายรูปหัวใจ รอบใบจะมีรอยหยักเล็กๆ ประมาณ 5-9 หยัก ตัวใบมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ท้องใบเป็นสีขาวและมีขนอ่อนๆปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-8 เซนติเมตร เส้นใบออกจากโคนใบ จำนวนเท่ากับหยักของแต่ละใบ[1],[2],[3]
  • ดอก มีขนาดเล็กมากๆ รวมกันเป็นช่อ ซึ่งดอกจะมีสีเขียวอมขาวหรือสีแดงอ่อน โดยจะออกตามบริเวณข้อของลำต้นและตามง่ามใบ กลีบดอกเป็นรูปกลมรี มี 5 กลีบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อย 10 ถึง 15 ดอก ก้านดอกสั้นมากหรือไม่มีก้านเลย ส่วนยอดเกสรเพศเมียมี 2 อัน
    เกสรเพศผู้มี 5 อัน [1],[2],[3]
  • ผล ออกเป็นผลคู่ ภายในผลนั้นจะมีเมล็ดเล็กๆ อยู่ด้านใน ผลมีลักษณะแบนและเหลี่ยม ยาวประมาณ 1-1.25 มิลลิเมตร ผลกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ผิวผลมีแต้มเป็นจุดๆ ผิวผลเป็นมัน[1],[2],[3]

ประโยชน์ของหญ้าเกล็ดหอย

1. ใช้ลำต้นของหญ้าเกล็ดหอยมาคั้นสด ผสมกับเกลือ และนำไปป้ายตาของสัตว์เลี้ยง จะสามารถรักษาอาการเยื่อตาอักเสบในสัตว์เลี้ยงได้[1]
2. นำลำต้นสดมา 250 กรัม มาตำคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน จะสามารถช่วยรักษาสัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยได้[1]
3. ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยสด มาต้มกับผักกาดสด มั่งแส่โชย และกึงป๊วก อย่างละ 39 กรัม จากนั้นเอาน้ำต้มมาผสมกับน้ำเต้าหู้ ครึ่งชามจากนั้นใส่น้ำตาลทราย 60 กรัม และให้หมูกิน จะสามารถรักษาหมูที่เป็นไตอักเสบ บวมน้ำได้[1]
4. สามารถใช้หญ้าเกล็ดหอยปลูกเป็นไม้ประดับคลุมดินทั่วไปตามบ้านได้[1]
5. ลำต้นสามารถช่วยแก้อาการเจ็บคอหรือคออักเสบในวัวได้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • น้ำต้มความเข้มข้น 1 ต่อ 1 มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อบิดหรือเชื้อไทฟอยด์ได้ดี และยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Strepto coccus และ Staphylo coccus ได้อีกด้วย[2]
  • พบสารจำพวก Phenols และ Amino acid, Coumarin, Hyperin ,น้ำมันระเหยต่าง ๆ และสารจำพวก Flavonoid glycoside ในหญ้าเกล็ดหอย[2]

สรรพคุณของหญ้าเกล็ดหอย

1. การใช้หญ้าเกล็ดหอยนำมาตำแล้วนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง สามารถใช้เป็นยาแก้อาการงูสวัดได้ โดยการนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล (ทั้งต้น)[2]
2. สามารถรักษาฝีอักเสบเรื้อรังมีหนอง หูอักเสบมีหนอง แผลเป็นตุ่มพองรอบเอว แผลมีหนองเรื้อรัง ได้โดยใช้ น้ำลำต้นคั้น มาทารักษา(ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
3. ใช้ต้นสด 30-60 กรัม มาคั้นตำผสมกับเหล้าทาน 4-7 วัน วันละ 2 ครั้ง สามารถช่วยแก้อาการดีซ่านได้[2]นำต้นสด มาตุ๋นกับเหล้าที่หมักจากข้าวเหนียวกิน หลังอาหารเช้าและกลางวัน พบว่าทำให้หายจากอาการตัวเหลืองได้(ลำต้น, ทั้งต้น)[3]
4. ลำต้นมีสรรพคุณช่วยแก้ดีพิการได้ (ลำต้น)[2]
5. หญ้าเกล็ดหอยสามารถช่วยแก้อาการท้องมาน บวมน้ำได้(ทั้งต้น)[2]
6. ใช้หญ้าเกล็ดหอย 50 กรัม มาต้ม ใช้น้ำต้มผสมกับเกลือและทาน จะสามารถช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบได้(ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
7. ทั้งต้นสามารถช่วยในการขับเสมหะได้(ทั้งต้น)[2]
8. ใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ โดยการใช้ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกิน(ลำต้น)[1]
9. ใช้เป็นยาแก้อาการบวมได้ โดยการใช้ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกิน(ลำต้น)[1]
10. ลำต้นมีสรรพคุณในการแก้ปวดบวม แก้บวม แก้ฟกช้ำจากการหกล้ม แก้โรคผิวหนัง โดยการนำมาคั้นเอาน้ำใช้ทารักษาบริเวณที่เป็นผื่นคัน (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
11. ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยาห้ามแผลสด หรือแผลที่ปลิงและทากดูดได้ (ทั้งต้น)
12. ช่วยแก้ตับอักเสบ ตับแข็งได้ (ลำต้น)[1]
13. ใช้เป็นยาขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อได้ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
14. ใช้รักษาโรคบิดถ่ายเป็นมูกเลือดได้(ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
15. มีสรรพคุณรักษาตาเป็นต้อ และแก้อาการตาแดงได้ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
16. แก้อาการไอ ไอกรนได้ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2] หรือใช้เป็นยาแก้ไอสำหรับเด็กก็ได้ (ทั้งต้น)[3]
17. สามารถช่วยแก้อาการร้อนใน ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ได้ และทั้งต้นมีรสขมฝาด มีกลิ่นหอมเป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับ ไต และม้าม(ทั้งต้น)[2]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้าเกล็ดหอย”. หน้า 799-801.
2.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าเกล็ดหอยเทศ”. หน้า 576.
3.ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [05 ก.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.fishlaboratory.com/
2. http://www.csbg.nsc.ru/
3. https://medthai.com/

โสมอเมริกา สรรพคุณกระตุ้นต่อมเพศของผู้ชาย

0
โสมอเมริกา สรรพคุณกระตุ้นต่อมเพศของผู้ชาย เป็นไม้ล้มลุก มีราก 2-3 แฉกสีนวล ใบคล้ายกับนิ้วมือคน ดอกเป็นช่อสีขาวอมเขียว ผลสุกสีแดง
โสมอเมริกา
เป็นไม้ล้มลุก มีราก 2-3 แฉก-7ขึ้นไปสีนวล ใบคล้ายกับนิ้วมือคน ดอกเป็นช่อสีขาวอมเขียว ผลสุกสีแดง

โสมอเมริกา

โสมอเมริกา มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบขึ้นครั้งแรกในป่าแถบอเมริกาเหนือ มีการเพาะปลูกครั้งแรกในประเทศอเมริกาเมื่อปลายปี ค.ศ.1800 เป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างมาก ต้องควบคุมในเรื่องของอุณหภูมิ แสงแดด และความชื้นอย่างเหมาะสม เพราะรากโสมจะไม่สมบูรณ์ ในสมัยก่อนจะปลูกกันในแถบป่าทางเอเชียตะวันตก ในปัจจุบันมีการปลูกมากในอเมริกา แคนาดา เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ชื่อสามัญ คือ American gingseng, Asiatic gingseng, Redberry[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Panax quinquefolius L. จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ARALIOIDEAE[1] (Panax มาจากคำว่า Panaxis ที่ได้มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า “Panacia” ที่แปลว่า “รักษาได้ทุกโรค”)[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ โสมห้านิ้ว, โสมห้าใบ, โสม, โสมเกาหลี, โสมจีน, โสมญี่ปุ่น, โสมเอี่ยเซียม (Xi Yang Shen)[1],[2]

ลักษณะของโสมอเมริกา[1]

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้ล้มลุก
    – มีอายุได้นานกว่า 2 ปี
    – มีความสูงได้ถึง 2-3 ฟุต
    – แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบลำต้น
    – สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด
  • ราก
    – โสมหนึ่งต้นจะมีราก 2-3 แฉกขึ้นไป
    – รากมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกใหญ่ มีสีนวล
    – มีความกว้าง 1-2 นิ้ว และยาว 0.5-1.5 ฟุต
  • ใบ
    – ใบเป็นใบประกอบ
    – ใบมีรูปร่างคล้ายกับนิ้วมือคน
    – ใบย่อยแผ่ออกไป 3-5 ใบ
    – แผ่นใบเป็นสีเขียว
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อ
    – จะออกตรงส่วนยอดของต้นหรือตามซอกใบ
    – ดอกเป็นสีขาวอมเขียว
  • ผล
    – ผลสุกจะเป็นสีแดง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  1. สารสำคัญที่พบ คือ[1]
    – ginsenin
    – pacacen
    – panaxin
    – panaxic acid
    – panaquilon
  2. สารประกอบ[2]
    – มีฤทธิ์ตัวยามากกว่าโสมเอเชียถึง 2 เท่า
    – เฉพาะตัวยา Rb ที่มีประโยชน์กับสุขภาพ ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย เหมาะสำหรับการบำรุงร่างกาย

ข้อควรระวัง

  • ผู้ที่รับประทานโสมในปริมาณมากเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง มีอาการนอนไม่หลับ มีผื่น และมีอาการท้องร่วง หรือที่เรียกว่า “ginseng abuse syndrome”[3]
  • ผู้ที่หัวใจอ่อน ไม่ควรรับประทานน้ำโสมอเมริกันในระยะยาวนานจนเกินไป อาจจะทำให้ประสาทถูกกระตุ้นมากจนเกินไป
  • สตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน[2]
  • หากมีอาการท้องร่วง เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง และตาแดง ควรเลิกรับประทานโสมทันที[2]

สรรพคุณของโสมอเมริกา

  • ราก ช่วยระงับอาการปวด[1]
  • ราก ช่วยทำให้ทางเดินโลหิตดีขึ้น[1]
  • ราก ช่วยกระตุ้นหัวใจและสมอง มีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท[1]
  • ช่วยลดผลจากการกระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย[2]
  • ช่วยกระตุ้นการขับของเสียออกจากร่างกาย[2]
  • ช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังตามธรรมชาติ[2]
  • ช่วยรักษาสภาพผิวหนังและป้องกันการเกิดโรคผิวหนัง[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน[2]
  • ช่วยบรรเทาสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับปอด[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก[2]
  • ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ[2]
  • ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด[2]
  • ช่วยบำรุงปอดสำหรับผู้ที่มีไอแห้ง[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด[2]
  • ช่วยป้องกันการขยายตัวจนเกินขอบเขตของต่อมอะดรีนัล[2]
  • ช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น[3]
  • ช่วยรักษาโรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อม[3]
  • ช่วยทำให้สุขภาพจิตและสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น[3]
  • ช่วยกระตุ้นต่อมเพศของผู้ชาย[2]
  • ช่วยลดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้[2]
  • ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือน[2]
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง[2]
  • ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด[2]
  • ช่วยป้องกันไขมันส่วนเกิน[2]
  • ช่วยลดความกดดันทางด้านกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพของร่างกาย[2]
  • ช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง[2]
  • ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคโลหิตจาง[2]
  • ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน[2],[3]
  • ลดระดับน้ำตาลในเลือด[2],[3]
  • ช่วยควบคุมการสันดาปของกลูโคส[2],[3]
  • ช่วยทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น[2],[3]
  • ช่วยป้องกันการเกิดอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า[2],[3]
  • ช่วยป้องกันการเกิดผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้สาร ginsenoside Rb[2],[3]
  • ช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกในการรักษาคนไข้โรคเบาหวานได้[2],[3]
  • ช่วยปรับสภาพการทำงานทั่วไปของหลอดเลือดหัวใจ[2]
  • ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเส้นเลือด[2]
  • ช่วยละลายสารพิษที่ค้างในหลอดเลือดหัวใจ[2]
  • ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง[3]
  • ช่วยชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรคเอดส์[3]
  • ช่วยชะลอวัย[3]
  • ช่วยทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง[3]
  • ช่วยปรับสภาพของร่างกายและจิตใจให้มีความทนทานต่อความกดดันมากยิ่งขึ้น[3]
  • ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย[3]
  • ช่วยต่อต้านสารพิษต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมได้[3]
  • ช่วยกระตุ้นเซลล์ให้สร้างภูมิคุ้มกัน[2]
  • ช่วยต้านการติดเชื้อไวรัส[2]
  • ช่วยเพิ่มการผลิตโฮโมนธัยมัส[2]
  • ช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 50%[3]
  • ช่วยทำลายจุลินทรีย์หรืออนุภาคแปลกปลอมต่าง ๆ ของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น[3]
  • ช่วยทำให้ร่างกายสามารถต้านทานโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา เชื้อไวรัส สารเคมีต่าง ๆ[3]
  • ช่วยต่อต้านโรคภูมิแพ้หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่าง ๆ[3]
  • ช่วยลดความเครียด บรรเทาอาการนอนไม่หลับ[2],[3]
  • ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง[2],[3]
  • ช่วยเพิ่มสมาธิและความสามารถในการเรียนรู้และรับรู้[2],[3]
  • ช่วยเพิ่มการสะสมของโปรตีนและการทำงานของเส้นประสาทในสมอง[2],[3]
  • ช่วยปรับระบบภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล[2]
  • ช่วยส่งเสริมกำลังการไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกาย[2]
  • ช่วยในการบำบัด[2]
  • ช่วยขจัดความร้อนในร่างกาย[2]
  • ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่นขึ้นและปรับสภาพให้ปอดและร่างกายเย็นลง[2]
  • ช่วยลดอาการเมื่อยล้าได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ[2],[3]
  • ช่วยเพิ่มระดับพลังงาน[2],[3]
  • ช่วยบรรเทาความอ่อนเพลียเมื่อยล้าของร่างกาย[2],[3]
  • ช่วยทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะทำงานหรือออกกำลังกาย[2],[3]
  • ช่วยทำให้ผนังเซลล์ดูดซึมออกซิเจนได้เพิ่มขึ้น[2],[3]
  • ช่วยทำให้ใช้เวลาในการฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วหลังจากออกกำลังกายหรือผ่านสภาวะกดดัน[2],[3]
  • ช่วยทำให้สตรีที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น[2],[3]

ประโยชน์ของโสมอเมริกา

  • ประเทศทางตะวันออกมีความเชื่อเกี่ยวกับโสมว่าเป็น “ยาครอบจักรวาล” ที่ช่วยเพิ่มพลัง[3]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โสม”. หน้า 791-792.
2. “โสมอเมริกา (PANAX QUINQUEFOLIUM)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.geocities.ws/pnc_piyaporn/. [09 ก.ย. 2014].
3. งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [09 ก.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.news-medical.net/
2. https://www.thoughtco.com/
3. https://medthai.com/

ต้นเสนียด ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ

0
สีเสียด
สีเสียด เปลือกของต้นใช้เป็นยาแก้บิด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบเรียบสีเขียวมีขน ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอม ฝักแบนตรง
สีเสียด
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบเรียบสีเขียวมีขน ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล มีกลิ่นหอม ฝักแบนตรง

เสนียด

เสนียด เป็นไม้กลางแจ้งโตได้ดีในดินร่วนซุยความชื้นปกติพบได้ตามป่าเต็งรัง ชื่อสามัญ Malabar Nut Tree, Vassica, Adhatoda[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda L.อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2],[10] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ กระเนียด (ทั่วไป), กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ), โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง), กระเหนียด (ภาคใต้), เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), จะลึ้ม (ปะหล่อง)เป็นต้น[1],[3],[4],[6]

ลักษณะของเสนียด

  • ต้น เป็นไม้พุ่มทึบ แตกกิ่งก้านสาขามากรอบๆต้น มีความสูงราวๆ 1.4-3 เมตร มีขนเล็กน้อยบริเวณยอดกิ่งอ่อน ใช้เมล็ดและการปักชำในการขยายพันธุ์ [1],[3],[4]
  • ดอก ออกบริเวณง่ามใบใกล้กับปลายยอด เป็นดอกช่อ ความยาวของก้านช่อราวๆ 10 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาวและมีเส้นสีม่วง ยาวราวๆ 3 เซนติเมตร ลักษณะเป็นปากแยกแบ่งเป็นกลีบบนและกลีบล่าง มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยกสีขาว 2 แฉกและส่วนล่างมีรอยแยกสีขาวปะม่วง 3 แฉก ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเขียว มีใบประดับสีเขียวหุ้มซ้อนกันบริเวณดอกเป็นชั้นเดียว กลีบดอกย่อยกว้าง 3 มิลลิเมตร และยาว 1.2-1.4 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ยื่นออกมา 2 อันและมีเกสรตัวเมียที่สั้นกว่า เกสรตัวผู้มีปลายแยกเป็น 2 แฉกเป็นเส้นกลมยาว[1],[3],[4]
  • ใบ เป็นรูปใบหอกหรือรูปรีใหญ่ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน โคนใบเรียวมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียว มีขนอ่อนๆขึ้นปกคลุมทั่วใบ ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร ใบกว้างราวๆ 4-7 เซนติเมตรและยาวราว ๆ 8-15 เซนติเมตร[1],[3]
  • ผล ออกเป็นฝักมีขน ยาวราวๆ 2 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ดใน 1 ฝัก[4] ผลแห้งแตกออกได้ ไม่ติดผล[1]

ประโยชน์ของเสนียด

  • นำต้นมาปลูกบริเวณริมตลิ่ง จะสามารถป้องกันการกัดเซาะได้[6]
  • นำเนื้อไม้มาทำเป็นรั้วได้[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • กบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 2.5 และ 25 มก. พบฤทธิ์กดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ แต่ให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ อัตรา 1:1 จากใบเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัข ไม่พบการเป็นพิษต่อหัวใจ [10]
  • มีการให้สารสกัดจากใบ ในขนาด 325 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันกับหนูขาวที่ตั้งท้องในระหว่างวันที่ 1-9 ทางสายยาง และให้ใบ ละลายน้ำ 0.25 และ 2.5% แก่หนูขาวพบว่าไม่ทำให้แท้ง แต่เมื่อให้สารสกัดด้วยน้ำจากใบขนาด 175 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทางปากหนูขาวที่ตั้งท้องได้ 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้งได้ 100% ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าสาร Vasicine มีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้งได้แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้งโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming และมีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยให้สาร Vasicine ขนาด 16 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยทนต่อสารได้ดี มดลูกมีการบีบตัวดี และไม่มีผลข้างเคียง [10]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ในการต้านการฝังตัวของตัวอ่อนของหนูขาวเพศเมียได้ประมาณร้อยละ 60-70[10]
  • นำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืดหอบได้ เนื่องจากสาร Vasicine สามารถทำให้หลอดลมขยายตัว[4]
  • พบสาร Alkaloids ในราก อยู่หลายชนิด เช่น Vasicinol และในดอกและใบพบ Vasicine, Vasicinone ในดอกพบสาร Vasicinine, Betaine, Anisoine, Adhatodine และในใบพบ วิตามินซี,Vasakin เป็นต้น[4]
  • พบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบไม่มีพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB และขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ร้อยละ 50 มากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม[10]
  • การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สาร Vasicine แก่ลิงและหนูขาวในเวลา 6 เดือนไม่พบพิษ ไม่พบพิษว่าเป็นพิษกับหนูถีบจักรที่ฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบ เข้าใต้ผิวหนังหรือทางสายยางในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 100-1,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบว่าเป็นพิษในคนที่กินสารสกัดจากใบในขนาด 20 มิลลิลิตรต่อคน[10]
  • หนูถีบจักรเพศเมียเมื่อได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์และสารสกัดด้วยน้ำจากใบทางปากก่อนการผสมพันธุ์ 7 วัน และ 14 วัน ในระหว่างการผสมพันธุ์ พบว่าไม่มีผลในการทำให้หนูเป็นหมัน[10]
  • สาร Vasicine มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกร่างของหนูและกระต่ายทดลองให้มีการบีบตัวและมีการสูบฉีดหัวใจแรงขึ้นและช่วยลดความดันโลหิตของสุนัขทดลองได้เล็กน้อย[4]
  • ดอกและใบ มีสารอัลคาลอยด์Vasicinone และVasicine ซึ่งช่วยในการขยายหลอดลมและละลายเสมหะได้ โดยยาละลายเสมหะในปัจจุบันคือยา Bromhexine ซึ่งเป็นสารที่สังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างของอัลคาลอยด์จากใบนั่นเอง[2]

สรรพคุณของเสนียด

1. การใช้ต้นสด 60 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัมและหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมคั่วกับเหล้าให้ร้อน สามารถใช้แก้ปวดบวม แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำดำเขียว ปวดตามข้อ และอาการเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้นได้(ต้น)[4]
2. ใบใช้ทำยาแก้ปวดบวมได้[5] อีกทั้งยังใช้แก้อาการเจ็บปวดข้อได้อีกด้วย[8]
3. ใบทำยาห้ามเลือดได้[1],[2],[3]
4. สามารถแก้ลมผิดเดือนของสตรีได้ โดยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ(ใบ)[7]
5. ต้น ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารได้ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ท้องเดินหรืออาเจียนออกมาได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3]
6. มีสรรพคุณในการแก้อาการไอได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] ใช้น้ำใบสดคั้น 15 มิลลิลิตรผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มจะช่วยในการแก้ไอและขับเสมหะได้(ใบ)[3],[5]
7. สามารถช่วยแก้อาหารหอบหืดได้ โดยนำใบแห้งมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ(ใบ)[1],[3],[5] หรือจะใช้ต้น ราก ใบ และดอกเป็นยาแก้หอบหืดก็ได้เช่นกัน(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1] มีการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด โดย ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่(ราก)[6]
8. ทำให้หายใจได้ดีขึ้น เนื่องจากรากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด(ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
9. สามารถช่วยแก้วัณโรคได้ โดยใช้รากมาปรุงเป็นยา(ราก[1],[2], ต้น[7], ทั้งต้น[3])
10. ทั้งต้นสามารถใช้อาการแก้ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดเข่า ปวดหลังและเคล็ดขัดยอกได้ (ทั้งต้น)[4]
11. ทำเป็นยาแก้ฝีได้(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1],[3] และรากยังสามารถทำเป็นยาแก้ฝีภายในได้อีกด้วย(ราก)[8]
12. มีฤทธิ์ในการแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือประจำเดือนมามากเกินไปได้(ทั้งต้น[4], ใบ[8])
13. ใบ ใช้เข้ายากรณีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือนำมาต้มกับน้ำอาบหลังจากหญิงคลอดบุตรก็ได้(ใบ)[1] สำหรับคนที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีแรงและสตรีหลังคลอดบุตร สามารถใช้ใบหรือรากนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ชาวปะหล่องมักใช้วิธีนี้กัน(ราก,ใบ)[6]
14. ทำเป็นยาขับเสมหะได้ โดยใช้ต้น ราก ใบ และดอกมาทำ(ต้น,ราก,ใบ,ดอก)[1]
15. ใบ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้[5]
16. ใบ ใช้ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมได้[5]
17. สามารถใช้เป็นยาฟอกเลือด และกระจายเลือดได้(ทั้งต้น)[4] ส่วนใบใช้เข้ายาที่เกี่ยวกับการบำรุงโลหิต[1],[3]

คำเตือน

  • ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากจะทำให้แท้งบุตรได้[4]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสนียด (Sa Niat)”. หน้า 306.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสนียด”. หน้า 37.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสนียด”. หน้า 787-789.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เ ส นี ย ด”. หน้า 558.
5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “เสนียด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [13 มิ.ย. 2014].
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เสนียด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2014].
7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Justicia adhatoda L.”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 4 หน้า 665. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [13 มิ.ย. 2014].
8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร. “เ ส นี ย ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/. [13 มิ.ย. 2014].
9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เสนียด, MALABAR NUT”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [13 มิ.ย. 2014].
10. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เ ส นี ย ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/. [13 มิ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.consultaplantas.com/index.php/en/plants-from-d-to-l/2306-justicia-adhatoda-or-malabar-nut-care-and-growing
2. https://twitter.com/StuartWilliams_/status/1023362183470575616
3. https://medthai.com/

สำโรง เปลือกของต้นใช้รักษาโรคไส้เลื่อน

0
สำโรง
สำโรง เปลือกของต้นใช้รักษาโรคไส้เลื่อน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง สีแดงเข้ม ไร้กลีบดอก ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่สีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง ผลแห้งสีน้ำตาลและแข็งเหมือนไม้
สำโรง
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแยกแขนง สีแดงเข้มไร้กลีบดอก ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่สีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง ผลแห้งสีน้ำตาลและแข็งเหมือนไม้

สำโรง

สำโรง พบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่งทั่วไป และป่าเบญจพรรณ ชื่อสามัญ Pinari, Bastard poon[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia foetida L.จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ โหมโรง (ภาคใต้), มะโรง มะโหรง (ปัตตานี), จำมะโฮง (เชียงใหม่)เป็นต้น[1]

ลักษณะของสำโรง

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงราวๆ 15-20 เมตรและมีความสูงมากได้ถึง 30 เมตร ลำต้นตรงไม่คดงอ มีกิ่งก้านที่ขนาดใหญ่น้อยบริเวณส่วนลำต้นและลำต้นสูงชะลูด ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดเป็นรูปไข่ไปจนถึงรูปทรงกระบอก กิ่งก้านแผ่ออกไปรอบๆตั้งฉากกับลำต้นเป็นระยะๆ ทรงพุ่มเป็นชั้นๆคล้ายฉัตร มีระยะห่างในแต่ละชั้นใกล้เคียงกัน กิ่งก้านจะแตกในความสูงตั้งแต่ 8-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาอาจมีน้ำตาลปน มีลักษณะเรียบและค่อนข้างหนา เห็นร่องรอยแผลของก้านใบที่หลุดลอกรอบต้นได้ชัดเจน ลักษณะเป็นเส้นหยาบๆสีน้ำตาล โคนต้นแก่จะแตกเป็นพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อนค่อนข้างเหนียวและเป็นไม้หยาบ ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์[1],[2],[4]
  • ใบ กางแผ่ออกจากจุดเดียว เป็นใบประกอบแบบฝ่ามือออกเรียงเวียนสลับ ใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปรี ขอบใบเรียบ ปลายใบมีติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม มีใบย่อย 7-8 ใบ ใบยาวราวๆ 10-30 เซนติเมตรและกว้าง 3.5-6 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยง ท้องใบและหลังใบเรียบ แต่ท้องใบจะมีสีที่อ่อนกว่า มีเส้นแขนงอยู่ในแต่ละใบข้างละ 17-21 เส้น ก้านใบยาวราวๆ 13-20 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอก ออกบริเวณปลายกิ่ง เป็นดอกช่อแบบแยกแขนง มีดอกย่อยสีแดงเข้ม ไร้กลีบดอก มีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ ส่วนโคนติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม ปลายกลีบม้วนออกแยกเป็น 5 กลีบ โดยดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกจะงอลงด้านล่าง มีเกสรตัวผู้ 12-14 อัน ก้านเกสรสั้นมากติดอยู่กับรังไข่ ดอกมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน ดอกจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม [1],[2],[4]
  • ผล เป็นรูปทรงรีหรือรูปไต มีขั้วผลติดเป็นกระจุก 4-5 ผล มีติ่งแหลมบริเวณปลายผลออกเป็นพวกห้อยย้อยลงมา ผลอ่อนมีสีเขียว และผลแก่เป็นสีแดงหรือสีส้ม ผิวผลเรียบแข็ง มีขนาดยาว 8-10 เซนติเมตรและกว้าง 6-9 เซนติเมตร ผลแห้งจะแตกออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน เปลือกของผลที่แห้งจะมีสีน้ำตาลและลักษณะแข็งเหมือนไม้ มีเมล็ดกลมรีสีดำอยู่ภายใน เมล็ดมีเนื้อในเป็นสีขาว ขนาดกว้างราวๆ 1.3 เซนติเมตร และยาวราวๆ 2.5 เซนติเมตร ใน 1 ผลจะมีเมล็ด 12-13 เมล็ด ผลจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[4]

ประโยชน์ของสำโรง

  • ผลมีรสเผ็ดหวานใช้ในการรับประทานได้ และน้ำมันจากเนื้อในเมล็ดก็ใช้จุดไฟและใช้ปรุงอาหารต่างๆได้ [4]
  • ใช้เนื้อไม้ในการทำเป็นเครื่องเรือน ไม้อัด หีบใส่ของได้ เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน และเปลือกก็ใช้ในการทำเชือกได้[4]
  • นำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เนื่องจากต้นสำโรงมีรูปทรง ผล ใบ ที่สวยงาม โดยมักจะใช้ปลูกตามริมถนน โรงเรียน วัด จะให้ร่มเงาและความแปลกตาได้ แต่ไม่นิยมปลูกไว้บริเวณเขตที่พักอาศัยเนื่องจากดอกมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

สรรพคุณของสำโรง

1. เมล็ด ใช้ในการรักษาบาดแผลได้ (เมล็ด)[3],[3]
2. ใช้ผลและเปลือกผลมาปรุงเป็นยากินแก้โรคไตพิการได้ เนื่องจากมีรสฝาด (ผล,เปลือกผล)[1],[2]
3. เปลือกผลใช้ในการรักษาอาการปัสสาวะพิการได้[1],[2]
4. สามารถช่วยแก้อาการบวมน้ำได้โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
5. เปลือกผล แก้อาการลำไส้พิการได้ (เปลือกผล)[1],[2]
6. ผล ช่วยในการสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ อีกทั้งยังเป็นยาแก้ท้องร่วงได้(ผล)[1],[2],[3] และน้ำที่ได้จากผลยังเป็นยาสมานท้อง (น้ำจากเปลือกผล)[1]
7. ใช้ในการแก้กระหายน้ำได้ (เปลือกหุ้มเมล็ด)[3]
8. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการแก้ลมและโลหิตพิการได้(เปลือกต้น)[2]
9. ใช้แก้โรคปวดข้อได้ โดยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
10. ใช้น้ำที่ได้จากเปลือกผล มารักษาโรคไตได้(น้ำจากเปลือกผล)[1]
11. ใช้เปลือกต้นในการรักษาโรคไส้เลื่อนได้ โดยนำเปลือกต้นมาฝนกับฝากระเบื้องดินเผา และผสมกับน้ำปูนใส โดยฝนจนเป็นน้ำข้น จากนั้นนำมาทาลูกอัณฑะบริเวณที่บวมได้ไม่นาน ติดต่อกัน 30 วันวันละหลายครั้งๆจะช่วยทำให้ถุงอัณฑะหดตัว(ตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า) (เปลือกต้น)[5]
12. เปลือกต้น ช่วยในการปัสสาวะได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
13. เปลือกต้น,เมล็ดเป็นยาระบายอ่อน ๆ [1],[2],[3]
14. ใช้เปลือกต้น ในการแก้บิดปิดธาตุได้[1]
15. ใช้เปลือกช่วยในการละลายเสมหะได้[4]
16. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยในการขับเหงื่อ[1],[2]
17. ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและอาจมได้ โดยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำกิน(เปลือกต้น)[1],[2]
18. ใบสามารถใช้เป็นยาระบายได้(ใบ)[1],[3]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สำโรง (Sam Rong)”. หน้า 303.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “สำโรง”. หน้า 183.
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สำโรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [12 มิ.ย. 2014].
4. พรรณไม้บริเวณสวนสมุนไพรสาธิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สำโรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [12 มิ.ย. 2014].
5. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.cabidigitallibrary.org/
2. https://www.monaconatureencyclopedia.com/