ผักติ้ว
ผักติ้ว ( Tio Vegetables ) คือ ผักพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้บริโภค ถิ่นกำเนิดของผักติ้วพบแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือ และอีสาน เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นิยมนำเอาส่วนของใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมาปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยวใช้แทนใบมะขามหรือมะนาวได้ เช่น แกงเห็ด หรือต้มยำต่างๆ เช่น ต้มยำปลาต้มยำกบ ต้มยำไก่บ้าน ดอกอ่อนของผักติ้วนิยมนำมาทำซุบหรือยำ หรืออาจนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก มีงานวิจัยพบว่าผักติ้วมีฤทธิ์สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ และไม่ทำลายเซลล์ดีในร่างกาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum ( Jack ) Dyer ssp.
อยู่ในวงศ์ตระกลู Guttiferae
ฤดูการผลัดใบแตกยอดอ่อน และออกดอก
ฤดูฝน : เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม
ฤดูหนาว : เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น ผักติ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 2 – 15 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นตั้งตรง มีหนามแหลมเป็นแทงยื่นออกมาจากลำต้น เปลือกลำต้นแตกสะเก็ดเป็นแผ่น สีน้ำตาลอมดำ ส่วนกิ่งแขนงมีขนาดเล็ก กิ่งแขนงอ่อนหรือกิ่งบริเวณปลายยอดอ่อนมีสีม่วง ส่วนกิ่งแขนงแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา ถ้ากระเทาะเปลือกออกจะพบยางสีแดงซึมออกมาจากลำต้น
ใบ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆเรียงเยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง ใบมีมีรูปหอกหรือขอบขนาน มีก้านใบสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร แผ่น และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีแดงอมม่วง และเป็นมัน ปลายใบมน
ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลของใบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมสีชมพูอ่อนถึงสีแดง กลีบดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกตามซากใบ หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีอยู่ 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะขยายออกประมาณ 1.2 เซนติเมตร ก้านดอกเรียวเล็กและมีกาบเล็กๆ ที่ฐานกลีบด้านใน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองสั้นๆ อยู่จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ส่วนเกสรตัวเมีย ก้านเกสรเป็นสีเขียวอ่อนมี 3 อัน และมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อนปนสีแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล ผักติ้วจะติด 1 ผล ใน 1 ดอก ผลมีรูปกระสวย ท้ายผลแหลมเล็ก ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีม่วงอมแดง ผลแก่มีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มผล และเมื่อแห้งจะปริแตกออกเป็น 3 ร่อง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดมีลักษณะโค้ง และมีปีก เรียงอัดกันแน่นหลายเมล็ด
สรรพคุณทางตำรับยาสมุนไพร
การใช้ประโยชน์จาก แก่นและลำต้น ใบ ดอก ราก และน้ำยางจากลำต้น
แก่นและลำต้น
- ใช้แก่นไม้แช่น้ำดื่ม ช่วยแก้ปะดงเลือด ( เลือดไหลไม่หยุด )
ใบ
- ช่วยขับลม
- แก้อาการปวดท้อง
- แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
- ป้องกันโรคในหลอดเลือด
- ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ
- ช่วยต้านโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ช่วยบำรุงตา ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน
- ใบนำมาขยำ และใช้ทาแผล ช่วยรักษาบาดแผล
- ใบนำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ก่อนใช้ทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ
ดอก
- ช่วยต้านโรคมะเร็ง
- แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
- ดอกใช้ทารักษาบาดแผล
- ช่วยบำรุงเลือด ช่วยฟอกเลือด
ราก
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง
- ต้มน้ำดื่มแก้ปัสสาวะขัด
น้ำยาง
- ใช้น้ำยางช่วยสมานแผล
- ใช้น้ำยางจากเปลือกไม้ทารักษาส้นเท้าแตก
ประโยชน์ของผักติ้ว
- ช่วยบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต
- ช่วยแก้อาการปวดตามข้อ
- ช่วยแก้เลือดไหลไม่หยุด
- ช่วยต้านเซลล์มะเร็งตับ
- ช่วยแก้ปัสสาวะขัด
- ช่วยแก้ธาตุพิการ
- ช่วยแก้อาการคัน
- ช่วยแก้ปวดท้อง
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยแก้ประดง
- ช่วยขับลม
- ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอภายในร่างกาย
- ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย และช่วยในการดูดซึมวิตามิน A, D, E, K
- ช่วยป้องกันอาการท้องผูก
- ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี
- ช่วยบำรุงประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจให้ทำงานเป็นปกติ
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา
- ช่วยให้แผลหายเร็ว
- ช่วยป้องกันอาการกระดูกหักง่ายในวัยสูงอายุ
- ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- ช่วยส่งเสริมสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง
คุณค่าทางโภชนาการของผักติ้ว 100 กรัม ให้พลังงาน 58 กิโลแคลอรี
โปรตีน 2.4 กรัม |
ไขมัน 1.7 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม |
เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม |
น้ำ 85.7 กรัม |
วิตามินเอ 7,500 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม |
วิตามินซี 56 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม |
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ผักติ้ว กับ 5 คุณประโยชน์และการรักษามะเร็ง (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://webdb.dmsc.moph.go.th [19 กรกฎาคม 2562].
ผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน ประโยชน์ และสรรพคุณผักติ้ว (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://puechkaset.com [19 กรกฎาคม 2562].
ติ้ว (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://mablumbidherbs.blogspot.com [19 กรกฎาคม 2562].
พืชสกุลติ้ว คุณค่าที่มากกว่าผักพื้นบ้าน (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.tci-thaijo.org [19 กรกฎาคม 2562].
ติ้วขาว สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.wisdomking.or.th [19 กรกฎาคม 2562].