เครื่องดื่มก่อเบาหวาน
นอกจากน้ำเปล่าแล้ว เครื่องดื่มอื่นๆ อย่างเช่นน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชานมหรือนมเปรี้ยว ก็เป็นเครื่องดื่มที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมดื่มกันในแต่ละวันเช่นกัน นั่นก็เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะให้ความสดชื่นและคลายเครียดได้ดี แต่รู้ไหมว่าเป็น เครื่องดื่มก่อเบาหวาน แฝงมาทั้งสิ้น ซึ่งก็คืออาจทำให้คุณเป็นเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
ชนิดเครื่องดื่ม | ปริมาณ
(กรัม) |
น้ำตาล
(ช้อนชา) |
พลังงาน
(แคลอรี) |
น้ำตาลเกิน
(ช้อนชา) |
น้ำส้ม | 44.8 | 11.2 | 224 | 5.2 |
น้ำอัดลม | 34.6 | 8.7 | 174 | 2.7 |
ชาเขียว (กล่อง) รสน้ำผึ้ง | 30 | 7.5 | 150 | 1.5 |
เครื่องดื่มชูกำลัง | 30 | 7.5 | 150 | 1.5 |
นมเปรี้ยวขวดเล็ก | 17.6 | 4.4 | 88 | – |
กาแฟกระป๋อง | 17.2 | 4.3 | 84 | – |
คำนวณปริมาณของน้ำตาลในเครื่องดื่มจากฉลากโภชนาการ
1.กรณีที่ปริมาณของน้ำตาลในฉลากระบุมาเป็น % ให้คำนวณตามสูตรดังนี้
( ปริมาณ ( % ) × ปริมาตรสุทธิ (มล.) ) / 500 = ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชา
2.กรณีที่ปริมาณของน้ำตาลในฉลากระบุมาเป็นกรัม ให้คำนวณตามสูตรดังนี้
(น้ำตาล (กรัม) ) / 500 = ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชา
ยกตัวอย่างเช่น น้ำมะนาว 350 มล. มีน้ำตาลอยู่ทั้งหมด 10.5% สามารถหาปริมาณของน้ำตาลได้โดย (10.5×350) / 500 = 7.35
ซึ่งสรุปได้ว่า การที่เราดื่มน้ำมะนาวกล่องนี้ 1 กล่อง ก็เท่ากับว่าได้ทานน้ำตาลไปมากกว่า 7 ช้อนชานั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราควรกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น
เพราะฉะนั้นหากดื่มน้ำมะนาวติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน รับรองเลยว่าเบาหวานจะต้องถามหาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าได้ชะล่าใจว่าการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะไม่ทำให้เป็นเบาหวานเด็ดขาด
กาแฟหอม มาพร้อมกับโรค
ต้องยอมรับเลยว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงานก็ตาม และเนื่องจากในปัจจุบันมีกาแฟสำเร็จรูปออกมาวางขายมากมาย หลายคนจึงหันมาดื่มกาแฟสำเร็จรูปกันมากขึ้น รวมถึงกาแฟที่ชงขายตามร้าน อย่างมอคค่า ลาเต้หรือคาปูชิโน่เช่นกัน และแน่นอนว่ากาแฟเหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งก็จะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ไม่ยากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น
ลาเต้เย็น ให้พลังงาน 288 แคลอรี และมีน้ำตาล 3-9 ช้อนชา
คาปูชิโน่เย็น ให้พลังงาน 303 แคลอรี และมีน้ำตาล 6-9 ช้อนชา
มอคค่าเย็น ให้พลังงาน 404 แคลอรี และมีน้ำตาล 5-9 ช้อนชา
โดยจากข้อมูลเหล่านี้ ยังไม่นับรวมน้ำเชื่อม ผงช็อกโกแลตและอื่นๆ ที่ใส่ลงไปในกาแฟ จึงสรุปได้ว่า กาแฟก็เป็นตัวการร้ายของโรคเบาหวานที่จะมองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว
แอลกอฮอล์ ถึงจะขมแต่ก็แฝงด้วยเบาหวาน
เบาหวาน ไม่ได้เกิดจากการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานเท่านั้น แต่เครื่องดื่มที่มีรสขมอย่างแอลกอฮอล์ ก็อาจนำมาซึ่งการเป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกัน นั่นก็เพราะ
1.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน จะส่งผลให้อินซูลินลดลงและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
2.เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เพียงแค่ 1 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 7 แคลอรี
3.โดยปกติแอลกอฮอล์จะให้พลังงานที่สูงมาก ทำให้ร่างกายไม่ต้องสลายไขมันออกมาใช้เป็นพลังงาน เป็นผลให้มีไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนอ้วนลงพุงและเป็นเบาหวานได้
4.แอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมของโปรตีนที่ย่อยแล้ว ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็อาจขาดสารอาหารได้อีกด้วย
พลังงานที่พบในเครื่องดื่มต่างๆ | |
เครื่องดื่ม | พลังงาน (แคลอรี) |
เบียร์กระป๋อง 350 ml | 144 |
ไวน์แดงหรือและไวน์ขาว 1 แก้ว | 80 |
วิสกี้ 30 ml | 65 |
เบียร์สด 100 ml | 42 |
จะเห็นได้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เสี่ยงเบาหวานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ชายควรดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 ดริ๊ง และผู้หญิงควรดื่มไม่เกินวันละ 1 ดริ๊ง
แอลกอฮอล์ตกค้างในกระแสเลือด
เมื่อแอลกอฮอล์ตกค้างในกระแสเลือด จะทำให้เกิดการขัดขวางไม่ให้ร่างกายสามารถนำไขมันไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตลดต่ำลงกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและย้อนกลับมาเกาะที่ตับแทน ผลที่เกิดขึ้นก็คือเซลล์ตับจะดื้อต่ออินซูลิน และระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเบาหวานได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะช่วยลดเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกด้วย โดยปริมาณที่พอเหมาะก็คือเทียบเท่ากับเอทานอล 12.6 กรัมนั่นเอง
เทคนิคการดื่มอย่างฉลาด
เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นเรามาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างฉลาดกันดีกว่า ซึ่งก็มีเทคนิคการดื่มดังนี้
1.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลงเรื่อยๆ จนสามารถเลิกดื่มได้ในที่สุด หรือดื่มแค่วันละไม่เกิน 1-2 ดริ๊ง
2.พยายามอย่าดื่มควบคู่ไปกับการทานกับแกล้ม เพราะอาจได้รับพลังงานจากกับแกล้มสูงจนทำให้อ้วนและเป็นเบาหวานได้ โดยอาจลดกับแกล้มให้น้อยลง หรือเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นๆ ที่มีแคลอรีต่ำนั่นเอง
3.พยายามควบคุมปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด โดยอาจควบคุมด้วยการลดปริมาณอาหารและการออกกำลังกายนั่นเอง
4.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอดอาหารแทน เพราะไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ให้สารอาหาร แต่จะให้พลังงานสูงจึงอาจทำให้ลงพุงและเป็นเบาหวานได้ง่าย แม้ว่าจะไม่อ้วนก็ตาม
5.คิดจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มแค่วันละ 1 ดริ๊งเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานและโรคหัวใจได้ดีทีเดียว
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯซ บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัดม 2557.
สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้านว 2531.
งานวิจัยเกาหลี [เว็บไซต์]. เข้าถึงจาก www.diabassocthai.org.