Home Blog Page 169

วิตามินเอ ( Vitamin A ) คืออะไร?

0
วิตามินเอ (Vitamin A) คืออะไร?
วิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเรื่องการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก ซึ่งละลายได้ในไขมัน
วิตามินเอ (Vitamin A) คืออะไร?
วิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเรื่องการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก ซึ่งละลายได้ในไขมัน

วิตามินเอ คืออะไร?

วิตามินเอ ( Vitamin A ) คือ วิตามินที่ละลายได้ในไขมัน มีส่วนประกอบสำคัญของคอร์เนีย จัดให้อยู่ในหมวดของวิตามิน มีผลต่อการเจริญเติบโต การสร้างกระดูก และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ถูกค้นพบโดย ดร. อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในไขมันต้องใช้ไขมันและแร่ธาตุมาช่วยในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่ง  ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ ปกติร่างกายมนุษย์จะมีการสะสมวิตามินเอไว้จากอาหารต่างๆที่ทานเข้าไป เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ จึงจะดึงออกมาใช้งาน

วิตามินเอสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. วิตามินเอแบบสำเร็จรูป ซึ่งอยู่ในรูปเรตินอล ( Retinol ) จะพบได้ในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์เช่น ตับ ไข่แดง น้ำนมน้ำมันตับปลา เป็นต้น

2. โปรวิตามินเอหรือแคโรทีนจะอยู่ในรูปแบบของ สารเบต้าแคโรทีน ( Beta-Carotene ) เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เมื่อเข้าสู่รางกายจึงทำการเปลี่ยนสารชนิดนี้ให้เป็นวิตามินเอ  ซึ่งสามารถพบได้ในผักสีต่างๆ เช่น แครอท ผักโขมบร็อคโคลี่ฟักทอง เป็นต้น

คุณสมบัติของวิตามินเอ

วิตามินเอ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ เป็นวิตามินที่ไม่ละลายในน้ำ แต่จะละลายเฉพาะในไขมันเท่านั้นสามารถทดความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ร้อนหรือมีอุณหภูมิที่สูงมากจนเกินไป และยังทนต่อความเป็นกรดและด่างอีกด้วยดังนั้นการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ มักจะนิยมเก็บใส่ขวดสีน้ำตาลและใส่สารต่อต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ( Antioxidant ) เช่น วิตามินอีเอาไว้ด้วย เพื่อให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารให้น้อยที่สุด

วิตามินเอดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

เมื่อเราทานอาหารที่มีวิตามินเอเข้าไป ระบบกลไกของร่างกายจะเริ่มทำงานตามกระบวนการย่อยอาหาร จากนั้น จะเริ่มดูดซึมวิตามินเอเข้าสู่ร่างกาย จากในบริเวณลำไส้เล็กซึ่งในบริเวณนี้น้ำย่อยที่ใช้แตกตัวไขมัน ( Fat Splitting Enzyme) และเกลือน้ำดีจะเปลี่ยนแคโรทีนไปอยู่ไปในรูปของวิตามินเอ โดยมีตัวช่วยอย่าง ไทรอกซิน ( Thyroxine ) ซึ่งเป็นกรดอะมิโน ที่สร้างมาจากต่อมไทรอยด์ และถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อนำไปใช้งานภายในร่างกายต่อไป การดูดซึมของวิตามินเอจะดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างกรดไขมันจากอาหารที่ทานเข้าไป หากมีปริมาณมากการดูดซึมจะดีตามไปด้วย

วิตามินเอ กว่าร้อยละ 95 ในร่างกาย จะถูกไปเก็บสะสมไว้ที่ตับ ในเซลล์ไขมันที่เรียกว่า ไลโปซัยท์ ( Lypocyte ) จึงพบว่าประมาณร้อนละ 90 ของวิตามินเอที่สะสมไว้ในตับ การเคลื่อนย้ายวิตามินเอจะถูก ไฮโดรไลท์ ( Hydrolyse ) จากเรตินิล เอสเตอร์ ( Retinyl Esters ) ให้เปลี่ยนมาเป็นเรตินอลอิสระ ( Free Retinol ) และรวมกับโปรตีนเป็นเรตินอลไบน์ดิ้งโปรตีน ( Retinol Blinding Protein ) เรียกย่อๆว่า อาร์ บี พี ( RBP )

RBP นี้จะถูกสังเคราะห์จากตับ และส่งต่อเข้าสู่กระแสเลือด เป็นเรตินอลอาร์บีพีคอมเพล็กซ์ ( Retinol RBP Complex ) ในภาวะที่ร่างกายจะใช้วิตามินเอ โดยปกติแล้วระดับวิตามินเอในเลือดจะถูกควบคุมโดยมีกลไก ควบคุมภาวะสมดุล ระหว่างการสังเคราะห์ RBP การปล่อยและการสลายตัวของวิตามิน ในกรณีที่เรตินอลไม่ได้เก็บสะสมในตับ จะถูกขับถ่ายทางไตออกมากับปัสสาวะและอุจจาระ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลังจากได้รับวิตามินเอเข้าไปแล้ว ร่างกายของแต่ละคนมีความสามารถในการเก็บวิตามินเอแตกต่างกันไป ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการที่ร่างกายจะมีปริมาณของวิตามินเอเป็นศูนย์เลยนั้น ร่างกายจะต้องขาดการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเอ นานถึง 10 -12 เดือนเลยทีเดียวประโยชน์ของวิตามินเอ

วิตามินเอ มีประโยชน์มากมายหลากข้อ ซึ่งสามารถแบ่งแยกตามรายละเอียดได้ดังนี้

1. ช่วยบำรุงระบบทางสายตาและการมองเห็นให้ดีขึ้นวิตามินเอ เป็นตัวช่วยอย่างดีที่ช่วยบำรุงระบบสายตา ทำให้การมองเห็นดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มืด หรือที่ที่มีแสงสลัวๆ  โดยวิตามินเอจะเข้าไปควบคุมการทำงานของร็อดเซลล์ และโคนเซลล์ ในเรติน่า ( Retina ) ที่ดวงตาโดยที่ เรติน่าของตาประกอบด้วยตัวเซลล์ที่ทำหน้าที่รับแสง ( Light Receptors ) อยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ

  • ร็อดเซลล์ ( Rod Cells ) ใช้สำหรับการมองเห็นในเวลาตอนกลางคืน หรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อยแสงสลัวๆ
  • โคนเซลล์ ( Cone Cells ) ใช้สำหรับแยกสีในการมองเห็น

2. ช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดบุผิว ( Epithelial Cells ) ของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น โดยวิตามินเอจะไปเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์สารประกอบพวก Acid Mucopolysacchaial Tract และไกลโคโปรตีน ในเซลล์ชนิดบุผิวแล้วจะหลั่งสารประกอบนี้ ออกมา เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลานั้นเอง

3. ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของกระดูกและฟัน วิตามินเอมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การเจริญเติบโตของฟันและกระดูกทำงานได้ดีสมบรูณ์มากยิ่งขึ้น เพราะหากร่างกายขาดวิตามินเอแล้ว จะส่งผลให้ กระดูกไม่มีความแข็งแรง อาจแตกและหักได้ง่าย อาจจำทำให้กระดูกบิดเบี้ยวไปจากเค้าโครงเดิม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะหากเกิดกับกระดูกบริเวณกะโหลกศีรษะและไขสันหลังก็อาจจะไปเกิดการกดทับเส้นประสาทและไขสันหลังได้ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาตและหูหนวก และในส่วนของฟันผู้ที่ขาดวิตามินเอ จะทำให้ฟันผุง่ายกว่าปกติ เนื่องจากมีอาการหลุดลอกของสารเคลือบฟัน เหลือแต่เนื้อฟันเท่านั้น

4. ช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ดียิ่งขึ้นการได้รับปริมาณของวิตามินเอในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดการสร้างอสุจิที่ดีขึ้นในเพศชาย ส่วนในเพศหญิที่ตั้งครรภ์ วิตามินเอจะไปช่วยป้องกันการแท้งลูกได้ และยังช่วยเพิ่มฮอร์โมน Estrogen ในร่างกายอีกด้วย

5. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant ) เนื่องจากในวิตามินเอ ประกอบไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่น ( Antioxidant ) ซึ่งคอยกำจัดอนุมูลอิสระ ( Free Radicals ) ก่อนที่จะไปทำปฏิกิริยาทำลายส่วนประกอบต่างๆของเซลล์จนทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น มะเร็งในช่องปาก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นต้นนอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่จะเป็นภาวะนำไปสู่โรคหัวใจได้อีกด้วย

6. ช่วยสร้างสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้กับร่างกาย วิตามินเอช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากชึ้น และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายที่จะเข้ามาสู่ร่างกายอีกด้วย

วิตามินเอสามารถหาได้จากที่ไหนบ้าง?

ร่างกายของมนุษย์เราไม่สามารถผลิตวิตามินเอ ขึ้นมาใช้งานเองได้ แต่เราสามารถพบวิตามินเอได้ในอาหารที่เราทานเข้าไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยอาหารที่มากและอุดมไปด้วยวิตามินเอ มีดังต่อไป

1. อาหารที่มีวิตามินเอสำเร็จรูป ( Retinol ) คือ อาหารที่มีวิตามินเอ และร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้ทันทีเมื่อผ่านกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกาย 0เช่น นม  ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ น้ำมันตับปลา เป็นต้น

2. อาหารที่มีโปรวิตามินเอหรือแคโรทีน คือ อาหารที่ทานเข้าไปแล้วจะถูกกลไกในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้เป็นวิตามินเอก่อนที่จะนำไปใช้งาน เช่น

  • ผักต่างๆพบมากในพืชใบเขียวเข้ม เช่น แครอท ตำลึง คะน้า ผักโขม ยอดชะอม ยอดกระถิ่น ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เป็นต้น
  • ผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะผลไม้สีเหลือง เช่น แตงโม มะละกอ แคนตาลูป ฟักทอง มะม่วงสุก  กล้วยหอม เป็นต้น

ปริมาณที่เหมาะสมของวิตามินเอที่ร่างกายควรได้รับ

เพศชาย ปริมาณวิตามิน เอ ที่เหมาะสม เท่ากับ 5,000 I.U. ต่อวัน
เพศหญิง ปริมาณวิตามิน เอ ที่เหมาะสม เท่ากับ 4,000 I.U. ต่อวัน
ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ปริมาณวิตามิน เอ ที่เหมาะสม เท่ากับ 5,000 I.U. ต่อวัน

ผลกระทบหากได้รับวิตามินเอน้อยเกินไป

หากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินเอที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายดังต่อไปนี้หากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินเอที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายดังต่อไปนี้

1. ปัญหาโรคที่เกี่ยวกับระบบสายตา การขาดวิตามินเอจะส่งผลกระทบกับระบบการมองเห็นโดยตรง เช่น การป่วยเป็นโรคตาบอดกลางคืนแต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมรักษา และร่างกายยังคงขาดวิตามินเออยู่ ก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุนัยน์ตาจนก่อให้เกิดอาการทางตาที่เรียกว่า Xeropthalmia ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกตาทั้งหมด ( Ocular Manifestation )

วิตามินเอกับโรคตาบอดกลางคืน ( Night Blindness or Nyctalopia ) หมายถึง ภาวะการที่ดวงตามองเห็นที่ไม่ชัดเจน ในบริเวณที่มีแสงสลัว เช่น ในโรงภาพยนตร์ หรือ การมองเห็นในเวลาตอนกลางคืนที่ทำได้ไม่ดี เมื่อมีวิตามินเอในร่างกายลดน้อยลง จะทำให้เส้นประสาทรับภาพเวลากลางคืนเสื่อมลง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก ร็อดเซลล์ ไม่สามารถสร้าง Rhodopsin ซึ่งจำเป็นต่อการมองเห็นในที่มืดได้ทันและอย่างสมบูรณ์ ทำให้การปรับตัวทางสายตาในที่มืดเกิดความผิดปกติ โรคนี้หากเป็นแล้วปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามความรุนแรงในการขาดโปรตีนและพลังงาน และสังกะสี เพราะสารอาหารโปรตีนและพลังงานจำเป็นต่อการสร้าง Pigment Epithelial Cells และการขาดสังกะสีทำให้ปริมาณ อ็อปซิน ( Opsin ) ที่มีอยู่ในตาลดลง โดยจะมีผลกระทบเกิดขึ้นทางตา ซึ่งเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกใช้แบ่งระดับอาการทางตา มีดังนี้

1.1. ขาดวิตามินเอระดับ X1A  จะมีอาการทางตาที่ปรากฏคือ เยื่อบุนัยน์ตาแห้ง ( Conjunctivalxerosis ) ทั้งบริเวณตาขาวและนัยน์ตาด้านนอก ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา ในดวงตาจะมีลักษณะขุ่นชัดเจน

1.2. ขาดวิตามินเอระดับ X1B  จะมีอาการทางตาที่ปรากฏคือเยื่อบุตาขาวมีลักษณะเป็นเกล็ด ย่น ผิวมัน และบางครั้งมีฟองเกิดขึ้นจำนวนมากเกาะบริเวณบนเยื่อนัยน์ตา ( Bitot’s Spots with Conjunctivalxerosis ) มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ นูนขึ้นมา

1.3. ขาดวิตามินเอระดับ X2 จะมีอาการตาแห้ง หรือมีเม็ดเล็กๆคล้ายเม็ดกรวดขึ้นบนผิวกระจกตา ( Corneal Xerosis ) เยื่อบุตาดำไม่มีความใส ความสามารถของเยื่อบุตาที่จะให้แสงทะลุผ่านสูญเสียไปเยื่อบุตาดำหนาตัวขึ้นและจะมีเส้นเลือดขึ้นจำนวนมากอาการระยะนี้ควรรีบรักษาก่อนที่จะเกิดความรุนแรงกับดวงตา

1.4. ขาดวิตามินเอระดับ X3A จะมีอาการทางตา คือ บริเวณกระจกตาจะมีลักษณะขรุขระเป็นจุดเล็กๆและลึกลงไปถึงเนื้อกระจกตา ทำให้เกิดแผลที่กระจกตา ตาดำมีสีขุ่นขาว ครอบคลุมพื้นผิวกว่า 1 ใน 3 ของบริเวณกระจกตา ( Corneal Erosion )

1.5. ขาดวิตามินเอระดับ X3B อาการที่พบ คือ กระจกตามากกว่า 1 ใน 3 มีแผลเกิดขึ้น แผลลึกลงไปข้างในดวงตาทำให้มีภาวะกระจกตาทะลุกระจกตามีสภาพอ่อนเหลว ( Kelatomalacia ) กระจกตาดำมีสีเหลืองเทาและขุ่น และในที่สุดจะเกิดอาการตาบอดได้

1.6. ขาดวิตามินเอระดับ XN ดวงตาจะมีการมองเห็นที่แย่ในบริเวณแสงสลัว และมองไม่เห็นสิ่งใดๆเลยในตอนกลางคืน ( Night Blindness )

1.7. ขาดวิตามินเอระดับ XF มีการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณ เรติน่า ( Xeropthalmia Fundus ) เกิดขึ้นโดยจะมีจุดสีขาวเล็กๆขึ้นที่เรติน่า

1.8. ขาดวิตามินเอระดับ XS จะมีอาการเป็นแผลที่บริเวณกระจกตา ( Corneal Scars )

วิธีการรักษาปัญหาโรคที่เกี่ยวกับระบบสายตาจากการขาดวิตามินเอ สามารถรักษาได้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนี้

เด็กอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ( ยกเว้นผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือหญิงมีครรภ์ ) ทันทีที่ตรวจพบอาการ ควรให้วิตามินเอ 200,000 IU ทางปากและในวันต่อมาให้วิตามินเอในปริมาณเดียวอีกครั้ง จากนั้น 1 – 2 สัปดาห์จึงให้วิตามินเอซ้ำอีก
เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้วิตามินเอ 100,000 IU และวิธีการรักษาเช่นเดียวกับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี- หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แสดงอาการขาดวิตามินเอ ควรได้รับวิตามินเอทางปากในปริมาณ 10,000 IU ทุกวันติดต่อกัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น จนกว่าอาการทางตาที่ปรากฏจะหายไป
หญิงมีครรภ์ ให้วิตามินเอ 50,000 IU เมื่อตรวจพบอาการและให้ซ้ำทุกๆสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เนื่องจากการให้วิตามินเอในปริมาณสูงแก่หญิงตั้งครรภ์อาจมาผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

 

2. ปัญหาการเกิดความผิดปกติของเซลล์ชนิดบุผิวของอวัยวะต่างๆ การขาดวิตามินเอ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาของเซลล์บุผิวของอวัยวะต่างๆในร่างกายด้วย เช่น

  • ระบบทางเดินอาหารหากขาดวิตามินเอ จะทำให้ระบบทางเดินอาหารมีปัญหาได้ เช่น เกิดการอักเสบใน ปาก คอ ลิ้น และเหงือก และอาจจะมีอาการเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้  นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะท้องร่วงอีกด้วย 
  • ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ช่องโพรงจมูก หู ช่องปาก ต่อมน้ำลายและอาจะมีอาการคอเจ็บบ่อยๆด้วย โดยอาการเหล่านี้จะเป็นๆหายๆสลับกันไป เพราะเยื่อบุของอวัยวะเหล่านี้ มีการแห้งตายหรือสลายตัวทำให้มีการติดเชื้อโรคได้ง่าย
  • ระบบขับปัสสาวะอาจจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปฏิกิริยาของปัสสาวะเปลี่ยนเป็นด่าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิดนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะได้
  • ระบบผิวหนัง ( Follicular Hyperkeratosis ) หากขึ้นวิตามินเอร่วมกับวิตามินบี จะมีอาการทางผิวหนัง คือ ผิวหนังหนาขึ้น หยาบเป็นเกล็ด หรือมีตุ่มสากๆขึ้นที่ปากช่องเปิดของรูขุมขนมักพบบริเวณแขนละขา หน้าท้องบางครั้งจะมีผื่นมีลักษณะคล้ายหนังคางคก หรือหนังห่าน ( Toad Skin Phrynoderma ) ขึ้นด้วย

3. ปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง การขาดวิตามินเอ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงไปด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และอาจมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ

4. ปัญหาด้านการเจริญเติบโตในเด็ก สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงระหว่างกำลังโต หากได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้มีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ  โครงสร้างของกระดูกและฟันอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น

ผลกระทบหากได้รับวิตามินเอมากเกินไป

หากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินเอที่มากจนเกินไป จะส่งผลกระทบให้เกิดพิษต่อในร่างกาย 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

1. พิษอย่างเฉียบพลัน เกิดจากกรณีที่บริโภคอาหารที่มีวิตามินเอเข้าไปมากๆพร้อมกันในครั้งเดียวมักพบอาการนี้ได้ในเด็กเล็ก โดยพิษนี้จะแสดงอาการต่อร่างกาย เช่น ปวดศีรษะเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการง่วงนอนอ่อนเพลียสูญเสียการทรงตัว ตาพร่ามัวมองสิ่งของเป็นสองสิ่ง

2. พิษเรื้อรังเกิดจากการสะสมปริมาณของวิตามินเอในร่างกาย ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานๆมักพบในคนไข้โรคผิวหนังที่ได้รับการรักษาด้วยการให้ทานวิตามินเอติดต่อกันทำให้เกิดการสะสมในตับเกิดขึ้นโดยพิษนี้จะแสดงอาการต่อร่างกาย เช่นมีอาการเวียนศีรษะผิวหนังแห้ง หยาบ และคันบริเวณผิวหนัง มีอาการผมร่วงริมฝีปากแตก ปวดตรงกระดูกและข้อต่อ มีอาการผิดปกติของตับ ทำให้ระดับเกลือแร่ของกระดูกลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน อาการที่กล่าวมานี้สามารถหายได้เองจากการหยุดบริโภควิตามินเอ

ผลกระทบหากได้รับเบต้าแคโรทีนมากเกินไป

นอกจากวิตามินเอแล้ว หากร่างกายได้รับปริมาณของสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มากเกินความจำเป็น จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นเดียวกับวิตามินเอ เช่น

1. เกิดภาวะคาโรทีโนซีส ( Carotenosis ) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารเบต้าแคโรทีนมากเกินไป จนทำให้มีการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังบริเวณร่องจมูก ฝ่ามือและอุ้งเท้ามีสีเหลืองเนื่องจากแคโรทีนถูกขับออกทางต่อมน้ำมันของผิวหนังซึ่งอาการเหล่านี้จะคล้ายกับโรคดีซ่านแต่บริเวณดวงตาจะไม่เหลืองตรวจปัสสาวะไม่พบน้ำดี อาการดังกล่าวจะหายไป เมื่องดอาหารที่มีแคโรทีนสูง

2. เกิดภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งได้ แม้จากข้อมูลจะบ่งบอกว่าผู้ที่กินผักผลไม้ที่มีแคโรทีนสูง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลดลง แต่จากการศึกษาล่าสุดพบว่า โมเลกุลของเบต้าแคโรทีนจะไม่คงตัว เมื่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีอนุมูลอิสระมากจะแปรผันไปตามสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ดังนั้น ตัวอย่างของผู้สูบบุหรี่ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มากพร้อมกับได้รับเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นด้วย

วิตามินเอ เป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ จะได้รับมาจากการทานอาหารเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่า วิตามินเอเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะหากบริโภคมากหรือน้อยเกินไปก็ล้วนแต่มีโทษต่อร่างกายทั้งสิ้น นอกจากนี้การซื้ออาหารเสริมในส่วนของวิตามินเอทานเพิ่มก็อาจจะไม่จำเป็น เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ มีอยู่มากมากหลายชนิดให้ได้เลือกรับประทานกันอยู่แล้ว และสามารถหาได้ง่าย เช่น ผักผลไม้ต่างๆ เป็นต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Holmes PD (1971). “The production of experimental vitamin A deficiency in rats and mice”. Laboratory Animals. 5 (2): 239–50. 

Van Beek ME, Meistrich ML (1991). “Spermatogenesis in retinol-deficient rats maintained on retinoic acid”. Journal of Reproduction and Fertility. 

Fuchs E, Green H (1981). “Regulation of terminal differentiation of cultured human keratinocytes by vitamin A”. Cell. 25 

Nelson AM, Zhao W, Gilliland KL, Zaenglein AL, Liu W, Thiboutot DM (2008). “Neutrophil gelatinase–associated lipocalin mediates 13-cis retinoic acid–induced apoptosis of human sebaceous gland cells”. The Journal of Clinical Investigation. 118 (4): 1468–1478. PMC 2262030 Freely accessible. 

รู้จัก ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันที่ต้องใส่ใจเพื่อสุขภาพที่ดี

0
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คืออะไร?
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันชนิดที่มีทั้งประโยชน์และโทษกับร่างกาย หากบริโภคอาหารในแต่ละมื้อด้วยปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย

ไตรกลีเซอไรด์

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่พบในเลือด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่เมื่อระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพที่ดี การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการมีไขมันในเลือดสูง

ส่วนต่างๆของร่างกายหากมีปริมาณที่มากเกินไปจะทำการส่งไตรกลีเซอไรด์ไปเก็บที่เนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งสาเหตุนี้เองทำให้เกิดการอ้วนขึ้นได้ ในผู้ที่ทานอาหารมากเกินความจำเป็น

ไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วย กรดไขมันจำนวนสามโมเลกุลที่ยังไม่เสถียร รวมตัวกับกลีเซอรอล จำนวนหนึ่งโมเลกุล จึงรวมตัวกันเป็น ไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันที่แท้จริง ( True Fat ) ส่วนบางตำรา ในข้อมูลทางวิชาการอาจจะใช้ชื่อตามโครงสร้างทางเคมีว่า ไตรอะซิลกลีเซอรอล ก็ได้

ไตรกลีเซอร์ไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกัน อย่างไร?

ไตรกลีเซอร์ไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกัน อย่างไร - รู้จัก ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันที่ต้องใส่ใจเพื่อสุขภาพที่ดีเมื่อผู้คนเริ่มเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากขึ้น ก็เกิดเป็นกระแสคนรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีข้อมูล ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ “ ไขมัน ” เพราะหลายแหล่งข้อมูลต่างโจมตีว่าไขมันนั้นคือตัวอันตราย ต้องลดให้ได้มากที่สุด ความจริงแล้วไขมันก็เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่ากลุ่มโปรตีน วิตามิน หรือคาร์โบไฮเดรต เราจึงควรศึกษาให้เข้าใจดีเสียก่อนว่า อะไรคือไขมันดีที่ร่างกายต้องการ และอะไรคือไขมันเลวที่ต้องตัดทิ้ง

ไตรกลีเซอร์ไรด์กับคอเลสเตอรอลเป็นสองตัวแรกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเดียวกันเพราะถูกจัดกลุ่มว่าเป็นไขมันที่ทำให้เกิดโรคทั้งคู่ แต่หากลงลึกในรายละเอียดไขมันทั้งสองตัวนี้ไม่เหมือนกันเลย
ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) : คือไขมันที่ได้รับจากอาหารที่ทานเข้าไป หรือร่างกายสร้างขึ้นเองได้ด้วยตับและลำไส้เล็ก ให้พลังงานอยู่ที่ 9 แคลอรี่ต่อกรัม ไตรกลีเซอร์ไรด์จะอยู่ในกระแสเลือดด้วยการรวมเข้ากับโปรตีน ก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมันบางส่วนด้วย
คอเลสเตอรอล ( Cholesterol ) : คือสารขี้ผึ้งที่คล้ายไขมัน ไม่ได้ให้พลังงานใดๆ กับร่างกายเลย แต่มีความสำคัญต่อการสร้างผนังเซลล์และฮอร์โมนต่างๆ เรารับคอเลสเตอรอลได้จากอาหารที่กรดไขมันอิ่มตัวสูง และร่างกายก็สามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้เองจากตับ นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังแบ่งย่อยอีกเป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลที่อันตราย ( LDL ) และคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ ( HDL )
โดยปกติร่างกายแต่ละคนต้องการใช้พลังงานแตกต่างกันไป หลักๆ เรารับพลังงานจากการทานอาหารนั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเลือกทานอะไรก็ได้ตามใจ เพราะระบบร่างกายมีขั้นตอนที่เป็นลำดับชัดเจน โดยเริ่มที่ดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ต่อด้วยไขมัน และโปรตีนเป็นส่วนสุดท้าย ดังนั้นหากเมื่อไรที่เรารับสารประเภทคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงไขมันออกมาใช้ และเมื่อเจาะประเด็นของไตรกลีเซอร์ไรด์กับคอเลสเตอรอลก็พบว่า ส่วนของไตรกลีเซอร์ไรด์

เท่านั้นที่ถูกดึงออกมาเพราะสามารถให้พลังงานกับร่างกายได้ ในขณะที่คอเลสเตอรอลซึ่งมีพลังงาน 0 แคลอรี่จะไม่ถูกแตะต้องเลยแม้แต่น้อย นั่นหมายความว่าโอกาสสะสมของคอเลสเตอรอลในร่างกายนั้นมีสูงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ หรือสารอาหารประเภทไหน ต่างก็มีทั้งคุณและโทษ จึงต้องควบคุมดูแลให้ร่างกายได้รับสารอาหารทั้งหมดในปริมาณที่เหมาะสมอยู่เสมอ ไม่มากไปและไม่น้อยไป

โดยสรุปแล้ว ข้อแตกต่างระหว่าง ไตรกลีเซอไรด์ และ คอเลสเตอรอล คือ ไตรกลีเซอไรด์ แตกต่างจากคอเลสเตอรอลเนื่องจาก ไตรกลีเซอไรด์ จะเป็นไขมันที่แท้จริงที่มีการให้พลังงาน หรือ มีแคลอรี่ ประมาณ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัม แต่ คอเลสเตอรอล จะเป็นสารขี้ผึ้งที่คล้ายไขมัน จะไม่มีการให้พลังงานแต่อย่างใด หรือมีค่าพลังงานเท่ากับ 0 แคลอรี่นั่นเอง และในภาวะที่ร่างกายขาดพลังงานจาก กลูโคสในคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจะไปดึงพลังงานสำรองที่เก็บไขในรูปของไขมันจาก ไตรกลีเซอไรด์ มาใช้แทน เพื่อให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ไปได้ตามปกติ

ไตรกลีเซอไรด์เข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างไร

ไตรกลีเซอไรด์ ก็เหมือนกับ คอเลสเตอรอล คือ ไม่สามารถเข้าไปลอยอยู่ในกระแสเลือดในร่างกายได้เอง แต่ต้องมีตัวช่วยในการพาไป ซึ่งตัวช่วยที่ว่านี้ก็คือ ไคโลไมครอน ( Chylomicron ) ซึ่งเป็นไลโปโปรตีนชนิดความหนานานต่ำที่สุด มีหน้าที่หลักในการขนส่งลำเลียงสารอาหารประเภทไขมัน ทั้ง ไตรกลีเซอไรด์ และ คอเลสเตอรอล จากบริเวณลำไส้เล็ก ผ่านท่อน้ำเหลือง ( Lymphatic System ) จากนั้นจึงเข้าสู่การไหลเวียนของเลือดทางหลอดเลือดดำ ( Left Subclavianvein )

ไคโลไมครอนจะเริ่มทำงานทันที เมื่ออาหารที่ทานเข้าไปเริ่มเข้าสู่กระบวนการย่อยที่ลำไส้เล็ก โดยจะทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ดังนั้น หากต้องการจะไปเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดค่าไตรกลีเซอไรด์ ทางแพทย์จะต้องให้ผู้ที่จะตรวจ ทำการงดอาหารอย่างน้อย 12 – 14 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ เพื่อให้ผลการตรวจที่ได้ออกมาแม่นยำและตรงมากที่สุด

ไตรกลีเซอไรด์ จะไหลเวียนผ่านเข้าไปที่ตับและถูกย่อยสลายด้วยเอนไซด์ จนแตกตัวออกเป็นกรดไขมัน ( Fatty Acids ) ซึ่งเป็นส่วนที่เล็กสุดที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับเซลล์ส่วนต่างๆในร่างกาย หากใช้ไม่หมดและมีส่วนที่เหลือจะเรียกว่า กรดไขมันอิสระ ( Free Fatty Acids ) โดยส่วนนี้จะถูกตับเข้ามาจัดการเก็บเอาไว้
ไตรกลีเซอไรด์กับแหล่งพลังงานสำรองในร่างกายนอกจากไตรกลีเซอไรด์ ที่เป็นพลังงานสำรองในร่างกายแล้ว ยังมีแหล่งสำรองพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งคือ ไกลโคเจน ( Glycogen ) หมายถึง สารชนิดหนึ่ง ที่ถูกเก็บไว้เป็นพลังงานสำรอง ภายในร่างกาย

ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) คือ อนุภาคไขมันชนิดหนึ่งมีขนาดที่เล็กมาก ร่างกายสามารถสังเคราะห์กลีเซอไรด์ขึ้นได้เองจากในตับ

จากการทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และถูกย่อยเป็นกลูโคส แล้วร่างกายนำไปใช้งานได้ไม่หมดจึงถูกนำไปเก็บไว้ในรูปของน้ำตาลปึก หากร่างกายได้รับสารอาหารประเภทกลูโคสมากจนเกินที่จะไปเก็บในรูปแบบของ ไกลโคเจน ได้ และยังคงเหลืออยู่ในกระแสเลือด กรณีนี้ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากปล่อยไว้เป็นเวลานานเนื่องจากกลูโคส ส่วนเกินนี้ ตับซึ่งมีหน้าที่เก็บของที่เหลือใช้ ก็อาจจะไม่สามารถรับได้หมด จึงต้องทำการเปลี่ยนกลูโคสเหล่านี้ ให้อยู่ในรูปแบบของไตรกลีเซอไรด์ พร้อมๆ กับเปลี่ยนกรดไขมันอิสระ ให้เปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ด้วยเช่นกัน และจึงทำการส่งผ่านทาง ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำอย่าง VLDL จากตับในรูปของไตรกลีเซอไรด์ เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเตรียมรอให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมัน ( Adipose Tissue ) นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปซึ่งสัดส่วนของ VLDL และไตรกลีเซอไรด์ จะมีระดับที่สัมพันธ์กันและเป็นค่าคงที่เสมอ

ไตรกลีเซอไรด์ พันธะไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์ เกิดจากกลีเซอรอล รวมกับกรดไขมัน 3 โมเลกุล

การตรวจไตรกลีเซอไรด์

การตรวจปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นชนิดไขมันที่คล้ายกับคอเลสเตอรอล แต่จะมีการให้พลังงานหรือมีแครอรี่ ที่ไม่พบในคอเลสเตอรอลได้รับมาจากการทานอาหารเข้าไปในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และอาหารประเภทไขมัน

ระดับไตรกลีเซอไรด์ในผู้ใหญ่ปกติไม่ควรเกินเท่าใด

ระดับไตรกลีเซอไรด์ในผู้ใหญ่ปกติไม่ควรเกินเท่าใด - รู้จัก ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันที่ต้องใส่ใจเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับในร่างกายคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ จะพบว่ามีค่า VLDL ( VLDL คือ ค่าไตรกลีเซอไรด์ หารด้วย 5 ) อยู่ระหว่าง 7 – 32 mg / dL และ ไตรกลีเซอไรด์อยู่ระหว่าง 40 – 160 mg / dLดังนั้น ค่าของไตรกลีเซอไรด์จะมีสัดส่วนเป็น 5เท่าของ VLDL โดยน้ำหนัก หรือ VLDL คิดเป็น 20% ของไตรกลีเซอไรด์

ค่าปกติของ ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride )

ค่า TG ปกติ ( งดอาหาร ก่อนเจาะเลือดนาน 12 ชม. )
ค่าน้อยกว่า 150 mg/dL ปกติ
ค่าช่วง 150 – 199 mg/dL เกือบสูง
ค่าช่วง 200 – 499 mg/dL สูง
มากกว่า 500 mg/dL สูงมาก

 

ดังนั้น ไตรกลีเซอไรด์ จะเกิดขึ้นได้จาก ปริมาณอาหารที่กินเข้าไปเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ รวมกับ ไขมันที่ได้จากการทานอาหาร และ ปริมาณของไขมันที่เกิดจากส่วนเกินของกลูโคส หรืออาหารประเภทแป้ง
ไตรกลีเซอไรด์ ที่ผ่านเข้าไปยังกระแสเลือดแล้ว จะมีหน้าที่แจกจ่าย กรดไขมัน ” Fatty Acids ” ให้กับกล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน ( Adipose Cells ) ซึ่งช่วยให้ร่างกายมีปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายลดต่ำลงตามไปด้วย และในส่วนที่ใช้ไม่หมดที่เหลืออยู่ในกระแสเลือดนั้น จะถูกแยกสลายด้วยเอนไซม์ Lipoprotein Lipase ทำให้เกิดการแตกตัวของ ไตรกลีเซอไรด์ และ VLVD เป็น 2 ส่วนสำคัญคือ

1. Intermediate Density Lipoprotein ( IDL ) คือ ไลโปโปรตีน และไขมันในเลือดที่แตกตัวจาก VLDL จัดเป็นไขมันชนิดที่ไม่ดี
2. Apoprotein Cs ซึ่งจะผันแปรต่อไปเป็น HDL ซึ่งเป็นไขมันที่ดี จะช่วยกำจัดไขมันแอลดีแอลออกจากผนังหลอดเลือด

ไตรกลีเซอไรด์ แตกต่างจากคอเลสเตอรอล คือ ไตรกลีเซอไรด์ จะเป็นไขมันที่แท้จริงที่มีการให้พลังงาน หรือ มีแคลอรี่ ประมาณ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัม แต่ คอเลสเตอรอล จะเป็นสารขี้ผึ้งที่คล้ายไขมัน จะไม่มีการให้พลังงานแต่อย่างใด หรือมีค่าพลังงานเท่ากับ 0 แคลอรี่

การตรวจหาค่าของไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย

การตรวจหาค่าของ ไตรกลีเซอไรด์ ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ เพื่อต้องการเช็คระดับไขมันในเส้นเลือดของบุคคลนั้นๆ ซึ่ง หากในร่างกายมีค่าของ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ได้เช่นเดียวกับการมีระดับคลอเลสเตอรอลที่สูงด้วยเช่นกัน

ค่าปกติของ ไตรกลีเซอไรด์ สามารถแบ่งได้ดังนี้

ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์
40 – 160 mg/dL

 

ค่าไตรกลีเซอไรด์ในผู้ชาย 40 – 160 mg / dL
ค่าไตรกลีเซอไรด์ในผู้หญิง 35 – 135 mg / dL

 

สำหรับผู้ที่มีค่าของไตรกลีเซอไรด์จากการตรวจและพบว่า มีปริมาณที่สูงกว่า 400mg / dLขึ้นไปแสดงว่าร่างกายเกินความผิดปกติเกิดขึ้น มี ไตรกลีเซอไรด์ ในปริมาณที่สูงมาก ควรต้องรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ค่า ไตรกลีเซอไรด์ ผิดปกติ

การมีค่า Triglyceride ที่ผิดปกติ แบ่งได้ 2 กรณี ดังนี้

ค่าไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่าปกติ

1. ค่าไตรกลีเซอไรด์ ที่วัดได้น้อยกว่าค่ามาตรฐานปกติอาจแสดงผลว่า

อาจเกิดสภาวะการดูดซึมสารอาหารทำงานผิดปกติ ( Malabsorption Syndrome ) ส่งผลให้การดูดซึมไขมันจากอาหาร โดยลำไส้ได้ทำได้น้อยกว่าปกติ จึงส่งผลทำให้ค่าไตรกลีเซอไรด์ลดต่ำลงผิดปกติตามไปด้วย
อาจเกิดจาก การทานอาหารที่มีปริมาณของไขมันต่ำเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ
อาจเกิดสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ ทำให้เกิดการแยกสลาย ( Matabolism ) ของ VLDL มากกว่าปกติ ทำให้เหลือ VLDL น้อยกว่าปกติ เนื่องจาก VLDL มีหน้าที่หลักในการนำไตรกลีเซอไรด์ เข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น เมื่อ VLDL มีปริมาณที่ต่ำ จากการถูกแตกสลาย จึงส่งผลให้ไตรกลีเซอไรด์มีระดับลดต่ำลงตามไปด้วย

 

ค่าไตรกลีเซอไรด์ สูงกว่าปกติ เกิดจากสาเหตุใด

2. ค่าไตรกลีเซอไรด์ ที่วัดได้มากกว่าค่ามาตรฐานปกติอาจแสดงผลว่า

อาจเกิดสภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ( Biliary Obstruction )
อาจเกิดโรคเบาหวาน
อาจเกิดโรคเกี่ยวกับไต
อาจเกิดโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ( Endocrine Disorders )
อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดนั้น จะมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก
อาจเกิดจากการกินอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนม แป้ง น้ำตาล มากเกินไปกว่าที่ร่างกายต้องการ

 

โทษของไตรกลีเซอไรด์สูง

สำหรับผู้ที่มีค่า ไตรกลีเซอไรด์ สูงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน อาจเรียกได้ว่ามีภาวะของโรคไตรกลีเซอไรด์ สูง ( Hypertriglyceridemia ) ซึ่งผู้ป่วยโรคไตรกลีเซอไรด์นี้มักจะมีอาการทางลูกนัยน์ตา เช่น จะมีผื่นสีเหลืองเกิดขึ้นที่หนังเปลือกตา ( Eruptive Xanthomas ) หรืออาจจะมี รอบขอบตาดำจะมีแถบสีเทาออกขาวโดยอยู่รอบขอบตาผู้ป่วยที่มีอาการนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ และต้องรู้จักควบคุมปริมาณและประเภทอาหารที่กินให้เหมาะสม รวมทั้งต้องคอยหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย

การควบคุมปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะระดับไตรกลีเซอไรด์จะสูงขึ้นตามน้ำหนักตัวไปด้วย โดยสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้ด้วยการควบคุมอาหารและเน้นการกินอาหารที่ให้พลังงานน้อยเป็นหลัก
2. การควบคุมอาหาร ด้วยหลักการเดียวกับการควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและรวดเร็วกว่ามาก
3. เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพราะเหล้าและบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นสูง โดยเหล้าจะกระตุ้นให้มีการสร้าง VLDL มากขึ้น ส่วนบุหรี่จะไปลด HDK ได้ถึงร้อยละ 15
4. ควรจำกัดไขมันที่บริโภคให้เหลือร้อยละ 5-10 ของพลังงานทั้งหมดและใช้น้ำมันที่มีห่วงโซ่คาร์บอนขนาดกลาง ( Medium Chain Triglyceride, MCT Oil ) เช่น น้ำมันมะกอก ในการปรุงอาหารแทนน้ำมันทั่วไป เพราะเป็นกรดไขมันที่อยู่ในสภาพที่ดูดซึมได้ง่าย และดีต่อสุขภาพมากกว่า
5. ลดและทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน เพราะอาหารเหล่านี้จะสะสมเกิดเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้และยังเป็นสาเหตุของเบาหวานอีกด้วย

ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง อันตรายอย่างไร

  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งตัว
  • ส่งผลทำให้ความดันเลือดสูง
  • ส่งผลทำให้ขนาดของเส้นเลือดตีบลง
  • ส่งผลทำให้เกิดอาการร่วม คือ ปวดท้อง ตับโต ม้ามโต
  • ส่งผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ

สามารถสรุปได้ว่า ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันชนิดที่มีทั้งประโยชน์และโทษกับร่างกาย ซึ่งหากตัวเราเองบริโภคอาหารในแต่ละมื้อด้วยปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะปริมาณของไขมันในร่างกายสูงได้ เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายชนิดต่างๆต่อร่างกาย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ ควรทานอาหารให้พอดีและเหมาะสมในแต่ละมื้อ และรู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันสูงเอาไว้ด้วยก็จะดีที่สุด เพื่อให้ได้ค่าปกติ ในทางกลับกันเมื่อค่าไตรกลีเซอไรด์ต่ำจะแสดงถึงการขาดสารอาหารบางประเภท

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่างค่าปกติ

เอกสารอ้างอิง

Davidson, Michael H. (28 January 2008). “Pharmacological Therapy for Cardiovascular Disease”. In Davidson, Michael H.; Toth, Peter P.; Maki, Kevin C. Therapeutic Lipidology. Contemporary Cardiology. Cannon, Christopher P.; Armani, Annemarie M. Totowa, New Jersey: Humana Press, Inc. pp. 141–142. 

Balch, Phyllis A. (2006). “Carnitine”. Prescription for nutritional healing (4th ed.). New York: Avery. p. 54.
GILL, Jason; Sara HERD; Natassa TSETSONIS; Adrianne HARDMAN (Feb 2002). “Are the reductions in triacylglycerol and insulin levels after exercise related?”. Clinical Science. 102 (2): 223–231. Retrieved 2 March 2013.

คอเลสเตอรอล ( Cholesterol ) ดีหรือไม่ดีต่อร่างกายอย่างไร

0
คอเลสเตอรอล เป็น สารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลวพบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกาย ได้รับจากการบริโภคอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์
คอเลสเตอรอล คือ อะไร (Cholesterol)
คอเลสเตอรอล เป็น สารชนิดหนึ่งที่พบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกาย ได้รับจากการบริโภคอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์

คอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอล ( Cholesterol ) คือ สารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลวสามารถ สามารถพบได้ในอาหาร และพบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกายโดยปกติร่างกายของมนุษย์เราสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเองได้  จากอวัยวะอย่างเช่น  ตับ ไขสันหลัง สมอง และผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังอาจจะได้รับมาจากการทานอาหารเข้าไป แม้ว่า คอเลสเตอรอล จะถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มสารไขมันในเลือด ( Lipid Profile ) แต่ในความ เป็นจริง คอเลสเตอรอล เป็นสารคล้ายไขมัน แต่ไม่ใช่ไขมันที่แท้จริงซะทีเดียว เนื่องจาก คอเลสเตอรอล เป็นสารที่ไม่มีค่าพลังงาน หรือไม่มีแคลอรี่ ซึ่งต่างจากไขมันที่จะมีค่าพลังงานประมาณ 9 แคลอรีต่อกรัม

ประวัติความเป็นมาของ คอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอล ถูกค้นพบขึ้นในปี ค.ศ. 1769 โดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ที่วิจัยพบคอเลสเตอรอลในสภาพเป็นของแข็งที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ( Gallstone )

Cholesterol มาจากภาษากรีก โดยประกอบด้วย
Chole  =  Bile คือน้ำดีจากตับ

Stereos = Solid คือของแข็ง

Ol = Suffix คือแสดงว่าเป็นแอลกอฮอล์

คอเลสเตอรอล เป็นสารตั้งต้นของน้ำดี หรือกรดน้ำดีซึ่งหากน้ำดีอยู่ในถุงน้ำดีจนมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะตกผลึกจับตัวกันเป็นของแข็ง และในที่สุดก็จะกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งก็คือ การเปลี่ยนสภาวะมาเป็นของแข็งได้ ตามรากศัพท์ของชื่อที่ได้ตั้งขึ้นมา

คอเลสเตอรอล จัดเป็นลิปิด ( Lipid ) ชนิดหนึ่งในกลุ่มสเตอรอล มีบทบาทสำคัญคือเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์ (Cell Membrane) และเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สเตอรอยด์ฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนเพศทั้งเพศชายและเพศหญิง สังเคราะห์กรดน้ำดี เกลือน้ำดี (Bile Salt) และวิตามินดี

คอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น อาหารที่มาจากพืชไม่มีคอเลสเตอรอล ดังนั้นการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำทุกวันจะช่วยลดคอเลสเตอรอลได้

ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองได้ที่ตับ ซึ่งสังเคราะห์ได้วันละ 80 – 1,500 มิลลิกรัม คอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด ( Atheroscherosis ) ซึ่งเป็นเหตุให้เส้นเลือดตีบ และเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคความดันโลหิตสูง

คอเลสเตอรอล มีหน้าที่และความสําคัญอย่างไร ?

คอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะ คอเลสเตอรอลเป็นสารลักษณะเหมือนขี้ผึ้ง ( Waxy Substance ) แต่ละวันมนุษย์จะต้องใช้คอเลสเตอรอลในการดำรงชีวิต โดยคอเลสเตอรอลมีบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของเยื่อผนังห่อเซลล์ทุกเซลล์ทั่งร่างกาย ( ซึ่งมีประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์) เพื่อสร้างคุณสมบัติความเลื่อนไหลไปมา ( Fluidity ) ทำให้เกิดความสะดวกต่อการผ่านเข้า – ออกเซลล์ ของสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น

2. คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี ( Bile ) เนื่องจากน้ำดีเป็นสิ่งที่ร่างกายจะต้องใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน รวมถึงช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายอยู่ในไขมัน เช่น วิตามินเอ  วิตามินดี  วิตามินอี และวิตามินเค เพื่อให้ร่างกายได้นำวิตามินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป

3. คอเลสเตอรอลเป็นสารเริ่มต้น ( Precursor ) หรือเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายใช้สังเคราะห์วิตามินดี ขึ้นมาใช้เมื่อร่างกายได้รับแสงได้ โดยอาจจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ บริเวณใต้ผิวหนังของมนุษย์เราที่มี คอเลสเตอรอล จะมีกระบวนการที่จะทำให้แสงยูวีเหล่านี้กลับกลายมาเป็น วิตามินดี ซึ่งจะมีปะโยชน์ต่อร่างกายคือ

  • ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย จากการถูกนำไปสร้างเป็นวิตามินดี
  • ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน โดยไม่ต้องไปพึ่งอาหารเสริมต่างๆทำให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอ และยังป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย

4. นำไปใช้ผลิตผลิตฮอร์โมนเพศในร่างกาย  คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสารสเตอรอยด์ ( Steroid ) อยู่แล้วจึงถูกร่างกายนำไปใช้ผลิต สเตอรอยด์ฮอร์โมน ( Steroid Hormones ) และคอเลสเตอรอลยังเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดของฮอร์โมนในส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งฮอร์โมนเพศด้วย เช่น

  • Cortisol และ  Aldosterone สำหรับต่อมอะดรินัส  ( ต่อมหมวกไต ) ในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมโซเดียม
  • Testosterone ( ฮอร์โมนเพศชาย )  และ  Estrogen ( ฮอร์โมนเพศหญิง ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศ ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว มีความกระชุ่มกระชวย เพิ่มอารมณ์ทางเพศทั้งชายและหญิง ซึ่งหากผู้ใดมีการกินยาเพื่อลดคอเลสเตอรอลจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนต่างๆ เหล่านี้จะลดตามไปด้วย

5. คอเลสเตอรอลเป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท ( To Insulate Nerve Fibres ) คอเลสเตอรอลยังทำหน้าที่ปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท เพื่อให้การสื่อสารของเซลล์วิ่งไปตาม เส้นในประสาท ได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนเพราะเส้นใยประสาททุกเส้นจะถูกห่อหุ้มด้วย ไมลีนซีธ ( Myelin Sheath ) ที่ผลิตด้วยคอเลสเตอรอล เสมือนเป็นฉนวนสายไฟฟ้านั่นเองซึ่งหากระบบนี้ทำงานผิดพลาดระบบประสาทในร่างกายก็อาจผิดเพี้ยนตามไปด้วย เช่น จมูกรับกลิ่นไม่ได้ มีอาการมือสั่น มีอาการเดินเซ มีอาการความจำเสื่อมเป็นต้นเราสามารถพบตัวอย่างนี้ได้จาก เนื้อมันสมองของมนุษย์ หรือ หมูที่จะเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอลที่ทำหน้าที่นี้

คอเลสเตอรอล คือ สารชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลวสามารถพบได้ในเซลล์ทั่วไปของอวัยวะในร่างกาย

คอเลสเตอรอลมีหลักเกณฑ์ในการทำงานอย่างไร

สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ คอเลสเตอรอล เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อใช้ในการทำหน้าที่ต่างๆในแต่ละวัน คอเลสเตอรอลมาจากการทานอาหารต่างๆเข้าไป หรือสามารถผลิตได้เองจากอวัยวะในร่างกาย เช่น ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมอะดรินัล สมอง รวมถึง รกในครรภ์ของมารดาที่อุ้มท้อง ก็สามารถผลิตคอเลสเตอรอลสำหรับใช้สร้างฮอร์โมนเพศ Progesterone เพื่อรักษาทารกในครรภ์ไม่ให้แท้งก่อนกำหนดคลอด
มีตัวเลขโดยประมาณว่า จำนวนคอเลสเตอรอลที่ใช้หมุนเวียน ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลิตเองของร่างกายเป็นหลัก รวมกับส่วนที่ได้จากบริโภคจากอาหาร ประมาณ 200 -300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 30% จากจำนวนคอเลสเตอรอลทั้งหมดที่ร่างกายได้รับต่อวัน และนำไปหักลบด้วยจำนวนที่ใช้ไปในแต่ละวัน คือ จำนวนที่เหลือหมุนเวียนเท่ากับ 1,100 มิลลิกรัม

คอเลสเตอรอลถูกใช้อย่างไร?

จำนวนคอเลสเตอรอลที่จะถูกใช้งานไปแต่ละวัน จะมีหลักเกณฑ์การทำงาน ดังต่อไปนี้

1. ถูกใช้ในงานตามหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ 

2. ถูกตับนำไปผลิตเป็นน้ำดี ( Bile ) คอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ตับจะนำไปผลิตเป็นน้ำดี และส่งออกไปยังลำไส้เล็ก เพื่อนำไปใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน หลังจากนั้นลำไส้เล็กจะทำการดูดซึมคอเลสเตอรอลเหล่านั้นที่อยู่ในรูปของน้ำดีกลับคืนมา ในปริมาณมากถึง 92-97 % เท่ากับว่ามีการใช้ คอเลสเตอรอล ใน กระบวนการนี้ไปเพียง 3-8 % เท่านั้น ส่วนอาหารในกลุ่มของใยอาหารหรือ Fiber เช่น ผักและผลไม้ต่างๆ ลำไส้เล็กจะไม่สามารถดูดซึมคอเลสเตอรอลกลับไปได้ เนื่องจากในใยอาหารจะทำการดูดซับคอเลสเตอรอลให้ออกไปพร้อมกับกากอาหาร ผ่านการขับถ่ายอุจจาระทำให้ค่าระดับคอเลสเตอรอลลดอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

คอเลสเตอรอล มีกี่ประเภท

ในร่างกายของเรามีคอเลสเตอรอล 2 ประเภทตามแบ่งตามความหนาแน่น คือ

1. Low Density Lipoprotein Cholesterol ( LDL-C )

คอเลสเตอรอลประเภทนี้ เป็นคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ และเป็นส่วนสำคัญของคอเลสเตอรอลรวมทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นของการสังเคราะห์ฮอร์โมนต่าง ๆ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดน้ำดี ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถ สังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ แต่จะสังเคราะห์หลังจากได้รับมาจากการทานอาหารที่มี LDL-C ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไขมันชนิดนี้ไปตามกระแสเลือดได้ แต่ถ้าหากมีมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือด และกลายเป็นก้อนอุดตันในหลอดเลือดได้ ค่าปกติที่ร่างกายควรมีจึงไม่ควรเกิน 130 mg/dl.

2. High Density Lipoprotein Cholesterol ( HDL-C )

คอเลสเตอรอลประเภทนี้ เป็นคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่ดึงคอเลสเตอรอลต่าง ๆ จากเซลล์ของร่างกาย ไปทำลายที่ตับ ด้วยความที่เป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ ระดับค่าปกติของ HDL-C ที่ร่างกายควรมีจึงไม่ควรต่ำกว่า 55 mg/dl. เพราะถ้ามีระดับต่ำกว่านี้จะมีสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดเสื่อมต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

เหตุผลที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น

หากในแต่ละวันเราเลือกทานอาหารเฉพาะประเภทที่ไม่มีคอเลสเตอรอลเลย เช่น อาหารที่ได้จากพืช ซึ่งตรงนี้จะไม่กระทบต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากตามธรรมชาติปกติแล้วร่างกายจะผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาใช้ได้เอง ซึ่งการผลิตขึ้นมานี้อาจจะไม่ได้ผลิตคอเลสเตอรอลเฉพาะปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันเท่านั้น ร่างกายอาจจะผลิตออกมามากกว่านั้นได้ เนื่องจากไม่มีกลไกในการยับยั้ง มีเพียงแต่กลไกที่มีการดึงเอา 2 อะตอมของคาร์บอนในรูปอะซิเตต ที่เรียกว่า 2-Carbon Acetate จากอาหารทั่วไปมาสร้างคอเลสเตอรอลได้เสมอ โดยเงื่อนไขที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นเองเกินความจำเป็นมักเกิดจากปัจจัย ดังนี้

1. กินอาหารในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือ การกินอาหารมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละมื้อแต่ละวัน
2.อาหารที่กินเข้าไป เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมาก และเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ( Saturated Fat ) รวมทั้งเป็นไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) และไขมันจากเนื้อสัตว์
3. เกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวล เนื่องจากจะไปทำให้ต่อมอะดรินัล สร้างฮอร์โมน บังคับให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมามากเกินความจำเป็นที่ร่างกายจะใช้งาน

บทบาทของ ไลโปโปรตีน กับคอเลสเตอรอล

โดยปกติแล้ว คอเลสเตอรอล ไม่สามารถเข้าสู่คอเลสเตอรอลในร่างกายได้เอง แต่จะอาศัยสารที่ชื่อว่า “ ไลโปโปรตีน ” เป็นตัวชักนำและพาคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด ไลโปโปรตีนเปรียบเสมือนพาหนะขนส่ง ให้คอเลสเตอรอล

ไลโปโปรตีน ( Lipoprotein ) คือ สารประกอบของโปรตีน ผสมกับไขมัน หากชนิดใดมีอัตราส่วนไขมันมาก แต่โปรตีนน้อย ก็เรียกว่าเป็น ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ นั่นคือ Low Density Lipoprotein เรียกย่อๆ ว่า LDL ซึ่งไลโปโปรตีน ที่สำคัญ และเรียงลำดับจากความหนาแน่นต่ำที่สุด ไปสู่ความหนาแน่นสูง 4 ตัว ได้แก่

1. Chylomicron
2. VLDL ย่อมาจาก Very Low Density Lipoprotein
3. LDL หากคอเลสเตอรอลเกาะ LDL จะเรียกว่า LDL- Cholesterol หรือ LDL– C จะมีบทบาทช่วยกันนำคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายให้กับทั่วร่างกาย LDL จึงถือว่าเป็น “ คอเลสเตอรอลชนิดร้าย ” ที่ไปเพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น
4. HDL หากคอเลสเตอรอลเกาะ HDL จะถูกเรียกว่า HDL-C ซึ่งจะมีบทบาทตรงกันข้ามกับ LDL- C กล่าวคือ HDL จะทำหน้าที่ในการไล่จับคอเลสเตอรอลทั่วร่างกาย กลับส่งคืนไปให้ตับทำลาย โดยจะผลิตเป็นน้ำดีออกมาแทนเพราะฉะนั้น HDL จึงถือว่าเป็น “ คอเลสเตอรอลชนิดดี ” ที่จะช่วยให้คอเลสเตอรอลทั่วร่างกาย มีค่าลดน้อยลง หาก HDL เพิ่มขึ้นมากเท่าใด ค่าคอเลสเตอรอลรวม จะลดลงได้มากเท่านั้น

การตรวจวัดปริมาณของคอเลสเตอรอล

การตรวจวัดปริมาณของ คอเลสเตอรอล หมายถึง เป็นค่าที่ใช้วัดระดับคอเลสเตอรอลรวม ซึ่งมีทั้งคอเลสเตอรอล ชนิดดีและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีปนกันอยู่  ซึ่งในการตรวจสอบจะมีค่าปกติของคอเลสเตอรอลดังนี้

ค่าปกติของคอเลสเตอรอล
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ     ปริมาณที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 200 mg / dL
เด็ก    ปริมาณที่เหมาะสมต้องอยู่ระหว่าง  120 – 200 mg / dL

ค่าปกติของคอเลสเตอรอล

1. ค่าคอเลสเตอรอลต่ำกว่าปกติ หมายถึง กรณีที่วัดค่าคอเลสเตอรอลได้ต่ำกว่าค่าปกติ  ซึ่งสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุเกิดจาก

  • เกิดสภาวะทุโภชนา ( Malnutrition ) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารไม่สมดุลกัน โดยอาจมีสารอาหารบางอย่างได้รับไม่เพียงพอ น้อยหรืออาจจะมากเกินไป
  • อาจมีเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน ( Cellular Necrosis Of The Liver )
  • อาจเกิดจากสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ( Hyperthyroidism )

2. ค่าคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ หมายถึง กรณีที่วัดค่า คอเลสเตอรอล ได้สูงกว่าค่าปกติ  เรียกสภาวะนี้ว่า  Hypercholesterolemia ซึ่งสภาวะนี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากทำให้เกิดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้หากไม่รีบรักษาให้ค่าลดลงเป็นปกติโดยค่าคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ อาจเกิดจาก

  • อาจกำลังเกิดโรคตับอักเสบ ( Hepatitis )
  • อาจกำลังเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
  • อาจเกิดสภาวะโรคไต ( Nephrotic Syndrome )
  • อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ จึงอาจผลิเอนไซม์ย่อยอาหารไขมันและโปรตีนไม่ได้
  • อาจเกิดสภาวะดีซ่าน ในถุงน้ำดีเกิดการอุดตันขึ้น ( Obstructivejaundice ) ทำให้ตับไม่สามารถขับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว ออกทางท่อถุงน้ำดีได้ จึงทำให้ค่า  Bilirubin ในเลือดสูงขึ้น มีผลทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อคอเลสเตอรอลในเลือด

1. พันธุกรรม โดยพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติมีระดับคอเลสเทอรอลสูง ซึ่งก็จะทำให้บุคคลอื่นๆ ในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงไปด้วย
2. น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จะมีความเสี่ยงคอเลสเทอรอลสูงได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มเอชดีแอลคอเลสเทอรอลซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดีแก่ร่างกาย
4. อายุและเพศ โดยพบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระดับคอเลสเทอรอลจะเพิ่มมากขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ระดับคอเลสเทอรอลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
5. การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีผลทำให้ระดับคอเลสเทอรอลสูงทั้งสิ้น

ร่างกายเผาผลาญคอเลสเตอรอลได้อย่างไร

1. การออกซิไดส์จากตับให้กลายเป็นน้ำดี และร่างกายจะเอาน้ำดีนี้ไปช่วยย่อยและดูดซึมไขมันต่อไป

2. การขับถ่าย โดยคอเลสเตอรอลนี้จะปนไปกับอุจจาระที่เป็นกากอาหารที่ไม่ถูกดูดซึม และอาจจะมีน้ำดีผสมลงไปด้วยเล็กน้อย แต่เพราะการทำงานของร่างกายที่มักจะมีการดูดซึมน้ำดีกลับไปใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลถูกดูดกลับไปด้วย เพราะฉะนั้นปริมาณคอเลสเตอรอลที่ถูกขับออกมากับอุจจาระจึงมีปริมาณน้อยมาก จึงต้องมีการพึ่งพาการออกกำลังกายในการเผาผลาญคอเลสเตอรอลให้มากขึ้นด้วย มิเช่นนั้นอาจจะเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้

ควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างไร

1. ลดปริมาณไขมันที่รับประทานให้น้อยลง
ควรรับพลังงานจากไขมันเพียงร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับในหนึ่งวันเท่านั้น แต่ไปเพิ่มพลังงานที่ได้รับจากคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนแทน ในอัตราร้อยละ 55 และ 15 ของพลังงานทั้งหมด เช่น ชายคนหนึ่งควรได้รับพลังงานจากอาหารในหนึ่งวัน ประมาณ 2000 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นพลังงานที่ได้รับจากไขมันควรเท่ากับ 600 กิโลแคลอรี่ และไขมันที่ควรบริโภค ก็ควรเป็นไขมันอิ่มตัวจากไขมันหรือน้ำมันจากเนื้อสัตว์ น้ำมันมะพร้าว, ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว จาก น้ำมันมะกอก, และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง จาก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว อย่างละเท่ากัน การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก จะทำให้ประสิทธิภาพของตับในการกำจัดคอเลสเตอรอลทำงานได้น้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อลดปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวลง แต่ทดแทนด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว จะทำให้ประสิทธิภาพของตับในการขจัดคอเลสเตอรอลเพิ่มมาก การรับประทานน้ำมันถั่วเหลืองวันละ 3 ช้อนโต๊ะ ( คิดเป็นไขมัน 10% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ) อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ได้กรดไลโนเลอิกประมาณ 22 กรัม ซึ้งเป็นปริมาณที่ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะทำให้ไม่มีไขมันส่วนเกินไปอุดตันอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายอีกด้วย

2. ลดคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ให้ถูกวิธี
ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงว่าให้บริโภคน้ำมันชนิดใดเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ควรผสมผสานกัน ดังที่ได้กล่าวในข้อ 1 ก็เพราะว่าการบริโภคไขมันหรือน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว เช่น เดิมแนะนำให้บริโภคน้ำมันพืช เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด แต่ในปัจจุบันพบว่าในน้ำมันพืช ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ในกลุ่มโอเมก้า 6 ถึงแม้จะสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้จริง แต่ก็เข้าไปลด ( HDL-Cholesterol ) ที่เป็นไขมันดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรที่จะบริโภคน้ำมันดังกล่าวเพียงชนิดเดียวมากจนเกินไป

3. เลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
ควรบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงให้น้อยลง และควรเหลือเพียง 300 mg. ต่อ 1 วัน วิธีที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกสมอง หนังเป็ด หนังไก่ และอาหารทะเลบางชนิดอย่างเช่น ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น แต่สำหรับไข่แดงเป็นข้อยกเว้น เพียงแต่ควรจำกัดปริมาณไม่ให้เยอะจนเกินไป เพราะไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ประกอบไปด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดีและมีวิตามินเอสูง ดังนั้นถ้าจะบริโภคไข่ทุกวันต้องบริโภคไม่เกินวันละฟอง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง ควรบริโภคแบบวันเว้นวัน และถ้าจะให้ดี ก็ควรบริโภคไข่ขาวให้มากกว่า เพราะมีสารอาหารที่ดีไม่ต่างกัน แต่ไม่มีคอเลสเตอรอลใด ๆ ทั้งสิ้น จากผลการศึกษาพบว่า การลดการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลให้น้อยลงวันละ 100 มิลลิกรัม จะสามารถลดคอเลสเตอรอลได้เฉลี่ย 7 mg./dl

4. บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีน้ำตาลหลายชั้น ( Polysaccharides ) ให้มากขึ้น
โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ ที่ไม่ค่อยมีส่วนประกอบของแป้งแต่มีน้ำตาลหลายชั้นสูง เพราะจากงานวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารประเภทนี้จะช่วยให้ร่างกายบริโภคไขมันน้อยลง นอกจากนี้ผักและผลไม้บางชนิดที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ก็มักจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant ) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะช่วยเข้าไปชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในการทำงานด้วย

5. บริโภคอาหารที่ให้โปรตีนที่ดีอย่างเหมาะสม
อาหารที่ให้โปรตีนที่ดี ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อย่างเช่น ไก่และปลา ถ้าสามารถบริโภคแทนเนื้อสัตว์อื่น ๆ ได้เป็นประจำจะดีต่อร่างกายมาก และในส่วนของการดื่มนม ก็ควรดื่มนมพร่องไขมันแทนนมธรรมดา เพราะจะช่วยลดไขมันได้ดีกว่า

6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
วิธีนี้จะช่วยเพิ่มไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือคอเลสเตอรอลดี ( High Density Lipoprotein – HDL ) ในเลือด ซึ่งจะคอยดักจับคอเลสเตอรอลรวมไปยังตับเพื่อทำลายและกำจัดออกไปจากร่างกาย นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบว่า ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายบ่อย ๆ จะมีระดับของโปรตีนที่เรียกว่า “ซีรีแอคทีฟโปรตีน” ( CRP ) น้อยมาก ซึ่งโปรตีนดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีการติดเชื้อได้โดยง่าย และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน จนเป็นสาเหตุของโรคหัวใจในภายหลัง

7. เปลี่ยนแปลงวิธีการปรุงอาหาร
ปรุงอาหารด้วยการนึ่ง ต้ม ย่าง อบ แทนการทอดหรือผัด ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบสูง

8. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน
หากจำเป็นต้องปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ควรใช้น้ำมันที่สกัดจากพืช แทนน้ำมันจากสัตว์

ข้อแนะนำเพิ่มในการตรวจระดับคอเลสเตอรอล

1. การตรวจหาค่า  Total Cholesterol เพียงค่าเดียว ไม่สามารถอธิบายสุขภาพโดยรวมว่าดีหรือไม่อย่างไร แต่จะต้องใช้ค่าอื่นๆประกอบร่วมด้วยเสมอ

2. หากจะเจาะเลือกเพื่อตรวจระดับของ คอเลสเตอรอล ควรทำการตรวจค่าอื่นๆไปด้วยเลย หรือตรวจให้ครบ  Lipid Profile เช่น  HDL , LDL และ Triglyceride ในทุกครั้งที่ทำการตรวจ

อัตราส่วนของคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมในร่างกาย สามารถคำนวณหาได้ ดังนี้

ระดับคอเลสเตอรอล ÷ ระดับ HDL

หรือ ไขมันดี High-Density Lipoprotein Cholesterol ( HDL-C )

ต้องได้ค่าน้อยกว่า 4  เช่น ระดับคอเลสเตอรอล วัดได้ 300 ระดับ HDL วัดได้ 90

จะได้ 300 ÷ 90 = 3.33

ค่าคอเลสเตอรอลเท่ากับ 3 ซึ่งน้อยกว่า 4 อยู่ในระดับดีปานกลาง

หมายเหตุ :
ระดับคอเลสเตอรอล 1 = ดีมาก
ระดับคอเลสเตอรอล 2 = ดี
ระดับคอเลสเตอรอล 3 = ดีปานกลาง
ระดับคอเลสเตอรอล 4 = พอใช้
ระดับคอเลสเตอรอล มากกว่า 4 ขึ้นไป = แย่
หากค่าคอเลสเตอรอลมากกว่าระดับ 4 ต้องเพิ่มระดับคอเลสตอลรอล ด้วยการทานไขมันดี ซึ่งมีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

ดังนั้นเกณฑ์ปกติของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คือ
ระดับคอเลสเตอรอลรวม ( Total cholesterol ) น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับ LDL น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับ HDL มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลคอเลสเตอรอลมาก่อน หลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดๆต่อไปเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล ที่มักมองว่า คอเลสเตอรอล คือ ไขมัน เป็นสิ่งเลวร้ายและอันตรายต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า คอเลสเตอรอล มีทั้งข้อดีที่เป็นประโยชน์และข้อเสียที่เป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งตัวเราเองควรรู้จักควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายตนเองให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการทานอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ใครหลายคนมีระดับของคอเลสเตอรอลที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และอีกหลายๆโรคที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายเลย ดังนั้น จึงควรปรับพฤติกรรมการกินของตนเอง ก่อนที่จะเกิดภาวะ คอเลสเตอรอลสูงกว่ามาตรฐาน เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเราเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Hanukoglu I, Jefcoate CR (1980). “Pregnenolone separation from cholesterol using Sephadex LH-20 mini-columns”. Journal of Chromatography A. 190 (1): 256–262. 

Javitt NB (December 1994). “Bile acid synthesis from cholesterol: regulatory and auxiliary pathways”. FASEB J. 8 (15): 1308–11.

Chen HW, Heiniger HJ (August 1978). “Biological activity of some oxygenated sterols”. Science. 201 (4355): 498–501.

Russell DW (December 2000). “Oxysterol biosynthetic enzymes”. Biochim. Biophys. Acta. 1529 (1–3): 126–35. 

การจำแนกประเภทของน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร

0
การจำแนกประเภทของน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร
น้ำมันที่นำมาใช้ในการปรุงอาหารมีหลายประเภท ควรเลือกทานน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพจะดีที่สุด
การจำแนกประเภทของน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร
น้ำมันสลัด เป็นน้ำมันที่ไม่แข็งตัวถึงแม้จะอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำ บางชนิดทำมาจากน้ำมันจากสัตว์หรือน้ำมันจากพืช

น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร

การจำแนกประเภทของ น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ในที่นี้ สามารถที่จะพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันแบบอิ่มตัว และกรดไขมันสายกลางในปริมาณมาก ๆ เป็นน้ำมันที่นิยมนำมาทำมาการีน และอาหารทางการแพทย์ แต่ไม่เหมาะสำหรับนำไปปรุงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงอย่างการทอด เพราะมีโมเลกุลขนาดใหญ่ที่ทำให้จุดเกิดควันค่อนข้างต่ำ  โดยน้ำมันประเภทนี้ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

2.น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารมีส่วนประกอบของกรดไขมันแบบอิ่มตัว และกรดไขมันสายยาวในปริมาณมาก เช่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน มีจุดเกิดควันค่อนข้างสูง จึงทำให้โอกาสเกิดอนุมูลอิสระค่อนข้างน้อย และมีความทนทานต่อความร้อน จึงทำให้เหมาะกับการทอดอาหารที่ต้องใช้เวลานาน และถึงแม้ว่าน้ำมันปาล์มโอเลอีนจะมีกรดโอลีอิกและกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก แต่ก็ไม่ใช่กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ จึงไม่ควรใช้เป็นน้ำมันหลักในการบริโภค

3.น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันแบบไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง และมีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณต่ำ ส่วนมากมักมีแหล่งกำเนิดจาก 2 แหล่ง คือ

น้ำมันสกัดจากพืช เป็นน้ำมันที่มีความเหมาะสำหรับการต้ม นึ่ง ผัด ทำน้ำสลัด หรือการปรุงอาหารที่มีความร้อนไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณมาก หากนำมาใช้ปรุงอาหารโดยวิธีที่ใช้อุณหภูมิสูงจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ง่าย และเป็นผลให้เกิดการสูญเสียของสารอาหารที่จำเป็นไป โดยน้ำมันชนิดนี้ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดอัลมอนด์ เป็นต้น

– น้ำมันสกัดจากพืชที่มีการตัดต่อและดัดแปลงรหัสทางพันธุกรรม ( GMO ) เมื่อนำน้ำมันชนิดนี้ไปปรุงอาหารซ้ำ ก็จะทำให้โมเลกุลของกรดโอเลอิกเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายของมนุษย์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนำน้ำมันชนิดนี้มาใช้ในการทอดอาหาร โดยเฉพาะอาหารบางชนิดที่ต้องทอดน้ำมันท่วม ๆ เช่นไก่ทอด เฟรนช์ฟราย เป็นต้น

4.น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดโอเลอิกในปริมาณที่ใกล้เคียงกับกรดไลโนเลอิก ในขณะที่กรดไลโนเลอีกเองมีปริมาณที่ต่ำมาก ยกตัวอย่างน้ำมันประเภทนี้คือ น้ำมันรำข้าวและน้ำมันงา ซึ่งน้ำมันประเภทนี้มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ทำให้มีโอกาสเกิดการเป็นอนุมูลอิสระมากกว่าน้ำมันชนิดอื่น ๆ จึงไม่เหมาะกับการนำมาปรุงอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงเป็นอย่างยิ่งและไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ เพราะจะทำให้โมเลกุลของกรดโอเลอิกเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ 

5.น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิกในปริมาณมาก มีส่วนประกอบของกรดโอเลิอกในปริมาณปานกลาง ซึ่งจัดเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง น้ำมัน ชนิดนี้จึงเหมาะกับการนำมาปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิไม่สูงมาก และไม่ใช้เวลาในการปรุงอาหารนาน มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ได้ โดยน้ำมันประเภทนี้ได้แก่น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน และน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย เป็นต้น

6.น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิกในปริมาณมาก เช่น น้ำมันจากคาโนล่า และน้ำมันถั่วเหลือง หากนำน้ำมันประเภทนี้มาปรุงอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระและกลายเป็นสารพิษเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้นประชากรที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปจึงมักจะไม่ใช้ น้ำมัน อะไรก็ตามที่ส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิกเกิน 2% ในการปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง แต่จะนำไปใช้เมื่อต้องการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนไม่สูงมากแทน

7.น้ำมันที่ผ่านปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชั่น ทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวมากขึ้น จะทำให้เกิดไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัว ซึ่งน้ำมันชนิดนี้จะมีจุดหลอมเหลวที่สูงขึ้น และมีจุดเกิดควันที่สูงขึ้น จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ช้าลงไปด้วย ดังนั้นน้ำมันประเภทนี้จึงมักนำมาทำเป็นมาการีน และเนยชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถพบไขมันทรานส์ได้สูงถึง 23% และ 25.3% ในมาการีนและเนยที่ทำจากน้ำมันถั่วเหลือง

น้ำมัน ที่เหมาะสมกับการปรุงอาหาร โดยใช้สัดส่วนปริมาณของกรดไขมันเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าน้ำมันแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้วย ทั้งรวมไปถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะฉะนั้นการเลือกชนิดของน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อนำมาปรุงอาหารจึงควรเลือกให้ดีที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีด้วยนั่นเอง

ตารางที่ 1 สัดส่วนปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัว (SFA) ปริมาณไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (MUFA) ปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) และไขมันทรานส์ (TF) ในแต่ละประเภทของน้ำมัน

ประเภทของน้ำไขมัน SFA MUFA PUFA TF ชนิดของน้ำมันไข การปรุงอาหาร
จำนวนคาร์บอน 4-10 อะตอม
10%
 

จำนวนคาร์บอน 12-14 อะตอม

65-70%

จำนวนคาร์บอน 4-10 อะตอม กรดโอลีอิก  

 

กรดไลโนลีอิก

กรดไลโนลีนิก มะพร้าวเนื้อในของเมล็ด ปาล์ม
1 1-2% 11% 6-14% 1-2% 0.03% ปาล์มโอเลอิน ปรุงอาหารทั่วไป
2 37-50% 40-45% 10% <1% มะกอก ทอดอาหาร
3 71% 10-19% <1% เมล็ดอัลมอนด์ ปรุงอาหารทั่วไปไม่ใช้ทอดแบบท่วม
3 และ 6 64% 44% 9.2% คาโนลา
4 15% 41% 34% 0.2% 0.11% งา ปรุงอาหารทั่วไปไม่ใช้ทอดแบบท่วม
4 19% 44% 34% 1.1% 0.05% รำข้าว
4 15% 13-19% 31% <1% ถั่วลิสง
5 15-27% 18-27% 68-78% <1% 0.01% ดอกคำฝอย เมล็ดดอกทานตะวัน ปรุงอาหารทั่วไปห้ามทอด

น้ำมัน ที่วางขายทั่วไปทั้ง 5 ประเภท ซึ่ก็จะมีความแตกต่างกันไปและมีความเหมาะสมกับการนำมาปรุงอาหารที่ต่างกันด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกน้ำมันอย่างเหมาะสมเพราะบางชนิดเหมาะกับการปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง เช่นการทอด แต่บางชนิดก็ไม่เหมาะกับการปรุงอาหารที่ใช้อุณหภูมิสูง ๆ เพราะอาจเกิดอนุมูลอิสระ และเกิดสารพิษเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ ยิ่งถ้าหากนำน้ำมันที่สกัดจากพืชที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม ( GMO ) จะยิ่งมีโอกาสในการรับไขมันทรานส์มากขึ้น เมื่อนำมาใช้ในการปรุงอาหารอย่างไม่ถูกวิธี และถ้าหากว่ารับประทานอาหารที่ปรุงจากน้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาวและกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก ก็อาจส่งผลให้เกิดการตกตะกอนในหลอดเลือดจนทำให้เกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างมากทีเดียว

น้ำมันทั่วไปที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร

มีหลายประเภทดังต่อไปนี้น้ำมันทั่วไปที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร มีหลายประเภทดังต่อไปนี้

1.น้ำมันหมู  การทำน้ำมันหมู สามารถทำได้โดยการหั่นมันหมูเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเจียว ซึ่งคุณภาพของน้ำมันหมูที่ได้ ขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนของหมูที่นำมาใช้ โดยน้ำมันได้จากการเจียวจากชิ้นส่วนของหมูที่อยู่รอบ ๆ ไต จะมีคุณภาพที่ดีกว่าน้ำมันที่เจียวจากมันหมูแข็ง

2.ไขวัว เป็นน้ำมันที่ได้จากการเจียวมันวัวที่อุณหภูมิ 32°C เป็นเวลาหลาย ๆ วัน จนทำให้น้ำมันบางส่วนแข็งตัว จากนั้นจึงใช้วิธีกรองเพื่อแยกชั้นให้ออกจากกัน ปัจจุบันมีการใช้มันวัวหรือไขวัวในการทำเนยเทียม และบางส่วนยังนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานขนมปังและลูกกวาด

3. เนย ได้จากการแยกมันเนยออกจากนม ซึ่งอาจจะทำมาจากนมวัวหรือนมจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็ได้ เช่นนมแพะ นมแกะ เป็นต้น ส่วนวิธีการแยกคือ คนนมแรงๆ เพื่อให้ไขมันที่กระจายอยู่ในนม มารวมตัวกันเพื่อแยกออกจากส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนมากแล้ววิธีผลิตเนยในโรงงานอุตสาหกรรม คือ นำครีมที่มีคุณภาพดีมาลดกรดเพื่อการเติมโซเดียมไบคาร์บอเนต แมกนีเซียมออกไซด์หรือแคลเซียมคาร์บอเนต จากนั้นจึงทำการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์ และเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสมลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตและผลิตกรดแลคติก ซึ่งมีรสเปรี้ยวทำให้ครีมมีกลิ่นและรสชาติดี เมื่อได้ที่แล้วก็นำมาปั่นให้เหลวจนแยกเนยออกจากส่วนที่เป็นน้ำ เติมเกลือลงไป  2.5%- 3% แล้วตีให้เข้ากัน สุดท้ายห่อด้วยกระดาษอลูมิเนียมหรือกระดาษไข แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ 

4.น้ำมันพืช ส่วนใหญ่จะผลิตจากเมล็ดพืชที่มีน้ำมันสูง เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด งา ผลปาล์ม ฯลฯ

5.น้ำมันสลัด เป็นน้ำมันที่ไม่แข็งตัวถึงแม้จะอยู่ในที่ ๆ อุณหภูมิต่ำอย่างตู้เย็น น้ำมันสลัดบางชนิดทำมาจากน้ำมันจากสัตว์หรือน้ำมันจากพืชแต่เพียงอย่างเดียว แต่น้ำมันสลัดบางชนิดก็ผสมน้ำมันทั้งจากพืชและจากสัตว์ เมื่อนำน้ำมันมาผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแล้ว ต้องกำจัดกลิ่นและต้องเติมโมโนกรีเซอไรด์  และไตกลีเซอไรด์ เพื่อทำให้สารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ต่อจากนั้นตีน้ำมันเพื่อให้ได้วามเข้มข้นตามที่ต้องการ ถ้าหากมีการใช้น้ำมันพืชเป็นส่วนผสมของน้ำมันสลัดต้องเลือกน้ำมันพืชที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิประมาณ 5°C-10°C เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันข้าวโพด ฯลฯ

6.มาการีน ทำมาจากน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ มาการีนมีการผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1870  โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ในครั้งแรกมาการีนทำมาจากไขของวัววัว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันหมู แต่เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เริ่มมีการแทนที่มาการีนด้วยน้ำมันพืช โดยให้น้ำมันพืชผ่านกระบวนการการเติมไฮโดรเจน จนได้จุดหลอมตัวและมีสมบัติใกล้เคียงกับเนยมากที่สุด

สรุป น้ำมันที่นำมาใช้ในการปรุงอาหารมีหลายประเภท ซึ่งมีทั้งน้ำมันจากสัตว์ และน้ำมันจากพืชอย่างเดียว บางชนิดก็มีส่วนประกอบจากน้ำมันทั้งพืชและสัตว์ และบางประเภทก็ผ่านกรรมวิธี โดยเพื่อสุขภาพแล้ว ควรเลือกทานน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพจะดีที่สุด

การเลือกบริโภคน้ำมันไขอย่างถูกวิธี

สำหรับ น้ำมัน ที่นำมาใช้ในการทอดอาหาร ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะการทอดอาหารนั้นต้องใช้ความร้อนที่สูงมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้น้ำมันที่ใช้มีการเสื่อมสภาพกลายเป็นอนุมูลอิสระ และมีการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล ยิ่งใช้ทอดนานเท่าไรสีก็จะยิ่งเข้มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย และมีกลิ่นที่ทำให้รู้สึกแสบจมูก น้ำมันบางชนิดอาจถูกดูดซึมและถูกนำไปสะสมไว้ในร่างกาย และถ้าหากสูดดมไอระเหยจากน้ำมันที่มีการทอดซ้ำก็อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้  เนื่องจากสารก่อมะเร็งจากไอระเหยในน้ำมันได้เข้าไปในปอด นอกจากนี้ การบริโภคอาหารที่ใช้น้ำมันเก่าทอดอาหารซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ในอนาคต ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ออกกฎว่า ให้ใช้ค่าสารโพล่าร์ในน้ำมันเป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมสภาพของน้ำมันที่นำมาใช้ในการทอด ซึ่งจะต้องได้ค่าไม่เกิน 25% จึงจะสามารถใช้ต่อได้ 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้เกณฑ์การเลือกบริโภคน้ำมันที่มีสัดส่วนของกรดไขมันทั้ง 3 ชนิดดังต่อไปนี้

กรดไขมันอิ่มตัว : กรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง : กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ในสัดส่วน 1 : 1.5 : 1 ซึ่งหมายความว่า WHO ได้แนะนำให้เลือกบริโภคน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัว และน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณน้อย และให้เลือกบริโภคน้ำมันไขมันอิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งให้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันรำข้าว ที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันทั้ง 3 ประเภทนี้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ WHO แนะนำ เพื่อการบริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มนุษย์ควรบริโภคน้ำมันมะพร้าว : น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันเมล็ดชา : น้ำมันชนิดอื่นๆ ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคภัยบางชนิด และถึงแม้ว่า WHO จะจัดทำรายงานที่กล่าวถึงการบริโภคน้ำมันชนิดต่าง ๆ ในสัดส่วนของกรดไขมันที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และประเภทของน้ำมันในการนำมาใช้ปรุงอาหารให้เหมาะสม ดังนั้น การเลือกบริโภคน้ำมันจึงควรพิจารณาปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นเกณฑ์ในการจำแนกด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีจากการเลือกบริโภคน้ำมันนั่นเอง

การเลือกน้ำมันชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาบริโภค

1.ถ้าต้องการใช้น้ำมันในการปรุงอาหารแบบทั่วไป เช่น การผัด ควรเลือกน้ำมันที่มีส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวมีปริมาณต่ำ และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งในปริมาณสูง และต้องมีส่วนประกอบของกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายพอสมควร ดังนั้น น้ำมันที่เหมาะสมในประเภทนี้ คือ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสงและน้ำมันถั่วเหลือง รวมทั้งควรบริโภคน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดอัลมอนด์ น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย และน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นทางเลือกเสริมด้วย

2.ควรเลือกวัตถุดิบที่มีส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวและมีไขมันทรานส์ต่ำในการปรุงอาหารเป็นประจำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ

3.ถ้าต้องการใช้น้ำมันสำหรับทอดอาหาร แนะนำให้เลือกน้ำมันที่มีคุณภาพดี ซึ่งควรเป็นน้ำมันใหม่ และควรมีส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณต่ำ รวมทั้งไม่มีไขมันทรานส์ ซึ่งน้ำมันปาล์มโอเลอิน เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถใช้ทอดได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ 

4.ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว และสารพิษในน้ำมันที่เสื่อมสภาพจากการนำมาใช้ทอดหลาย ๆ ครั้ง ด้วยการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทอด หรือถ้าหากต้องการปรุงอาหารด้วยการทอดเอง ก็ไม่ควรทอดอาหารโดยใช้อุณหภูมิสูงเกิน และไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำ แนะนำให้เปลี่ยนน้ำมันบ่อยๆ จะดีที่สุด

5.ควรเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีคอเลสเตอรอลน้อย เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนและภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด

6.ควรเลือกใช้น้ำมันชนิดที่ผ่านการสกัดโดยใช้ความร้อน เพราะจะมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญอย่าใช้น้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง

สรุป  การเลือกบริโภคอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายจากสีของ น้ำมัน จะทำให้ร่างกายปลอดภัยจากสารพิษที่มากับน้ำมัน และควรเลือกบริโภคน้ำมันที่มีสัดส่วนตามรายงานที่มีการแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยควรศึกษาเรื่องของกรดไขมันแบบออิ่มตัวและแบบไม่อิ่มตัว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปรุงอาหารได้อย่างถูกต้อง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Food and nutrition board, institute of medicine of the national academies (2005). Dietary Reference Intakes for Energy, Carbohydrate, Fiber, Fat, Fatty Acids, Cholesterol, Protein, and Amino Acids (Macronutrients). National Academies Press. p. 423.

Dietary Guidelines for Americans 2005; Key Recommendations for the General Population. US Department of Health and Human Services and Department of Agriculture. 2005.

อาหารสำหรับผู้ป่วยเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต

0
อาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาต
โรคอัมพฤกษ์และอัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดแดงตีบ จะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้
อาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาต
โรคอัมพฤกษ์และอัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดแดงตีบ จะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้

อัมพฤกษ์ อัมพาต

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดแดงตีบ หรือ สโตรก ( Stroke ) ซึ่งอาการหลักๆ ของโรคก็คือจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น โดยโรค อัมพฤกษ์ อัมพาตนี้ก็เป็นโรคที่ชาวต่างประเทศกลัวกันมากทีเดียว

โรคร้ายที่มักจะมากับสโตรก

สโตรก เกิดจากการที่ผนังของหลอดเลือดแดงเกิดการอุดตันจากเลือดที่แข็งตัวผิดปกติ จึงทำให้ออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอและยังทำให้หัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่หัวใจวายได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เมื่อหลอดเลือดเกิดการอักเสบ ก็จะมีไขมันไปสะสมอยู่ภายใต้ผนังหลอดเลือดมากขึ้น เป็นผลให้หลอดเลือดอ่อนแอลง และอาจเกิดการฝังตัวของพลัคและลิ่มเลือด จนทำให้เกิดความเสี่ยงได้สูงขึ้นเช่นกัน

โดยภาวะสโตรกนี้ จะส่งผลอย่างไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับว่าได้เกิดกับหลอดเลือดส่วนไหน ซึ่งหากเกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลันจนเกิดอาการหัวใจวาย ( Heart Attack ) ได้ และหากเกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ก็จะส่งผลให้เซลล์สมองตาย เนื่องจากขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองนั่นเอง และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต ในที่สุด
นอกจากนี้ในกรณีที่เส้นเลือดที่อุดตันเกิดการรั่วหรือแตก หรือที่เรียกว่าเลือดออกในสมอง ( Hemorrhagic Stroke ) ก็จะทำให้เป็นอัมพาตอย่างเฉียบพลันได้อีกด้วย ซึ่งในผู้ป่วยบางคนอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยอาการที่มักจะแสดงออกมาอย่างเฉียบพลันเมื่อเลือดออกในสมอง คือ อาการแขนขาอ่อนแรงและเป็นลมหมดสตินั่นเอง
สัญญาณเตือนของโรค ที่ควรไปพบแพทย์ทันที

เนื่องจากโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจและรักษาก่อนอาการจะรุนแรงและเป็นอันตรายนั่นเอง

  • โรค อัมพาต ครึ่งซีก มีอาการชาอย่างเฉียบพลันและอ่อนแรงบริเวณแขน ขาและใบหน้า โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดเฉพาะซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • อาการเริ่มต้นของโรคอัมพฤกษ์ โรค อัมพาต

จะ เริ่มพูดไม่ชัด และอาจมีความสับสนพร้อมกับเข้าใจอะไรได้ยาก

  • อัมพฤกษ์ อัมพาต มีผลต่อดวงตา มีอาการตาฟาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้างก็ได้
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมักจะปวดขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ทรงตัวลำบาก และอาจมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย โดยในบางคนก็อาจจะล้มลงไปเฉยๆ ในขณะกำลังเดินหรือยืนอยู่

มินิสโตรก สัญญาณที่ต้องเฝ้าระวัง

มินิสโตรก คือ โรคสโตรกอีกชนิดหนึ่ง โดยมีศัพท์ทางการแพทย์ว่า Transient Ischemic Attack ( TIA ) ซึ่งโรคนี้จะมีอาการที่แตกต่างจากสโตรกตรงที่จะขาดเลือดเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น และจะหายเป็นปกติไปเองโดยไม่ต้องทำการรักษา นอกนั้นอาการจะเหมือนกับโรคสโตรกทุกอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่อาการของมินิสโตรกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอยู่ประมาณ 10 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และจะหายเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง โดยโรคนี้จะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเซลล์สมองอย่างใด แต่ทั้งนี้อาการมินิสโตรกก็เป็นดั่งสัญญาณเตือนที่จะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังมีโอกาสที่จะเป็นสโตรกอย่างแท้จริงและมีความเสี่ยงต่อการเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต สูงมากอีกด้วย

โรค อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดแดงตีบ หรือ สโตรก ( Stroke ) ซึ่งอาการหลักๆ ของโรคก็คือจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น

ปัจจัยที่นำไปสู่ความเสี่ยงสโตรก

สำหรับปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงสโตรก ได้แก่ 

  • อายุ โดยจะพบได้มากในคนที่มีอายุมาก โดยเฉพาะวัย 50 ปีขึ้นไป และจะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงอายุอีกด้วย
  • เพศ ซึ่งพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง โดยอาจเป็นเพราะผู้ชายมักจะมีความดันโลหิตที่สูงกว่าและไม่ค่อยใส่ใจดูแลสุขภาพมากนักนั่นเอง
  • เชื้อชาติ โดยโรคสโตรกจะพบได้มากที่สุดในชาวแอฟริกันและละตินอเมริกัน
  • หัวใจเต้นผิดปกติ เพราะจะก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงสโตรกมากขึ้น
  • กรรมพันธุ์ โดยพบว่าในคนที่พ่อแม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือสโตรกมาก่อน จะมีความเสี่ยงเป็นสโตรกได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
  • ความดันโลหิตสูง ซึ่งพบว่าหากความดันสูงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากเท่านั้น โดยผู้ที่มีระดับความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะมีความเสี่ยงสูงถึง 7 เท่า

คำแนะนำในการป้องกันโรคสโตรก

การป้องกันโรคสโตรกสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะบุหรี่มีสารนิโคตินรวมถึงสารพิษอื่นๆ ที่จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ และส่งผลให้ลิ่มเลือดแข็งตัวง่ายขึ้นอีกด้วย

2. ทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการลดความดัน โดยเฉพาะอาหารแดช อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง พร้อมกับลดปริมาณโซเดียมให้ต่ำลง

3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และระวังอย่าให้อ้วนลงพุง เพราะพบว่าผู้ที่อ้วนลงพุงจะมีโอกาสเสี่ยงสโตรกสูงมาก ถึงแม้ว่าจะมีน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอลและความดันเป็นปกติก็ตาม

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน โดยออกให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที ส่วนในคนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ก็ควรทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เช่น เดินขึ้นลงบันไดในที่ทำงานแทนการใช้ลิฟท์ เป็นต้น

5. ควบคุมไขมันในเลือด เพราะเมื่อมีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้ความเสี่ยงสโตรกสูงขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีระดับของเอชดีแอลต่ำ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

6. ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ปกติ คือจะต้องไม่สูงเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท โดยอาจใช้วิธีการปรับพฤติกรรมการกินอาหารควบคู่ไปกับการใช้ยาร่วมด้วย

7. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยหากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติได้ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงสโตรกและโรคสมองเสื่อมได้มากเท่านั้น

8. งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ ซึ่งก็เป็นอันตรายมากทีเดียว โดยทางสมาคมสโตรกแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกเตือนว่า ผู้ชายห้ามดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2 ดริ๊งค์ และผู้หญิงห้ามดื่มเกินวันละ 1 ดริ๊งค์

อาหารสําหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์และอัมพาต

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว การเลือกทานอาหารก็จะช่วยป้องกัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้เหมือนกัน โดยอาหารที่จะช่วยต้านอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ดี มีดังนี้

  • ปลาทะเล เพราะอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ ควบคุมการเต้นของหัวใจและลดการแข็งตัวของเกล็ดเลือดได้เป็นอย่างดี เพียงแค่กินปลาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียังลดความเสี่ยงต่อการเกิด อัมพฤกษ อัมพาต อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายที่กินปลาเดือนละ 90 กรัมต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี สามารถลดความเสี่ยงโรคสโตรกได้สูงมาก และผู้หญิงที่กินปลาทะเลสัปดาห์ละครั้งก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ดีเช่นกัน
  • กินวิตามินรวมวันละ 1 เม็ด เพื่อเสริมวิตามินให้เพียงพอสำหรับร่างกายนอกเหนือจากการกินอาหาร
  • กินอาหารที่มีกรดโฟลิกหรือกรดโฟลิกเสริม เพราะจะช่วยในการลดระดับฮอร์โมนซิสเตอีนในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสโตรกได้ โดยอาหารที่มีโฟเลตสูงได้แก่ สตรอว์เบอร์รี่ ถั่วแดง ส้ม บร็อคโคลี เป็นต้น
  • เสริมด้วยวิตามินซี เพราะวิตามินซีจะช่วยในการสร้างเสริมผนังหลอดเลือดแดงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถลดความดันโลหิต พร้อมป้องกันเกล็ดเลือดจับตัวกันได้ดีอีกด้วย  โดยพบว่าผู้ที่มีวิตามินซีในเลือดสูงมากๆ จะสามารถลดการเกิดสโตรกได้มากถึง 29-50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งการเพิ่มวิตามินซีให้กับร่างกาย สามารถทำได้ด้วยการ ทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 9 ส่วน โดยเฉพาะส้ม สับปะรด มะละกอ กีวี่ เป็นต้น 
  • โปแตสเซียม เพราะโปแตสเซียมจะช่วยควบคุมระดับความดันให้เป็นปกติและยังดีต่อสุขภาพหัวใจอีกด้วย โดยอาหารที่พบโปแตสเซียมสูง ได้แก่ พรุน นม กล้วย โยเกิร์ต มะเขือเทศและน้ำลูกพรุน เป็นต้น แต่ทั้งนี้กรณีที่กินในรูปของเกลือ ไม่แนะนำให้ใช้เกลือโปแตสเซียมแทนเกลือแกง เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับโปแตสเซียมในปริมาณที่มากเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อการเต้นของหัวใจได้นั่นเอง
  • อาหารที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำ โดยจะช่วยในการลดระดับของคอเลสเตอรอลและลดความเสี่ยงหลอดเลือดตีบได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็จะพบได้มากในถั่วเหลืองและข้าวโอ๊ตนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมายอีกด้วย
  • แคลเซียม โดยแคลเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสโตรกโดยตรง และให้ผลลัพธ์ที่ดีมากในผู้หญิง ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมสูงและเหมาะกับการทานเพื่อป้องกันสโตรกและ อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่สุด ก็คือ ผักใบเขียว งา ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย เป็นต้น

เมนูอาหารสําหรับผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกันสโตรก

อาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น อาหารว่าง
มูสลี

นมถั่วเหลือง

กล้วย

ข้าวซ้อมมือ

ซุปไก่ตุ๋นใส่แครอต

มันฝรั่งและมะเขือเทศ

ผัดบรอกโคลีกุ้งสด

ฟรุตสลอว์

น้ำส้มคั้น

 ข้าวซ้อมมือ

ลาบเต้าหู้

ต้มยำทะเล

ผัดผักโขมและเห็ดเข็มทอง

โยเกิร์ตพร่องมันเนย

ผลไม้สด

[banner slot1=”oral_6″ slot2=”oral_6″ slot3=”oral_6″ slot4=”oral_6″

สูตรฟรุตสลอว์ (สำหรับ 4 ที่เสิร์ฟ)

ส่วนผสม

  • สับปะรดหั่นชิ้นเล็กๆ 1 ถ้วยตวง
  • กะหล่ำปลีหั่นฝอย 2 ถ้วยตวง
  • พริกหวานสีเขียวสับเป็นชิ้นเล็กๆ ¼ ถ้วยตวง
  • แอปเปิ้ลหั่นชิ้นขนาดประมาณข้อนิ้ว 2/3 ถ้วยตวง
  • แครอตหั่นฝอย ½ ถ้วยตวง
  • น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
  • ขิงสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1. นำน้ำสับปะรดมาแยกออกไว้ต่างหากประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ

2. นำสับปะรด แอปเปิ้ล แครอต กะหล่ำปลีและพริกหวาน มาเทใส่รวมในจานสลัดแล้วตั้งพักไว้

3. นำน้ำสับปะรดที่เหลือมาผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ที่เหลืออยู่ ลงในขวด แล้วเขย่าให้เข้ากัน จากนั้นราดลงบนสลัดแล้วคนให้เข้ากันเบาๆ

4. คลุมด้วยพลาสติกใสสำหรับถนอมอาหาร นำไปแช่ในตู้เย็นสักพัก จากนั้นก็ทานได้เลย

อาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต

สำหรับผู้ป่วยที่เป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต ให้ทานอาหารประเภทเดียวกันกับอาหารสำหรับป้องกัน แต่ให้เน้นเป็นอาหารอ่อนๆ ที่เคี้ยวง่ายแทน หรือในคนที่ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้เลย ก็ให้นำอาหารบดหรือปั่นให้ผู้ป่วยทานแทน และสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องให้อาหารทางสาย แพทย์ก็จะจัดอาหารโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยให้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Gueyffier F, Boissel JP, Boutitie F, Pocock S, Coope J, Cutler J, Ekbom T, Fagard R, Friedman L, Kerlikowske K, Perry M, Prineas R, Schron E (1997). “Effect of antihypertensive treatment in patients having already suffered from stroke. Gathering the evidence. The INDANA (INdividual Data ANalysis of Antihypertensive intervention trials) Project Collaborators”. Stroke. 28 (12): 2557–62.

Psaty BM, Lumley T, Furberg CD, Schellenbaum G, Pahor M, Alderman MH, Weiss NS (2003). “Health outcomes associated with various antihypertensive therapies used as first-line agents: a network meta-analysis”. JAMA. 289 (19): 2534–44. 

“Cholesterol, diastolic blood pressure, and stroke: 13,000 strokes in 450,000 people in 45 prospective cohorts. Prospective studies collaboration”. Lancet. 346 (8991–8992): 1647–53. 1995. 

โรคอ้วน เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนที่คุณคาดไม่ถึง

0
โรคอ้วน เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนที่คุณคาดไม่ถึง
โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ( Overweight ) เป็น โรคเรื้อรังที่มีตัวกำหนดคือไขมันส่วนเกินในร่างกายเห็นได้ชัดอ้วนลงพุง เส้นรอบเอวสำเกิน 36 นิ้ว
โรคอ้วน เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนที่คุณคาดไม่ถึง
โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ( Overweight ) เป็น โรคเรื้อรังที่มีตัวกำหนดคือไขมันส่วนเกินในร่างกายเห็นได้ชัดอ้วนลงพุง เส้นรอบเอวสำเกิน 36 นิ้ว

โรคอ้วน

โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ( Overweight ) เป็น โรคเรื้อรังที่มีตัวกำหนดคือไขมันส่วนเกินในร่างกายเห็นได้ชัดอ้วนลงพุง เส้นรอบเอวสำเกิน 36 นิ้ว แม้ว่าไขมันจะจำเป็นต่อร่างกายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ แต่โรคอ้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไทย จากสถิติพบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคอ้วนสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

สาเหตุของโรคอ้วน

โดยทั่วไปแล้วความอ้วนมักเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ฮอร์โมนบางอย่าง ความเครียด การนอนหลับที่ไม่ดี และที่สำคัญการกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลใน
ปริมาณมากเป็นประจำ เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม และอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารประเภทนี้จะต้องมีการเผาผลาญโดยการออกกำลังกาย แต่ในปัจจุบันทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกายจึงทำให้ไขมันไม่ดีถูกสะสมอยู่ในร่างกายและพัฒนาเป็นโรคอ้วนได้ในอนาคต

การวินิจฉัยโรคอ้วน

แพทย์จะวินิจฉัยโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินตามประวัติทางการแพทย์ที่มีการตรวจร่างกาย
1. การวัดค่าดัชนีมวลกายสูง ( BMI ) สำหรับผู้ใหญ่ค่าดัชนีมวลกายจะอยู่ที่ 18.5 – 22.9 ถือว่าน้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. วัดเส้นรอบวงรอบเอว หากมากกว่า 35 นิ้ว แสดงถึงปริมาณไขมันที่เพิ่มขึ้นในช่องท้องซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน
3. การประเมินน้ำหนักตัวของคุณ
4. การตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่ว ตรวจต่อมไทรอยด์วัดระดับฮอร์โมน อาจเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้
5. การตรวจอุลตร้าซาวด์เชิงกราน เพื่อตรวจหาสาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่และซีสต์ได้ อาจเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้

แพทย์จะใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคอ้วน จากความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อใน 5 ข้อ ต่อไปนี้

  • ผู้ชายอ้วนลงพุง จะต้องมีเส้นรอบเอว ≥ 90 เซนติเมตร หรือผู้หญิงอ้วนลงพุงมีเส้นรอบเอว ≥ 80 เซนติเมตร
  • ผู้ชายและผู้หญิง มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ≥ 150 มก./ดล.
  • ผู้ชาย มีระดับ ( HDL ) คอเลสเตอรอล ชนิด HDL < 40 มก./ดล. หรือในผู้หญิง < 50 มก./ดล.
  • ผู้ชายและผู้หญิงมีความดันโลหิต ≥ 130/85 มม.ปรอท หรืออยู่ระหว่างการรับประทานยาลดความดันโลหิต
  • ผู้ชายและผู้หญิงมีระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร ≥ 100 มก./ดล.

การรักษาโรคอ้วน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาโรคอ้วนได้อย่างถาวร หากความอ้วนมีความรุนแรงของอาการมากขึ้นอาจต้องใช้โปรแกรมการลดน้ำหนักที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น การคุมอาหารที่ให้พลังงานสูง กำหนดเป้าหมายการออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการขยับร่างกาย เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ฟิตเนส อย่างน้อย 30 นาทีต่อวันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับที่ดีสามารถรักษาช่วยลดน้ำหนักได้เช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนโรคอ้วน

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ 1 โรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน ได้แก่
1. โรความดันโลหิตสูง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่อ้วนอัตราการเกิดโรคประมาณ 2.9 เท่า
2. โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนพบอันตรายจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้น แม้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เปอร์เซ็นต์
3. โรคมะเร็งบางชนิด เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนพบการเสียชีวิตในเพศชายประมาณ 1.3 เท่า และเพศหญิงประมาณ 1.6 เท่า
4. โรคนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค 3 – 4 เท่า
5. โรคตับอักเสบจากไขมันสะสม เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วน พบร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ ในคนที่ดัชนีมวลกาย >40
กก./ตรม. ผู้ป่วยโรคนี้พบโรคอ้วนร่วมด้วยร้อยละ 60 – 90 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มที่ 2 กลุ่มความผิดปกติของต่อมไร้ท่อฯ และเมตาบอลิซึม
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อเทียบกับคนที่อ้วนเล็กน้อยอัตราการเกิด 2 เท่า อัตราการเกิด 5 เท่าในคนอ้วนปานกลาง และอัตราการเกิด 10 เท่าในคนที่อ้วนมาก
2. โรคภาวะไขมันผิดปกติ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนอัตราการเกิดพบภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง คอเลสเตอรอลชนิด HDLต่ำ คอเลสเตอรอลชนิด LDL อยู่ในเกณฑ์ปกติ และพบ LDL ชนิดเพิ่มขึ้น     
3. โรคความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
3.1 กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1 – 2 เท่า
3.2 ฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนจะพบว่าประจำเดือนมาไม่ปกติจึงทำให้มีบุตรยาก
4. โรคอ้วนลงพุง เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
5. โรคเกาต์ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนพบว่าระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าคนปกติ และมีโอกาสเป็นโรคเกาต์มากขึ้น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มโรคหรือภาวะที่เกิดจากน้ำหนักตัวและไขมันมากเกิน
1. โรคข้อเสื่อม เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมีความเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อม ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
2. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ นอนกรน โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่
อ้วนพบร้อยละ 10 ในคนอ้วนที่ดัชนีมวลกาย ≥ 30 กก./ตร.ม. และพบร้อยละ 44 ในคนอ้วนที่ดัชนีมวลกาย ≤ 40 กก. / ตร.ม.
3. โรคผิวหนัง เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนพบโรคผิวหนังได้มากกว่าปกติ อาทิ เชื้อราบริเวณใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ผิวหนังบริเวณรอบคอ และรักแร้เป็นปื้นดำ
4. โรคหลอดเลือด เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนพบว่าการไหลเวียนเลือดจากขาขึ้นสู่หัวใจไม่สะดวกเกิดเส้นเลือดขอด และผิวหนังอักเสบจากเส้นเลือดขอดรวมถึงหลอดเลือดดำ
5. ปัญหาอื่น ๆ เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมีปัญหาจากการดมยาสลบ การผ่าตัด การคลอดบุตร และแผลผ่าตัดหายช้ากว่าคนทั่วไป กรณีที่ 2 อาจมีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก สำหรับผู้หญิงอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะได้ไม่ดี
6. กลุ่มปัญหาทางสังคม จิตใจและคุณภาพชีวิต เมื่อเทียบกันคนที่ไม่อ้วนมักไม่ได้รับความเสมอภาคในสังคม อาทิ การสมัครเข้าทำงาน รู้สึกท้อแท้ ซึมเศร้า มีปมด้อยเวลาเข้าสังคม ความผิดปกติทางจิตใจ อาจทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมไปรับประทานอาหารมากขึ้น เป็นต้น

การป้องกันโรคอ้วนในเด็กและผู้ใหญ่

  • กินอาหารเช้าทุกวันสามารถป้องกันโรคอ้วนได้
  • เด็กในวัยหัดเดินไม่ต้องการอาหารในปริมาณมาก สำหรับเด็กทุกเพศทุกวัยที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 3 ขวบ ควรรับประทานอาหารประมาณ 40 แคลอรี่ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย
  • ควรเสริมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้ลองทานผัก ผลไม้ และโปรตีนหลากหลายชนิดตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ดีให้แก่เด็ก     
  • แนะนำให้เด็กและวัยรุ่นออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีการขยับร่างกายอย่างน้อย 30 นาที
  • ควรฝึกการนอนให้เป็นเวลา งดการเล่นมือถือในเวลามี่กำหนด
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ดีให้น้อยลง
  • กินอาหารแปรรูปหรืออาหารหวานให้น้อยลง
  • กินอาหารที่มีไฟเบอร์ให้เพียงพอ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ และต้องเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่วัน
  • ลดความเครียด โดยการฝึกจิต นั่งสมาธิ

อย่างไรก็ตามทุกคนไม่ควรมองข้ามโรคอ้วนในเด็ก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้เมื่อเวลาผ่านไปเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีโรคอ้วนที่รุนแรงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดและหยุดหายใจขณะหลับ โรคไขมันพอกตับ กรดไหลย้อยในกระเพาะอาหาร โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งในอนาคตได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

กินน้ำตาลอย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพ

0
กินน้ำตาลอย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพ
หากน้ำตาลทานในปริมาณที่มากเกินปกติ ก็จะเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดโรคอ้วนได้
กินน้ำตาลอย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพ
หากน้ำตาลทานในปริมาณที่มากเกินปกติ ก็จะเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดโรคอ้วนได้

กินน้ำตาลอย่างพอดี

ถ้าพูดถึง น้ำตาล มีบทบาทอย่างมากไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมต่างๆ ที่มีรสชาติหวาน เช่น น้ำอัดลม ไอศกรีม เค้ก ลูกอม และอีกมากมายล้วนแต่เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในเด็กๆ หรือวัยรุ่น มักจะโปรดปรานการทานอาหารที่มีรสชาติหวาน มากไปด้วยความอร่อยและชวนกิน โดยอาหารรสชาติหวานต่างๆ เหล่านี้ก็มักอุดมสมบรูณ์มากไปด้วยน้ำตาลและสารให้ความความหวานต่างๆ ซึ่งหากทานแต่ในปริมาณที่พอดีก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากทานมากเกินไปจนร่างกายได้รับปริมาณของน้ำตาลที่สูงเกินกว่ากำหนด ก็อาจจะทำให้สุขภาพมีปัญหาขึ้นได้ โดยมีโรคภัยต่างๆ มากมายที่จะมาพร้อมกับการทานอาหารรสชาติหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น  โรคอ้วน และโรคเบาหวาน  เป็นต้น

น้ำตาล ที่กินเข้าไปมักมาจากเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ  และเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ทางองค์การอนามัยโลกและสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำว่าไม่ควรเกินวันละ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม หรือเทียบเท่า 96 กิโลแคลอรีโดยปกติร่างการของมนุษย์เราได้รับน้ำตาลธรรมชาติในปริมาณที่เกินพอกว่าที่ร่างกายเราต้องการอยู่แล้ว จากอาหารที่ทานมื้อหลักเป็นประจำในแต่ละวัน เช่น นม ข้าว ผัก ผลไม้ ก๋วยเตี๋ยว และ เส้นต่างๆ เป็นต้น

น้ำตาล ต้นเหตุของความอ้วน

น้ำตาล หากทานในปริมาณที่มากเกินปกติ ก็จะเป็นปัจจัยหลักอีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ซึ่งน้ำตาลก็จะอาจจะแฝงอยู่ในรูปแบบอื่นได้ด้วย เช่น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม เป็นต้น ดังนั้นหากไม่อยากเป็นโรคอ้วนควรบริโภคน้ำตาลไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละวัน หรือน้อยกว่านั้นโดยปริมาณนี้จะเท่ากับน้ำตาลไม่เกิน 12 ช้อนชา หรือเท่ากับ48 กรัม ในระดับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวันแต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆกับทุกคน ที่กองโภชนาการ สำนักโภชนาการของไทยได้แนะนำไว้คือ ต้องบริโภคน้ำตาลไม่ให้เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น ซึ่งปริมาณแค่วันละ 6 ช้อนชา นั้นก็อาจควบคุมและทำได้ยากอยู่เหมือนกันเนื่องจากการทานน้ำอัดลมแค่กระป๋องเดียว ระดับน้ำตาลก็เกิน 6 ช้อนชาแล้ว ดังนั้นจึงอาจจะทำได้ยากสักหน่อยสำหรับผู้ที่ชอบทานอาหารรสชาติหวาน

โรคเบาหวานเป็นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโรคอ้วน

จากหลักฐานข้างต้นที่บอกว่าการบริโภคนํ้าตาลมากเกินไป ทำให้เกิดนํ้าหนักตัวเพิ่มและเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า
การมีนํ้าหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน แต่การเพิ่มการบริโภคนํ้าตาลก็สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโรคอ้วน

น้ำตาลซ่อนรูปคืออะไร?

อาหารและเครื่องดื่มต่างๆในปัจจุบันมักมี น้ำตาล เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการเลือกทานอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆนั้น ผู้บริโภคควรอ่านฉลากที่ติด เพื่อเป็นข้อมูลและให้ทราบปริมาณสัดส่วนของน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และจะได้เลือกทานได้อย่างเหมาะสม นอกจากน้ำตาลจากธรรมชาติที่พบได้ใน ผลไม้และนมแล้ว น้ำตาลที่พบเจอในอาหารต่างๆ ก็อาจจะเป็นน้ำตาลรูปแบบอื่นๆ เช่น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม ฟรักโทส และกากน้ำตาลซึ่งจะแตกต่างจากน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ คือ เป็นพลังงานที่ว่างเปล่า ไม่มีวิตามิน แร่ธาตุ หรือกากใยอาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่น้ำตาลไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตามล้วนแต่ให้พลังงานที่สูงอยู่ดี โดยส่วนมากหากอาหารและเครื่องดื่มชนิดไหน ที่บนฉลากมีค่าของน้ำตาลอยู่ในระดับต้นๆ ก็มักจะเป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูงนั่นเอง

จากข้อมูลในปี ค.ศ.2014 พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 22 ช้อนชา หรือเฉลี่ยคนละ 30 กิโลกรัมต่อปี เลยทีเดียว นับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากเป็น 2–3 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ไขมันของแถมจากน้ำตาล

อาหารที่มีรสชาติหวานอย่าง ไอศกรีม คุกกี้ เค้ก หรือ ขนมต่างๆ นอกจากจะมีปริมาณของ น้ำตาล ครีม และ เนย มากแล้ว ก็มักมีส่วนประกอบของไขมันรวมอยู่ด้วย โดยไขมันเป็นสิ่งที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้น หากได้ความหวานจากน้ำตาลรวมไปด้วย อาหารชนิดนั้นก็จะมีความอร่อยมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถกินได้มากกว่าปกติ แต่การทานอาหารชนิดที่มีไขมันและน้ำตาลสูงนี้ก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานที่สูงมากน้ำไปด้วย เนื่องจากไขมันให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม และน้ำตาลให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม ดังนั้นการทานอาหารประเภทนี้บ่อยๆ ย่อมทำให้น้ำหนักตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว   

ระวังอาหาร “ซูเปอร์ไซส์”

ในปัจจุบันร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด  มักมีการเอาใจผู้บริโภค ด้วยการมีโปรโมชั่น เพิ่มเงินเพียงไม่กี่บาท ก็สามารถเพิ่มขนาดของอาหารและเครื่องดื่มได้ หรือเรียกว่าเป็นการอัพไซด์นั้นเอง  ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็ดูจะพอใจกับข้อเสนอนี้ เนื่องจากมีความรู้สึกที่ดูแล้วว่าคุ้มค่านั้นเอง

การอัพไซด์เพื่อให้ได้อาหารและเครื่องดื่มในปริมาณที่มากขึ้นนั้น ก็มีข้อเสียคือ ทำให้เราจะได้รับปริมาณของ น้ำตาล เพิ่มขึ้นมากไปด้วยนั้นเอง ร่างกายจะได้รับพลังงานที่สูงขึ้นและหากเผาผลาญออกได้ไม่หมด เมื่อบ่อยๆเข้าก็อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดแบบนี้

อาหารหวานลวงร่างกาย

น้ำตาล เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการทำงานในร่างกายและการทานอาหารของมนุษย์เนื่องจาก น้ำตาลจะมี ค่าดัชนีน้ำตาล ( Glycemic Index หรือ GI ) โดยหากในมื้ออาหารนั้นเราเลือกทานอาหารที่มี ค่า GI สูง นั้นหมายถึงว่า หลังจากทานไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมอาหารนั้นได้เร็ว ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตับอ่อนจึงต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินให้มากขึ้นเพื่อเซลล์จะได้นำน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไปใช้เป็นพลังงานได้ และหลังจากนั้นระดับน้ำตาลจะลดลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นเมื่อระดับน้ำตาลลดต่ำลง สมองจะสั่งการว่าถึงเวลากินอาหารแล้ว เพื่อให้ไปปรับความสมดุลของระดับน้ำตาลในร่างกาย จึงทำให้อยากกินอาหารรสหวานมากขึ้นถึงแม้ว่าในความจริงอาจจะไม่หิวก็ตามโดยอาหารประเภทที่มีค่า GI สูงที่ทานแล้วจะทำให้อิ่มได้ไม่นาน เช่น ลูกอม น้ำอัดลม คุกกี้ เค้ก และขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น อาหารที่มีค่า GI ต่ำ เป็นอาหารที่ดีที่สุดในการเลือกทาน เพราะทำให้อิ่มนาน ระหว่างมื้ออาหารจะไม่กินจุกกินจิก โดยส่วนมาก มักพบในอาหารที่มีกากใยสูง หวานน้อย และในพืชผักหลายชนิด

น้ำตาลกับเบาหวาน

ผู้ที่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่มากไปด้วยส่วนประกอบของ น้ำตาล ก็มักจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นโรคอ้วนได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย  ซึ่งมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีการทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก สัปดาห์ละ 1 – 3 ครั้งเป็นวันละครั้ง จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 7.6 กิโลกรัมในช่วงงานวิจัย และมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว 

นอกจากนี้ยังต้องระวังการทานอาหารที่มีส่วนผสมของ น้ำเชื่อมที่ผลิตจากข้าวโพดด้วย เนื่องจาก มีปริมาณฟรักโทสสูง ซึ่งจะพบได้มากในอุสาหกรรมผลิตน้ำอัดลมและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปบางประเภท น้ำเชื่อมชนิดนี้ทำให้อาหารนั้นมีรสหวานเข้มข้นมากขึ้น และส่งผลให้ไปกระตุ้นความอยากกินให้มีมากขึ้น ทำให้กินอาหารมากกว่าเดิม จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานได้

น้ำตาลก็มีข้อดี

น้ำตาล ไม่ได้มีข้อเสียอย่างเดียว แต่น้ำตาลก็มีข้อดีสำหรับร่างกายคือ ช่วยให้อารมณ์ดีและลดความเครียดได้ เวลาที่เครียดเรามักอยากกินของหวาน เพราะรสหวานที่ลิ้นจะไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองคือ เอนเดอร์ฟินและเซโรโทนิน ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและไปช่วยลดระดับความเครียดลงได้

โดยเหตุผลดังกล่าวมีข้อมูลจากวิจัยที่ช่วยให้ยืนยันได้ตามนั้นคือ การทดลองในหนู เมื่อให้หนูที่ถูกกักบริเวณกิน น้ำตาล ในปริมาณน้อยๆทุกวัน จะช่วยลดความเครียดลงได้ เปรียบเทียบกับหนูที่ถูกกักบริเวณในสภาวะเดียวกันแต่ไม่ได้ให้ กินน้ำตาล พบว่าหนูในกลุ่มที่ได้รับน้ำตาลจะมีระดับฮอร์โมนความเครียด “กลูโคคอร์ติคอยด์” น้อยกว่าถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ฮอร์โมนชนิดนี้หากมีมากจะทำให้อ้วนและทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง ดังนั้นหากผู้ใดที่มีความเครียดมากจากการขาดน้ำตาลก็อาจจะส่งผลให้อ้วนได้มากกว่าปกติด้วยนั้นเอง

ถึงแม้ว่า น้ำตาล อาจจะดูอันตรายและมีข้อเสียที่เยอะ แต่ร่างกายก็ยังจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากน้ำตาลอยู่ดี เพียงแต่ต้องทานน้ำตาลในระดับที่มีความพอดีและเหมาะสม ไม่ทานมากหรือน้อยเกินไปจนทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ซึ่งการเลือกทานอาหารและเครื่องดื่มชนิดใดก็แล้วแต่ ควรหมั่นดูฉลากของสินค้าก่อนเสมอ เพื่อเป็นแนวทางในเลือกทานสิ่งที่มีระดับน้ำตาลที่เหมาะสมกับร่างกาย เพราะหากทานแต่ในสิ่งที่ชอบหรือทานแต่อาหารที่มีรสชาติดีจากความหวานแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้ ทั้ง โรคอ้วน โรคเบาหวานและอีกมากมาย ดังนั้นจึงควรลดและควบคุมปริมาณน้ำตาลตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีของเราเองในวันข้างหน้า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

WHO/FAO Expert Consultation (2003). “WHO Technical Report Series 916 Diet, Nutrition and the Prevention of Chronic Diseases”. Retrieved 2013-12-25.

Marriott BP, Olsho L, Hadden L, Connor P (2010). “Intake of added sugars and selected nutrients in the United States, National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) 2003-2006”. Crit Rev Food Sci Nutr. 50 (3): 228–58

“Sugars, granulated (sucrose) in 4 grams (from pick list)”. Conde Nast for the USDA National Nutrient Database, version SR-21. 2014. Retrieved 13 May 2017.

O’Connor, Anahad (12 June 2007). “The Claim: Brown Sugar Is Healthier Than White Sugar”. The New York Times. Retrieved 13 May 2017.

โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา ( Stroke )

0
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

นอกจากโรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคเอดส์แล้ว ยังมีโรคที่น่ากลัวอีกชนิดหนึ่ง ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคชนิดนี้ในแต่ละปีมีจำนวนที่สูงมาก และเป็นโรคที่ใครหลายคนต่างหวาดกลัว ก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ความน่ากลัวของโรคนี้จะมีความคล้ายคลึงกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่หากกำเริบหรือมีอาการขึ้น มาแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เวลาในแต่ละนาทีมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากคนไข้ไปถึงมือแพทย์ช้า ก็อาจจะเสียชีวิตหรือเกิดความพิการ เป็นโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตกับร่างกายได้เลยทีเดียว โรคนี้มีรายละเอียดอย่างไร จะป้องกันหรือรักษาได้หรือไม่ สามารถดูรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้ 

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือดที่มีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ภาวะนี้จะส่งผลให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา เซลล์สมองจะค่อยๆตายไปจนในที่สุดอาจมีความอันตรายถึงชีวิต หรือ เกิดความพิการกับร่างกายเป็นโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้

โรคชนิดนี้มันพบได้มากในวัยกลางคน ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่สามารถพบได้มากที่สุด มีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับที่สูงมาก หากพบผู้ป่วยมีอาการของโรคชนิดนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้ถึงมือแพทย์อย่างเร่งด่วนและรวดเร็วที่สุด

ประเภทของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

เราสามารถแบ่ง โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ออกเป็น 2 ชนิด ตามกลุ่มอาการของโรค คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มของโรคเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน มากกว่าโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ถ้าทางเดินของน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังอุดตันจะเกิดผลเสียต่อร่างกายอย่างไร ?

1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ( Ischemic Stroke ) คืออะไร

หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดที่ส่งไปยังสมอง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงเลือดจึงไหนไปเลี้ยงสมองได้ยากขึ้น

2. โรคหลอดเลือดสมองแตก ( Hemorrhagic Stroke ) คืออะไร ?

หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากการที่หลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับผู้ป่วยเองมีภาวะความดันในเลือดสูง ทำให้เกิดการแตกออกของเส้นเลือดเหล่านั้น จนทำให้มีอาการเลือดออกในสมองโรคชนิดนี้มักเกิดได้น้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ตีบหรืออุดตัน 

อาการเบื้องต้นที่พบในผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

ผู้ป่วยที่มีอาการของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) มักจะมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่แสดงออกมาให้ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดได้รับรู้ ผู้ป่วยหลายคนมักละเลยถึงความผิดปกติดังกล่าวนี้ไป โดยมักชอบคิดไปเองว่าอาการต่างๆที่แสดงออกมา เป็นผลมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ จากภาวะเครียด หรือทานอาหารได้น้อยๆ จนทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา จนเมื่อมีการหนักหรือกำเริบขึ้นก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

อาการเส้นเลือดในสมองตีบ ร่างกายอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้ และหากไม่แน่ใจว่ามีภาวะอาการโรคสมองตีบ ไม่ควรนิ่งนอนใจและควรให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

  • มีอาการแขน ขา อ่อนแรง รู้สึกชาบริเวณร่างกายซีกใดซีกหนึ่งแบบทันทีทันใด
  • พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ปากเบี้ยว   มีอาการกลืนลำบาก
  • รู้สึกปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด
  • มีอาการบ้านหมุน เดินเซไม่ตรงทิศทาง หรืออาจเป็นลมหมดสติได้

หากมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวพาไปพบแพทย์ โดยเร็วไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ จากข้อมูลพบว่าหากผู้ป่วยสามารถไปถึงแพทย์ได้ทันหลังจากมีอาการ ภายใน 3 ชั่วโมง จะมีโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงจากความพิการด้านร่างกายได้มากเลยทีเดียว

ทำอย่างไรเมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

หากพบผู้ป่วยเป็น โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) สิ่งที่ผู้พบเห็นหรือญาติผู้ใกล้ชิดต้องทำคือ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุให้มากที่สุด หรือ โรงพยาบาลประจำที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติการรักษาอยู่ ซึ่งระหว่างรอส่งตัวผู้ป่วยเดินทางไปยังโรงพยาบาล ควรมีการโทรไปแจ้งที่โรงพยาบาลนั้นๆ ให้ทราบถึงอาการของผู้ป่วยเอาไว้ก่อน เพื่อที่ทางโรงพยาบาลจะได้เตรียมจัดทีมแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมองไว้รอรับตัวผู้ป่วย หรือหากทางโรงพยาบาลไม่มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับโรคสมอง จะได้ติดต่อกับโรงพยาบาลอื่น เพื่อส่งตัวผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ให้ถึงที่สุด

วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) นั้น เมื่อนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลแล้ว ทางแพทย์จะใช้วิธีการเอกซเรย์โดยคอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กกับผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยประเมินความรุนแรงของโรค และหาวิธีการรักษาต่อไปสำหรับผู้ป่วยในบางรายแพทย์อาจจะใช้วิธีการตรวจหัวใจ Echocardiogram และตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดใหญ่ที่คอ ซึ่งวิธีในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีหลายวิธีดังต่อไปนี้

1. ใช้ยารักษา หากผู้ป่วยสามารถมาถึงโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมง แพทย์จะใช้วิธีการให้ยาฉีดเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตัน  จากนั้นแพทย์จะพิจารณาให้รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด ยาต้านลิ่มเลือด รวมทั้งรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค หรือให้วิตามินขยายหลอดเลือดเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

2. ใช้การผ่าตัดวิธีการผ่าตัดนี้แพทย์จะวินิจฉัยเป็นรายๆไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเริ่มหนักแล้ว การผ่าตัดที่นำมาใช้นี้ ทางแพทย์จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด และต้องเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยสามารถผ่าตัดได้โดยยึดความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลักในอดีตวิธีการผ่าตัดนี้ จะเป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ได้  แต่วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ประมาณ 5- 7% ที่จะเกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคอื่นๆ แทรกรวมอยู่ด้วย โรงพยาบาลสมองที่ดีที่สุดจึงไม่สามารถระบุได้ เพราะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

3. ใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟูเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อลดความพิการ จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตรายแล้ว โดยวิธีนี้จะใช้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถที่จะกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ประกอบไปด้วย การทำกายภาพบำบัด ฝึกให้ผู้ป่วยทรงตัว นั่ง ยืน เดิน ได้เอง การทำกิจกรรมบำบัดเพื่อให้แขนหรือมือใช้งานได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยประกอบกิจวัตรประจำวันเองได้ เช่น สามารถใส่เสื้อผ้าได้เอง เข้าห้องน้ำได้เองโดยไม้ต้องใช้คนพยุง หรือทานอาหารด้วยตนเองได้ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการพูดก็ต้องใช้วิธี ฝึกออกเสียง เพื่อให้ผู้ป่วยพูดคล่องขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมให้เหมาะสมกับความพิการ เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ เพื่อให้สามารถเข้าสู่สังคมได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นมากที่สุด 

4. การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง หากเป็นแล้วจะเป็นโรคที่เรื้อรังและสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะแรกแล้ว ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดเกาะตัว รวมทั้งคอยควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยเกิดหลอดเลือดสมองตีบมากกว่า 70% โอกาสที่จะเกิดซ้ำมีถึง 25% ในระยะเวลา 24 เดือน หรือโดยเฉลี่ย 1% ในแต่ละเดือนซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก และส่วนใหญ่การเกิดโรคซ้ำครั้งที่สองมักมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก

5. การรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือด Angioplasty เป็นวิธีการรักษาแนวใหม่ ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีความต่างกันในแง่ของเทคนิค กายวิภาค และสรีระวิทยาของทั้ง 2 อวัยวะที่ต่างกัน เป็นวิธีการรักษาหลอดเลือดที่อุดตัน โดยใช้สายสวนที่มีบอลลูนขนาดเล็กอยู่บริเวณส่วนปลาย ใส่เข้าไปให้ถึงในจุดที่มีหลอดเลือดตีบแคบ แล้วจึงขยายบอลลูนให้พองออกตรงตำแหน่งที่ตีบพอดี แรงดันจะทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันอยู่ขยายตัวออก ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกมากขึ้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหรือมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งในประเทศไทยยังมียังคงมีบุคคลกรที่มีความชำนาญด้านนี้อยู่ไม่มากนัก เนื่องจากหลอดเลือดในสมอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่อยู่ในกะโหลกศีรษะมีความซับซ้อนมาก การรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ และความชำนาญของแพทย์อย่างสูงรวมถึงความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาด้วย

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง ที่เมื่อเป็นแล้วอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการทางร่างกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้จะดีที่สุด ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้เนื่องจาก โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) เป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง ที่เมื่อเป็นแล้วอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการทางร่างกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้จะดีที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

1. มีความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก การมีความดันโลหิตสูงจะไปทำให้หลอดเลือดเสื่อม เนื่องจากแรงดันเลือดที่ออกมาจากหัวใจมีแรงดันสูงขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมได้เร็วกว่าผู้ที่มีระดับความดันในเลือดเป็นปกติ  ดังนั้นต้องควบคุมตนเองไม่ให้มีภาวะความดันในโลหิตสูง โดยอย่าพยายามปล่อยให้ตนเองอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ลดทานอาหารที่มากไปด้วยไขมัน หรือมีรสเค็มจัด เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรรีบไปพบแพทย์ ทานยาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด   

2. โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยสำคัญที่รองลงมาจากภาวะความดันในโลหิตสูง หากพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ควรไปพบแพทย์และทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคลงได้มาก

3. การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ได้ ดังนั้นจึงต้องเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดสำหรับผู้ที่สูบ เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคปอดรวมถึงโรคร้ายอื่นๆอีกด้วย

4. โรคหัวใจ  ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ  เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่นๆ  จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มากกว่าคนปกติ    ทั้งนี้หากได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ลงได้ด้วย

5. โรคไขมันในเลือดสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงนั้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง Stroke ได้มากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว เนื่องจาก โรคนี้จะไปทำให้ผนังเส้นเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น เกิดการตีบตันง่าย เลือดจึงไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อย ดังนั้นการป้องกันคือ ควรเว้นการทานอาหารที่มีไขมันสูง  สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ความอ้วน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์  จะมีโอกาสเป็นเสียงเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง ซึ่งโรคทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้สูงนั้นเอง

วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบโดยการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) สามารถรักษาได้หากสามารถส่งผู้ป่วยถึงมือหมอได้ทันเวลา ซึ่งบางคนโชคดีที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็มีผู้ป่วยอีกไม่น้อยที่อาจจะไม่ได้โชคดีแบบนี้ ผู้ป่วยบางคนแพทย์อาจจะช่วยยื้อชีวิตให้พ้นขีดอันตรายได้ แต่ก็อาจจะมาพร้อมกับความพิการทางกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมปกติ บางคนที่มีอาการหนักมากก็อาจจะถึงเป็นโรคอัมพาตทั้งตัวร่างกายไม่สามารถขยับได้ ทำได้เพียงลืมตาและรับรู้จากการมองเห็นเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยต่างๆเหล่าจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครับ ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่แตกต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น พื้นฐานบุคลิกภาพเดิม การอบรมเลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น ทำให้การรับรู้ลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางคนอาจเกิดการสูญเสียระบบการควบคุมต่างๆ สูญเสียความคิด ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ การรับรู้ผิดพลาด เกิดอาการหูแว่ว เกิดภาพหลอนรู้สึกกลัวและมีความหวาดระแวง หรือไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยสูงอายุ  

  1. วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองด้านร่างกาย

ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ต้องคอยดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการเกิดขึ้น เช่น การป้อนอาหาร การพาเข้าห้องน้ำ การใส่เครื่องแต่งกาย รวมถึงอื่นๆ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองเหมือนเดิมทั้งนี้ก็อาจจะต้องพาไปทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ที่ยังพอมีโอกาสหาย หรือทำเพื่อไม่ให้อาการพิการเป็นมากไปกว่าเดิม

2. วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองด้านจิตใจ

ในช่วงแรกๆที่ผู้ป่วยยังปรับตัวไม่ได้ มักจะมีอาการวิตกกังวล จากความไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า ตนเองป่วยเป็นโรคอะไร รุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด นอนไม่หลับ มีแต่ความหดหู่ ทานอาหารไม่ลงหรือทานได้น้อยไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น และอาจมีพฤติกรรมกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งอาการเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความเบื่อหน่าย เกิดภาวะซึมเศร้า จนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อซึ่งผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือคนในครอบครัว ต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์  ควรให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น และรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้น และพร้อมสู่กับโรคร้ายต่างๆนี้ในวันต่อๆไป

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือสมองตีบ (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ถึงจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงแค่ไหน ก็สามารถป้องกันได้ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดๆ การทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมทั้งการออกกำลังกายแบบสม่ำเสมอ โดยดังมีวิธีต่อไปนี้

1. งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่

2. ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

3. ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้เหมาะสม อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐานจนเกิดเป็นโรคอ้วน

4. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกาย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายโดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคเบาหวาน ระดับความดันในเลือด ระดับไขมันในเลือด และอื่นๆ เนื่องจากหากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆจะได้รีบรักษาให้หายเป็นปกติ

5. หากมีปัจจัยเสี่ยงในข้อ 4 ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

6. สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว ต้องทานยาตามที่แพทย์จ่ายมาอย่างเคร่งครัด

เข้ารับการตรวจตามรอบนัด และ ปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากเป็นไปได้ คงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยต้องเป็นโรคร้ายอย่างโรคหลอดเลือดสมอง Stroke เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงแล้ว รักษาให้หายขาดได้ยากแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ยังอาจเสียชีวิตหรือพิการได้ด้วย หากส่งตัวถึงแพทย์ช้าไปเพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นเมื่อเราได้ทราบถึงอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองแล้วจึงควรที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือคนใกล้ชิด ถ้าไม่อยากเสียชีวิตหรือเป็นผู้พิการนั้นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ขอบคุณคลิปความรู้ : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Wolf PA, Abbott RD, Kannel WB (1987). “Atrial fibrillation: a major contributor to stroke in the elderly. The Framingham Study”. Arch. Intern. Med. 147 (9): 1561–4. PMID 3632164. 

Sudlow, Cathie Lm; Mason, Gillian; Maurice, James B.; Wedderburn, Catherine J.; Hankey, Graeme J. (1 January 2009). “Thienopyridine derivatives versus aspirin for preventing stroke and other serious vascular events in high vascular risk patients”. The Cochrane Database of Systematic Reviews (4): CD001246. ISSN 1469-493X.

Halkes PH, van Gijn J, Kappelle LJ, Koudstaal PJ, Algra A (2006). “Aspirin plus dipyridamole versus aspirin alone after cerebral ischaemia of arterial origin (ESPRIT): randomised controlled trial”. Lancet. 367 (9523): 1665–73. PMID 16714187.

ชนิดของกรดไขมัน ( Fatty Acid ) และไขมันทรานส์ ( Trans Fat )

0
ชนิดของกรดไขมัน (Fatty Acid) และไขมันทรานส์ (Trans Fat)
กรดไขมันประเภทสายสั้นและสายกลาง มีขนาดอะตอมของคาร์บอนไดออกไซด์ ดูดซึมโดยตับและเปลี่ยนเป็นพลังงาน
ชนิดของกรดไขมัน (Fatty Acid) และไขมันทรานส์ (Trans Fat)
อาหารที่มีไขมันทรานส์ มักพบได้ในมาการีนหรือน้ำมันไขดัดแปลง เช่น โดนัท ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย

กรดไขมัน คือ

กรดไขมัน ( Fatty Acids ) คือ ส่วนประกอบของกรดคาร์บอกซิลิก ที่มีการเรียงตัวของหางเป็นโซ่แบบ อะลิฟาติก แบบยาวที่มีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว ( Saturated ) และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ( Unsaturated ) กรดไขมันจะมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 8 อะตอม และส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนเลขคู่ เพราะกระบวนการชีวสังเคราะห์ของกรดไขมันนั้นจะเป็นการเพิ่มโมเลกุลของอะซิเตตซึ่งมีคาร์บอนอยู่เพียง 2 อะตอม

ชนิดของกรดไขมัน

1.กรดไขมันอิ่มตัว ( Saturated Fatty Acid )

เป็น กรดไขมัน ( Fatty Acids ) ประเภทหนึ่งที่มีอะตอมของธาตุไฮโดรเจนเกาะเต็มตำแหน่ง และมีอะตอมของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) เกาะเรียงกัน แต่ไม่มีพันธะคู่ระหว่างอะตอม ของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) และธาตุไฮโดรเจนเกิดขึ้น ตัวอย่างของกรดไขมันประเภทนี้ คือ กรดสเตียริก

กรดไขมันอิ่มตัว มักจะมีอยู่ตามน้ำมันหลากหลายชนิด เช่น น้ำมันปาล์มโอเลอีน 50% ในน้ำมันมะพร้าวสูงถึง 92% น้ำมันปาล์มเคอเนลมี 86% น้ำมันเนื้อมี 52% และในน้ำมันหมูมี 40%

2.กรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง

กรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง ( Monounsaturated Fatty Acid ) เป็น กรดไขมัน ( Fatty Acids ) ประเภทหนึ่งที่มีอะตอมของธาตุไฮโดรเจนเกาะไว้แต่ไม่เต็มตำแหน่งเหมือนกรดไขมันอิ่มตัว แต่มีพันธะคู่ระหว่างอะตอมของของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) กับ ธาตุไฮโดรเจน 1 ตำแหน่ง ตัวอย่างของกรดไขมันประเภทนี้ คือกรดโอเลอิก นอกจากนี้กรดไขมัน (Fatty Acids)ประเภทนี้ มักจะมีอยู่ในน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ คือ ในน้ำมันเมล็ดชามี 88% น้ำมันมะกอกมี 77% น้ำมันคาโนลามี 58% น้ำมันไก่มี 48% น้ำมันรำข้าวมี 45% น้ำมันเนื้อมี 44% และน้ำมันงามี 40%

3.กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง

กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ( Polyunsaturated Fatty Acid ) เป็น กรดไขมัน ( Fatty Acids ) ที่มีอะตอมของธาตุไฮโดรเจนเกาะเต็มจำนวนเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว แต่มีจำนวนที่มากขึ้น และมีพันธะคู่ระหว่างอะตอมของของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) กับธาตุไฮโดรเจนมากกว่า 1 ตำแหน่ง ตัวอย่างของกรดไขมันประเภทนี้คือ กรดไลโนเลอิก นอกจากนี้กรดไขมันประเภทนี้ จะอยู่ในน้ำมันที่สกัดได้จากพืช เช่น น้ำมันเมล็ดคำฝอยมี 75% น้ำมันเม็ดทานตะวันมี 67% น้ำมันข้าวโพดมี 62% น้ำมันถั่วเหลืองมี 60% และน้ำมันถั่วลิสงมี 40% เช่นเดียวกับน้ำมันงา

กรดไขมันแบ่งเป็นกี่ประเภท

นักโภชนาการได้จำแนก กรดไขมัน โดยยึดตามจำนวนอะตอมคาร์บอนเป็นหลัก ดังนี้

1. กรดไขมันสายยาว มีจำนวนอะตอมของ CO2 มากกว่า 14 อะตอมขึ้นไป ส่วนมากจะพบได้ในน้ำมันชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก และน้ำมันปาล์ม ปกติแล้ว กรดไขมัน ( Fatty Acids ) สายยาวจะถูกนำไปสะสมอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณท้องและไตของคนเรา เพื่อนำไปใช้ในยามจำเป็น ซึ่งถ้าหากมีกรดชนิดนี้มากเกินไป จะทำให้เกิดตะกอนตกค้างในหลอดเลือด จนเป็นเหตุให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้

2. กรดไขมันสายกลาง มีจำนวนอะตอมของของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) ประมาณ 8-14 อะตอม พบได้มากในน้ำมันมะพร้าวและน้ำนมของแม่ในช่วงคลอดใหม่ ๆ ถ้าหากได้รับการบริโภคไขมันชนิดนี้ ก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกาย

3. กรดไขมันสายสั้น มีจำนวนอะตอมของของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) ประมาณ 4-6 อะตอม มักจะอยู่ในสิ่งที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหารของมนุษย์ ส่วนมากมักจะทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับแบคทีเรียชนิดดี ทำให้ลำไส้เกิดความสมดุลและเพิ่มการดึงสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายอีกด้วย

กรดไขมัน ( Fatty Acids ) ประเภทสายสั้นและสายกลาง มีขนาดอะตอมของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 )ไม่มาก จึงมักถูกดูดซึมโดยตับเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ทันที

สำหรับน้ำมันที่มี กรดไขมันสายยาวเป็นส่วนประกอบ มักจะมีโมเลกุลขนาดใหญ่ น้ำมันชนิดนั้นจึงมักจะมีจุดหลอมเหลวที่สูง ทนความร้อน และสามารถใช้ทดแทนความร้อนได้ดีกว่าน้ำมันแบบที่มีกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีโมเลกุลขนาดเล็ก และในส่วนของน้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง เช่นน้ำมันเมล็ดคำฝอย ก็จะมีโมเลกุลขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้มากกว่าน้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบบ 1 ตำแหน่ง ดังนั้นจึงทำให้น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง เกิดเป็นอนุมูลอิสระได้มากกว่าน้ำมันประเภทอื่น ๆ ถ้าหากนำมาใช้ปรุงอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง ๆ เป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดพอลิเมอร์ที่ทำให้น้ำมันสลายตัวได้เร็วขึ้น เราจึงมักเห็นว่าน้ำมันบางชนิดเมื่อใช้ปรุงอาหารเสร็จ มักจะเหลวและใสไม่เหนียวเหมือนตอนใช้ใหม่ ๆ 

สรุป เราสามารถจำแนก กรดไขมันได้เป็น 3 ประเภทดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ และเพื่อสุขภาพที่ดีของมนุษย์ จึงไม่ควรทานอาหารที่ปรุงจากน้ำมันที่มีส่วนประกอบของไขมันสายยาวและน้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวเป็นประจำ เว้นแต่หากต้องการปรุงอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง ๆ เป็นเวลานาน แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากต้องการปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายตำแหน่ง ก็ไม่ควรใช้อุณหภูมิสูง ๆ เป็นเวลานานเพื่อป้องกันการสลายตัวของน้ำมันและการเกิดอนุมูลอิสระ

ชนิดของกรดไขมัน (Fatty Acid) และไขมันทรานส์ (Trans Fat)
ไขมันทรานส์ไม่สามารถถูกขับหรือล้างออกจากร่างกายได้ เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์คืออะไร ไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) คือไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีลักษณะเหนียวหนืด โดยได้มีการทดสอบโดยการนำน้ำมันหมูและน้ำมันมะพร้าวมาตากแดดร่วมกับน้ำมันพืชที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบอย่างแน่นอน ในอุณหภูมิที่เท่ากับร่างกายของมนุษย์ ซึ่งผลการทดสอบก็ได้สรุปออกมาว่า ทั้งน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันหมู ไม่สามารถจับตัวเป็นไขได้ในร่างกายของมนุษย์ แม้ว่าในร่างกายมนุษย์จะมีอุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียสก็ตาม ในขณะที่น้ำมันทั้งสองชนิดนี้จะเป็นไขเมื่อเจออุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยสามารถเปรียบเทียบได้จากความเหนียวที่เกิดขึ้นหลังการทดลองและการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์มากๆ จะทำให้จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลแบบ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือดเพิ่มขึ้น และเข้าไปลดระดับคอเลสเตอรอลแบบ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด และเนื่องจากไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป เมื่อมนุษย์บริโภคเข้าไปในจำนวนมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดคราบ เหนียว ๆ ติดภายในลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และหลอดเลือด จนทำให้น้ำไม่สามารถซึมผ่านคราบไขมันทรานส์นี้ได้ ดังนั้น สารอาหารสำคัญที่ต้องมีการละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน วิตามินบีและวิตามินซีก็จะไม่ถูกดูดซึม ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสุขภาพตามมาอย่างมากมาย 

นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ไม่สามารถถูกขับหรือล้างออกจากร่างกายได้โดยง่าย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพตามมาดังนี้

ผลกระทบของการได้รับ ไขมันทรานส์

1. มีไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น

2. มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ และอาจทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับไปจนถึงตับอักเสบ

3. มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ต้องมีฉลากเพื่อแสดงปริมาณไขมันทรานส์ ในกรณีที่มีปริมาณมากกว่า 0.5 กรัมในอาหาร

ไขมันทรานส์ได้ถูกองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้อาหารทุกประเภทและทุกชนิดต้องระบุปริมาณของ ไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) ไว้บนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ไว้อย่างชัดเจน และกำหนดให้ว่าอาหารแต่ละชนิดจ้องมีปริมาณของไขมันทรานส์น้อยกว่า 5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ต้องมีฉลากเพื่อแสดงปริมาณไขมันทรานส์ ในกรณีที่มีปริมาณมากกว่า 0.5 กรัมในอาหาร และบางประเทศได้มีข้อกำหนดห้ามใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหารเลย เพราะการรับพลังงานจากไขมันทรานส์ แม้เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2% ก็สามารถทำให้เกิดอัตราเสี่ยงในการป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นได้ถึง 93%

ส่วนมากแล้ว อาหารที่มี ไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) มักพบได้ในมาการีนหรือน้ำมันไขดัดแปลง ซึ่งนิยมไปทำขนมหวาน เช่น โดนัท หรืออาหารทอดชนิดต่าง ๆ เช่น ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้เนื่องจากมีไขมันทรานส์สูง เช่น ครีมเทียม ขนมปังกรอบ เบเกอรี่ คุกกี้ ขนมสำเร็จรูป รวมถึงอาหารทอดที่ใช้อุณหภูมิสูงในการปรุงอาหารนานๆ เช่นไก่ทอด มันทอด และ ปาท่องโก๋ เป็นต้น แต่ถ้าหากจำเป็นต้องมีการบริโภค ก็ควรบริโภคไข มันทรานส์ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน ( พลังงานที่มนุษย์ควรรับในแต่ละวันคือ 2,000 แคลอรี่ เพราะฉะนั้นหากคำนวณแล้ว เท่ากับวันละไม่เกิน 20 แคลอรี ) หรือประมาณ ¹/₂ ช้อนชาต่อวัน   

ข้อควรปฏิบัติในการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์

1. ควรเลือกซื้ออาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์และคอเลสเตอรอลต่ำ โดยการสังเกตฉลากโภชนาการ

2. แม้ว่าบนฉลากอาหารจะระบุ Virtually Trans Fat Free หรือ 0 Gram Trans Fat หรือ Zero Trans Fat ก็ไม่ควรไว้วางใจในการซื้ออาหารชนิดนั้น เพราะอาจจะมี ไขมันทรานส์  สูงถึง 0.49 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลักไก่อย่างหนึ่งของผู้ผลิต

3. ควรบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น อกไก่ สันในหมู เป็นต้น และไม่บริโภคอาหารประเภททอดที่ใช้น้ำมันท่วม เช่น ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย รวมทั้งลดการบริโภคอาหารจานด่วนแบบ Fast Food

4. ควรใช้น้ำมันปาล์มโอเลอินในการทอดอาหาร เพราะน้ำมันประเภทนี้ ผ่านกระบวนการสกัดโดยไม่ใช้ความร้อน และควรใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 160 °C-180 °C

5. ควรเลือกซื้อนมชนิดที่มีไขมันต่ำ และควรรับประทานผักและผลไม้ รวมทั้งปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

6. เลือกใช้น้ำมันพืชให้เหมาะกับชนิดของอาหาร เช่น ใช้น้ำมันงาและน้ำมันมะกอกในการทำน้ำสลัด เนื่องจากเป็นน้ำมันพืชชนิดที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นไขอย่างแน่นอนเมื่อนำสลัดไปแช่เย็น

7. เลือกใช้มาการีนชนิดไม่แข็งมาก เพราะยิ่งมาการีนแข็งมาก ก็จะมีไขมันทรานส์มาก

สรุป ไขมันทรานส์สามารถพบได้มากในอาหารสำเร็จรูปโดยเฉพาะอาหารแบบ Fast Food ที่เด็กวัยรุ่นและวัยทำงานชอบซื้อทานเพราะความสะดวก และถ้าหากได้รับไขมันทรานส์มากไปก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นควรทานในปริมาณที่พอเหมาะดีกว่า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Beermann, C.; Jelinek, J.; Reinecker, T.; Hauenschild, A.; Boehm, G.; Klör, H.-U. (2003). “Short term effects of dietary medium-chain fatty acids and n−3 long-chain polyunsaturated fatty acids on the fat metabolism of healthy volunteers”. Lipids in Health and Disease. 

Cifuentes, Alejandro (ed.). “Microbial Metabolites in the Human Gut”. Foodomics: Advanced Mass Spectrometry in Modern Food Science and Nutrition. John Wiley & Sons, 2013. ISBN 9781118169452.

Roth, Karl S. (2013-12-19). “Medium-Chain Acyl-CoA Dehydrogenase Deficiency”. Medscape.

“Statement from GSUSA CEO Kathy Cloninger: Girl Scout Cookies Now Have Zero Trans Fats” (Press release). 13 November 2006. Retrieved 26 February 2008.

“Trans Fat Monitoring Program”. Health Canada.

IHOP to Eliminate Frying Oil Containing Trans Fats by Year End” (Press release). 1 October 2007. Archived from the original on 17 October 2015. Retrieved 22 August 2015.

Nutrition Information. Ihop.com (2015). Retrieved 22 August 2015.

“Trans-fat levels dropping, though Burger King in the hot seat”. CBC News. 20 December 2007. Retrieved 21 December 2007.

การตรวจของเหลวในร่างกาย ( Body Fluid )

0
การตรวจของเหลวในร่างกาย (Body Fluid)
สารคัดหลั่ง หรือ (Body Fluid) ประกอบด้วยของเหลวหลายชนิด เช่น เลือด น้ำเหลืองจากเลือด เหงื่อ ไขมันจากต่อมเหงื่อ น้ำเหลือง หนอง น้ำไขสันหลัง น้ำตา น้ำลาย น้ำนม น้ำดี น้ำจากช่องคลอด น้ำอสุจิ
การตรวจของเหลวในร่างกาย (Body Fluid)
สารคัดหลั่ง หรือ (Body Fluid) ประกอบด้วยของเหลวหลายชนิดที่อยู่ในร่างกาย

ของเหลวในร่างกาย

ภายใต้ร่างกายของมนุษย์เรา นอกจากจะมากไปด้วยอวัยวะส่วนต่างๆแล้ว ยังประกอบไปด้วยของเหลวต่างๆมากมายภายในร่างกายด้วย ของเหลวชนิดต่างๆทุกชนิดที่อยู่ในร่างกายนี้ รวมแล้วเรียกว่า สารคัดหลั่ง หรือ ของเหลวในร่างกาย ( Body Fluid ) ซึ่งประกอบไปด้วยของเหลวหลายชนิด เช่น เลือด น้ำเหลืองจากเลือด เซลล์เม็ดเลือด เหงื่อ ไขมันจากต่อมเหงื่อ น้ำเหลือง หนอง น้ำไขสันหลัง น้ำตา น้ำลายน้ำนม น้ำดี น้ำจากช่องคลอด น้ำอสุจิ เกลือแร่ ซีรั่ม เป็นต้น   

ของเหลวในร่างกายมีเพื่ออะไร ?

ของเหลวในร่างกายที่ประกอบไปด้วยหลายสิ่งมากมาย แต่ละสิ่งก็มีหน้าที่และโยชน์ของตนเองแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราสามารถสรุปบทบาทของหน้าที่ของเหลวในร่างกายที่สำคัญๆได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความหล่อลื่นให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้สะดวก

2. ช่วยรักษาระดับของความดันในร่างกายให้เป็นปกติ

3. เป็นช่องทางลำเลียงขนส่งสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการใช้ของเซลล์เนื้อเยื่อโดยรอบโพรงนั้นๆ

4. เป็นช่องทางระบายทิ้งของเสียและสารพิษจากในร่างกาย

5. ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอ

6. ช่วยรักษาสภาวะความสมดุลของการเป็นกรดเป็นด่าง และความสมดุลของธาตุต่างๆ ในสารละลายประจุไฟฟ้าภายในของเหลวนั้น

การตรวจของเหลวในร่างกาย ทำเพื่ออะไร ?

สำหรับจุดประสงค์ในการตรวจ ของเหลวในร่างกาย นั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และยังนำผลตรวจที่ได้ไปใช้ในการอื่นๆดังนี้

1. เพื่อจะทราบชนิดและความร้ายแรงของโรคที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการผิดปกติอยู่

2. เพื่อจะทราบถึงการรั่วซึมของของเหลวไปสู่อวัยวะใกล้เคียง ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางกายอย่างหนึ่ง

3. เพื่อจะทราบองค์ประกอบของสารชีวโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นและปนอยู่ในของเหลว เช่น ฮอร์โมน เลือด ( หมายรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ) เอนไซม์ ฯลฯ รวมทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาล ที่มาจากเลือดด้วย

4. เพื่อจะวิเคราะห์และพยากรณ์ตามพัฒนาการของธรรมชาติ เช่น การตรวจของเหลวในมดลูกของสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจได้ข้อมูลซึ่งอาจใช้พยากรณ์ถึงสุขภาพของมารดาและทารกได้ในอนาคตได้ด้วย

แหล่งของ ของเหลวในร่างกายที่อาจถูกนำออกมาตรวจวิเคราะห์

หากมีความผิดปกติใด หรือความเจ็บป่วยโรคต่างๆ เกิดขึ้น แพทย์ผู้รักษาอาจจะต้องการขอข้อมูลเพิ่มจากผู้ป่วยเกี่ยวกับ ของเหลวในร่างกาย ต่างๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวินิจฉัยโรคที่ป่วยเป็น ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยให้การรักษาสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เนื่องจากของเหลวในร่างกายมีหลายชนิดมากมาย แพทย์จึงจะเป็นผู้วิเคราะห์เองว่า จำเป็นตรวจของเหลวในร่างกายอะไรบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น  โดยจะขอยกตัวอย่างของเหลวในร่างกายบางชนิดที่สามารถตรวจและนำข้อมูลไปช่วยในการรักษาได้ ดังต่อไปนี้

1. Aminocentesis ( หรือ Aminotic Fluid Analysis ) หมายถึง การตรวจของเหลวในร่างกายที่เรียกว่า น้ำคร่ำ จะใช้ตรวจสำหรับหญิงที่มีการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะทำการเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างของน้ำคร่ำจากมดลูกไปตรวจ มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อจะได้ทราบสภาวะการเติบโตของทารก เพศของทารก ค่า Rh ของเลือดในตัวทารก ซึ่งจะมีผลกับร่างกายของมารดาและยังสามารถบอกความผิดปกติเกี่ยวกับทารกได้ เช่นภาวะดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมในตัวของเด็ก

2. Amyloid Beta Protein Precursor หมายถึง การตรวจวิเคราะห์ ของเหลวในร่างกายที่ได้จากไขสันหลัง มีจุดประสงค์ในการตรวจคือ เพื่อใช้ตรวจสอบสภาวะของโรคอัลไซเมอร์ ( Alzeimer disease, AD ) หรือ โรคความจำเสื่อม โดยมากจะใช้ตรวจในผู้สูงอายุเป็นหลัก

3. Arthrocentesis With Synovial Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในข้อต่อที่เชื่อมกระดูกของร่างกายเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวทางสำหรับการรักษาอาการปวด หรืออาการอักเสบในข้อต่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อมือ หัวเข่าหัวไหล่ เป็นต้นซึ่งการตรวจวิธีนี้มักใช้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการปวดข้อตามร่างกายส่วนต่างๆอยู่เป็นประจำและบ่อยๆ

4. Breast Cyst and Nipple Discharge หมายถึง การตรวจของเหลวภายในเต้านม หรือาจจะเป็นของเหลวที่ไหลออกมาจากหัวนมของเพศหญิงอย่างผิดปกติ การตรวจวิธีนี้มีจุดประสงค์คือ ช่วยในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ ถึงแม้โรคนี้จะเป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนมากจะนิยมใช้กับเพศหญิงที่มีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชาย

5. Paracentesis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในช่องท้องมีจุดประสงค์ในการตรวจคือเพื่อนำข้อมูลการตรวจที่ได้ไปวิเคราหะหาสาเหตุของผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน ( Ascites ) หรือภาวะที่ท้องโตขึ้นอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

6. Pericardiocentesis หมายถึง การตรวจของเหลวในถุงหุ้มหัวใจ ( Pericardial Sac ) จะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในถุงหุ้มหัวใจซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ มีภาวะความดันเกิดขึ้น ของเหลวที่มากเกินปกติจะไปขัดขวางจังหวะการบีบและคลายตัวของหัวใจโดยแพทย์ผู้รักษาจะเจาะนำของเหลวออกมาเพื่อตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและเป็นการดึงเอาของเหลวออกมาเพื่อลดความดันและระบายน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามฉุกเฉินให้ผู้ป่วยได้มีอาการที่ดีขึ้นและปลอดภัย

7. Thoracentesis and Pleural Fluid Analysis หมายถึง การตรวจของเหลวภายในปอดจะใช้วิธีตรวจนี้ก็ต่อเมื่อ มีของเหลวมากเกินกว่าปกติในปอดส่งผลกะทบทำให้ปอดขยายตัวในจังหวะหายใจเข้าไม่สะดวกซึ่งแพทย์จะทำการเจาะและนำของเหลวออกจากปอด โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อลดระดับของเหลวในปอด ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังนำของเหลวที่ได้นี้ไปวิเคราหะเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจาะเอาของเหลวภายในร่างกายออกมาตรวจ?

ในการนำของเหลวต่างๆ ในร่างกายมาตรวจ ก็มีความคล้ายกับการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ แต่ทั้งนี้ การนำของเหลวที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายไปตรวจนั้น จะต้องใช้บุคคลการที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะในบางอวัยวะที่มีความบอบบางและมีความซับซ้อน หากทำไม่ถูกต้องหรือผิดวิธี ก็อาจมีความอันตรายต่อผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงได้มีการกำหนดหน้าที่ผู้ที่ทำเกี่ยวกับการนำของเหลวจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปตรวจดังนี้

  • แพทย์ จะเป็นผู้สั่งและกำหนดให้ตรวจ ของเหลวในร่างกายได้ผู้เดียวเท่านั้น
  • ผู้ที่ทำการเจาะของเหลวจากส่วนต่างๆของร่างกาย ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น โดยอาจจะเป็นแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ผู้เชียวชาญก็ได้
  • ผู้ทำการตรวจวิเคราะห์สารชีวเคมี คือ เจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องปฏิบัติการ ( Laboratory )
  • หากสงสัยว่า ของเหลวที่มีสภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ก็จำเป็นต้องนำส่งให้นักพยาธิวิทยา ( Pathologist ) ดำเนินกรรมวิธีเพาะเชื้อ ก่อนรายงานผล ซึ่งต้องอาจใช้เวลาหลายวัน

การตรวจ ของเหลวในร่างกายนั้น แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง?

ของเหลวที่ได้จากการ เจาะ หรือ ดูดออกจากร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ ที่แพทย์สั่งให้ตรวจ เมื่อได้มาแล้วแพทย์ผู้รักษาจะนำของเหลวนั้นๆ มาเพื่อตรวจสอบโดยมีการหลักการในการตรวจสอบดังต่อไปนี้

1. การตรวจทางกายภาพได้แก่ การตรวจด้วยประสาทสัมผัสง่ายๆ ธรรมดา เช่น ความใส ความขุ่น ความข้น สี และกลิ่นของของเหลวว่ามีความปกติหรือมีความผิดปกติอย่างใด

2. การตรวจสารชีวเคมีด้วยเหตุที่สารชีวเคมีจากเลือด ซึ่งอาจหลุดลอยเข้าปะปนกับของเหลวในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ การตรวจวิธีนี้จะเป็นการตรวจที่ละเอียดมากกว่าการตรวจทางกายภาพในร่างกายของมนุษย์เรามีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก

หากเกิดการเจ็บป่วยใดๆเกิดขึ้น บางครั้งแพทย์ผู้รักษาเองก็อาจไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้ในทันทีทันใด แต่การนำวิธีการตรวจ ของเหลวในร่างกายเข้ามาช่วยในทางการแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถมีข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ถึงโรคต่างๆที่เกิดขึ้นได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ประโยชน์ทั้งหมดก็อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง เพราะหากแพทย์สามารถทราบถึงปัญหาต้นตอของโรคที่ป่วยได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะหายป่วยก็จะมีมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยนั่นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุลม พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือดเล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า 1.เลือด–การตรวจ. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

Palmer, Chapter 38,Pathophysiology of sodium retention and wastage, in Seldin and Giebisch’s The Kidney, Fifth Edition. Page 1511-12. Elsevier Inc. (c) All rights reserved.

De Luca LA, Menani JV, Johnson AK (2014). Neurobiology of Body Fluid Homeostasis: Transduction and Integration. Boca Raton: CRC Press/Taylor & Francis.