การตรวจหาค่า โปรตีนในปัสสาวะ
1.การตรวจหาค่าโปรตีนในปัสสาวะ หากสุ่มตรวจในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอาจไม่สามารถได้ข้อสรุปที่แน่ชัด เพราะการตรวจแต่ละครั้งจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป กล่าวคือหากตรวจในเวลากลางวันอาจพบค่าโปรตีนในปัสสาวะ แต่เมื่อตรวจในเวลากลางคืน ก็อาจไม่พบค่าโปรตีนเลยนั่นเอง ดังนั้นการจะตรวจหาค่าโปรตีนในปัสสาวะได้อย่างชัดเจน ก็ต้องตรวจแบบรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมงนั่นเอง
2.การตรวจค่าโปรตีนในปัสสาวะ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจแสดงได้ว่าผู้ตรวจกำลังมีความผิดปกติที่ไต จึงไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด โดยต้องตรวจหาโรคไตโดยด่วนเพื่อผลการตรวจที่แน่ชัด และจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
3.หากค่าโปรตีนในปัสสาวะที่ตรวจได้มีการกระเพื่อมสูงขึ้นเป็นครั้งคราว นั่นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีความเครียดอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การติดเชื้อบางอย่าง การออกกำลังกายที่หักโหมและการกินยารักษาโรคบางชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกตินี้ได้
4.สารคัดหลั่ง ( Secretions ) จากต่อมลูกหมากของผู้ชายหรือจากช่องคลอดของผู้หญิง ที่ปนมากับน้ำปัสสาวะก็ถือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่จะเรียกว่าโปรตีนนูเรีย ( Protein uria ) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกโดยเฉพาะ
5.การพบโปรตีนในปัสสาวะอาจสูงขึ้นเนื่องจากกรณีอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่นการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานจนทำให้ปัสสาวะเข้มข้นเกินกว่าปกติและการทานอาหารที่มีโปรตีนมากเกินไป จึงทำให้โปรตีนในปัสสาวะสูงเกินและหลุดมากับน้ำปัสสาวะได้ในที่สุด
ค่าปกติของ Urine Protein ( Random Urine )
1.ค่าความปกติของ Urine Protein ( Random Urine ) ให้ยึดเอาตามค่าปกติที่ได้ระบุไว้ในใบรายงานผลการตรวจปัสสาวะ (ถ้ามี)
2.ค่าปกติโดยทั่วไปของ Urine Protein ( Random Urine ) จะอยู่ที่
Random Urine ( สุ่มตรวจ ) Urine Protein : 0 – 8 mg / dL |
ค่าผิดปกติของ Urine Protein ( Random Urine )
1.หากค่าผิดปกติที่ตรวจได้ไปในทางน้อย ย่อมถือว่าไม่ผิดปกติ เพราะค่าโปรตีนในปัสสาวะ ไม่ควรตรวจพบเลยจะดีที่สุด
2.หากค่าผิดปกติที่ตรวจได้ไปในทางมาก อาจแสดงให้เห็นได้ว่า
- ท่อไตที่ส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นผลให้ไม่สามารถกรองเอาโปรตีนเพื่อดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายได้ โปรตีนจึงหลุดลอยลงมาสู่น้ำปัสสาวะ เป็นผลให้ตรวจพบโปรตีนสูงในที่สุด
- เป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ เป็นผลให้โปรตีนของเนื้อเยื่อหลุดปนออกมากับน้ำปัสสาวะ และตรวจพบค่า Urine Protein ( Random Urine ) สูงได้
- หัวใจวายหรือมีความอ่อนแรงจากการขาดเลือด ( Congestive Heart Failure ) ทำให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงกรวยไตได้อย่างเพียงพอ ทำให้กรวยไตไม่สามารถดูดซึมโปรตีนกลับเข้าสู่ร่างกายได้ เป็นผลให้โปรตีนที่หลุดมาปนกับน้ำปัสสาวะมีปริมาณสูงผิดปกติ
- เป็นโรคไตที่ต่อเนื่องมาจากเบาหวาน ( Diabetic Nephropathy ) นั่นก็เพราะเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนผิดปกติ จะทำให้กรวยไตเกิดการเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถกรองสารอาหารได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นนอกจากจะมีน้ำตาลกลูโคสหลุดปนมากับน้ำปัสสาวะแล้ว ก็มีโปรตีนหลุดออกมากับน้ำปัสสาวะมากขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะสูงเกินปกติได้ในที่สุด
- กลุ่มเลือดแดงฝอยในไตเกิดการอักเสบ ซึ่งมีบทบาทเป็นทางผ่านของเลือดเพื่อรับการฟอกเอาของเสียออกทิ้ง ดังนั้นเมื่อเกิดการอักเสบ จึงทำให้ประสิทธิภาพในการฟอกและกรองของเสียจากเลือดของไตด้อยลง และมีโปรตีนและเลือดที่เล็ดลอดออกมาปนกับน้ำปัสสาวะได้ โดยสภาวะนี้ก็จะมีศัพท์ทางแพทย์เรียกโดยตรงว่า เฮมาตูเรีย นั่นเอง ซึ่งก็สามารถที่จะสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากการถ่ายปัสสาวะลงในภาชนะ แล้วพบว่ามีฟองมากกว่าปกติ หรือน้ำปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีคล้ำคล้ายสนิมเหล็ก และนอกจากการสังเกตความผิดปกติจากน้ำปัสสาวะแล้วก็อาจมีอาการอื่นๆ ทางกายร่วมด้วย เช่น อาการปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย คลื่อนไส้อาเจียน กล้ามเนื้อมีการกระตุก หดเกร็ง มือเท้าแขนขาอ่อนแรงและอาจเป็นตะคริวอีกด้วย ดังนั้นหากตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะสูง ก็อาจสรุปได้ว่ากำลังป่วยด้วยโรคดังกล่าวนั่นเอง
- หากสังเกตจะพบว่าการที่ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะสูง ล้วนมีความสัมพันธ์กับโรคไตทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อตรวจพบค่า Urine Protein ( Random urine ) จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณร้ายของการป่วยด้วยโรคไตก็ได้
การตรวจปัสสาวะหาค่า Urine Protein ( Random urine ) ในรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมง
Urine Protein เป็นการตรวจหาโปรตีนที่ปนมากับน้ำปัสสาวะในรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมง ว่ามีค่าผิดปกติมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลที่ตรวจได้ก็สามารถบ่งชี้ได้ถึงการป่วยด้วยโรคไตหรือโรคอื่นๆ อีกด้วย โดยการตรวจด้วยวิธีนี้ก็จะให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำและแน่นอนกว่ามากทีเดียว
คำอธิบายอย่างสรุป
1. เพราะการตรวจหาค่าโปรตีนที่ได้ในปัสสาวะด้วยวิธีการสุ่มตรวจมักจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยแน่นอนมากนัก เนื่องจากในช่วงเวลาต่างๆ ค่าโปรตีนที่ได้มักจะมีความต่างกันอยู่เสมอ ในขณะที่การตรวจในรอบ 24 ชั่วโมง จะทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่า ว่าในช่วงเวลานั้นมีโปรตีนในปัสสาวะมากน้อยเพียงใดและถือเป็นการผิดปกติหรือไม่ จึงนิยมตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะด้วยการเก็บรวบรวมผลในรอบ 24 ชั่วโมงมากกว่านั่นเอง
2. จากการตรวจหาค่าโปรตีนในปัสสาวะด้วยวิธีการเก็บรวบรวมในรอบ 24 ชั่วโมง อาจทำให้ได้ค่าโปรตีนที่มากขึ้นตามระดับน้ำปัสสาวะไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นผลกับความแม่นยำในการตรวจแต่อย่างใด เพราะโดยหลักแล้วค่าโปรตีนที่ได้ควรจะมีระดับต่ำอยู่เสมอ ไม่ว่าน้ำปัสสาวะที่นำมาตรวจจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ค่าปกติของ Urine Protein
1.ค่าปกติของ Urine Protein ( 24 hr urine ) ให้ยึดเอาตามค่าปกติที่ได้ระบุไว้ในรายงานผลการตรวจปัสสาวะ
2.ค่าปกติโดยทั่วไปจะอยู่ที่
24 hr Urine : Urine Protein : < 150 mg / 24 hr |
ค่าผิดปกติของ Urine Protein
1.ค่าความผิดปกติที่ตรวจได้ หากไปในทางน้อยแสดงได้ว่า ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะยิ่งตรวจพบค่าโปรตีนต่ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น โดยแสดงได้ว่าไตยังคงทำงานได้ดีจึงไม่ทำให้โปรตีนหลุดมาปนกับน้ำปัสสาวะเลยนั่นเอง ทั้งนี้ควรพบโปรตีนในปัสสาวะต่ำกว่า 1000 มก. ใน 1 วันจะดีที่สุด
2.ค่าความผิดปกติที่ตรวจได้ หากไปในทางมากแสดงได้ว่า
- เป็นโรคหรือเหตุสำคัญบางอย่างที่ทำให้ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะสูงเกินค่าปกติ ซึ่งสาเหตุนี้อาจเป็นได้ทั้งการตรวจปัสสาวะแบบสุ่มและการตรวจแบบเก็บรวบรวมในรอบ 24 ชั่วโมง
- เกิดพิษจากการที่ร่างกายได้รับสารโลหะหนักมากเกินไป โดยปกติแล้วสารโลหะหนัก ตับจะทำหน้าที่ในการเก็บไว้แล้วส่งต่อไปยังไตเพื่อปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะต่อไป แต่เนื่องจากพิษจากโลหะหนักจะทำลายกรวยไตให้เสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นผลให้ไตไม่สามารถที่จะดูดซึมกลับสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆจากปัสสาวะเพื่อคืนสู่ร่างกายได้ในที่สุด ผลที่ตามมาจึงทำให้โปรตีนถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะในปริมาณมาก และตรวจพบค่าโปรตีนที่สูงเกินเกณฑ์ปกติอย่างเห็นได้ชัด โดยโลหะหนักที่ก่อให้เกิดพิษก็ได้แก่ ปรอท สารหนู ตะกั่วและแคดเมียมนั่นเอง
สารโลหะหนักเหล่านี้ เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?
1. ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่ไหลผ่านท่อประปารุ่นเก่าที่มีเป็นเหล็กเคลือบตะกั่วหรือสังกะสี สารพิษเหล่านี้จึงอาจหลุดปนมากับน้ำและเข้าสู่ร่างกายเมื่อดื่มกินได้นั่นเอง
2. ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากอาหารที่มีสารโลหะหนักแฝงอยู่ เช่น ในเนื้อสัตว์ ในสารกันบูดและสารที่ใช้สำหรับแต่งสี กลิ่นรส เป็นต้น
3. ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีโลหะหนักปะปนอยู่ เช่น งานในโรงงานแบตเตอรี่ งานช่างกระจกเงา การเป็นพนักงานกำจัดปลวกและฉีดยาฆ่าแมลงต่างๆ เป็นต้น
4. ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น คนที่มีบ้านเรือนอยู่ท่ามกลางโรงงานหลายแห่ง ทำให้ได้รับฝุ่นละอองและสารโลหะหนักจากโรงงานโดยตรง หรือคนที่ต้องทำงานอยู่ในบริเวณโรงงานที่มีสารโลหะหนักเป็นประจำ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
5. ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากยาและเครื่องสำอางบางชนิด ซึ่งแม้ว่าจะมีในปริมาณน้อย แต่เมื่อใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดการสะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดพิษแก่ร่างกายได้ในที่สุด ยกตัวอย่างสารโลหะหนักที่อยู่ในเครื่องสำอางและยาได้แก่ แมกนีเซียมในยารักษาโรคกระเพาะ ตะหั่วในน้ำยาย้อมผมและปรอทในลิปสติกทาปากบางยี่ห้อ เป็นต้น
- ความดันเลือดขึ้นสูงเกินเกณฑ์ โดยมีศัพท์ทางการแพทย์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า “ Malignant Hypertension ” และเนื่องจากศัพท์ดังกล่าวไปคล้องกับคำว่ามะเร็งในทางการแพทย์ จึงได้มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งเพื่อความเข้าใจตรงกันว่าเป็นความดันเลือดสูงที่ไม่ใช่มะเร็งอย่างชัดเจน โดยเรียกว่า “ Accelerated phase Hypertension ” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ความดันเลือดสูงยิ่งด้วยอัตราเร่ง นั่นเอง
ซึ่งทั้งนี้ระดับความดันเลือดสูงผิดปกติที่เข้าข่าย “ Malignant Hypertension ” คาดว่าจะมีความดันสูงยิ่งด้วยอัตราเร่งมากกว่า 220/120 มม.ปรอท ในขณะที่ความดันเลือดปกติของผู้ที่มีสุขภาพดีจะอยู่ที่เท่ากับหรือน้อยกว่า 130/58 มม.ปรอม และด้วยความดันเลือดที่สูงเกินปกตินี้ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้สูงอีกด้วย เช่น ปอด สมอง ไตและลูกนัยน์ตา เป็นต้น ส่วนไต อาจถึงขั้นเป็นไตวายแบบเฉียบพลันจนไม่สามารถจะดูดซึมกลับโปรตีนเข้าสู่ร่างกายได้เลยทีเดียว ผลที่ตามมาจึงตรวจพบค่าโปรตีนในปัสสาวะสูงเกินไปติในที่สุด
- เกิดสภาวะโรคไตเสื่อม ( Nephrotic Syndrome ) ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมกลับโปรตีนของกรวยไตลดต่ำลง ซึ่งอาจพบได้ว่ามีโปรตีนปนมากับปัสสาวะมากกว่า 3 กรัมต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อตรวจพบค่า Urine Protin ( 24 hr urine ) ในระดับนี้ แพทย์ก็จะตรวจดูสภาพไตเพื่อความแน่ชัดทันที ว่าผู้ตรวจกำลังมีปัญหาโรคไตเสื่อมหรือไม่ นอกจากนี้ก็สามารถสังเกตได้จากการที่ปัสสาวะเป็นฟองจนดูผิดปกติอีกด้วย เพราะส่วนมากแล้วปัสสาวะของคนเราจะไม่มีฟองหรือมีน้อยมาก ดังนั้นหากพบว่าปัสสาวะเป็นฟอง นั่นแสดงได้ว่าในปัสสาวะมีโปรตีนสูงและน่าจะมีสาเหตุมาจากโรคไตเสื่อมนั่นเอง
อาการของโรคไตเสื่อมที่จะปรากฏให้เห็นตามมา นอกจากการตรวจ Urine Protein ( Random urine )
1.หากมีการตรวจหาค่าโปรตีนในเลือดด้วย ก็จะพบว่าโปรตีนในเลือดต่ำมาก นั่นก็เพราะโปรตีนส่วนใหญ่ได้ถูกกรองทิ้งไปกับปัสสาวะแล้วนั่นเอง ทั้งนี้หากปล่อยไว้นานๆ ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดโปรตีนได้เหมือนกัน
2.เมื่อมีการตรวจหาค่าคอเลสเตอรอลร่วมด้วย ก็จะพบได้ว่าคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับที่สูงจนดูผิดปกติเช่นกัน
3.อาจมีอาการบวมตามร่างกายอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณเท้า ข้อเท้า รอบๆนัยน์ตาและใบหน้า เป็นต้น
4.สังเกตเห็นช่องท้องบวมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากไตเสื่อม
5.น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการบวมน้ำ แม้ว่าจะกินอาหารน้อยหรือควบคุมการกินได้ดีเพียงใดก็ตาม
6.ความรู้สึกอยากอาหารลดลง จึงเกิดอาการอยากอาหารน้อยกว่าปกติ
7.ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนดูผิดสังเกต ซึ่งก็ส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า หากตรวจพบค่า Urine Protein ( Random urine ) ภายใน 24 ชั่วโมง ที่สูงกว่า 3000 มก.ต่อวัน ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าผู้ตรวจกำลังเป็นโรคไตเสื่อม โดยควรรีบตรวจให้ชัดเจนและทำการรักษาโดยด่วน
– เกิดอาการไตเสื่อมที่เป็นผลมาจากการได้รับพิษจากยารักษาโรค ( Drug-induced nephrotoxicity ) โดยภาวะดังกล่าวนี้ก็จะมีศัพท์ทางการแพทย์เรียกโดยเฉพาะว่า “ สภาวะไตเสื่อมจากพิษของยารักษาโรค ”
ยารักษาโรคกับอาการไตเสื่อม
ยารักษาโรคอาจช่วยบรรเทาและรักษาอาการป่วยต่างๆ ให้หายเป็นปกติได้จริง แต่เนื่องจากยารักษาโรคส่วนใหญมีการผลิตขึ้นมาจากสารประกอบอนินทรีย์หรือสารเคมี จึงทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายไม่น้อยเช่นกัน นั่นก็เพราะว่าสารเคมีเหล่านี้จะเหลือตกค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งตับจะถือว่าเป็นสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดออก จึงนำสารเหล่านี้ไปเก็บรวมกันไว้ที่ตับก่อนจะเร่งลำเลียงออกทิ้งทางท่อถุงน้ำดี ไปยังลำไส้เล็กและปนไปกับอุจจาระเพื่อขับออกนอกร่างกาบนั่นเอง แต่ก็ยังคงมีสารเคมีจากยาบางส่วนที่สามารถละลายน้ำได้ ตับจึงต้องรวบรวมและส่งออกไปกับหลอดเลือดแดง เพื่อให้ไตทำหน้าที่กรองเอาสารพิษออกไปทิ้งปนกับน้ำปัสสาวะ โดยระหว่างที่สารพิษนี้ผ่านไตก็จะทำให้ไตค่อยๆ เสื่อมสภาพและด้อยประสิทธิภาพในการทำงานลง ดังนั้นเมื่อมีการกรองสารพิษนี้ผ่านไตเป็นเวลานานก็จะทำให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด โดยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการกรองของไตก็มีดังนี้
1.ก่อให้เกิดการขัดขวางหรือเปลี่ยนอัตราการไหลของกระแสเลือดเมื่อผ่านกลุ่มหลอดเลือดแดงฝอย ทำให้ไตไม่สามารถกรองสารของเสียจากเลือดออกมาได้เท่าที่ควร
2.ก่อให้เกิดพิษต่อเซลล์ของท่อกรวยกรอง ( Tubular cell toxicity ) ทำให้ท่อกรวยไตมีการปิด-เปิด โดยไม่มีการกรองสารใดไว้ได้เลย
3.ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นภายในไต จึงทำให้การทำงานของไตด้อยประสิทธิภาพลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถกรองได้ตามปกติ
4.เกิดพยาธิสภาพภายในไต ซึ่งก็จะส่งผลเสียได้อย่างมากมายเลยทีเดียว โดยเฉพาะการปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะถูกขับทิ้งได้น้อยลง และอาจเกิดการอักเสบได้อีกด้วย
5.ไตไม่สามารถดูดซึมโปรตีนจากปัสสาวะกลับคืนเข้าสู่ร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กหรือใหญ่ก็ตาม จึงทำให้ตรวจพบค่า Urine Protein ( Random urine ) ภายใน 24 ชั่วโมง ในปริมาณสูงผิดปกติ และหากนานไปก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดโปรตีน ที่อาจเลวร้ายถึงขั้นเกิดสภาวะโรคกล้ามเนื้อสลายได้เลยทีเดียว
จากข้อมูลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า การได้รับยารักษาโรคมากเกินไปเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาไตเสื่อมได้ง่าย และยังเป็นสาเหนุหนึ่งที่ทำให้ไตไม่สามารถดูดซึมโปรตีนกลับได้อย่างครบถ้วน จนทำให้ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะสูงอีกด้วย