น้ำตาลและเบาหวาน
ความเชื่อที่ว่าน้ำตาลเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและควรให้ผู้ป่วยงดการทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาดนั้น มีรายงานไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ซึ่งในยุคนั้นนายแพทย์เฟรเดอริก อัลเลน Frederick Allen ได้เป็นผู้กล่าวไว้ แต่เนื่องจากในยุคสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือทันสมัยที่จะสามารถหาเหตุผลมาสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เป็นผลให้ความคิดดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนและยังไม่มีผู้ทำตามมากนัก ซึ่งในเวลาต่อมา ยุคสมัยหลังจากนั้นก็มีนักวิจัยให้คำแนะนำเช่นเดียวกับนายแพทย์ เฟรเดอริก อัลเลน ว่าน้ำตาลเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและไม่ควรทานเด็ดขาด ด้วยการยกเหตุผลขึ้นมาว่า น้ำตาลนั้นเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจะสามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารในรูปของโมเลกุลเชิงเดี่ยวได้ง่ายและรวดเร็วมาก การทานน้ำตาลจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบหลายๆ อย่างนั่นเอง
และจากข้อสรุปดังกล่าวนี้ก็ได้เกิดการแนะนำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานหลีกเลี่ยงการทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาด แต่ในยุคสมัยนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตาลมากนัก จนเมื่อปี ค.ศ.1970 นักวิจัยหลายๆ คนไม่มั่นใจกับข้อสรุปดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำตาลและผู้ป่วยเบาหวานอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปที่มีความละเอียดมากขึ้นในปี ค.ศ. 1993 กล่าวว่า
การกินน้ำตาลโดยคิดเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยไม่ได้เพิ่มคาร์โบไฮเดรตเข้าไปในมื้ออาหารอีก จะไม่ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 แต่อย่างใด
ดังนั้นจึงสรุปว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่จำเป็นต้องงดการทานน้ำตาล นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลถือเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อทานน้ำตาลเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอะไร แต่จะคิดรวมเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในวันนั้นๆ เลยนั่นเอง รวมถึงคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากผลไม้ ข้าวและแป้งด้วย ดังนั้นน้ำตาลที่ทานเข้าไปจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ทานในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากทานน้ำตาลและอาหารคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ รวมกันไม่เกินจากค่าที่กำหนดในแต่ละวัน ก็จะไม่มีผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานแน่นอน [adinserter name=”เบาหวาน”]
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากของหวานที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบนั้นมักจะมีไขมันอยู่ด้วย ซึ่งจะยิ่งเพิ่มพลังงานและแคลอรีในอาหารให้สูงขึ้นไปอีกและเนื่องจากน้ำตาลนั้นให้แต่พลังงาน แต่ไม่ได้ให้สารอาหารจำเป็นด้วย จึงไม่แนะนำให้กินน้ำตาลมากเกินไป โดยควรเน้นการกินคารโบไฮเดรตจากอาหารชนิดอื่นมากกว่าน้ำตาล ในปัจจุบันนี้จึงเห็นได้ว่ามีการแนะนำให้นับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่ทานเข้าไปในแต่ละวันเสมอ
น้ำตาลถูกลืมว่าเป็นคาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน ทำให้เผลอทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตจนเพลิน เป็นผลให้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นในที่สุด โดยน้ำตาลนั้นถูกจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเส้นใยอาหารและประกอบไปด้วยกลูโคส 50% ฟรักโทส 50% ซึ่งการให้พลังงานของน้ำตาลนั้นก็จะเท่ากับการให้พลังงานของคาร์โบไฮเดรตในข้าวและแป้ง คือ 1 กรัม ต่อพลังงาน 4 แคลอรี เพียงแต่ว่าพลังงานที่ได้จากน้ำตาลจะถูกดูดซึมไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วกว่านั่นเอง ดังนั้นจึงได้มีการจำกัดปริมาณของน้ำตาลที่ควรทานในแต่ละวันไว้ที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับในแต่ละวัน และต้องคิดรวมเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวันด้วย ซึ่งกองโภชนาการก็ได้แนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชานั่นเอง
และจากรายงานการสำรวจการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี พ.ศ. 2558 ก็พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลสูงขึ้นมากโดยเฉลี่ยมากถึงวันละ 16.7 ช้อนชาเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยมีปัญหาอ้วนเยอะ และมีภาวการณ์ดื้ออินซูลินจนทำให้เป็นเบาหวานอีกด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะคนไทยได้ลืมไปแล้วว่าน้ำตาลก็เป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบเดรต และไม่ได้ใส่ใจโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพมากนัก โดยหากเทียบระหว่างน้ำตาลกับข้าวแล้ว จะพบว่าน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานมากเท่ากับข้าวครึ่งทัพพีเลยทีเดียว หรือให้พลังงานประมาณ 48 แคลอรีนั่นเอง ดังนั้นหากปล่อยให้ตัวเองเพลิดเพลินกับการทานน้ำตาลมากเกินไปก็จะส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพตามมาแน่นอน โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานอยู่แล้ว
นอกจากนี้สารให้ความหวานที่ให้พลังงานสูงพอๆ กับน้ำตาลก็มีหลายชนิดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำเชื่อมฟรักโทส น้ำผึ้ง น้ำตาลโตนด มอลโส กากน้ำตาลและเดกซ์โทส เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการทานน้ำตาลเหล่านี้มากที่สุด เพราะหากทานมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลเสียได้ นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ต้องระวังเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าน้ำตาลชนิดนี้จะมีผลต่อระดับน้ำตาลน้ำกว่าน้ำตาลทรายแต่ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตเช่นกัน ดังนั้นหากเมื่อรวมๆ แล้วในวันหนึ่งได้รับน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ เกินค่าที่กำหนด ก็จะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้ และที่สำคัญเมื่อทานมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายท้องและอาจท้องเสียได้อีกด้วย
ฟรักโทสและเบาหวาน
ฟรักโทสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากผักผลไม้ น้ำผึ้งและกากน้ำตาล รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในรูปของน้ำตาลปี๊บและน้ำตาลปาล์มด้วย ส่วนในทางการค้านั้น ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลจากข้าวโพดมากที่สุด ซึ่งก็จะใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มต่างๆแทนน้ำตาลทราย นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลชนิดนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.2 เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามน้ำตาลชนิดนี้ก็อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกัน เพียงแต่จะน้อยกว่าน้ำตาลซูโครส ทั้งยังมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำแค่ประมาณ 20 จึงนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารของผู้ที่ป่วยเบาหวานนั่นเอง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟรักโทสจะสามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ ก็ต้องระมัดระวังในปริมาณที่ทานด้วย เพราะหากได้รับมากเกินไปก็จะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลแต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานน้ำตาลฟรักโทสได้แต่ต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนผู้ที่มีค่าไขมันผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการทานฟรักโทสในปริมาณมากอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการทานน้ำตาลฟรักโทส ก็แนะนำให้ทานจากที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือในผักและผลไม้จะดีที่สุด
และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือข้อเสียของฟรักโทสนั่นเอง โดยน้ำตาลฟรักโทส หากทานในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะ จนทำให้รู้สึกแน่นท้อง ปวดท้องได้ ดังนั้นจึงต้องจำกัดอาหารที่มีฟรักโทสในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน หรือควรเลือกทานอาหารที่มีฟรักโทสน้อยๆ เช่น บลูเบอร์รี่ ถั่วแขก แครอท กล้วยและอะโวคาโด เป็นต้น
ปริมาณฟรักโทสในอาหารทั่วไป |
ชนิดอาหาร |
ปริมาณ |
ฟรักโทส (กรัม) |
คาร์โบไฮเดรต (กรัม) |
น้ำอัดลม (ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป) |
325 มล. |
22 |
40.0* |
ผลไม้ |
|
|
|
แอปเปิ้ล (ทั้งเปลือก) |
1 ผลกลาง |
8.1 |
19.1 |
กล้วยหอม |
1 ผลกลาง |
5.7 |
27.0 |
สตรอว์เบอร์รี่ (หั่นสไลซ์) |
½ ถ้วยตวง |
4.2 |
12.7 |
แคนตาลูป (หั่น) |
1 ถ้วยตวง |
3.0 |
13.1 |
พีช (สด) |
1 ผลกลาง |
1.5 |
9.3 |
สับปะรด (ชนิดบรรจุกระป๋องในน้ำเชื่อม) |
1 ผลกลาง |
8.1 |
19.5 |
องุ่น (แดง/เขียว) |
½ ถ้วยตวง |
6.3 |
13.9 |
น้ำส้มคั้น (เข้มข้น) |
120 มล. |
3.2 |
13.4 |
ผัก |
|
|
|
มะเขือเทศสด |
1 ผลกลาง |
1.7 |
4.8 |
หน่อไม้ฝรั่ง (สุก) |
½ ถ้วยตวง |
0.7 |
3.7 |
มันฝรั่งอบบด |
½ ถ้วยตวง |
0.7 |
29.1 |
มันฝรั่งอบ |
1 ผลกลาง |
0.6 |
36.6 |
บรอกโคลี (สุก) |
½ ถ้วยตวง |
0.6 |
5.6 |
พริกหวานสีเขียว (สุก) |
½ ถ้วยตวง |
0.5 |
2.3 |
ข้าวโพดสีเหลือง (สุก) |
½ ถ้วยตวง |
0.4 |
20.6 |
[adinserter name=”เบาหวาน”]
ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป ( High Fructose Corn Syrup )
เป็นสารให้ความหวานชนิดที่นิยมใช้กับเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่สุด โดยสารให้ความหวานชนิดนี้จะประกอบไปด้วยฟรักโทส 50% และกลูโคส 45% ซึ่งสารเพิ่มความหวานชนิดนี้ก็ทำมาจากข้าวโพดนั่นเอง แต่ได้มีการเติมเอนไซม์ลงไปในขั้นตอนที่เป็นน้ำเชื่อมด้วย นั่นก็เพื่อเปลี่ยนกลูโคสครึ่งหนึ่งให้กลายเป็นฟรักโทสที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล แล้วจึงนำมาใช้ใส่ในน้ำอัดลมเพื่อเพิ่มความหวานลงไป นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล HFCS หรือน้ำตาลซูโครส และน้ำผึ้งก็ล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสใกล้เคียงกันทั้งสิ้น เพียงแต่การดูดซึมของน้ำตาลแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน และที่สำคัญเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระบวนการเผาผลาญแล้ว ร่างกายของคนเราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นน้ำตาลชนิดไหนนั่นเอง
และเนื่องจากน้ำตาลทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อทานเข้าไปจะได้น้ำตาลที่เป็นชนิดเดียวกันเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญ ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกกินน้ำตาลชนิดไหนก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะฮอร์โมนควบคุมความอิ่มจะทำงานเหมือนกัน แต่น้ำตาล HFCS ก็มีข้อดีอยู่บ้างคือสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น โดยสามารถคงความชื้นได้ดีและไม่ทำให้อาหารแห้งอีกด้วย จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด
ทั้งนี้ก็สรุปได้ว่าน้ำตาล HFCS ก็เหมือนกับน้ำตาลทั่วไปที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ดังนั้นหากทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ก็ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นและไม่ทำให้อ้วนแน่นอน
น้ำผึ้ง
แม้ว่าน้ำผึ้งจะเป็นสารให้ความหวานที่ได้จากธรรมชาติ แต่ก็มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสอยูในส่วนประกอบมากถึง 70% รวมถึงมีซูโครสอยู่ 10% ด้วย และแม้ว่าน้ำผึ้งจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรือหากต้องการให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอก็จะต้องทานน้ำผึ้งในปริมาณมากนั่นเอง เช่น ต้องการธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจะต้องทานน้ำผึ้ง 11 ถ้วยตวงหรือต้องการแคลเซียมเท่ากับนมขาดไขมัน 1 ถ้วยตวง จะต้องทานน้ำผึ้งทั้งหมด 19 ถ้วยตวง และด้วยปริมาณดังกล่าวนั้นก็อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเป็นผลเสียได้
อย่างไรก็ตาม ฟรักโทสเป็นน้ำตาลที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูนลิน จึงไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเหมือนกับกลูโคสและไม่ทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำแค่ 20 เท่านั้น ซึ่งต่างจากกลูโคสที่มีดัชนีน้ำตาลสูงถึง 100 แต่เนื่องจากในน้ำผึ้งนั้นมีน้ำตาลทั้งสองชนิดรวมกัน จึงพบว่าน้ำผึ้งมีดัชนีน้ำตาลสูงถึง 87 เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นระดับที่สูงกว่าธัญพืชและผักผลไม้หลายชนิด ดังนั้นการทานน้ำผึ้งจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเช่นกัน
ส่วนการดูดซึมของน้ำตาลฟรักโทสจะสามารถดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ และต้องผ่านเข้าสู่ตับ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการหลั่งอินซูลินออกมาอย่างช้าๆ จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานและทานอาหารในมื้อต่อไปได้น้อยลง อีกทั้งเมื่อทานฟรักโทสอย่างเดียวหรือทานร่วมกับอาหารก็จะกระตุ้นการหลั่งอินซูนลินช้ากว่าน้ำตาลอีกด้วย
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการทานฟรักโทสในรูปของน้ำผึ้งนั้นไม่สามารถแทนการทานฟรักโทสรูปของผักผลไม้ได้ เพราะฟรักโทสในน้ำผึ้งรวมอยู่กับกลูโคสครึ่งต่อครึ่ง จึงทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังไม่มีใยอาหารที่จะช่วยชะลอการดูดซึมได้ ในขณะที่ผักผลไม้นั้น อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เส้นใยอาหารและสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย จึงทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมช้าลงและยังมีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้น้ำผึ้งก็มีข้อเสียอีกด้วย คือจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะและมีอาการปวดท้องได้ ทั้งยังให้พลังงานสูง โดยน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะจะให้พลังงานมากถึง 64 แคลอรี จึงมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและโรคเบาหวานได้
10 วิธีลดน้ำตามและความหวาน
และเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลเบาหวาน ควรลดปริมาณน้ำตาลและความหวานลงบ้าง โดยมี 10 วิธีในการลดน้ำตาลและความหวานให้ได้ผลดังนี้
1.หยุดเติมน้ำตาล เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้ในแต่ละวันได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินไปจึงเป็นผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นการลดปริมาณน้ำตาลลง ด้วยการหยุดเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับในแต่ละวันได้ดี หรือหากสามารถลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีความหวานลงได้ก็จะดีมาก อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่ชอบรสชาติหวานก็อาจใช้น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำใส่ลงไปแทนด็ได้เหมือนกัน
2.หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะลูกอม ขนมหวาน ช็อกโกแลตหรือขนมจุบจิบต่างๆ แม้ว่าจะมีคำโฆษณาว่าใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพก็ตาม เพราะไม่ว่าน้ำตาลชนิดใดก็ล้วนให้พลังงานด้วยกันทั้งสิ้น
3.เลือกทานผลไม้เป็นหลักแทนการทานขนมหวาน เพราะในผลไม้นั้นนอกจากจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีเส้นใยอาหารและวิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมายหลายชนิดอีกด้วย ซึ่งก็จะช่วยต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี พร้อมกับชะลอการดูดซึมน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน แต่ทั้งนี้การทานผลไม้ก็ควรจำกัดปริมาณให้มีความเหมาะสมที่สุด เพราะในผลไม้มีฟรักโทสที่หากได้รับมากเกินก็ส่งผลเสียเช่นกัน
4.พยายามอย่าดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ และเนื่องจากในน้ำผลไม้ไม่มีใยอาหารเช่นเดียวกันในผลไม้สด จึงไม่มีตัวช่วยในการชะลอการดูดซึมนั่นเอง [adinserter name=”เบาหวาน”]
5.ลดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแปรรูปให้น้อยที่สุด เพราะอาหารเหล่านี้ทำมาจากแป้งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลและเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วพอๆ กับการทานกลูโคสเลยทีเดียว แถมคาร์โบไฮเดรตที่เหลือเป็นส่วนเกินก็จะถูกเก็บไว้เป็นไขมันในร่างกาย ทำให้มีปัญหาโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงตามมาอีกด้วย ดังนั้นควรทานในปริมาณที่น้อยลงหน่อยจะดีกว่า
6.ระมัดระวังในการเลือกของว่าง โดยเฉพาะของว่างไร้ไขมัน เพราะถึงแม้ว่าจะปราศจากไขมันแต่ในของว่างเหล่านั้นก็อาจมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งในการทำร้ายสุขภาพอยู่ดี เพราะฉะนั้นก่อนทานก็ควรดูให้ดีก่อนเสมอฃ
7.อ่านฉลากโภชนาการก่อนทานทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องควบคุมการทานน้ำตาลและพลังงานในแต่ละวันมากเป็นพิเศษ แต่หากแพทย์ห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้ผู้ป่วยทานน้ำตาลก็อาจใช้สารเพิ่มความหวานที่มีพลังงานต่ำมากใส่ลงไปแทนก็ได้ ซึ่งสารเพิ่มความหวานบางชนิดก็อาจมีความหวานมากกว่าน้ำตาลหลายเท่าเลยทีเดียว หรือในกรณีที่ซื้ออาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่ม ก็ควรเลือกที่ระบุไว้ว่าปราศจากน้ำตาลนั่นเอง
8.ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้สารให้ความหวานอื่นๆ แทนน้ำตาลได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ใช้มากเกินไปเช่นกัน เพราะสารเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความอยากของหวานและคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ทำให้อดใจไม่ไหวจนเผลอทานอาหารอื่นๆที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตสูงในที่สุด นอกจากนี้การใช้สารให้ความหวานในปริมาณมาก ก็อาจส่งผลต่อการลดระดับโครเมียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทำหน้าที่ในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
9.คำนวณปริมาณน้ำตาลที่ทานอยู่เสมอ เพื่อระมัดระวังไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเป็นผลเสียได้นั่นเอง และควรคำควณรวมกับปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในแต่ละวันด้วย
การใช้น้ำตาลเทียมอาจช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยความหวานที่ขาดไปได้และมีความสุขกับการทานอาหารที่มีพลังงานต่ำกว่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้น้ำตาลเทียมบ่อยเกินไป และอย่าเพิ่มปริมาณอาหารชนิดนั้นเพราะรู้ว่าอาหารอาจไม่มีพลังงานจากน้ำตาลแล้ว เพราะจริงๆ แล้วในอาหารแต่ละชนิดยังจะมีพลังงานที่ได้จากสารอาหารชนิดอื่นๆ อยู่ด้วยนั่นเอง
น้ำตาลเทียมและเบาหวาน
น้ำตาลเทียมทุกวันนี้มีมากมายหลายชนิดหลายยี่ห้อ ซึ่งก็มีทั้งที่ผ่านการอนุมัติแล้วและยังไม่ได้รับการอนุมัติ ยกตัวอย่างเช่น แซ็กคาริน แอสปาร์แทม แอดวานแทม สตีวีออลไกลโคไซด์ อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม ซูคราโลส นีโอแทม และสารสกัดจากหญ้าหวาน เป็นต้น ซึ่งคำแนะนำที่ให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลทั่วไปนั้นก็มีมาตั้งแต่สมัยอดีต ด้วยความคิดที่ว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาดนนั่นเอง ส่วนสารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมที่ได้รับการอนุมัตินั้น ก็ได้รับการรับรองแล้วว่าสามารถทานในผู้ป่วยเบาหวานและหญิงตั้งครรภ์ได้ เพียงทานในปริมาณที่กำหนด ก็ไม่เป็นอันตรายแน่นอน
ระดับความปลอดภัย Acceptable Daily Intake หรือ ADI คือ ปริมาณสูงสุดที่จะบริโภคได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย หรือไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายตลอดชีวิต
ตารางเปรียบเทียบระดับความปลอดภัย (ADI)
ของสารให้ความหวานชนิดที่ไม่ให้พลังงานงาน |
ผลิตภัณฑ์ |
ระดับ ADI มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน |
ปริมาณเฉลี่ย (มก.) |
น้ำอัดลม 1 กระป๋อง |
ชนิดผง 1 ซอง |
แอสปาร์แทม |
50 |
200 |
35 |
อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม |
15 |
40 |
50 |
ซูคราโลส |
5 |
70 |
5 |
แซ็กคาริน |
5 |
14 |
40 |
[adinserter name=”เบาหวาน”]
ความปลอดภัยจากการใช้น้ำตาลเทียมในหญิงตั้งครรภ์
จากการวิจัยพบว่าสารให้ความหวานไม่มีผลเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และหญิงตั้งครรภ์แต่อย่างใด เช่น สารแอสปาร์แทม สามารถทานได้ในระดับสามเท่าของระดับความปลอดภัยโดยไม่มีผลใดๆ และสารแซ็กคาริน พบว่าสามารถผ่านรกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ในประเทศแคนาดา ประเทศในยุโรปและประเทศไทย ไม่อนุญาติให้ใช้แซ็กคารินในหญิงตั้งครรภ์อย่างเด็ดขาด
แอสปาร์แทม
แอสปาร์แทม มีชื่อทางการค้าแบบเต็ม ๆ ว่า “ NUTRASWEET / EQUAL / SUGAR TWIN ” โดยสารนี้สำหรับคนไทยเรานั้นก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มหรือขนมหวานหลายประเภท สารนี้เป็นโปรตีนที่สามารถเกิดได้เองที่บริเวณของระบบทางเดินอาหารคนเรา เป็นสิ่งที่มีรสชาติหวานมากกว่าน้ำตาลธรรมดาทั่วไปหลายเท่า (หวานมากกว่าถึง 200 เท่า) หากคิดเรื่องของแคลอรีสารตัวนี้หากทานเข้าไปหนึ่งกรัมคุณจะได้รับแคลอรีจำนวน 4 แคลอรีเท่านั้นซึ่งแน่นอนว่านั่นเป้นอะไรที่น้อยมากน้อยกว่าการทานน้ำตาลทั่วไปอยู่แล้ว (ปรียบเทียบโดยวัดจากปริมาณที่เท่ากันเท่านั้น)
ปริมาณเฉลี่ยของแอสปาร์แทมในอาหารทั่วไปมีดังนี้ |
ชนิดอาหาร |
ปริมาณ |
แอสปาร์แทม (มิลลิกรัม) |
น้ำอัดลม |
1 กระป๋อง (325 มล.) |
225 |
โยเกิร์ต |
8 ออนซ์ (240 กรัม) |
80 |
เจลาติน |
4 ออนซ์ (120 กรัม) |
80 |
ซีเรียล |
½ ถ้วยตวง |
32 |
ของหวานแช่แข็ง |
1 หน่ายบริโภค |
47 |
น้ำตาลเทียม |
1 ซอง |
37 |
แอสปาร์แทม เป็นสารที่ได้รับการยอมรับจากทางด้านองค์การอาหารและยาของประเทศอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนการทานน้ำตาลได้ เนื่องจาก เป็นสิ่งที่สามารถให้รสหวานได้เช่นเดียวกัน สำหรับใครที่กำลังอยากที่จะนำเอาแอสปาร์แทมมาใช้อยู่ละก็เราอยากจะบอกว่าจรงนี้เลยว่าสิ่งนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดเล็กน้อย นั่นคือ
1.จะต้องไม่ใช้ในการประกอบอาหารที่ต้องตั้งบนกระทะหรือเตาไฟแบบร้อนๆ เป็นอันขาด เพราะ สารตัวนี้มีความสามารถอย่างหนึ่งที่อันตรายหากเจอความร้อน คือ กรดอะมิโนที่อยู่ภายในสามารถที่จะรวมตัวเข้าหากันได้ กรดตัวนี้คือหน่วยย่อยอย่างหนึ่งของโปรตีนสองประเภท ( กรดแอสปาร์ติกกับฟีนิลอะลานีน ) เมื่อใดก็ตามที่สารตัวนี้เกิดได้รับความร้อนที่มีลักษณะสูงมากและรับความร้อนเป็นเวลานานเมื่อนั้นก็จะทำให้เกิดการแตกตัวและเมื่อใดที่การแตกตัว เกิดเมื่อนั้นความหวานที่เคยมีก็จะค่อย ๆ ลดลงและกลายเป็นมีรสชาติแบบเฝื่อนแทน ดังนั้นหากคิดที่จะนำเอาสารนี้ไปใช้จริงๆ ควรใช้เมื่ออาหารได้ถูกปรุงเสร็จแล้วจะดีกว่าและควรปรุงเมื่อได้ทำการยกอาหารลงมาจากกระทะหรือเตาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น เติมทีหลังไม่ได้เสียหายอะไร เติมทีหลังรสหวานนั่นจะยังคงอยู่ จริง ๆ แล้วสารตัวนี้สามารถที่จะถูกละลายได้เป็นอย่างดีหากอยู่ในน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ( โดยประมาณ ) สามารถละลายในกรดหรือสิ่งที่รสชาติเปรี้ยวได้ดีมากที่สุด
2.โรคหนึ่งที่หากใครป่วยอยู่ต้องห้ามทานสารตัวนี้เป็นอันขาด คือ โรคฟีนิคคีโทนยูเรีย ( PKU ) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเรื่องของพันธุกรรม ใครที่ป่วยเป็นโรคนี้สาเหตุเกิดจากการขาดตัวเอนไซม์ที่มีความสามารถในการเข้าไปสลายกรดแอมิโนที่จำเป็นอย่างฟีนิลอะลานีนโดยกรดตัวนี้เป็นกรดที่มีอยู่ในแอสปาร์แทมอยู่แล้ว สำหรับเป็นโรคนี้ค่อนข้างพบได้น้อยมากในโลก ( พบได้ประมาณหนึ่งใน 15,000 จนถึง 1,000,000 คน ) และยังขึ้นอยู่กับเรื่องของเชื้อชาติร่วมด้วย ส่วนใหญ่ในเด็กแรกเกิดจึงมักที่จะได้รับการตรวจหาโรคนี้แล้ว
สารอะเซซัลเฟมโพแทสเซียม ( Ace-K )
สารตัวนี้เป็นสารที่มีความหวานสูงมาก หวานมากกว่าน้ำตาลถึงสองร้อยเท่า มีระดับของ ADI อยู่ที่ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ( ต่อหนึ่งวัน ) หากใครที่มีน้ำหนักตัวมากถึง 60 กิโลกรัมสามารถทานสารตัวนี้ได้เพียงแค่ 900 กรัมเท่านั้นซึ่ง 900 กรัมนี้หากจะเทียบกับน้ำตาลก็เท่ากับทานน้ำตาลไปแล้ว 150 กรัม ( ประมาณ 36 ช้อนชาหรือดื่มน้ำอัดลม 4 กระป๋อง ) ตามปกติคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานก็มักจะทานน้ำตาลเทียมน้อยมาก เฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 มิลลิกรัมต่อการดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ( แบบขนาด 325 ซีซี ) และประเภทเติมเพื่อใช้แทนน้ำตาลจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมต่อซอง สารตัวนี้จะค่อนข้างทนความร้อนได้ดีมากกว่าแอสปาร์แทมมาก เมื่อทนได้ดีจึงไม่เกิดการสูญเสียรสชาติความหวานแต่อย่างใดทำให้ในภาคของอุตสาหกรรมนิยมใช้สารตัวนี้มากกว่าสารแอสปาร์แทมไปโดยปริยาย [adinserter name=”เบาหวาน”]
แซ็กคาริน
สารหนึ่งที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจมากและเป็นหนึ่งในประเภทของน้ำตาลเทียม นั่นคือ สารแซ็กคาริน เป็นน้ำตาลเทียมตัวแรกที่ได้เป็นที่ยอมรับค่อนข้างมากในอดีตและยังได้รับอนุญาตให้ออกมาวางขายตามท้องตลาดทั่วไปได้อีกด้วยแต่ในช่วงเวลาต่อมาก็ต้องถูกระงับการขายไป เนื่องจาก มีงานวิจัยพบว่าสารตัวนี้หากทานไปแล้วสามารถที่จะก่อให้เกิดมะเร็งที่บริเวณของกระเพาะอาหารได้ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่อันตรายมากจึงทำให้ต้องยุติการขายลง แต่เมื่อไม่นาน มานี้กลับมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริง ๆ แล้วสารตัวนี้ไม่ได้เป็นสารที่ไม่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้แต่อย่างใดทำให้สารตัวนี้กลับมาได้รับอนุญาตให้วางขายได้ใหม่อีกรอบที่สหรัฐอเมริกา สารตัวนี้เป็นสารที่ให้ความหวานสูงเรียกว่า สูงกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 200-700 เท่าเลยก็ว่าได้และที่สำคัญไม่ได้เป็นตัวที่ให้พลังงาน สามารถนำไปใช้ในน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ได้สบาย ๆ สำหรับในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการกำหนดไว้แต่อย่างใดว่าจะต้องมีระดับความปลอดภัยเท่าไรของสารนี้ เนื่องจากสารแซ็กคารินไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสารเจือปนที่อยู่ภายในอาหารแบบ Food Additive แต่ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกมาให้คำแนะนำไว้ว่าระดับความปลอดภัยที่ควรมีอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกายหนึ่งกิโลกรัม
ส่วนในประเทศไทยของเรานั้นทางด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมากำหนดไว้ว่าสารตัวนี้เป็นวัตถุที่สามารถให้ความหวานแทนการใช้น้ำตาล ( อยู่ภายในเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มไดเอต ) ดังนั้นสำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วนควรต้องมีการกำหนดปริมาณของสารตัวนี้และไม่แนะนำให้นำสารนี้ไปใช้ในอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ทานสารตัวนี้
สารซูคราโลส
สารนี้จริง ๆ แล้วชื่อทางการค้าก็คือ สเปลนดา ( D-et ) เป็นน้ำตาลเทียมประเภทหนึ่งที่เพิ่งถูกนำมาจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสารที่เกิดการจากผลิตน้ำตาลโดยการอาศัยวิธีเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำตาลแทน คือ เลือกนำเอาคลอรีนจำนวน 3 โมเลกุลมาใช้ทดแทนส่วนของไฮดอกซิลที่เดิมอยู่ในโครงสร้างของน้ำตาล นั่นจึงทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วคอลรีนนั้นสามารถส่งผลเป็นอันตรายต่อร่างกายของคนเราหรือไม่? ทางด้านของนักวิจัยเองก็ได้ออกมาให้เหตุผลในส่วนนี้ว่า คลอรีนมีแบบที่สามารถพบในธรรมชาติได้โดยส่วนใหญ่คลอรีนประเภทนี้จะอยู่ในพวกผัก ผลไม้ ถั่ว เกลือ ฯลฯ หากมีการเติมน้ำประปาในปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภคก็เชื่อว่าจะยังคงมีความปลอดภัยอยู่
ส่วนของสเปนดาเป็นส่วนที่เกิดจากการผสมระหว่างมอสโตเดกซ์จรินรวมกับซูคราโลส สามารถให้พลังงาน 12 แคลอรีต่อ 1 ช้อนโต้ะ ซูคราโลสเป็นสิ่งที่สามารถให้รสชาติหวานได้สูงมากกว่าน้ำตาลถึง 600 เท่า สามารถที่จะทนต่อความร้อนได้เป็นอย่างดีจึงทำให้มักได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการทำเบเกอรี่ เป็นสารที่บอกเลยว่าไม่มีพลังงานแถมยังไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินอีกด้วย ในปัจจุบันสารซูคราโลสได้รับอนุญาตให้สามารถนำไปใช้ในอาหารได้เพียง 15 ประเภทเท่านั้น
คำถามยอดฮิตในใจของหลายๆ คน คือ ทานซูคราโลสแล้วปลอดภัยแน่หรือ? ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ออกมาแสดงให้เห็นว่าสารสเปนดานั้นส่งผลอันตรายต่ออวัยวะของสัตว์บางส่วนแต่ในปัจจุบันนี้ก็มีข้อมูลทางด้านวิชาการมากมายนับกว่าร้อยชิ้นที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าสารสเปนดาไม่ได้ทำให้เกิดพิษสะสมภายในร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่สามารถส่งผลต่อส่วนของระบบประสาทและระบบการสืบพันธุ์ของคนเราได้ (บวกกับทางองค์การอาหารและยาของทางสหรัฐอเมริกาก็ได้สรุปออกมาในลักษณะเชิงเดียวกัน) ทำให้เราจึงสามารถพบเห็นได้ว่าซูคราโลสมีขายและนำมาใช้มากมายในหลายประเทศ (อนุมัติและใช้มากกว่า 80 ประเทศด้วยซ้ำไป) แถมยังนำมาใช้ในพวกอาหารต่าง ๆมากกว่า 400 ชนิดอีกด้วย
สรุปคือทานแล้วไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ไม่ก่อให้เกิดพิษแบบสะสม ไม่ทำให้เกิดปลกระทบต่อส่วนของยีน ไม่ได้เป็นสารที่สามารถก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินในร่างกายและที่สำคัญยังไม่มีผลต่อตัวทารกหากคุณแม่จะทานเข้าไป เพราะ สารนี้ไม่สามารถผ่านเข้าไปในบริเวณน้ำนม
นีโอแทมและสารแอดวานแทม
สองสารนี้เป็นสารให้ความหวานที่สามารถใช้แทนน้ำตาลได้เช่นกัน ได้รับการอนุญาตจากทางองค์การอาหารและยาของทางประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสารนีโอแทมจะเป็นสารที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกันกับสารแอสปาร์แทมมาก มีความหวานอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 13,000 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำตาล ไม่นิยมใช้ในพวกผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อสัตว์ สามารถที่จะทนความร้อนได้ค่อนข้างมาก นิยมนำมาใช้ในขนมเบเกอรี่เป็นหลัก ส่วนสารแอดวานแทมเกิดจากสารสองสารคือสารแอสปาร์แทมกับสารแวนิลลินซึ่งเป็นสารที่ให้ความหวานสูงเช่นกัน ( อยู่ที่ 20,000 เท่าของน้ำตาล ) มีโครงสร้างที่คล้ายกันกับสารแอสปาร์แทม หากจะนำไปใช้ควรใช้ในปริมาณที่น้อย ๆ เข้าไว้จะดีกว่า [adinserter name=”เบาหวาน”]
สติวิออลไกลโคไซด์
สาร “ สติวิออลไกลโคไซด์ ” เป็นสารตามธรรมชาติประเภทหนึ่งที่สามารถพบได้ตามสตีเวียหรือที่รู้จักกันดีในชื่อของหญ้าหวาน หญ้าหวานนั้นเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่เรียกว่าอยู่ในตระกูลเดียวกับกับพวกทานตะวัน มีชื่อแบบเต็มว่า “ STEVIA REBAUDIANNABERTONI ” เป็นพืชที่สามารถพบได้มากในโซนอเมริกากลางและใต้ ในอดีตชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศปาราวัยและประเทศบราซิลมักจะเลือกใช้หญ้าหวานในการนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานนานกว่าหลายร้อยปีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในช่วงปี 1931 ได้มีนักเคมีสัญญาติฝรั่งเศสได้ทดลองทำการสกัดเอาสารที่มีชื่อว่า “ สารสตีวีโอไซด์ ” ออกมาจากส่วนของใบหญ้าหวานเป็นครั้งแรกและพวกเขาก็สามารถทำได้สำเร็จซึ่งตอนนั้นเมื่อทำสำเร็จกลับพบว่าสารตัวนี้เป็นสารที่ให้ความหวานได้สูงกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่าเลยทีเดียว นอกจากจะได้สารตัวนี้แล้วยังโชคดีพบสารให้วามหวานแบบอื่นอีกถึง 8 ประเภทด้วยกัน แต่ที่พบในปริมาณที่มากที่สุด นั่นคือ REBAUDIOSIDE A ( REB A ) ตัวนี้สามารถให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่าแถมยังไม่เป็นตัวที่เข้าไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย เมื่อปี 1980 มีการวิจัยพบว่าหญ้าหวานสามารถก่อให้เกิดภาวะการเป็นหมันและอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ แต่ต่อมาในปี 2008 ทางบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง TRUVIA และ PEREVIA ได้ทำการยื่นผลการวิจัยให้กับทางด้านองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาและหน่วยงาน JOINT FAO/JECFA เกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อที่จะทำการพิสูจน์ว่า REB A นั้นสามารถที่จะทานได้ ปลอดภัยจริง ไม่ได้อันตรายอย่างที่ก่อนหน้านี้ค้นพบ ต่อมาในปี 2009 ก็ได้มีงานวิจัยเพิ่มเติมว่าสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานไม่ได้มีพิษ ไม่ให้พลังงานและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้พลัคที่อยู่ในส่วนของปากเกิดการเจริญเติบโตมากขึ้นและที่สำคัญทานแล้วสามารถต้านสารก่อมะเร็ง ควบคุมน้ำหนัก ลดระดับความดันเลือดได้ดีเยี่ยมอีกด้วย
น้ำตาลแอลกอฮอล์
ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งตัวที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ตระกูลพวกเบอร์รี่ยิ่งพบได้มาก น้ำตาลตัวนี้ชื่อที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อ “ ซอร์บิทอล / แมนนิทอล / ไซลิทอล ” เป็นน้ำตาลที่มีผลต่อตัวระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลซูโครสพอสมควร มีพลังงานที่ค่อนข้างต่ำโดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 2 แคลอรีต่อกรัม หากทานมากถึง 50 กรัมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้ ( แต่สำหรับบางคนอาจท้องเสียได้ตั้งแต่ทานเข้าไป 20 กรัมก็ได้เช่นกันแล้วแต่สุขภาพของแต่ละบุคคล ) หากใครที่เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการทานหมากฝรั่งเป็นชีวิตจิตใจโดยเฉพาะหมากฝรั่งประเภทซูการ์ฟรี ( มีน้ำตาลประเภทนี้อยู่แทน ) หากทานมากไปท้องเสียได้เช่นกัน บางคนอาจน้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากเป็นผลจากการถ่ายมากเกินไป สำหรับหมากฝรั่งแบบนี้หากทานเข้าไป 1 ชิ้นจะให้พลังงานอยู่ที่ 5 แคลอรี ภายในมีปริมาณของซอร์บิทอลประมาณ 1.25 กรัม หากทานปริมาณ 5 ถึง 20 กรัมอาจส่งผลทำให้ท้องอืดเหมือนกัน ดังนั้นหากคิดจะเคี้ยวหมากฝรั่งอย่าทานเกินที่ฉลากกำหนดไว้จะดีที่สุด
สารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในอาหาร |
ชนิด |
ความหวาน X เท่าของน้ำตาล |
ระดับ ADI (มก./กก./วัน) |
Acesulfame K
อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม |
200 |
15 |
Advantame
แอดวานแทม |
20, 000 |
32.8 |
Aspartame
แอสปาร์แทม |
200 |
50 |
Monk Fruit
หล่อฮังก้วย |
100-250 |
ปลอดภัยทุกปริมาณ |
Neotame
นีโอแทม |
7,000-13,000 |
0.3 |
Saccharin
แซ็กคาริน |
200-700 |
15 |
Stevia Reb
สตีเวีย |
200-400 |
4 |
Sucralose
ซูคราโลส |
600 |
5 |
ดังนั้นเราขอสรุปว่า น้ำตาลเทียมนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะไฟเขียวให้คุณทานเพื่อช่วยทำให้คุณทานอาหารอะไรตามใจปากได้มากยิ่งขึ้น เพียงเพราะคุณคิดว่าทานแล้วจะไม่ได้ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม ไม่ได้ทำให้น้ำหนักของร่างกายเพิ่ม คุณควรทานแค่พอดีควรปรับเรื่องของการทานหวานควบคู่ไปด้วยจะดีกว่า